มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

ร้านทองออนไลน์แม่ตั๊ก สะท้อนกฎหมายและหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคอ่อนแอ

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 08-10-2024 17:30

หมวดหมู่: อื่นๆ

ภาพประกอบข่าว

ร้านทองออนไลน์แม่ตั๊ก สะท้อนกฎหมายและหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคอ่อนแอ

กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคไทยจุดอ่อนเพียบ-อัตราโทษต่ำ ผู้ยกร่างกฎหมายบางรายมีทัศนคติคุ้มครองผู้ประกอบการเกินเหตุ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจี้ ถึงเวลาต้องสังคายนาอย่างจริงจัง

วันนี้ ( 8 ตุลาคม 2567 )จากกรณี ร้านทองออนไลน์ แม่ตั๊ก กรกนก สุวรรณบุตร และสามี ป๋าเบียร์ รวมถึงผู้เกี่ยวข้อง ร่วมกันขายทองออนไลน์และโฆษณามาเป็นเวลานานหลายปี มีทรัพย์สินหลายร้อยล้านบาท ได้สร้างความเสียหายให้แก่ผู้บริโภคทั่วประเทศที่ซื้อสินค้าทางออนไลน์ แต่เพิ่งถูกตำรวจจับกุมข้อหาคดีฉ้อโกงประชาชน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคในความผิดเกี่ยวกับการโฆษณาโดยใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค สะท้อนถึงความล้มเหลวของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค

กฎหมายที่ใช้คุ้มครองผู้บริโภคล้วนมีช่องโหว่และจุดอ่อน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบเจอปัญหาเหล่านี้แทบทุกวันจากเคสที่มาร้องเรียนกับฝ่ายพิทักษ์สิทธิ เราจึงอยากรู้ว่า ปัญหาเกิดจากกฎหมายฉบับไหนบ้างที่ล้าสมัยต้องสังคายนาปรับปรุงแก้ไขให้ทันสมัยเพื่อปกป้องผู้บริโภคอย่างเข้มแข็งอย่างจริงจังและจริงใจ จนกระทั่งได้คำตอบที่ชัดเจนจาก “อาจารย์ ไพศาล ลิ้มสถิตย์ นักวิชาการด้านกฎหมาย ในฐานะกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้คร่ำหวอดด้านกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคหลายฉบับ ได้ชี้ให้เห็นเงื่อนปมของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และการทำหน้าที่ของหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค ในกรณีร้านทองแม่ตั๊ก ที่ขายทองคุณภาพต่ำหลอกลวงผู้บริโภคว่าเป็นทอง 99.99 เปอร์เซ็นต์ แต่ปรากฏทองรูปพรรณเป็นทองเปอร์เซ็นต์ต่ำไม่ได้มาตรฐาน บางรายการคือ ปี่เซี๊ยะเป็นเรซิน

กฎหมาย 3 ฉบับที่ต้องสังคายนาอย่างเร่งด่วน เพราะทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนที่ประกอบธุรกิจหลอกหลวงหรือโฆษณาไม่เป็นธรรมใช้ช่องโหว่เอาเปรียบ-หลอกลวง ไม่มีความเกรงกลัวกฎหมาย คือ

(1) "พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522" กำหนดความผิดการโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค” ทั้งกรณี โฆษณาเป็นเท็จ ,หลอกลวง หรือ เกินความจริง กลับมีอัตราโทษที่ต่ำมาก เพราะจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ยกตัวอย่างเคส “ตั๊ก – เบียร์” เจ้าของร้านทองเคทูเอ็น ที่ถูกตำรวจแจ้งข้อหา 4 ข้อหา ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน , ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ,ร่วมกันโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค , และ ร่วมกันเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เพราะขายทองคำและเพชร ทางติ๊กต็อก แต่สินค้าไม่ได้คุณภาพตามที่อวดอ้าง

นอกจากนี้ ทองรูปพรรณถือเป็น "สินค้าควบคุมฉลาก" ตามประกาศของ คณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ของ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ( สคบ. ) ดังนั้น ต้องระบุเปอร์เซ็นต์ , ความบริสุทธิ์,น้ำหนักทอง รวมถึง ราคา พิมพ์ในฉลาก และ ต้องมีสถานที่ตั้งชัดเจน ถึงแม้ขายออนไลน์ ซึ่งเคสตั๊ก-เบียร์ ไม่ได้ปฏิบัติตาม”กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องฉลาก” แต่อัตราโทษต่ำมากโทษ เพราะแค่จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ทั้งที่กฎหมายฉบับนี้เพิ่งแก้ไข การหลอกลวงผู้บริโภคลักษณะนี้น่าจะมีมูลค่าความเสียหายถึงร้อยล้านบาท แต่โทษปรับกลับต่ำเตี้ย สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการเสนอกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่ไม่เสนอเพิ่มอัตราโทษในเรื่องนี้ รวมถึงกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษบางท่านที่ไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้

(2) “พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545” เป็นกฎหมายที่กำกับดูแลการทำตลาดออนไลน์ทุกประเภท รวมถึง ทองคำ ถือเป็นการซื้อ-ขายออนไลน์ ซึ่งถือเป็น “ตลาดแบบตรง” (Direct Marketing) " อยู่ภายใต้การควบคุมของ “พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545” เป็นการทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ,โทรทัศน์ , วิทยุ , อินเทอร์เน็ต , แอปพลิเคชัน ,แผ่นพับ เพื่อเสนอสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภคซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทาง โดยผู้ที่จะทำการตลาดแบบตรงไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล จะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงต่อ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แต่กฎหมายฉบับนี้มีช่องโหว่คือ มีการออกกฎกระทรวงยกเว้นให้บุคคลธรรมดาทั้งรายเก่าและรายใหม่ ที่มีรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ต่ำกว่า 1ล้าน8แสนบาทต่อปี ไม่ต้องจดทะเบียน ซึ่งเป็นทำให้เกิดการหลอกลวงทางออนไลน์ ประเด็นนี้ อาจารย์ ไพศาล บอกว่า เมื่อครั้งเป็นอนุกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนและคุ้มครองผู้บริโภคของวุฒิสภา เคยท้วงติงประเด็นนี้กับ สคบ. แต่ทางผู้บริหาร อ้างว่าที่ต้องยกเว้น เพราะกลัวจะเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการ และถึงแม้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เรียกร้องไปยัง สคบ.ให้แก้ไข แต่สิ่งที่ได้รับคือการเพิกเฉย ดังนั้น รัฐบาลต้องลงมากำกับดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง

(3 ) ”กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค” ในทางปฏิบัติมีปัญหาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการตีความว่า คดีประเภทใดเป็นคดีบริโภค รวมถึงความไม่เข้าใจเนื้อหากฎหมายของผู้พิพากษาบางท่าน หรือมีการโยกย้ายหรือลาเรียน ทำให้การพิจารณาคดีขาดความต่อเนื่อง ประการสำคัญคือ ปัญหาการบังคับคดีผู้บริโภคที่แม้ว่าผู้เสียหายจะชนะคดี แต่ไม่สามารถบังคับคดีได้ ยกตัวอย่าง โลชั่นทาผิวขาวยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ ทำให้ผู้ใช้ต้องเสียโฉม นับเป็นคดีแรกในประเทศไทย ที่ศาลรับฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่ม แถมในท้ายที่สุดผู้บริโภคได้รับชัยชนะ! ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องแทนผู้บริโภค หลังจากเกิดเหตุ 2 พฤศจิกายน 2559 กว่าจะจบชั้นศาลอุทธรณ์พิพากษา วันที่ 27 ธันวาคม 2561 สำคัญ”กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค” มีปัญหา เพราะหลายคดี มีแค่คำพิพากษา แต่กระบวนการอายัดทรัพย์จะดำเนินการเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว โดยศาลจะไม่ออกคำสั่งอายัดทรัพย์ทันทีหลังจากมีคำพิพากษาจากศาลชั้นต้น ถือเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบธุรกิจ หรือร้านค้าที่ไม่รับผิดชอบ จงใจหลอกลวงขายสินค้าหรือให้บริการไม่มีคุณภาพ สามารถยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินหลบหนีไปอย่างง่ายดาย จึงทำให้เป็นปัญหา " แม้ผู้บริโภคชนะคดี แต่กลับไม่ได้รับการเยียวยา "

อาจารย์ไพศาล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ชี้ประเด็นนี้ว่า ทั้งที่หลายประเทศทั่วโลกก้าวหน้าไปไกลกว่าไทยกว่า10ปี ในขณะที่ประเทศไทยกลับยังมีภาคธุรกิจเป็นกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรืออนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดของสคบ. เข้ามาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของธุรกิจ ซึ่งเข้าข่ายการตั้งกรรมการที่มีส่วนได้เสียหรือผลประโยชน์ขัดกัน (conflict of interest) ระหว่างผลประโยชน์สาธารณะในการคุ้มครองผู้บริโภคกับผลประโยชน์ของผู้ประกอบการ แต่กลับไม่มีตัวแทนขององค์กรผู้บริโภค ดังนั้น จึงขอเสนอให้มีตัวแทนจากสภาองค์กรของผู้บริโภคเข้าร่วมเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการแทน

จากปัญหากฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีช่องโหว่และไม่ปกป้องผู้บริโภคอย่างแท้จริง อาจารย์ ไพศาล ลิ้มสถิตย์ สะท้อนมุมมองว่า การกำหนดอัตราโทษ ตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของไทยต่ำมาก สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะมัวแต่" คุ้มครองผู้ประกอบการมากเกินไป" โดยเฉพาะกรรมการกฤษฎีกาบางท่านที่ยกร่างกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค มีมุมมองคุ้มครองผู้ประกอบการมากเกินไป เพราะอาจถือว่าการออกกฎหมายที่เป็นโทษอาญา เหมือนเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงพยายามเขียนบทกำหนดโทษที่ค่อนข้างต่ำ แต่เรื่องนี้เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะหากเทียบกับกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคจากหลายประเทศ กำหนดอัตราโทษค่อนข้างสูง เพื่อเป็นหลักประกันว่า หากผู้ประกอบการ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือตั้งใจหลอกลวงผู้บริโภค สมควรต้องได้รับอัตราโทษที่สูง เพื่อให้เกิดความเกรงกลัว หรือ อาจต้องมีโทษปรับทางปกครองในการนำเงินมาเยียวยาผู้เสียหายได้ด้วย

อาจารย์ไพศาล ลิ้มสถิตย์ ได้ให้ข้อมูล กฎหมายต่างประเทศคือ กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศเกาหลีใต้ และหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของเกาหลีใต้ที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของไทยและหน่วยงานของไทย คือ กรณีการโฆษณาหรือใช้ฉลากสินค้าโดยหลอกลวงหรือทำให้สำคัญผิดในสาระสำคัญของสินค้าหรือบริการไว้สูงมาก มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 150 ล้านวอน (ราว 3.75 ล้านบาท) หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับทางปกครองด้วยคือ ปรับไม่เกิน 100 ล้านวอน (ราว 2.5 ล้านบาท) ในขณะที่กฎหมายไทยมีโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาทเช่น อาจจะปรับเพียง 1 หมื่นก็ได้ และไม่มีโทษปรับทางปกครองด้วย หรือควรมีการเสนอกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคทางออนไลน์เป็นการเฉพาะเหมือนในประเทศเกาหลีใต้ที่มีกฎหมายชื่อว่า ACT ON THE CONSUMER PROTECTION IN ELECTRONIC COMMERCE ซึ่งทำให้สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพราะกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของไทยจัดทำมาตั้งแต่ปี 2522 มีเนื้อหาหลายอย่างที่ล้าสมัย

ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งรัดสังคายนา ปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเสียใหม่ เพื่อป้องกันปัญหาการขายสินค้าหรือบริการในลักษณะหลอกลวงผู้บริโภคทางสื่อออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันพบมากเป็นลำดับต้นๆ ตามข้อมูลเรื่องร้องเรียนของสภาองค์กรของผู้บริโภค และควรมีมาตรการเยียวยาที่เหมาะสม เช่น การวางหลักประกันของผู้ประกอบการตลาดแบบตรงหรือขายตรงทางออนไลน์ พร้อมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สคบ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรปรับแนวคิดหรือทัศนคติบางเรื่องที่เน้นคุ้มครองผู้ประกอบการมากเกินไป ต้องทบทวนบทบาทด้วยการหันกลับมาปกป้องผู้บริโภคให้มากขึ้น ต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะ สคบ.ไม่ใช่รอให้ผู้บริโภคมาร้องเรียนเกิดเหตุการณ์ร้ายแรง เกิดการสูญเสียทรัพย์สินจำนวนมากจึงค่อยมาตรวจสอบตามแก้ที่หลัง เพราะ " การทำงานเอาแต่เชิงรับ ถือเป็นการทำงานไม่มีประสิทธิภาพ” อ.ไพศาล กล่าวทิ้งท้าย ที่สำคัญต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชน ภาคประชาสังคม กลุ่มเครือข่ายผู้บริโภค ภาคประชาชนให้เป็นเครือข่ายและสนับสนุนงบประมาณ อย่าง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค หรือ อื่นๆ ช่วยเป็นหูเป็นตา เท่ากับได้เครือข่ายที่คอยเฝ้าระวังและส่งข้อมูลให้ ถือเป็นมาตรการช่วยให้ผู้บริโภคไม่ถูกหลอกลวงมากมายขนาดนี้**


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม