ถาม-ตอบ ปมร้อน “ พัสดุยัดอาวุธสงคราม” กับ สิทธิของผู้บริสุทธิ์ !
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 03-10-2023 11:41
หมวดหมู่: อื่นๆ

ถาม-ตอบ ปมร้อน “ พัสดุยัดอาวุธสงคราม” กับ สิทธิของผู้บริสุทธิ์ !
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตั้งประเด็นคำถามนี้ เพราะต้องหาแนวทางปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้บริสุทธิ์ ที่อาจมีคนกลั่นแกล้ง หรือ แก๊งค้าอาวุธสงคราม ส่งพัสดุจัดส่งปลายทางไปถึงผู้เสียหาย ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เหมือนกับ เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นบ่อยๆ
จากประเด็นข้างต้น จึงมีคำตอบที่ชัดเจน จาก พันตำรวจตรี เศรษฐา สาระนันท์ สารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจภูธรบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี
ทั้งคำถาม และ คำตอบ จึงมีแนวทางที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค อาจตกเป็นเหยื่อ จะได้รับรู้ในข้อกฎหมาย เพื่อเป็นเกราะป้องกันตัวเอง และ ช่องทางแก้ไขสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น !
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถาม :เดี๋ยวนี้แก๊งส่งพัสดุปลายทาง หรือ บางทีก็ส่งมาแบบไม่ต้องเก็บเงินปลายทางระบาดอย่างหนัก …แต่ประเด็นที่น่าวิตก คือ บางเหตุการณ์ มีการส่งพัสดุบรรจุอาวุธสงครามมาถึงผู้รับปลายทางที่ผู้เสียหาย ไม่รู้ไม่เห็นด้วย ถามว่า ทำไม ? ตำรวจ ถึงรู้ เพราะบางคนก็ยังไม่ทันได้นำหลักฐานไปแจ้งความด้วยซ้ำ เนื่องจาก มีบางเหตุการณ์ ตำรวจบุกจับได้ทันที
พันตำรวจตรี เศรษฐา ตอบ : โดยปกติ การกระทำความผิดกฎหมายส่วนใหญ่ ผู้กระทำความผิดจะมีการลักลอบ, แอบ, ซ่อน กระทำความผิด เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นการกระทำนั้น ซึ่งหากถ้ากระทำความผิดซึ่งหน้า หรือ ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะถูกจับกุมทันที โดยเฉพาะเรื่องอาวุธสงคราม ส่วนการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ รู้ถึงการกระทำความผิด เกิดจาก 2 ประเด็นหลัก ได้แก่
1.การสืบสวน คือ แสวงหาข้อมูลพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวน
2.การสอบสวน คือ การรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวน จากนั้น จึงนำไปสู่การสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด ซึ่งการจะจับกุมผู้กระทำความผิดของเจ้าพนักงานตามกฎหมาย จะต้องพบว่าเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้าเจ้าพนักงาน หรือ มีเหตุให้จับตามกฎหมาย หรือผู้กระทำความผิดเป็นบุคคลตามหมายจับที่ออกโดยศาล ตาม ป.วิอาญา และ การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 เป็นความผิดที่รัฐเป็นผู้เสียหาย เจ้าพนักงานตำรวจจึงมีอำนาจจับกุมได้โดยไม่จำต้องมีผู้แจ้งความร้องทุกข์ เมื่อพบการกระทำความผิดซึ่งหน้าเจ้าพนักงาน หรือมีเหตุให้จับตามกฎหมาย หรือผู้กระทำความผิดเป็นบุคคลตามหมายจับที่ออกโดยศาลตาม ป.วิอาญา นั่นเอง
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถาม : ช่องว่างกฎหมาย อาจติดคุก ฟรี แม้ไม่ผิด!เพราะ “ การดำเนินคดีอาญาของประเทศไทย เป็น “ระบบการกล่าวหา ” ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ... มีความผิด ดังนั้น ตามกฎหมายหากประชาชนตกเป็นผู้เสียหายถูกส่งพัสดุบรรจุอาวุธสงครามต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายใด และ ข้อหาใด
พันตำรวจตรี เศรษฐา ตอบ : การสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ใดกระทำความผิด จะต้องประกอบด้วย พยาน- หลักฐาน มีมูลพอสมควร ที่เชื่อได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหา กระทำความผิดจริง แต่หากข้อกล่าวหา ไม่มีมูลเลย หรือ กล่าวหาแล้ว แต่ ไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามกฏหมาย หรือ ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิด การจะดำเนินคดี กับ ผู้ถูกกล่าวหา ในชั้นสอบสวน ทาง พนักงานสอบสวน จะมีความเห็น “ ควรสั่งไม่ฟ้อง ” เสนอไปยัง พนักงานอัยการ ซึ่งหากมีประชาชน ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา จากการ รับพัสดุ ซึ่งภายในกล่องมีอาวุธสงคราม จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 เป็นหลัก และ ข้อหาตามพฤติการณ์ในการกระทำความผิดนั้นๆ
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถาม : เมื่อตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา โดย ตำรวจจับกุมดำเนินคดี จะต้องทำอย่างไร? หากเป็นผู้บริสุทธิ์อย่างแท้จริง รวมถึง กระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริง ของ พนักงานสอบสวน ถึง อัยการ และ อาจถึงชั้นศาล
พันตำรวจตรี เศรษฐา ตอบ : อาวุธสงคราม ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 เป็นอาวุธที่นายทะเบียนอาวุธปืน ไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ตามกฎหมาย ดังนั้น การมีไว้ในครอบครอง จึงเป็นการมีไว้โดยไม่ได้รับอนุญาต และ ถือเป็นทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิด ตามกฎหมาย ป.อาญา ม.33 ซึ่งการตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา โดยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม โดยส่วนใหญ่ จะถูกจับกุมเนื่องจากเป็นการกระทำความผิดต่อหน้า หรือ กระทำผิดซึ่งหน้าเจ้าพนักงานผู้จับ โดยเฉพาะเกี่ยวกับคดีอาวุธปืนสงคราม จะต้องมีอาวุธสงครามเป็นของกลางในคดีประกอบการจับกุมด้วยอยู่แล้ว ดังนั้น การไม่มีของกลาง ไม่พบของกลางขณะที่จับกุม จึงไม่ใช่การกระทำความผิดซึ่งหน้า และจะจับกุมไม่ได้อยู่แล้ว หากไม่มีหมายจับ ดังนั้น การจะเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีอาญา โดยหลักแล้ว ตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด ว่าเป็นผู้กระทำความผิด ผู้นั้น ยังเป็นผู้บริสุทธิ์เสมอ แต่ผู้นั้น จะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ต่อไป ซึ่งการพิสูจน์ความผิดในศาลนั้น โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ศาลเห็นว่าจำเลยกระทำผิดอย่างไร ส่วนจำเลยหากปฏิเสธข้อกล่าวหาก็มีหน้าที่นำสืบว่าตนไม่ได้กระทำความผิดอย่างไร แล้วศาลจะเป็นผู้พิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถาม : ระหว่างทางผู้รับพัสดุยัดอาวุธสงครามจะได้รับการช่วยเหลือทาง ข้อกฎหมาย อย่างไร จากใคร หรือ หน่วยงานใดได้บ้าง และหากผลพิสูจน์ถึงที่สุด ผู้ถูกกล่าวหา เป็นผู้บริสุทธิ์อย่างแท้จริง แต่ติดคุกไปแล้ว ฝ่ายกฎหมายจะชดเชยความเสียหาย และ อิสรภาพ ที่สูญเสียไปอย่างไร
พันตำรวจตรี เศรษฐา ตอบ : การช่วยเหลือทางข้อกฎหมายนั้น หลายๆหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ได้จัดให้มีการช่วยเหลือแนะนำทางกฎหมายแก่ประชาชนอยู่แล้ว เช่น
-ในสถานีตำรวจบางสถานี จะมีทนายความอาสาของสภาทนายความ มาประจำอยู่ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ เพื่อให้คำแนะนำช่วยเหลือทางกฎหมายโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
-ในสำนักงานอัยการ ก็จะมีสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิ์ไว้คอยให้คำแนะนำช่วยเหลือ ทางกฎหมาย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเช่นกัน
-ในศาล ก็จะมีทนายความที่ศาลตั้งให้กับจำเลยในคดีอาญาเท่านั้น หากจำเลยนั้นไม่มีทนายความและต้องการทนายความช่วยแก้ต่างในทางคดี โดยจำเลยไม่ต้องเสียค่าจ้างทนายความ
ส่วนกรณี หากผลพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาล ถึงที่สุด ว่า ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์อย่างแท้จริง แต่ติดคุกไปแล้ว ผู้นั้น จะได้รับสิทธิ์ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ตามกฎหมาย พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และ ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 โดยรัฐ ( กระทรวงยุติธรรม) จะเป็นผู้จ่ายค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาให้แก่ผู้บริสุทธิ์ดังกล่าว ที่สำคัญ ผู้บริสุทธิ์ ยังสามารถใช้สิทธิ์ตามกฎหมายทางศาลเรียก เอาค่าเสียหายจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องได้
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถาม : ประเด็นที่คาใจคือ ทำไม คนร้ายส่งอาวุธสงครามจำนวนมากมาให้คนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน, แล้วพวกนี้จะย้อนกลับมาเอาอย่างไร ?
พันตำรวจตรี เศรษฐา ตอบ : การส่งอาวุธสงครามจำนวนมากทางไปรษณีย์ หรือ ทางบริษัทขนส่ง ของเอกชนนั้น ปัจจุบัน บางหน่วยงาน จะมีการตรวจสอบ โดยใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ในการสแกนพัสดุ ก่อนส่งอยู่แล้ว ซึ่งหากตรวจสอบได้ว่าเป็นอาวุธสงคราม หรือไม่ตรง ตามที่แจ้งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ หรือ พนักงานรับฝากไว้ หากสงสัยว่า จะเป็นของผิดกฎหมาย ก็จะมีการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ มาทำการตรวจสอบอยู่แล้ว แต่หากตรวจไม่พบ พัสดุก็จะถูกส่งไปตามที่อยู่ที่แจ้ง ซึ่งการรับฝากพัสดุนั้น เจ้าหน้าที่หรือ พนักงานรับฝาก มีหน้าที่จะต้องบันทึกข้อมูลผู้ฝากไว้อยู่แล้ว ซึ่งหากพบว่า ภายหลังเป็นการส่งสิ่งของผิดกฎหมาย ผู้รับจึงมีหน้าที่ที่จะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบ แต่หากไม่แจ้ง จึงทำให้มีเหตุ อันควรสงสัยได้ว่าผู้รับพัสดุอาจมีส่วนรู้เห็นได้ ดังนั้น หากพบพัสดุ มีสิ่งของผิดกฎหมาย หรือเป็นพัสดุที่ไม่ได้สั่งซื้อและพบว่าเป็นสิ่งของผิดกฎหมายควรจะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบทันที เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ว่าไม่เกี่ยวข้องหรือไม่มีส่วนรู้เห็น และขอคำแนะนำเพิ่มเติม หากพัสดุที่ส่งมา แน่ใจแล้วว่า .ไม่ใช่ของเรา ควรให้ส่งคืนผู้ฝากทันที ไม่ควรรับไว้โดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันเหตุอื่นๆที่จะตามมาในภายหลัง
ทั้งหมดนี้ คือ ปมร้อน “ พัสดุยัดอาวุธสงคราม” กับ สิทธิของผู้บริสุทธิ์! เป็นคำตอบที่ชัดเจน จาก พันตำรวจตรี เศรษฐา สาระนันท์ สารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจภูธรบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ซึ่ง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ตั้งประเด็นคำถามนี้ เพราะต้องหาแนวทางปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้บริสุทธิ์ หากเมื่อใดก็ตาม อาจเกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ผู้เสียหายจะได้มีข้อกฎหมายเป็นเกราะคุ้มกัน!
อ่านข้อมูลเสริม
-#เสี่ยงติดคุก ! เผลอรับพัสดุสอดไส้ของผิดกฎหมาย! #ช่องว่างกฎหมาย อาจติดคุก ฟรี แม้ไม่ผิด! #หากตกเป็นเหยื่อเซ็นรับพัสดุยัดยาเสพติด-ของผิดกฏหมายต้องทำอย่างไร? #เมื่อตกผู้ถูกกล่าวหา โดนตำรวจจับกุมดำเนินคดี จะต้องทำอย่างไร? #ทำไม? บริษัทขนส่งพัสดุเอกชนจึงกลายเป็นสวรรค์ของแก๊งมิจฉาชีพ! เคยมีข่าวเกรียวกราว เมื่อ 19 มิถุนายน 2562 เมื่อนักศึกษาสาว วัย 22 ปี เรียน ปวช.ปีสุดท้าย ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครอง หลังจากรับพัสดุไปรษณีย์ที่มีผู้ส่งไปยังบ้านเช่า ที่ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด โดนจับเข้าคุก
อ่านต่อจากเว็บไซต์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค https://ffcthailand.org/news/parcelsstuffedwithdrugs
ผู้เสียหายควรแจ้งเอาผิดอาญาแก๊งส่งพัสดุปลายทาง! ตำรวจไซเบอร์ เปิดผลสอบสวน แก๊งส่งพัสดุเก็บเงินปลายทางที่ปทุมธานี เป็นกลุ่มคนไทย แนะผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดีอาญา พร้อมเรียกค่าเสียหายตามจริงในชั้นศาล สำหรับผู้เสียหายที่ถูกนำชื่อไปใช้สามารถฟ้องเรื่อง PDPA ได้
อ่านต่อจากเว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค https://ffcthailand.org/news/destinationparcel