มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

เสียหายจากภัยสังคมต้องทวงสิทธิ์อันชอบธรรม

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 26-06-2024 10:20

หมวดหมู่: อื่นๆ

ภาพประกอบข่าว

เสียหายจากภัยสังคมต้องทวงสิทธิ์อันชอบธรรม

ภัยสังคมกลางกรุง เกิดกลางวันแสกๆ ชายเมายา ก่อเหตุลวนลามทำร้ายร่างกายและชิงทรัพย์หญิงสาวเคราะห์ร้าย แต่แทบไม่น่าน่าเชื่อว่ามันจะเกิดเหตุตรงบันไดเลื่อนทางขึ้น BTS ฝั่งประตูทางออก 4 ที่สถานีเคหะสมุทรปราการ ตำบลท้ายบ้านใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ มีภาพจากกล้องวงจรปิดบันทึกเหตุการณ์ชัดเจน

ตอนแรกกล้องบันทึกภาพชายโรคจิตกำลังยืนช่วยตัวเอง จังหวะนั้นเองที่หญิงสาวขึ้นบันไดเลื่อนมาพอดี คนร้ายจึงหันไปหาจัดการล็อกคอกดลงกับพื้น ก่อนจะทำการลวนลามด้วยการหอมแก้ม และพยายามถอดกางเกงของหญิงสาว ตอนนั้นเหยื่อพยายามดิ้นรนขัดขืน ร้องตะโกนขอความช่วยเหลือจากคนบริเวณนั้น ทำให้คนร้ายโมโหชกไปที่ใบหน้าของเธอหลายครั้ง โชคดีมีคนเดินขึ้นบันไดเลื่อนตรงจุดเกิดเหตุ ทำให้ผู้ก่อเหตุตกใจแต่ไม่หันมาวายกระชากกระเป๋าถือของเหยื่อรีบวิ่งลงบันไดเลื่อน แล้วขี่รถจักรยานยนต์ที่จอดอยู่ใต้สถานีหลบหนีไป พร้อมกับกระเป๋าสะพายและทรัพย์สินของผู้เสียหายจำนวนหนึ่ง

หลังเกิดเหตุผู้เสียหายวัย 30 ปีไม่เพิกเฉยต่อเรื่องร้ายแรง จึงเข้าแจ้งความที่ สภ.เมืองสมุทรปราการ เล่าเหตุการณ์ว่า กำลังกำลังเดินขึ้นบันไดเลื่อนไปบนBTS เพื่อไปทำงาน แต่ด้วยบันไดมันสูงชัน จึงไม่เห็นคนร้ายที่กำลังยืนช่วยตัวเองอยู่ พอบันไดเลื่อนมาถึงทางขึ้นก็ต้องตกใจมากเมื่อเผชิญหน้ากับชายโรคจิต จะถอยก็ไม่ทัน จึงทำใจดีสู้เสือรีบเดินผ่าน แต่ไม่ทันพ้น คนร้ายประชิดตัวด้านหน้า แล้วล็อกคอลวนลาม ตอนนั้นพยายามต่อสู้ขัดขืน กรีดร้องตะโกนให้คนช่วย แต่ไม่มีใครผ่านมา คนร้ายมันกอดหอม จับนอนคว่ำจะถอดกางเกงออก เราไม่ยอมฮึดสู้คนร้ายมันเลยชกเข้าที่ใบหน้าหลายครั้ง แล้วยังชักมีดขึ้นมาขู่ด้วยว่าหากร้องอีกจะใช้มีดแทงให้ตาย โชคดีจังหวะนั้นมีผู้ชายคนหนึ่งกำลังเดินขึ้นบันไดBTSมาพอดี คนร้ายเห็นจึงตกใจกระชากกระเป๋าเรา วิ่งหนีย้อนศรลงบันไดเลื่อนจุดที่เป็นทางขึ้น

