มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

ไทม์ไลน์ร้อน TRUE ควบ DTAC ผู้บริโภครับกรรม!

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 03-11-2023 14:31

หมวดหมู่: สื่อและโทรคมนาคม

ภาพประกอบข่าว

  • นับจากวันที่ กสทช. ลงมติ ด้วยเสียงข้างมาก 3:2 ไฟเขียว ควบกิจการ TRUE-DTAC เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 โดยใช้เวลามาราธอนข้ามคืนไปถึง 11 ชั่วโมงเศษ แม้ออกเงื่อนไขป้องกันเสียงสังคมครหา ก็เลยสั่งให้ทั้งคู่ต้องลดค่าบริการเฉลี่ย 12% และให้แยกแบรนด์ทำตลาดกันไปก่อน 3 ปี

  • TRUE-DTAC ประกาศ 1 มีนาคม 2566 แผนควบรวมเสร็จสมบูรณ์ โดยได้หนังสือรับรองบริษัทใหม่ตามที่ยื่นจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ อย่างเป็นทางการในชื่อ “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” หรือชื่อหลักทรัพย์ TRUE

  • หลังจากนั้น ได้มีการสำรวจราคาแพ็กเกจ หลัง TRUE- DTAC ควบรวมเสร็จสมบูรณ์ คล้อยหลังแค่ 1 วัน เพราะนับจาก 2 มีนาคม 2566 โฉมหน้าใหม่ของการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมก็เปลี่ยนไปทันทีแบบไม่ต้องรอ 3 ปี อย่างที่ กสทช. วางมาตรการไว้ มันเกิดอะไรขึ้น ก็แผนฮั้วราคาไง!? เมื่อ TRUE-DTAC-AIS ปรับขึ้นอัตราค่าบริการ เท่ากันแบบไม่ได้นัดหมาย

  • จากนั้น เกิดกระแสเสียงจากผู้บริโภคว่า กสทช. ทำอะไรอยู่ ปล่อยให้ค่ายมือถือขึ้นราคาแบบนี้ ปัญหากระทบลูกค้าที่เปิดเบอร์ใหม่ ถูกตั้งราคาเท่ากันหมดทั้ง 3 ค่าย เริ่มต้น 399 บาทเป็นต้นไป ทั้งที่ก่อนควบรวม TRUE-DTAC จะมีราคาและรายละเอียดที่แตกต่างกัน โดยค่ายที่เป็นทางเลือกอย่าง DTAC จะทำราคาที่น้อยกว่าและให้ปริมาณการโทรและอินเทอร์เน็ตมากกว่ารายใหญ่อย่าง AIS ในส่วนของ TRUE เป็นทางเลือกให้กลุ่มคนที่ต้องการความประหยัดยอมแลกกับคุณภาพ ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคเหล่านี้หากจะเปลี่ยนโปรโมชันก็จะต้องจ่ายแพ็กเกจแพงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทางด้านแพ็กเกจเติมเงินที่ให้ลูกค้าใหม่หรือย้ายค่ายสมัครในราคาเดือนละ 100 - 150 บาท แล้วใช้อินเทอร์เน็ต และการโทรได้ไม่อั้น ถูกยกเลิกไปครบทุกค่าย ส่อแววยุติสงครามราคา จากอินเทอร์เน็ตความเร็วคงที่ใช้ได้ไม่จำกัดปริมาณต่อเดือน กลายเป็นอินเทอร์เน็ตจำกัดปริมาณทุกเดือน แค่ 30 - 80 GB ราคาปรับขึ้นจาก 100 - 150 บาท แบบไม่อั้น เป็น 200 - 300 บาท เป็นที่เรียบร้อย

  • 8 มีนาคม 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้อง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ “กสทช.” เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ สำนักงาน กสทช. โดยยื่นฟ้องต่อ ศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้เพิกถอนมติ กสทช.ในการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 กรณี อนุมัติควบรวม TRUE-DTAC

    “ชี้เหตุ เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือเกี่ยวเนื่องกับมติทั้งหมด และให้มีผลย้อนหลัง เพราะทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ จากการที่ประเทศไทย เหลือผู้ให้บริการรายใหญ่เพียง 2 เจ้า อย่างเป็นทางการ และบริษัทใหม่กลายเป็นผู้ให้บริการอันดับ 1 ทันที มีส่วนแบ่งการตลาดเกินกว่าร้อยละ 50 ก่อให้เกิดการผูกขาดธุรกิจโทรคมนาคม โดยไม่ได้เกิดการพัฒนาด้านคุณภาพ สุ่มเสี่ยงต่อการฮั้วราคา ส่งผลต่อค่าโทรศัพท์ที่จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ถึง 200 รวมทั้งตลาดมือถือจะอยู่ในภาวะ การแข่งขันตกต่ำ ยากเกินจะฟื้นฟูให้อยู่ในสภาพเดิม”

  • แต่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของคณะกรรมการ กสทช. ในการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม2565 ผู้ฟ้องคดีก็ควรจะต้องทราบถึงความมีอยู่ของมติพิพาทตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการ กสทช. ได้มีการประชุมและลงมติ และสำนักงาน กสทช. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2)ได้เผยแพร่ผลการประชุมเป็นการทั่วไปต่อสาธารณะและลงประกาศในเว็บไซต์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ด้วยแล้ว และผู้ฟ้องคดีได้ทราบว่า เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 สภาองค์กรผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการ กสทช.(ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้เพิกถอนมติในการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีก็ควรจะรู้หรือได้รู้ถึงความมีอยู่ของมติพิพาทอย่างช้าสุดในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 หาใช่จะถือเอาวันที่ 10 ธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าได้เข้าไปดูเว็บไซต์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จึงพบว่ามีการเผยแพร่รายงานการประชุม การที่ผู้ฟ้องนำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 จึงเป็นการยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เมื่อคดีนี้มิได้เป็นคดีที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะของบุคคลที่จะยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้ตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งคดีนี้ย่อมมีผลอันเกี่ยวด้วยการใช้อำนาจและหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในการกำกับดูแลผู้ ประกอบกิจการโทรคมนาคม และการควบรวมธุรกิจครั้งที่ 71 /2566 ระหว่าง TRUE และ DTAC เท่านั้น มิได้กระทบต่อสาธารณะโดยตรงหรือเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมโดยแท้แต่อย่างใด ทั้งไม่ปรากฏเหตุจำเป็นอื่นที่เป็นอุปสรรคขัดขวางทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่อาจยื่นคำฟ้องภายในระยะ เวลาการฟ้องคดีที่กฎหมายกำหนด ศาลจึงไม่อาจใช้ดุลพินิจรับคำฟ้องคดนี้ไว้พจิรณาได้ทั้งนี้ตามมาตรา 52 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ประกอบกับข้อ 30 วรรคสองแห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543

  • ปัญหาค่าบริการแพงจากการฮั้วราคาของค่ายมือถือไม่มีสัญญาณตอบกลับ จาก กสทช. จนเวลาผ่านมา ร่วม 9 เดือน ทำให้ 23 มิถุนายน 2566 สภาองค์กรของผู้บริโภค ยื่นหนังสือไปถึง กสทช. ถามหาความรับผิดชอบ หลังไฟเขียวให้ควบรวมค่ายมือถือ TRUE -DTAC ที่กำหนดเงื่อนไขให้มีการลดเพดานค่าบริการให้ผู้บริโภคลงร้อยละ 12 หลังการควบรวมกิจการครบ 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 แต่ยังไร้วี่แววการลดราคา ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่ผู้บริโภค ล้วนมีต้นเหตุจากความเพิกเฉยของ กสทช. อีกทั้งยังไม่เห็นการลดค่าบริการเฉลี่ย 12% ตามเงื่อนไขมาตรการเฉพาะของผู้ประกอบการในการควบรวมธุรกิจ และยังพบ AIS คิดค่าบริการที่ใกล้เคียงกัน จนเหมือนเป็นการผูกขาดทางราคา โดยยังไม่เห็นกระบวนการติดตามตรวจสอบของ กสทช. นอกจากการรอฟังรายงานของผู้ประกอบการ

  • ต่อมา เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2566 สื่อหลายสำนักได้รายงานข่าวโดยระบุว่าข้อความว่า “กสทช.นับหนึ่ง ผุด “ดัชนีราคาค่าบริการโทรคมนาคม” คาดแล้วเสร็จไตรมาสแรกปี 2567 และจะจัดทำในทุกไตรมาสต่อไป เป็นครั้งแรกของประเทศ หวังหาคำตอบคนไทยจ่ายค่าบริการแพงขึ้นหรือไม่ และ ผลจากเหตุนี้ ทำตลาดโทรคมนาคม เหลือเพียง 2 ขาใหญ่ คือ AIS กับ TRUE “ผลจากการจัดทำดัชนีราคาค่าโทรครั้งนี้ จะสะท้อนให้เห็นผลของการที่ TRUE ควบ DTAC ผู้บริโภคได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์จากผลของราคา ที่จะแสดงออกมาให้เห็นจากการแข่งขันของผู้ประกอบการที่เหลือน้อยราย หากผลออกมาว่ามีราคาแพงขึ้น สำนักงาน กสทช. ต้องมีหน้าที่ในการเข้าไปกำกับดูแล แต่“ดัชนีราคาที่ได้ ต้องหาจุดเหมาะสมด้วย ทั้งผู้บริโภคที่ต้องได้รับความเป็นธรรมเรื่องค่าบริการ และโอเปอเรเตอร์ยังสามารถทำธุรกิจได้ หากกำหนดราคาต่ำไป จะส่งผลกระทบให้ไม่มีเงินลงทุนขยายโครงข่ายและปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการ” บอกไว้โดย นายศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ดกสทช.) ด้านเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยว่า สายงานวิชาการ ของ สำนักงาน กสทช.

  • 30 ตุลาคม 2566 ศาลปกครองสูงสุด กลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น สั่งรับคำฟ้อง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอเพิกถอนมติ กสทช. กรณี ‘ควบรวมทรู-ดีแทค’ โดยคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ระบุถึงระยะเวลาการฟ้องคดีว่า แม้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นการยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี แต่บริการโทรคมนาคมถือเป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน นอกจากนี้ ตลาดและอุตสาหกรรมโทรคมคมที่มีผู้ประกอบการน้อยรายจึงทำให้มีลักษณะเป็นการกึ่งผูกขาดโดยธรรมชาติ การที่ผู้ประกอบการจะควบรวมธุรกิจกันหรือไม่ จึงกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม มีผลทำให้ผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบในวงกว้าง จึงถือได้ว่าการฟ้องคดีนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเกิดแก่การจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง ศาลปกครองสูงสุดระบุว่า กรณีจึงเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 42 วรรคสอง ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป

  • 31 ตุลาคม 2566 ทรู ออกแถลงการณ์ ปม ศาลปกครองสูงสุด สั่งรับคำฟ้อง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นคำร้องถอนมติ กสทช. กรณีควบรวมทรู-ดีแทค ไม่กระทบบริษัทฯ และเชื่อมั่นว่าการควบรวมที่เกิดขึ้นก็ได้ปฏิบัติตามกฎหมายถูกต้องครบถ้วน และเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ไม่เพียงแค่ประโยชน์ของผู้ใช้บริการของทั้ง 2 แบรนด์ แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อวงการโทรคมนาคมไทย ลูกค้าผู้ใช้บริการ คนไทย และประเทศไทย

  • 1 พฤศจิกายน 2566 “กสทช. ยืนยัน จากกรณีศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งเมื่อ 30 ตุลาคม 2566 ให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องในคดีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้อง ขอเพิกถอนมติ กสทช. ที่เกี่ยวเนื่องกับการควบรวมธุรกิจระหว่าง ทรู และ ดีแทค ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไปนั้น ทาง สำนักงาน กสทช. ต้องรอศาลปกครองกลาง ( ชั้นต้น ) ส่งคำฟ้องมาให้ เพื่อให้สำนักงาน กสทช. ยื่นคำให้การ โดยจะนำเรื่องเข้าอนุกรรมการด้านกฎหมาย เพื่อเขียนคำให้การ ก่อนเสนอบอร์ด กสทช. หลังจากนั้นจึงส่งกลับให้กับทางศาลปกครองต่อไป โดยตอนนี้อยู่ที่ว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ ซึ่งหากมีการขอคุ้มครอง ทางศาลอาจจะเรียก กสทช.เข้าไปให้ถ้อยคำไต่สวน และมีความเป็นไปได้ที่ศาลฯ จะเรียกทางทรู-ดีแทค เป็นผู้ถูกฟ้องคดีร่วม เพื่อเปิดโอกาส ให้ชี้แจงด้วยเพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อย่างไรก็ตามเชื่อว่าคดีนี้คาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 4-5 ปี คงสู้กันถึงศาลปกครองสูงสุด และหากถึงที่สุดแล้วศาลฯตัดสินว่า มติ กสทช. ไม่ชอบ ทางศาลฯ คงมีมาตรการออกมาเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น เพราะกระบวนการรวมธุรกิจเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งระหว่างพิจารณาคดี ทางเอกชนก็ยังดำเนินธุรกิจไปตามปกติ

ดังนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงอยากให้ทุกฝ่ายติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะภายใต้ความเคลื่อนไหวเรื่องการควบรวมกิจการของทรู-ดีแทค ที่เสร็จสิ้นมา 9 เดือนเต็ม หนึ่งในเรื่องสำคัญที่กระทบต่อสิทธิของผู้ใช้มือถือ ซึ่งแทบไม่ถูกพูดถึง คือมติของ กสทช. ที่ระบุว่าหลังการควบรวมกิจการของทรู-ดีแทค ต้องมีการลดเพดานอัตราค่าบริการเฉลี่ยลง 12% ให้ได้ภายใน 90 วัน เรื่องนี้เป็นเงื่อนไขการควบรวมกิจการที่พ่วงมากับ มติ กสทช. ที่ "รับทราบ" การควบรวมกิจการของทรู-ดีแทค เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ซึ่งเป็นมติ กสทช. ที่ศาลปกครองสูงสุด เพิ่งรับคำฟ้องล่าสุด ซึ่งทรูอ้างว่าค่าบริการโทรลด 15% ค่าอินเทอร์เน็ตมือถือลด 80% แต่องค์กรผู้บริโภค ยังไม่เคยเห็นปรากฏการณ์นี้


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม