มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

True ID ฟ้อง กสทช. หวังปิดปากผู้บริโภค

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 18-03-2024 12:41

หมวดหมู่: สื่อและโทรคมนาคม

ภาพประกอบข่าว

เครือข่ายผู้บริโภค ชี้ True ID ฟ้อง กสทช. หวังปิดปากการปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค

18 มี.ค.67 สภาผู้บริโภค และหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร เครือข่ายผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมให้กำลังใจและสนับสนุน นางสาว พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ จากเหตุถูกบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ( TRUE ID ) ยื่นฟ้อง ข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง สั่งประทับรับฟ้อง เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567

มูลเหตุในคดีสืบเนื่องมาจากการที่สำนักงาน กสทช. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ประสบปัญหาการรับชมรายการของช่องโทรทัศน์ดิจิตอลผ่าน Internet TV Box และแอพพลิเคชั่น True ID ที่มีโฆษณาคั่นเวลาขณะเปลี่ยนช่องรายการซึ่งทำให้ผู้ชมได้รับความเดือดร้อน ซึ่งเรื่องนี้ได้ถูกส่งมาให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ที่มีตนเป็นประธานพิจารณาและให้ความเห็นตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการทำหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯในกรณีนี้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่ กสทช. มอบหมายและถูกต้องตามขั้นตอนดำเนินงานของสำนักงาน กสทช. ทุกประการ ซึ่ง คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า การให้บริการที่มีการนำเอา “ช่องรายการโทรทัศน์ดิจิตอลของผู้รับใบอนุญาตทั้งช่อง” ไปเผยแพร่ผ่านทางบริการ True ID นั้นอาจขัดต่อประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ข้อ 14 (23) และเงื่อนไขใบอนุญาตของผู้รับใบอนุญาตโทรทัศน์ดิจิตอล ที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตตามประกาศดังกล่าว ต้องเผยแพร่ช่องรายการของตนเองผ่านทางผู้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายจาก กสทช. เท่านั้น และยังอาจขัดต่อประกาศ Must Carry ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการช่องรายการ และผู้ให้บริการโครงข่ายต้องนำพาสัญญาณไปโดยไม่มีการแทรกเนื้อหาใดๆ (pass through) ด้วย เมื่อคณะอนุกรรมการฯได้ร่วมกันพิจารณาและให้ความเห็นอย่างรอบด้านโดยอิสระก่อนจะมีมติให้สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตช่องโทรทัศน์ดิจิตอลปฏิบัติตามประกาศ กสทช.ที่เกี่ยวข้องและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด เนื่องจาก True ID ยังมิได้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายประเภท IPTV จากกสทช. ซึ่งจะทำให้ได้รับสิทธิตามประกาศ Must Carry ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการโครงข่ายต้องนำพาสัญญาณของช่องรายการทีวีดิจิตอลไปโดยไม่มีการแทรกเนื้อหาใดๆ นอกจากนี้ ยังมีมติให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่ามีการให้บริการในลักษณะเดียวกับ True ID อีกหรือไม่ ซึ่งภายหลังก็ได้มีการออกหนังสือในรูปแบบเดียวกันไปยังผู้ประกอบการอีกรายที่มีพฤติการณ์ในลักษณะเดียวกัน ทางสำนักงาน กสทช. จึงไม่ได้เลือกปฏิบัติเฉพาะกับ True ID

จากมูลเหตุข้างต้น สภาผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภค จึงเห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของกสทช .พิรงรอง เป็นการคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภคและผลประโยชน์ของสาธารณะ ดังนั้น การที่ True ID ฟ้องคดี ถือเป็นการนำกระบวนการยุติธรรมมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อมุ่งหวังที่จะระงับยับยั้งการปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแลของกรรมการ กสทช.โดยอิสระ ในการปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคและประโยชน์สาธารณะ อาจเข้าข่ายการกระทำที่เรียกว่าการฟ้องปิดปาก ซึ่งผู้ฟ้องคดีอาจมิได้มุ่งผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับโทษทางกฎหมายอย่างแท้จริง แต่กระทำเพื่อเป็นการขัดขวางและหน่วงเวลาในการที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย จึงขอเรียกร้องให้พิจารณาถอนฟ้องโดยเร็ว

ด้าน นางสาว พิรงรอง ยืนยันว่า การทำหน้าที่ กสทช . ด้านกิจการโทรทัศน์ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคตามที่มีข้อร้องเรียน และประสงค์ให้มีการกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตตามกฎหมาย รวมถึงต้องการให้ผู้รับใบอนุญาตช่องรายการตรวจสอบและตระหนักถึงการป้องกันตนเองมิให้ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ในเนื้อหารายการ การพิจารณาให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว เป็นเพียงการให้ข้อเสนอแนะต่อสำนักงาน กสทช. คณะอนุกรรมการฯ ไม่มีอำนาจสั่งการ ดังนั้น จึงมีหนังสือแจ้งเวียนไปยังผู้รับใบอนุญาตช่องรายการให้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. และเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต ซึ่งตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. คิดว่า True ID อาจเข้าใจคลาดเคลื่อนในเจตนา ดังนั้น เมื่อมีการฟ้องคดี และศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องก็พร้อมชี้แจงในขั้นตอนของการไต่สวนคดี และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในการทำหน้าที่ต่อไป


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม