รู้จักมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (FOUNDATION FOR CONSUMERS) เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ ที่มุ่งมั่นทำงานคุ้มครองผู้บริโภคมากว่า 30 ปี โดยส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองสิทธิอันพึงมีได้ เผยแพร่ข้อมูลเพื่อเลือกซื้อเลือกใช้สินค้าและบริการ ผลักดันให้องค์กรต่างๆ มีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งเสนอแนะนโยบายและมาตรการเพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค ใน 7 ด้าน ได้แก่ 1) การเงินการธนาคาร 2) สินค้าและบริการทั่วไป 3) ที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์ 4) สื่อและโทรคมนาคม 5) บริการสาธารณะ 6) อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ และ 7) บริการสาธารณสุข โดยมีจุดยืนชัดเจนที่จะไม่รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจ ทั้งนี้เพื่อความเป็นอิสระและโปร่งใสในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคอย่างยั่งยืน
สารบัญ
ประวัติและบทบาท
พ.ศ.2526 ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพเป็นหลัก ในนาม “คณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน” (คปอส.) ผลงานเด่นได้แก่ งานรณรงค์เรื่องการใช้ยาอย่างเหมาะสม สามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสูตรยาแก้ปวดลดไข้ จากยาสูตรผสมเป็นยาเดี่ยว การคัดค้านสิทธิบัตรยาและการใช้ชื่อสามัญทางยา รวมถึงการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ในยุคแรก
พ.ศ.2539 จดทะเบียนจัดตั้ง ‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักคือ
- ส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค
- ส่งเสริมและประสานงานให้ผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคต่างๆ มีส่วนในการคุ้มครองผู้บริโภค
- ส่งเสริมการศึกษาและวิจัยด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
- ดำเนินการหรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์
วิสัยทัศน์ : มุ่งมั่น สร้างพลังผู้บริโภค อย่างเท่าทันและยั่งยืน
SAMED Vision
S = Smart
A = Attitude
M = Motivation
E = Empathy
D = Data
แนวคิดในการทำงาน
1. ใช้เงินให้คุ้มค่า (VALUE FOR YOUR MONEY)
ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักจ่ายเงินซื้อสินค้าที่ดี ปลอดภัยและไม่แพง การทำงานในช่วงแรกๆ จึงเน้นการตรวจสอบคุณภาพของสินค้าและบริการต่างๆ แล้วเผยแพร่ลงในนิตยสารฉลาดซื้อ เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคได้เปรียบเทียบว่าสินค้าใดถูกกว่าและมีคุณภาพดีกว่ากัน เช่นเดียวกับวารสารคุ้มครองผู้บริโภคในต่างประเทศ เช่น Which? ของอังกฤษ CHOICE ของออสเตรเลีย Consumer Reports ของสหรัฐอเมริกา และ TEST ของอินเดีย
2. ค่าของเงินและค่าของคน (VALUE FOR MONEY AND ALSO VALUE FOR PEOPLE)
การผลักดันให้พลังการซื้อหรือไม่ซื้อสินค้าใดๆ ของกลุ่มผู้บริโภค เป็นตัวกำหนดคุณภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ ที่เอื้อประโยชน์ให้คนส่วนใหญ่ โดยทั้งรูปแบบการผลิตและการบริโภคจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย เช่น
- ไม่ซื้อของเนสเล่ เพราะใช้วัตถุดิบที่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) หรือการปฏิบัติแบบสองมาตรฐานในกรณีไม่ขายผลิตภัณฑ์มีจีเอ็มโอในกลุ่มประเทศอียูและสวิตเซอร์แลนด์ แต่ยังคงจำหน่ายในไทย
- ไม่ซื้อสินค้าของบริษัท ABBOTT ที่ไร้จริยธรรมในการค้า โดยถอนการขึ้นทะเบียนยากับ อย. หลังจากประเทศไทยประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ (CL)
- ไม่ซื้อสินค้าของแกรมมี่ จากปรากฎการณ์ทีวีจอดำ
3. ลดการบริโภค (SUSTAINABLE CONSUMPTION & CONSUMER LIFE STYLE)
การสนับสนุนแนวทางบริโภคสีเขียว (Green Consumption) ด้วยการรณรงค์ให้ผู้บริโภคตระหนักว่าการบริโภคทุกอย่างส่งผลกระทบต่อทั้งตนเองและสังคม มุ่งจัดกิจกรรมที่เน้นให้บริโภคแต่พอเพียง ลดการบริโภค เช่น
- กลุ่มรณรงค์ให้มีวันหยุดซื้อของ (Buy Nothing Day)
- การรณรงค์สัปดาห์หยุดดูโทรทัศน์ เพราะเป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมให้บริโภคแบบไร้ขีดจำกัด
ภารกิจสำคัญ
นิตยสาร 'ฉลาดซื้อ'
นิตยสารเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคฉบับเดียวที่ไม่รับโฆษณาจากผู้ประกอบการ เพื่อความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของข้อมูล เป็นนิตยสารรายเดือน ปัจจุบันตีพิมพ์เป็นปีที่ 28 ฉบับที่ 252 (ข้อมูล 2/ 2565) จัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลเพื่อตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า รวมทั้งเผยแพร่ข่าวสาร ความรู้ต่างๆ ที่ทันต่อสถานการณ์และเชื่อถือได้ ซึ่งเป็นอาวุธสำคัญที่ผู้บริโภคจำเป็นต้องมีไว้เพื่อคุ้มครองตนเองในยุคบริโภคนิยม
ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค (COMPLAINT AND LEGAL ASSISTANCE CENTRE)
"ร้องทุกข์ 1 ครั้ง ดีกว่าบ่น 1,000 ครั้ง"
ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์และแก้ไขปัญหาแบบ One Stop Service การจัดเวทีสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ให้แก่ผู้บริโภคในวงกว้าง พัฒนาการรวมกลุ่มของผู้บริโภคเพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค
การพัฒนานโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
อาทิ เรื่องระบบหลักประกันสุขภาพ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” (สอบ.) ที่เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 นโยบายด้านพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นธรรม เรื่องความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหาร และเขตการค้าเสรี
การสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพองค์กรผู้บริโภค
การทำแผนคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัด และจัดตั้งศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ
ความสำเร็จที่ผ่านมา
(พ.ศ.2537 - พ.ศ.2539)
- ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
- เปิดศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค “ร้องทุกข์ 1 ครั้ง ดีกว่าบ่น 1,000 ครั้ง
- มีเวทีผู้บริโภค “CONSUMER FORUM”
- ตีพิมพ์นิตยสารฉลาดซื้อ
(พ.ศ.2540 - พ.ศ. 2545)
- ร่วมรณรงค์ ทุจริตยา
- ร่วมผลักดันกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
- คัดค้านการขึ้นราคาบริการโทรทัศน์บอกรับสมาชิกกรณียูบีซี ส่งผลให้มูลนิธิฯ เป็นผู้เสียหายแทนผู้บริโภคในคดีปกครองเป็นคดีแรก
(พ.ศ.2546 - พ.ศ.2550)
- ชนะคดี สามารถยกเลิกการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ยุติการนำ กฟผ.เข้าตลาดหลักทรัพย์
- ฟ้องคดีเรื่องการแปรรูป ปตท.
- ตั้งศูนย์ทนายอาสาเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
- โครงการโรงเรียนฉลาดซื้อ ในโรงเรียน 1,900 แห่ง
- ร่วมรณรงค์ “ผู้บริโภคทั่วโลกไม่เอาจีเอ็มโอ”
- ร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคและกสทช. ตั้งสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.)
(พ.ศ.2551- พ.ศ.2555)
- ร้อง อย. ห้ามใช้คำว่า “รังนกแท้ 100%” อย. ประกาศห้ามโฆษณา 100%
- สนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งองค์กรผู้บริโภค 72 องค์กร ใน 42 จังหวัด
- ฟ้องคดีกรณีฟุตบอลยูโรจอดำ
- ตรวจสอบการฮั้วประมูล 3 G ของ กสทช.
- เปิดคลินิกให้คำปรึกษาเรื่องหนี้
- ผลักดันการคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ
- รณรงค์กฎหมายองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550
(พ.ศ.2556 - พ.ศ. 2560)
- ชนะคดีโทลเวย์ มติ ครม. 2 รัฐบาลเอื้อประโยชน์เอกชน ปรับราคาโดยไม่ขออนุญาตกรมทางหลวง
- ชนะคดีซอยร่วมฤดี กรณีสร้างตึกสูงในซอยแคบ ศาลสั่งรื้อถอนอาคารผิดกฎหมาย
- ทดสอบข้าวสารบรรจุถุง พบสารรมควันข้าว
- ผลักดันลดราคากล่องดิจิทัลทีวี ช่วยให้ประหยัดงบของประเทศกว่า 7 พันล้านบาท
- ผลักดันกฎหมายติดตามทวงหนี้ พ.ศ. 2558 ไม่ให้ละเมิดสิทธิผู้บริโภค
- เกิดการทดสอบรถยนต์ขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย
- ชนะคดีเชฟโรเลต ช่วยผู้บริโภคได้เงินคืน
- ให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจำนวน 639 ราย กรณีปิดสถานออกกำลังกาย “แคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส”
- ผลักดันข้อเสนอให้รถโดยสารสาธารณะติดตั้งระบบ GPS
- เผยแพร่ผลสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในกรุงเทพมหานคร
- รณรงค์หยุดใช้ยาปฏิชีวนะในการผลิตอาหาร
- ผลักดันให้ อย.เปิดฐานข้อมูลโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้
- ฟ้องคดีกระทะโคเรียคิง เป็นคดีแบบกลุ่มคดีแรก
(พ.ศ.2561)
- เฝ้าระวังเรื่องมาตรฐานอาหารยอดนิยม เช่น ไส้กรอก ขนมจีน ช็อกโกแลต โดนัท ฯลฯ
- ฟ้องคดีแบบกลุ่ม กระทะโคเรียคิง และเครื่องสำอางเพิร์ลลี่
- อย.เปิดให้ผู้บริโภคเข้าถึงฐานข้อมูลโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ
- รวมกลุ่มผู้เสียหายถูกโกงจากกรณีสามล้อเอื้ออาทร
- อย.เร่งรัดยกเลิกการใช้ไขมันทรานซ์ในอาหาร จากผลการทดสอบของนิตยสารฉลาดซื้อ
- ฟ้องคดีศาลทุจริตเป็นครั้งแรก
- ร่วมขับเคลื่อนกับเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ให้ยกเลิกสารเคมีอันตรายร้ายแรง 3 ชนิด
- ผลักดันให้กระทรวงพาณิชย์กำหนดค่ายา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เป็นสินค้าและบริการควบคุม
(พ.ศ.2562)
- ผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562
- ชนะคดีแบบกลุ่ม คุ้มครองทุกคน กรณีเครื่องสำอางอันตราย(เพิร์ลลี่)
- ผู้ให้บริการโทรคมนาคมยินยอมจ่ายเงินคืนผู้บริโภค กรณีปัดเศษค่าโทรศัพท์
- ร่วมก่อตั้งกองทุนแสงอาทิตย์ ติดโซล่าเซลล์ให้โรงพยาบาล 7 แห่ง ประหยัดไฟได้แห่งละ 200,000 บาท/ปี
- ชนะคดีอุบัติเหตุจากรถตู้โดยสาร เกิดบรรทัดฐานการกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษที่เป็นธรรมกับผู้บริโภค
- ทำ MOU แนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายออนไลน์ กับภาคธุรกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- ร่วมมือกับผู้ประกอบการตลาดออนไลน์ในการจัดการผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายภายใน 24 ชั่วโมง
(พ.ศ.2563)
- ศาลชั้นต้นรับพิจารณาเป็นคดีแบบกลุ่ม กรณีปัดเศษค่าโทรศัพท์ของบริษัทดีแทค
- ทดสอบเจลแอลกอฮอล์ เพื่อให้ข้อมูลผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าช่วงโควิด-19
- รับอาสาสมัคร ช่วยสนับสนุนการรับร้องเรียนของกรมควบคุมโรคในช่วงวิกฤติโควิด-19
- ร่วมกับองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ เรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายยืนยันการแบนสารเคมีภาคการเกษตรทั้ง 3 ชนิดออกจากประเทศไทย หลังจากฉลาดซื้อพบสารพาราควอตในน้ำปู 33 % จาก 24 ตัวอย่างใน 6 จังหวัดภาคเหนือ
- มีส่วนในการผลักดันการจัดตั้ง “สภาองค์กรของผู้บริโภค” (สอบ.) ที่เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 จนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2550 ที่ได้กำหนดให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่เป็นอิสระจากหน่วยงานรัฐ ประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานรัฐการตราและบังคับใช้กฎหมาย ให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำ หรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย
(พ.ศ.2564)
- ทดสอบประสิทธิภาพเครื่องกรองน้ำ เพื่อให้ข้อมูลผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าช่วงโควิด-19
- ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค กรุงเทพฯ รณรงค์คัดค้านการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว
- ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค และเครือข่าย FTA Watch รณรงค์คัดค้านการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสาหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)
- ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง กรณีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า อนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กับบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด
คณะกรรมการ
นายประพจน์ เภตรากาศ
ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
นางปนัดดา เลิศล้ำอำไพ
รองประธานกรรมการ
น.ส.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์
กรรมการเลขาธิการ
นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ
กรรมการเหรัญญิก
น.ส.อภิญญา ตันทวีวงศ์
กรรมการ
นางยุพดี ศิริสินสุข
กรรมการ
นางพันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร
กรรมการ
นายไพศาล ลิ้มสถิตกุล
กรรมการ
น.ส.ศิวนุช สร้อยทอง
กรรมการ
น.ส.เอมผกา เตชะอภัยคุณ
กรรมการ
น.ส.สุวรรณา จิตประภัสสร์
กรรมการ
นายชัยรัตน์ แสงอรุณ
กรรมการ
นายภาณุโชติ ทองยัง
กรรมการ
รายงานประจำปี
สนับสนุนมูลนิธิ
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ ลำดับที่ 576 ตามประกาศกระทรวงการคลัง ทุกยอดการบริจาคนำไปลดหย่อนภาษีประจำปีได้
ท่านสามารถร่วมสนับสนุนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้สองวิธี
1. สมัครเป็นสมาชิกนิตยสารฉลาดซื้อ โดยร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับสินค้าและบริการผ่านการทดสอบเปรียบเทียบ ได้ด้วยการสมัครเป็นสมาชิกนิตยสารฉลาดซื้อ แบบเล่มและออนไลน์ เพียงปีละ 1,200 บาท
2. ร่วมบริจาค
- สนับสนุนการฟ้องคดีให้แก่ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย รู้หรือไม่ว่าผู้เสียหายจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่มีทุนทรัพย์พอในการฟ้องคดี จึงมาขอความช่วยเหลือจาก “ศูนย์พิทักษ์สิทธิและศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ระหว่างปี 2548 ถึง 2564 มีผลการดำเนินคดีเพื่อคุ้มครองสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค จำนวนทั้งสิ้น 642 คดี
- สนับสนุนศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อให้ทดสอบสินค้าและบริการ แม้การทดสอบแต่ละครั้งจะต้องใช้งบประมาณที่สูงมาก แต่ทางศูนย์ฯ ก็ไม่หยุดที่จะทดสอบสินค้าและบริการ เพื่อให้ผู้บริโภครู้ว่าสินค้าหรือบริการแบรนด์ไหนมีคุณภาพ และราคาไม่แพง คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป รวมไปถึงการทดสอบสินค้าที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบบการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ
ขั้นตอนการทดสอบสินค้า
- สุ่มเก็บตัวอย่าง : ซื้อผลิตภัณฑ์หลากหลายยี่ห้อจากร้านค้าทั่วไป
- บันทึกรายละเอียดบนฉลากของสินค้าทุกรายการ นำส่งห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน
- เผยแพร่ผลการทดสอบ โดยระบุยี่ห้อเพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
- ส่งผลการทดสอบให้หน่วยงานที่กำกับดูแลตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
หมายเหตุ : ฉลาดซื้อไม่รับโฆษณาจากผู้ประกอบการ