มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

เหตุนี้ ! มีเรื่อง “ ไม่เปลี่ยนชื่อหม้อแปลงไฟฟ้าเจอฟ้องศาล”

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 10-03-2023 16:27

หมวดหมู่: สินค้าและบริการทั่วไป

ภาพประกอบข่าว

เหตุนี้ ! มีเรื่อง “ ไม่เปลี่ยนชื่อหม้อแปลงไฟฟ้าเจอฟ้องศาล”

ขออนุญาตสอบถามผู้มีความรู้ทุกๆท่านครับ คือ ผมเพิ่งขายบ้าน แต่มิเตอร์น้ำ- ไฟ ยังเป็นชื่อของผมอยู่ (ชื่อผม ผู้ขายบ้าน) เนื่องจาก เจ้าของบ้านคนใหม่ (คนที่มาซื้อบ้าน) ยังไม่ว่าง ไปเปลี่ยนชื่อมิเตอร์น้ำ-ไฟ ให้เป็นชื่อของเขานะครับ อันนี้ผมจะมีความเสี่ยงอะไรไหมครับ เช่นๆ ถ้าเจ้าของบ้านคนใหม่ ค้างค่าน้ำ ค่าไฟ ซัก 5 เดือน แล้ว การประปา การไฟฟ้า จะมาตามเก็บเงินจากผมไหมครับ ?

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตอบให้เลยนะ มีปัญหาตามมาแน่นอน ทำไมน่ะเหรอ ? นั่นก็เพราะว่า คุณยังมีชื่อเป็นเจ้าของเดิมที่เคยไปขอการติดตั้ง หม้อแปลงไฟฟ้า และ น้ำประปา , หน่วยงานพวกนี้เขาไม่รู้ด้วยหรอก ว่า คุณขายบ้านไปแล้ว ถ้าไม่ไปแจ้งยกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษร ภาระเรื่องน้ำ -ไฟ ทั้งหลายก็เป็นของเจ้าของเก่า เพราะสัญญาการขอใช้เป็นชื่อคุณ เพราะฉะนั้น อย่าสร้างภาระผูกพันให้ตัวเองไม่รู้จบ! จงโอนภาระนี้ไปให้เจ้าของบ้านคนใหม่เสียโดยไว ทั้งการแจ้งยกเลิกมิเตอร์ไฟฟ้า หรือ “ โอนเปลี่ยนชื่อ หากยังยื้อไว้ละก็ ... คุณอาจถูกฟ้องร้อง ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล เพราะเจ้าของบ้านคนใหม่ค้างจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ

เหตุที่ต้องให้คำแนะนำแบบนี้ นั่นก็เพราะว่า มันมีเหตุเกิดขึ้นแล้วน่ะสิ ! มาๆ จะเล่าให้ฟัง เรื่องมีอยู่ว่า ... เมื่อปี 2544 คุณ ก้อย ขายบ้านไปให้เจ้าของรายใหม่ แต่ยังไม่ไปแจ้งยกเลิกมิเตอร์ไฟฟ้า หรือ โอนเปลี่ยนชื่อ ดังนั้น ชื่อผู้ใช้ไฟฟ้า จึงยังเป็นของคุณก้อย โชคดีไป ที่เจ้าของบ้านคนใหม่ นิสัยดี เมื่อมีใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้า - ประปา ก็นำไปชำระ ทุกงวด ถึงแม้บ้านหลังนี้ ถูกขายเปลี่ยนมือมาหลายคน ก็ไม่เคยเกิดปัญหา

ทว่า ... ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 คุณก้อย ได้รับ “ หมายเรียก “ ของ ศาลจังหวัดปทุมธานี ที่รับคำฟ้องจาก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอสามโคก ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2565 โดย ยื่นฟ้อง ฐานค้างชำระหนี้ค่าไฟฟ้า 6 เดือน ตั้งแต่ สิงหาคม – ธันวาคม 2563 และ มกราคม 2564 มียอดหนี้ค่าไฟฟ้า บวก ภาษี รวมเกือบ 1 หมื่นบาท ในคำฟ้อง “คุณก้อย “ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 ฐานเป็น เจ้าของหม้อแปลงไฟฟ้าเดิม ที่มีชื่อ ยื่นขอติดตั้ง “หม้อแปลงไฟฟ้า “ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2550 , ส่วน ผู้ซื้อบ้านและเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าคนปัจจุบัน เป็น ผู้ถูกฟ้องที่ 2

ข้อความสำคัญ ในคำฟ้อง ระบุว่า “ ตามระเบียบว่าด้วยการใช้ไฟฟ้าและบริการ พ.ศ. 2562 ข้อ 32 ความรับผิดชอบในการชำระค่าไฟฟ้า ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องรับผิดชอบชำระค่าไฟฟ้าตลอดไป จนกว่า จะแจ้งบอกเลิกการใช้ไฟฟ้าเป็นลายลักษณ์อักษร หรือ โอนเปลี่ยนชื่อผู้ใช้ไฟฟ้าให้ผู้อื่น หากผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ได้บอกเลิกการใช้ไฟฟ้า แต่มีผู้ครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้า ให้ถือว่า ผู้ใช้ไฟฟ้า และ ผู้ครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้า เป็นผู้รับผิดชอบร่วมกัน ชำระค่าไฟฟ้า

ที่สำคัญ ในช่วงที่มีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 รัฐบาล มีมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอสามโคก ในฐานะ โจทก์ จึงยังมิได้งดจ่ายกระแสไฟฟ้า หรือ บอกเลิกสัญญาซื้อ-ขาย ไฟฟ้า กับ จำเลย แต่ได้ติดตามทวงถาม และ แจ้งหนี้ มาโดยตลอด แต่จำเลยกลับเพิกเฉย ดังนั้น จึงร้องขอต่อศาล ออกหมายเรียกพิจารณา พิพากษา และ บังคับจำเลย ให้ชำระเงิน จำนวน 10,300.51 บาท พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของเงินต้นจำนวน 8,632.61 บาท*ซึ่งยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้คิดเงินต้องชำระนับจาก “ วันฟ้อง “ 9 ธันวาคม 2565 พร้อมกับต้องชดใช้ “ ค่าฤชาธรรมเนียม “ ได้แก่ ค่าธรรมเนียมศาล ,ค่าสืบพยานหลักฐานนอกศาล ,ค่าป่วยการ , ค่าพาหนะเดินทาง , และ ค่าเช่าที่พักของพยาน , ผู้เชี่ยวชาญ , ล่าม , และ เจ้าพนักงานศาล ค่าทนายความ , ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี , ตลอดจนค่าธรรมเนียม , หรือ ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ บรรดาที่กฎหมายบังคับให้ชำระ , รวมถึง ต้องจ่าย “ ค่า ทนายความ อย่างสูง “ แทนโจทก์ ศาลนัดไกล่เกลี่ยและให้การสืบพยาน ระหว่างผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้อง วันที่ 7 มีนาคม 2566

คุณก้อย พอเจอหมายศาลแบบนี้ ไม่รู้จะทำอย่างไร จึงมาขอความช่วยเหลือจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยเล่าว่า บ้านหลังเดิม ที่อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ขายไปแล้วเมื่อ 20 ปีก่อน แต่ไม่ได้ไปแจ้งยกเลิกเป็นผู้ครอบครองหม้อแปลงไฟฟ้า ยอมรับว่า ชะล่าใจ เพราะได้เซ็นมอบอำนาจให้กับผู้ซื้อรายแรก ไปเปลี่ยนชื่อเป็นผู้ครอบครองมิเตอร์ไฟฟ้า แต่กลับไม่ยอมเปลี่ยน ทางเราเห็นว่า เปลี่ยนมือหลายทอด ไม่เคยมีปัญหา ก็เลยวางใจ จนกระทั่งมาเกิดเรื่องขึ้น จากผู้ซื้อรายล่าสุดที่เป็นเจ้าของบ้านและเป็นผู้ค้างชำระค่าไฟฟ้า6เดือน ทำให้เรามาโดนฟ้องพ่วงไปด้วย

ล่าสุด 9 มีนาคม ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับการแจ้งจากคุณก้อย ว่า ในวันไกล่เกลี่ย 7 มีนาคม 2566 ได้ไป ศาลจังหวัดปทุมธานี โดยขอร้องต่อศาล ขอเลื่อนเวลาผ่อนผัน ไปอีก2เดือน เพื่อไปตามตัว ผู้ครอบครองบ้านรายล่าสุด ซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าค้าง 6 เดือน มารับผิดชอบหนี้ที่ก่อไว้ เพราะตอนนี้หายตัวไปเลย ทิ้งบ้านให้เป็นบ้านร้าง เพราะรู้มาว่า หมายศาล ยังแปะอยู่หน้าบ้าน คาดว่า ยังค้างจ่ายหนี้เงินกู้ซื้อบ้าน ซึ่งศาลนัดพร้อมอีกครั้ง วันที่ 15 พฤษภาคมนี้

คุณก้อย ยอมรับว่า แม้เป็นเรื่องยากที่จะตามตัวคนที่ค้างค่าไฟมาชำระหนี้ แต่ก็ไม่ละความพยายามโดยได้ไปคัดสำเนาทะเบียนบ้านของนายคนนี้ เพื่อส่งจดหมายไปยังบ้านเลขที่ซึ่งปรากฏในทะเบียนบ้านภูมิลำเนาเดิม ตอนนี้ มาคิดว่า **ถ้าตามตัวไม่ได้ ก็คงยอมให้ศาลฟ้องไปเลยดีไหม **

แต่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะว่า คุณก้อย ต้องสู้ เพราะยังมีช่องทาง โดยยื่นคำให้การ เป็นเอกสาร เพื่อชี้แจงลำดับเหตุการณ์ อาจเขียนเอง หรือ ให้ทนายเขียนให้ก็ได้ ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมช่วยในส่วนนี้ พร้อมกันนี้ ต้องไปคัดทะเบียนราษฏร์ ที่เคยปรากฏชื่อตัวเอง ครอบครอง ก่อนขายเปลี่ยนมือ เมื่อปี 2544 และ หลักฐานการแจ้งย้ายออก โดยต้องให้ สำนักงานเขต เป็นผู้เซ็นรับรองความถูกต้อง แล้วนำมายื่นต่อศาล เพื่อพิจารณา อย่างไรก็ตาม คดีนี้ มีความซับซ้อน และ ยังหาตัวจำเลยที่ 2 ที่เป็นผู้กระทำผิด ในฐานะค้างชำระหนี้ค่าไฟฟ้า ไม่ได้ ดังนั้น คงต้องว่าจ้างทนาย เพราะดีทั้งการที่มีมืออาชีพมาว่าความ โดยอาจไปขอความช่วยเหลือจาก เนติบัณฑิต หรือ สภาทนายความ หรือ ทนายความที่รู้จัก

จากเหตุการณ์นี้ ทุกคน ต้องรู้สิทธิ์ ป้องกันตัวเอง เมื่อขายบ้าน – คอนโดมิเนียม ต้องแจ้งยกเลิก มิเตอร์ไฟฟ้า-ประปา หรือ โอนให้เป็นชื่อเจ้าของใหม่ ให้เบ็ดเสร็จ อย่าให้มีชื่อเจ้าของเก่าจนเกิดภาระผูกพัน จนสุดท้าย อาจถูกฟ้องขึ้นศาล โดยไม่รู้ตัว !


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม