มาตรฐานความปลอดภัยรถโรงเรียนไทย-เทศ เหมือน&ต่าง ?
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 21-06-2024 14:43
หมวดหมู่: บริการขนส่งและยานพาหนะ
มาตรฐานความปลอดภัยรถโรงเรียนไทย-เทศ เหมือน&ต่าง ?
45,000 คัน = ผิดกฎหมาย // กับ 3,342 คัน ถูกกฎหมาย
นี่คือตัวเลขที่นำมาเทียบกันให้เห็นชัดๆของรถรับ-ส่งนักเรียนกว่า 45,000 คัน ที่ไม่มีใบอนุญาตอยู่ทั่วประเทศไทย สะท้อนถึงความไม่ปลอดภัยในการเดินทางของนักเรียน เพราะมีเพียง 3,342 คัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ กรมการขนส่งทางบก ประมาณการ
45,000 คัน = ผิดกฎหมายของรถรับ-ส่งนักเรียน มันส่งผลต่อการกำกับมาตรฐานความปลอดภัย รวมถึงเป็นปัจจัยเสริมพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่ที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต ใช้รถผิดประเภท หลีกเลี่ยงการจัดทำประกันภัย ประมาทเลินเล่อ ดัดแปลงสภาพรถ เพื่อให้รับ-ส่งนักเรียนได้มากขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของเด็กนักเรียน นี่เองที่เป็นตัวสะท้อนมาตรฐานความปลอดภัยของพาหนะในการเดินทางของเด็กๆ จากบ้านไปโรงเรียน และ จากโรงเรียนเพื่อกลับมาบ้าน มันช่างมีน้อยจนน่าตกใจ!
ปัญหาของรถรับส่งนักเรียนในปัจจุบัน นั่นก็คือ มีการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้รับส่งนักเรียน โดยไม่มีการปรับปรุงสภาพรถให้เหมาะสมและปลอดภัย รวมถึงมีการแก้ไขดัดแปลงสภาพตัวรถที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรง
คุณครูลืมเด็กไว้บนรถรับส่งนักเรียนจนทำให้เด็กเสียชีวิต ซึ่งการลืมเด็กไว้บนรถ โดยเฉพาะรถรับส่งนักเรียนไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก แต่เป็นสิ่งที่เราพบเห็นอยู่บ่อยครั้งในข่าว และหลายๆ ครั้งสาเหตุของการลืมเด็กทิ้งไว้บนรถเกิดจากการไม่ได้นับจำนวนเด็กที่ขึ้น - ลงรถ รวมทั้งไม่ได้ตรวจเช็กก่อนลงจากรถว่ายังมีเด็กอยู่บนรถหรือไม่
“อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นซ้ำๆ นั้นสะท้อนปัญหาที่เกิดจากการใช้รถรับส่งนักเรียนที่ไม่ได้มาตรฐาน ระบบการจัดการ และการกำกับที่ขาดประสิทธิภาพ รวมถึงนโยบายการศึกษาที่ทำให้นักเรียนต้องเดินทางไกลขึ้น ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งเสริมความเสี่ยงของนักเรียนจากรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ปลอดภัย”
มีคำถามว่า "รถรับส่งนักเรียนไทย ปลอดภัยแล้วหรือยัง ? เอางี้ เพื่อให้เห็นภาพชัดจะเปรียบเทียบให้เห็นกับต่างประเทศ
เพจเฟซบุ๊ก แม่บ้านไต้หวัน https://www.facebook.com/maebaanTaiwanof2sons/posts/391570477986667?ref=embed_post
ได้เคยแบ่งปันรูปภาพ รถโรงเรียนอนุบาลไต้หวัน ที่นอกจากตัวรถจะถูกออกแบบมาอย่างปลอดภัย และมีครูคอยอยู่ดูแลตลอดการเดินทางแล้ว ยังมีการมีอบรมให้ความรู้กับเด็กๆ เรื่องการเอาตัวรอดในกรณีรถตู้มีปัญหาด้วย โดยทางเพจระบุข้อความว่า " โรงเรียนอนุบาลในไต้หวันมีรถรับส่งนักเรียนหน้าตาแบบนี้จ้า.... เพื่อความปลอดภัย และมองเห็นได้ชัดเจน รถรับส่งเป็นรถตู้คันสีเหลืองคาดเส้นแดงข้างตัวรถ หลังคาสีเขียว มีชื่อโรงเรียนชัดเจนรถสามารถบรรทุกนักเรียนอนุบาลเต็มที่ได้ 16 คน และผู้ใหญ่ 3 คน ในรถต้องมีครูคุมเด็กอยู่ในรถด้วยอย่างน้อย 1 คนค่ะ มีประตูฉุกเฉินออกคือด้านหลัง บางคันนี่ทันสมัยมาก...มีบันไดไฟฟ้าพับเก็บอัตโนมัติสะดวกเวลาลงรถ-ขึ้นรถ และมีระบบเตือนถ้ารถไม่ล็อค รถก็จะสตาร์ทไม่ติดด้วยนะเออ เราเห็นรถตู้รับส่งน่าจะวิ่งระยะใกล้ๆในรัศมีไม่เกิน 20 กิโลเมตรนะ เด็กนักเรียนที่ต้องนั่งรถตู้รับส่งบางที่มีอบรมให้ความรู้การเอาตัวรอดในกรณีรถตู้มีปัญหาด้วยนะ
นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา : เมื่อรถโรงเรียนหยุด รถยนต์อื่นๆทุกชนิดต้องหยุดทั้งหมดทุกเลน จริงหรือไม่? จริง เน้นว่าต้องหยุดนะ ไม่ใช่เเค่ชะลอ อีกอย่างคือ ในโซนที่ใกล้กับโรงเรียน เค้าจะมีไฟกระพริบ 30 นาทีก่อนเวลาเรียนเริ่ม รถที่ขับผ่านบริเวณโรงเรียน ต้องขับช้ากว่าปกติ ในเมืองที่ดิฉันอยู่ จะต้องขับ 20 ไมล์ต่อชั่วโมง ความเร็วปกติจะมากกว่า 20 ไมล์ต่อชั่วโมงค่ะ มีกฏหมายมานานแล้ว รถโรงเรียนที่นั่นเวลาจอดให้เด็กลง จะมีป้าย stop ขึ้นมาเลย ใครฝ่าฝืนจับปรับหนัก ที่นั่นเค้าคุ้มครองเด็กดีมาก ถือว่าเด็กเป็นอนาคตของชาติ กฎหมายเขาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะประชาชนเขาปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดมานาน**
ถ้าเป็นประเทศไทยล่ะไม่มีทางหยุดเด็ดขาด คนไทยนี่ได้จับพวงมาลัยแล้วเหมือนผีเข้า แถมขับกันเหมือนไม่มองถนนอีกต่างหาก คุณภาพการใช้กฎหมายจราจร การลงโทษมันต่างกัน ระเบียบวินัยก็เลยต่างกันเห็นได้ชัด ที่ผ่านมารถรับส่งนักเรียนไทยเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง สาเหตุมาจากการขับขี่รถของพนักงานขับรถที่ขับด้วยความเร็ว ประมาท น่าหวาดเสียว และสภาพตัวรถที่มีการดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาต สภาพของรถไม่มั่นคงแข็งแรง อุปกรณ์ส่วนควบไม่ครบถ้วนถูกต้อง และการบรรทุกนักเรียนเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด เป็นจุดเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุที่นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
อีกความเห็น ...ที่อเมริกา โรงเรียนรัฐบาลคือเข้าเรียนตามเขตที่พักอาศัย เรียนใกล้บ้าน เค้าถึงจัดรถนักเรียนรับส่งได้ ถ้าอยากเรียนเขตอื่น คือต้องรับส่งลูกเอง อย่างเขตที่เราอยู่ จะมี ไฮสคูล 2 โรงเรียนมัธยม 2 โรงเรียน ประถมน่าจะ 6-7 โรงเรียน รถบัสคันนึง ก็จะวิ่ง 4 รอบได้ เช้าสุดคือไฮสคูล ลูกเราอยู่มัธยม(secondary school) รถมารับ 7.30 คนเล็กอยู่ประถม รถมารับ 8.20 ละจะมีอีกรอบ ของเด็กเล็ก ซึ่งแต่ละเส้นทางวิ่งไกลสุดไม่น่าเกิน 15 นาที จากโรงเรียน รถจะจอดตามจุดต่างๆ ซึ่งจะมีรายละเอียดบอกก่อนเปิดเทอม ว่ารถเบอร์อะไร จอดตรงไหน มารับ-ส่งกี่โมง ปกติจะมีแอปฯ ให้ดูด้วยว่ารถมาถึงไหนแล้ว สะดวกมาก แต่พอมีโควิดโรงเรียนเปิดๆ ปิดๆ เลยไม่ได้ใช้แอปฯ ละ ส่วนที่ไทยนี่ บ้านอยู่บางนา ลูกเรียนสีลมงี้ หรือโรงเรียนรัฐบาลที่เข้าตามโควตาบ้านใกล้ ก็เอามาแต่ชื่อเข้าทะเบียนบ้าน ตัวอยู่อีกที่ก็มี จะลงทุนมีรถโรงเรียนคันใหญ่ๆไม่น่าจะคุ้ม จะจัดเส้นทางยังไง
โครงการพัฒนาชุดความรู้และจัดทำข้อเสนอนโยบายเรื่องรถรับส่งนักเรียนและรถเมล์โดยสารในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในระบบบริการขนส่งสาธารณะ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกันศึกษาวิจัยเชิงสำรวจเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ระบบบริการถรับ-ส่งนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ ประโยชน์ในการจัดการ การเดินทางไป-กลับ ระหว่างบ้าน-โรงเรียน ผู้ปกครองนักเรียน กลุ่มความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการจุดรับส่งนักเรียน เช่น อยากให้มีไฟกระพริบหน้าโรงเรียนหรือมีสัญญลักษณ์ให้โดดเด่นมากกว่านี้ ให้มีทางรถจักรยานและรถมอเตอร์ไซค์วิ่งไม่ให้เกิดอันตรายต่อเด็ก อยากให้มีที่กลับรถตรงหน้าโรงเรียน เพื่อความสะดวก จัดการทางเท้า อยากให้มีที่จอดรถจักรยานในโรงเรียน เด็กจะได้ขี่ไปโรงเรียน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย อยากให้มีที่จอดรถรับส่งนักเรียนให้เหมาะสม อยากให้มีที่จอดรถสำหรับผู้ปกครอง ระหว่างรอเด็กเลิกเรียน อยากให้มีตำรวจ ช่วยอำนวยความสะดวกด้านจราจร คอยดูแลรถในจุดที่เสี่ยงอันตรายในทุกๆจุด เช่นทางโค้ง ทางแยก ทางกลับรถ
จากที่โครงการฯ ทำงานกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค พบว่า ยังมีปัญหาระบบบริการรถรับส่งนักเรียน ซึ่งกรุงเทพมหานครมีโรงเรียนในสังกัดมากกว่า 400 โรงเรียน แต่กลับไม่มีการจัดระบบบริการรถรับส่งนักเรียน ทำให้ผู้ปกครองต้องแก้ปัญหาด้วยตัวเอง บางส่วนต้องแบกภาระหนี้สินในการซื้อรถมอเตอร์ไซค์เพื่อใช้รับส่งบุตรหลานไปโรงเรียน บางกลุ่มต้องจ้างรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของบุตรหลาน จากข้อมูลของศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่าสถิติการเสียชีวิตของเด็กไทย อายุ 1-14 ปี เสียชีวิตจากการขนส่ง เฉลี่ยปีละ 764 ราย อัตราการเสียชีวิต 5 คน ต่อ 1 แสนคนต่อปี และยังคงมีสถิติต่อเนื่อง ซึ่งรถโรงเรียนที่ประสบอุบัติเหตุส่วนใหญ่เป็นรถนอกระบบที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย มีการบริหารจัดการโดยเอกชน การควบคุมขาดประสิทธิภาพ และโรงเรียนไม่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ การจัดบริการรถรับส่งนักเรียน จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่กรุงเทพมหานครต้องจัดให้กับโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพฯ ซึ่งไม่เพียงแต่จะแก้ปัญหาการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในการเดินทางได้เท่านั้น แต่จะแก้ปัญหารถที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายให้เข้าสู่ระบบและมีมาตรฐานความปลอดภัยสูงขึ้นอีกด้วย เพื่อให้เยาวชนอนาคตของชาติไม่ต้องประสบอุบัติเหตุในการเดินทาง . อย่ามัวแต่ถอดบทเรียนเพราะมันไม่ได้ช่วยอะไร ควรเร่งปรับเปลี่ยนรถรับส่งนักเรียน เพื่อความปลอดภัยให้กับเด็กนักเรียนมากยิ่งขึ้น คุณคิดว่ารถรับส่งนักเรียนประเทศไทยจะปรับสภาพได้มาตรฐานความปลอดภัยได้หรือไม่ ?