มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

ช่วยกัน แฉ-แชร์ ผลกระทบหลังTRUEควบDTAC !

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 09-11-2023 15:29

หมวดหมู่: สื่อและโทรคมนาคม

ภาพประกอบข่าว

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เชิญชวนผู้ใช้บริการค่ายมือถือมาร่วมตอบแบบสอบถามถึงผลกระทบจากการใช้บริการทางโทรศัพท์ แชร์ภาพปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อส่งต่อ กสทช.ที่ต้องการข้อมูลเชิงประจักษ์ ไม่ใช่แค่ความรู้สึก

จากกระแสเสียงผู้บริโภคจำนวนมากต่างเจอปัญหาความเร็วอินเทอร์เน็ตคุณภาพต่ำ สวนทางค่าบริการแพง อีกทั้งมีข้อร้องเรียนว่าทรูรื้อถอนสถานีฐานรับ-ส่งกระจายสัญญาณดีแทค เหลือแค่เสาดัมมี่ ส่วนแพคเกจเติมเงินที่ให้ลูกค้าใหม่หรือย้ายค่ายสมัครในราคาเดือนละ 100 - 150 บาท แล้วใช้อินเทอร์เน็ตและการโทรได้ไม่อั้น หรือ โปรรายปี หรือ โปรทิพย์ ถูกยกเลิกไปครบทุกค่าย แถมค่าบริการ TRUE-DTAC-AIS ปรับขึ้นแพงเท่ากัน จากปัญหาเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นหลังจากการ TRUE-DTAC ประกาศ 1 มีนาคม 2566 แผนควบรวมเสร็จสมบูรณ์ ทั้งที่ก่อนควบรวม จะมีราคาและรายละเอียดที่แตกต่างกัน โดยค่ายที่เป็นทางเลือกอย่าง DTAC จะทำราคาที่น้อยกว่าและให้ปริมาณการโทรและอินเทอร์เน็ตมากกว่ารายใหญ่อย่าง AIS ในส่วนของ TRUE เป็นทางเลือกให้กลุ่มคนที่ต้องการความประหยัดยอมแลกกับคุณภาพ ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคเหล่านี้หากจะเปลี่ยนโปรโมชันก็จะต้องจ่ายแพ็กเกจแพงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

วันนี้ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้สรุปประเด็นข่าวและเหตุการณ์เกี่ยวกับกรณีควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมทรูดีแทคดังนี้ หลังจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้นำเสนอข่าวผลกระทบจากผู้บริโภคออกไปนั้น ทรูออกมาปฏิเสธทุกข้อที่ผู้บริโภคตั้งข้อสังเกต ยืนยันไม่ลดสถานีฐาน และอุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณของคลื่นความถี่ แต่ย้ายอุปกรณ์ไปติดตั้งที่จุดเสาสัญญาณใหม่ ในบางพื้นที่ที่อยู่ในจุดลดเสาซ้ำซ้อน ไม่เคยมีการฮั้วราคากับ AIS ตามที่ถูกกล่าวหา ยืนยัน ที่ผ่านมานำเสนอแพ็กเกจที่มาพร้อมกับสิทธิประโยชน์สุดคุ้ม เพิ่มคุณค่าที่หลากหลายซึ่งตรงกับความต้องการไลฟ์สไตล์และทุกคนสามารถเข้าถึงได้ จาก 6 เดือนที่ผ่านมาหลังการควบรวมกิจการ ได้ผสานสร้างสรรค์สิทธิพิเศษที่ดียิ่งกว่าตรงใจยิ่งขึ้น

กรุงเทพธุรกิจ อ้างอิงแหล่งข่าวภายใน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) หลังมีรายงานว่า ผู้ใช้บริการโทรคมนาคมหลายราย ถูกลดความเร็วอินเทอร์เน็ต 5G โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า หลังมีค่ายโทรคมนาคมหนึ่งควบรวมกิจการกับผู้ให้บริการอีกราย ความเป็นไปได้ที่ 1 คือ ผู้ให้บริการไม่ได้แอบลดความเร็วเน็ตแค่คนใช้เยอะ? ส่วนความเป็นไปได้ที่ 2 อาจเป็นเพราะผู้ใช้บริการใช้โปรเน็ตถูก เลยทำให้โปรถูกดึงเน็ตกันเอง นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค บอกว่า ได้มอบให้ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา เป็นประธานคณะอนุฯ ติดตามผลการดำเนินการตามเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะ คาดว่าก่อนปีใหม่ น่าจะได้รู้ข้อเท็จจริงตามที่มีการร้องเรียนกันในโลกออนไลน์ นพ.สรณ กล่าวว่า "ต้องมีเอกสารมายืนยันได้ว่าค่าโทรแพงขึ้นจริงหรือคุณภาพสัญญาณแย่ลงจริง เพราะการเป็น กสทช.ไม่สามารถตอบได้ตรงนี้ ต้องมีข้อมูลเข้ามาสนับสนุน จะยึดเอาความรู้สึกไม่ได้" ( ข้อมูลจากข่าว กสทช. สั่งสอบคุณภาพ 5G หลังมีกระแส "ถูกลดความเร็วเน็ตฯ" ก่อนปีใหม่รู้ผล เผยแพร่เมื่อ 5 พ.ย. 2566 https://www.springnews.co.th/digital-tech/technology/844911)

โดยเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ที่ผ่านมามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสภาผู้บริโภค ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการ กสทช. เพื่อขอคำชี้แจงปมค่าบริการแพง หลังทรูควบรวมดีแทคที่เสร็จสิ้นมา 9 เดือนเต็ม นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เข้ายื่นหนังสือเพื่อขอทราบรายงานผลการประกอบธุรกิจจาก กสทช. ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องรายงานผลการรวมธุรกิจ ตามเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะทั้ง 5 ข้อ ทุก 6 เดือน พร้อมกับแจ้งปัญหาของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ ดังนั้น เพื่อให้ได้หลักฐานเชิงประจักษ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงร่วมกับสภาผู้บริโภค จึงทำแบบสำรวจ เรื่อง ผลกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนของผู้บริโภค ตั้งแต่วันที่ 9 ถึง 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ผ่าน GOOGLE FORM ที่ลิงก์นี้ สำรวจความคิดเห็นผู้ใช้บริการทุกเครือข่าย เรื่อง ผลกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม โดยเผยแพร่ผลสำรวจช่วงต้นเดือนธันวาคม 2566 จากนั้น สภาผู้บริโภคจะเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้บริโภค (Focus Group) และจัดเวทีสาธารณะเพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้บริโภคทุกพื้นที่

นอกจากนี้ นฤมล บอกว่า หนึ่งในเรื่องสำคัญที่กระทบต่อสิทธิของผู้ใช้มือถือ ซึ่งแทบไม่ถูกพูดถึงคือมติของ กสทช. ที่ระบุว่าหลังการควบรวมกิจการของทรู-ดีแทค ต้องมีการลดเพดานอัตราค่าบริการเฉลี่ยลง 12% ให้ได้ภายใน 90 วัน เรื่องนี้เป็นเงื่อนไขการควบรวมกิจการที่พ่วงมากับมติ กสทช. เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565

เรื่องที่อยากฝากถึงผู้ควบคุมและกำกับดูแลธุรกิจโทรคมนาคมว่า เมื่อมีการส่งเสริมให้มีการใช้งานอินเทอร์เน็ต ในบริการต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ เช่น การทำธุรกรรมทางการเงิน การเรียน หรือการที่รัฐกำลังจะให้เงินดิจิทัลฯ เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกันผู้มีรายได้น้อยกลับต้องแบกภาระค่าบริการที่สูงขึ้น เพราะต้องใช้อินเทอร์เน็ตที่มีความเสถียรซึ่งมีแพ็คเกจที่แพงจึงจะสามารถใช้บริการต่างๆ ได้

นางสาวพูลศิริ นิลกิจศรานนท์ รักษาการผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม กสทช. ชี้แจงว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการได้ส่งข้อมูลและรายละเอียดการลดค่าบริการร้อยละ 12 แล้ว และกำลังจะนำเสนอขึ้นสู่คณะกรรมการ กสทช. ภายในเดือนพฤศจิกายน พร้อมจะเปิดเผยข้อมูลแก่ผู้บริโภค รวมถึงจะประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ผู้ประกอบการควรชี้แจงแก่ผู้บริโภค

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงขอความร่วมมือผู้ใช้บริการทุกเครือข่ายตอบแบบสอบถามความคิดเห็นในระบบออนไลน์ ระหว่าง วันที่ 9-23 พฤศจิกายน 2566 เพื่อนำไปเสนอต่อผู้ให้บริการ และ กสทช. ให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหา รวมถึงการผลักดันเป็นนโยบาย เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภคต่อไป ได้ที่ สำรวจความคิดเห็นผู้ใช้บริการทุกเครือข่าย เรื่อง ผลกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม

และ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติ่มได้ที่ : ไทม์ไลน์ร้อน TRUE ควบ DTAC ผู้บริโภครับกรรม!


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม