“ผู้ป่วยถูกละเมิดสิทธิ” กฎหมายเปิดช่องฟ้องร้อง!
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 16-06-2024 10:56
หมวดหมู่: บริการสุขภาพ

“ผู้ป่วยถูกละเมิดสิทธิ” กฎหมายเปิดช่องฟ้องร้อง!
แบบไหนบ้างที่ผู้ป่วยถูกละเมิด ใครบ้างที่เป็นตัวการละเมิด แล้วข้อกฏหมายแบบใดที่ปกป้องผู้ถูกละเมิด ที่สำคัญ ผู้ป่วยถูกละเมิดสิทธิกฏหมายเปิดช่องฟ้องร้อง!
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะพามาคุยเรื่องนี้กัน ที่นึกขึ้นได้ก็เพราะว่าได้อ่านเหตุการณ์ ขนส่งพัสดุเอกชน! ใช้ปากกาเคมี เขียนหน้ากล่องพัสดุ "บ้านมะเร็ง" ทำผู้รับสะเทือนใจ! ข่าวนี้เป็นกระแสร้อนแรงอย่างมากในโลกโซเชียล เมื่อวันที่9มิถุนายนที่ผ่านมา หลังลูกชายผู้ป่วยโพสต์ถามหาความรับผิดชอบจากบริษัทขนส่งที่ทำให้คุณแม่ที่ป่วยมะเร็งได้รับกล่องนี้เกิดความสะเทือนใจ!
ขณะที่ชาวเน็ตโหวตให้เป็นบริการขนส่งพัสดุยอดแย่! ต่างรู้สึกโกรธแทนผู้ป่วย หลายคนบอกว่า พนักงานบริษัทขนส่งเขียนแบบนี้ไม่นึกถึงใจคนป่วยเลย แนะนำให้ไปฟ้องร้อง เรียกร้องค่าเสียหาย ต้องเอาเรื่องให้ถึงที่สุด และยกให้เคสนี้เป็นกรณีตัวอย่าง ขณะที่บางคนบอกว่า เคยเจอเขียนแบบนี้มาเหมือนกัน ซึ่งเป็นข้อความที่ทำร้ายความรู้สึก
มีบางคน บอกเล่าประสบการณ์ว่า "เราเป็นคนนึงที่ป่วยโรคนี้ ถ้าเราเจอแบบนี้ เราไม่โอเคนะคะ แค่ป่วย จิตใจเราก็แย่มากพอแล้วค่ะ แบบนี้เหมือนมันยิ่งตอกย้ำเราเข้าไปอีก จะเขียนหน้ากล่องเพื่อให้จำง่าย เราเข้าใจนะ แต่ขอเถอะค่ะ เปลี่ยนไปใช้คำอื่นแทนเถอะค่ะ"
บางคนก็ว่า "เข้าใจทั้ง 2 ฝ่าย ทางฝ่ายด้านพนักงานขนส่งเขาก็เขียนระบุเพื่อที่จะได้จดจำได้ง่ายเวลาส่งพัสดุ เเต่คงลืมไปว่าการที่เขียนเเบบนั้นมันกระทบกับจิตใจคนป่วยเเละคนในบ้านหลังนั้นๆ ซึ่งจริงๆเขียนระบุลักษณะอย่างอื่นเเทนก็ได้ ส่วนตัวพนักงานจะเขียนระบุว่า"รั้วเขียว" เพราะรั้วบ้านเป็นสีเขียว เป็นต้น
เราก็เคยเจอนะ "คือบ้านเราทำฟาร์มควาย ขนส่งมักเขียนหน้ากล่องพัสดุว่า #บ้านควาย ความอ่อนไหวของคน ต่างกันจึงต้องระวัง"
ย้อนกลับมาที่ขนส่งพัสดุเอกชน ! ใช้ปากกาเคมี เขียนหน้ากล่องพัสดุ "บ้านมะเร็ง หลังผ่านมา10มิ.ย.67ผู้โพสต์ แจ้งว่า เจ้าหน้าที่ศูนย์โทรมาเพื่อขอโทษและแจ้งว่าได้ตักเตือนมีบทลงโทษกับพนักงานผู้ทำการเขียนหน้ากล่องแล้วโดยแจ้งว่าเป็นพนักงานใหม่อาจจะไม่ทราบการทำงานที่ถูกต้อง และขอให้ลบโพสต์นี้ออก ส่วนคุณแม่ที่ป่วยรู้สึกบอกว่าแม้รู้สึกเสียใจ แต่ไม่อยากให้ถึงขั้นไล่พนักงานออก เพราะเห็นอกเห็นใจคนทำงาน . เมื่อได้อ่านเรื่องราวข้างต้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็ให้นึกถึงว่า เหตุการณ์แบบนี้"เกี่ยวเนื่องกับสิทธิผู้ป่วย เพราะเชื่อแน่ว่า ไม่ได้เกิดเฉพาะเคสนี้เป็นเคสเดียว และ ไม่ใช่เคสแรกแน่นอน ไม่ว่าการละเมิดสิทธิผู้ป่วยจะถูกกระทำจากหน่วยงานเอกชนหรือภาครัฐ มิเช่นนั้น คงไม่มี "คำประกาศสิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย"ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 7 ซึ่งบัญญัติว่า “ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลเป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย แต่ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการหรือกฎหมายอื่นเพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่ไม่ใช่ของตนไม่ได้... ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
นอกจากนี้ ยังมีประเด็น "สิทธิผู้ป่วยเกี่ยวกับความลับด้านสุขภาพ" โดยกระทรวงสาธารณสุขและสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขได้ร่วมกันประกาศสิทธิของผู้ป่วย เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2541 ข้อ 7 ว่า “ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับตนเองจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยเคร่งครัด เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยหรือการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย” และข้อ 9 ว่า “ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเฉพาะของตนที่ปรากฏในเวชระเบียนเมื่อร้องขอ ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่น”
**จะเห็นได้ชัดว่า ตัวผู้ป่วยเองก็มีสิทธิเพียงรับทราบข้อมูลเฉพาะของตนเท่านั้น หามีสิทธิล่วงรู้ถึงข้อมูลบุคคลอื่นไม่ เพราะอาจจะละเมิดสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่นได้เช่นกัน
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยังได้สรุปสิทธิผู้ป่วยมีถึง10 ประการ จากการใช้บริการรักษาสุขภาพ ได้แก่
✅ ผู้ป่วยทุกคนมีสิทธิพื้นฐานที่จะได้รับการบริการด้านสุขภาพตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
✅ ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลและการดูแล โดยไม่เลือกปฏิบัติ
✅ ผู้ป่วยมีสิทธิได้รับทราบข้อมูลที่เป็นจริงและเพียงพอ
✅ ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือรีบด่วน
✅ ผู้ป่วยมีสิทธิได้รับทราบชื่อ-สกุล และวิชาชีพของผู้ให้การรักษา
✅ ผู้ป่วยมีสิทธิขอความเห็นจากแพทย์อื่น
✅ ผู้ป่วยมีสิทธิได้รับการปกปิดข้อมูลของตนเอง
✅ ผู้ป่วยมีสิทธิได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วนในการตัดสินใจเข้าร่วมหรือถอนตัวจากการทำวิจัย
✅ ผู้ป่วยมีสิทธิได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของตน
✅ บิดา มารดา หรือผู้แทนโดยชอบธรรม สามารถใช้สิทธิแทนผู้ป่วยที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ หรือผู้ที่มีความบกพร่อง
📌 ดังนั้น หากผู้ป่วยถูกละเมิด ถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ได้รับความเป็นธรรม โรงพยาบาลหรือบุคลากรทางการแพทย์ไม่ปฏิบัติตามหรือไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการรักษาสุขภาพ แจ้งเบาะแส ร้องเรียนได้ที่สายด่วน สปสช. 1330
นอกจากนี้ ยังมี พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือกฎหมาย PDPA (Personal Data Protection Act) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ บัญชีธนาคาร อีเมล ลายนิ้วมือ ข้อมูลสุขภาพ เป็นต้น และยังให้สิทธิประชาชนในการขอให้ลบ ทำลาย หรือระงับใช้ข้อมูลส่วนบุคคลได้ กฎหมายนี้ไม่เพียงครอบคลุมในระดับประชาชน แต่ยังมีรายละเอียดการบังคับใช้กับหน่วยงานรัฐ สื่อมวลชน ที่แตกต่างกัน
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนทั่วไป สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ชี้แจงถึงกฎหมายฉบับนี้ว่า เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล มีสิทธิอะไรบ้าง
-สิทธิในการถอดถอนความยินยอม ในกรณีที่ได้ให้ความยินยอมไว้
-สิทธิในการได้รับการแจ้งให้ทราบรายละเอียด (Privacy Notice)
-สิทธิขอเข้าถึงและขอรับสำเนาข้อมูลส่วนบุคคล
-สิทธิขอให้โอนข้อมูลส่วนบุคคล
-สิทธิคัดค้านการเก็บรวบรวมใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
-สิทธิขอให้ลบหรือทำลาย หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้
-สิทธิขอให้ระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล
-สิทธิขอให้แก้ไขข้อมูลส่วนบุคคล
-สิทธิในการร้องเรียนต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญในกรณีที่มีการฝ่าฝืนและไม่ปฏฺิบัติตามกฎหมายหรือประกาศที่ออกตามกฎหมาย PDPA
-นอกจากนี้ หากมีการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงที่จะกระทบสิทธิเสรีภาพของเจ้าของ ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลมีหน้าที่แจ้งเหตุการละเมิดให้เจ้าของส่วนบุคคลทราบ และมีแนวทางการเยียวยาโดยไม่ชักช้า
เอาละ เมื่อผู้ป่วยรู้สิทธิ์ที่ได้รับการปกป้องตามกฏหมายเช่นนี้เราต้องใช้สิทธิ์ให้เต็มที่ เพื่อไม่ให้ใครก็ตามมากระทำการละเมิดให้เราต้องได้รับความเสียหายและพวกเขาต้องชดใช้!
ผู้บริโภค สามารถใชสิทธิ์ ขอคำปรึกษาหรือแนะนำได้ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค [อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม]ffcthailand.org