เรื่องนี้ทำเอาเราอกสั่นขวัญแขวนมาก คิดมาตลอดว่า BTS เป็นสถานที่ปลอดภัย แต่ไม่ใช่เลย ทั้งๆที่บริเวณเกิดเหตุ เป็นจุดที่มีคนพลุกพล่าน อยู่ห่างจากจุดขายบัตรไม่ไกลมากนัก ที่สำคัญห่างจากจุดตรวจของ รปภ.ไม่กี่เมตร เรากรีดร้องขอความช่วยเหลือเสียงดังมาก แต่กว่า รปภ.จะมา คนร้ายก็หนีไปแล้ว ไม่อยากคิดเลยว่าหากไม่มีคนเดินขึ้นมาเราอาจจะโดนลวนลามหรือทำร้ายมากกว่านี้ ดีนะในช่วงเกิดเหตุเป็นกลางวัน ซึ่งถ้าเป็นกลางคืนก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง ทาง รปภ.ก็ยังบอกกับเรานะว่า ก่อนหน้านี้มีผู้หญิงมาแจ้งเหตุการณ์ลักษณะแบบนี้ ทำให้เราสงสัยว่าทำไมยังไม่มีใครมาจัดการ

ขณะที่แม่ของผู้เสียหาย บอกว่า พอรู้ข่าวเหตุร้ายรู้สึกเป็นห่วงลูกมาก ทั้งที่ร้องขอความช่วยเหลือเสียงดัง แต่ไม่มีใครเข้ามาช่วยเหลือเลย ทำให้มองว่า BTSเป็นสถานที่ไม่ปลอดภัย อยากให้รับผิดชอบให้มากกว่านี้ เพราะเรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้น

โชคดีไม่ทันข้ามวัน ตำรวจ สภ.เมืองสมุทรปราการ สามารถบุกรวบตัวคนก่อเหตุบริเวณหน้าบ้านหลังหนึ่งภายในอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ทราบชื่อคือ นายสุทัศน์ หรือ อาร์ม ช่วยรอด อายุ 26 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดสมุทรปราการ ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ข้อหา "กระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้ายกระทำต่อหน้าธารกำนัล, กระทำการอันควรขายหน้าต่อหน้าธารกำนัลโดยกระทำการลามกอย่างอื่น, ทำร้ายร่างกาย และลักทรัพย์" พร้อมของกลางที่เป็นทรัพย์สินของผู้เสียหาย ประกอบด้วย กระเป๋าสะพาย เอกสารสำคัญ เงินสดประมาณ 1,200 บาท และ โทรศัพท์มือถือ

ระหว่างที่ตำรวจสอบสวนผู้ต้องหาซึ่งมีอาการคล้ายคนเมา ช่วงแรกปฏิเสธเสียงแข็งไม่ได้ลวนลาม ไม่ได้ทำร้ายร่างกายหญิงสาว แค่ยืนเกาขาเท่านั้น แต่หลังจากตำรวจเค้นสอบปากคำอยู่สักพักจึงยอมรับสารภาพว่า เป็นลูกจ้างร้านยางรถยนต์ ก่อนเกิดเหตุกินยาโรเซ่ ไป 10 เม็ด รวมทั้งดื่มน้ำกระท่อม และเสพกัญชามาด้วย จึงขี่รถจักรยานยนต์ไปที่สถานีรถไฟฟ้าและช่วยเหลือตัวเอง แต่ระหว่างนั้นเห็นผู้เสียหายเดินมาพอดี จึงเข้าไปกอด แต่ทำไปโดยไม่รู้ตัว แต่ตำรวจไม่เชื่อคำให้การ เพราะหลักฐานจากกล้องวงจรปิดมัดตัวชัดเจน จึงแจ้งดำเนินคดี 3 ข้อหา กระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้าย ,ทำร้ายร่างกาย , และ ลักทรัพย์ฯ ตำรวจยังตรวจสอบประวัติพบว่าผู้ก่อเหตุเคยต้องโทษคดีลักทรัพย์เพิ่งพ้นโทษเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

สำหรับยา “โรเซ่” ที่คนร้ายใช้เสพ มีชื่อเต็มคือ “โคลนาซีแพม” ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท โดยผสมกับสารเสพติดอื่นๆ ที่มีฤทธิ์รุนแรง เช่น เคตามีน, เฮโรอีน, ไอซ์ และยานอนหลับ จากนั้นนำมาบดละเอียดคล้ายนมผงก่อนนำมาเสพโดยการสูดดม จึงเรียกว่า “ยาเค นมผง” ซึ่งยาเสพติดที่มีฤทธิ์ร้ายแรง

หลังเกิดเหตุผ่านมา 1 วัน บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ได้ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 8 พฤษภาคม ระบุว่า เมื่อได้รับแจ้งเหตุ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและนายสถานี ได้รีบไปยังพื้นที่เกิดเหตุทันที พบผู้โดยสารหญิง (ผู้เสียหาย) แต่ผู้ก่อเหตุได้วิ่งหนีลงบันไดเลื่อนไป ซึ่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้วิ่งตามลงไป แต่ไม่พบตัวผู้ก่อเหตุ จึงได้พาผู้โดยสารหญิง (ผู้เสียหาย) ไปพักยังห้องปฐมพยาบาลเพื่อดูแลสภาพจิตใจ และแจ้งสถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรปราการ เพื่อนำคลิปจากกล้องวงจรปิดให้ตรวจสอบ และอำนวยความสะดวกในเรื่องข้อมูลต่างๆ จนขยายผลไปสู่การจับกุมผู้ก่อเหตุในเวลาอันรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม รถไฟฟ้าบีทีเอสมีมาตรการในการดูแลผู้โดยสารบนสถานี ทั้งการเดินตรวจพื้นที่สถานี ตลอดเวลาระยะเวลาให้บริการ และมีกล้องวงจรปิดในระบบกว่า 4,500 ตัว เพื่อใช้ในการติดตาม และป้องปรามในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆ บริษัทฯ ขอแสดงความห่วงใย และเสียใจต่อเหตุสุดวิสัยที่เกิดขึ้น พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ผู้โดยสารเกิดความมั่นใจในการใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส

บีทีเอส ออกแถลงการณ์แค่นี้เหรอ! ไม่คิดเยียวยาผู้เสียหายเลยเหรอ เพราะเหตุร้ายเกิดกับสถานที่ในความรับผิดชอบ ของ บีทีเอส จากเหตุนี้เองทำให้เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ผู้เสียหายจึงมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอคำแนะนำการใช้สิทธิผู้บริโภค

นายธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และหัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ข้อมูลว่า ผู้เสียหายได้มาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอคำแนะนำการใช้สิทธิผู้บริโภค เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ จึงให้คำแนะนำให้ผู้เสียหายทำหนังสือเรียกร้องสิทธิการเยียวยา ดังนี้ 1. ขอค่าชดเชยเยียวยาทางจิตใจ ประมาณ 5 หมื่น ถึง 1 แสนบาท 2.ตั๋วเดินทาง (ไป-กลับ) ต่อวัน เป็นระยะเวลา 5 ปี และข้อ 3 ขอหนังสือขอโทษและมาตรการความปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า BTS ทุกสถานีของ BTS เป็นต้น หลังรับคำแนะนำผู้เสียได้ไปดำเนินการพร้อมแจ้งความคืบหน้าเป็นระยะ

เริ่มจากวันที่ 14 พฤษภาคม ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรของ BTS ได้ขอเข้าพบผู้เสียหาย โดยนำกระเช้ามาขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงขอให้ชดเชยเยียวยาเป็นเงิน 5 หมื่นบาทพร้อมขอให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการทุกสถานีของ BTS ทางเจ้าหน้าที่จึงรับปากนำข้อเสนอไปแจ้งผู้บริหารเพื่อพิจารณา

กระทั่ง วันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรของ BTS ได้นำแคชเชียร์เช็ค จำนวน 5 หมื่นบาทถ้วนมามอบให้ผู้เสียหาย พร้อมแจ้งถึงการเรียกเตือน รปภ.ทุกสถานีไม่ให้เกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้นอีก

ทางผู้เสียหาย ได้โทรศัพท์มาขอบคุณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ให้คำแนะนำเรียกร้องสิทธิชดเชยจากความเสียหายทางร่างกายและจิตใจจนสำเร็จ และขอให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อยู่เป็นที่พึ่งของผู้บริโภคที่เดือดร้อนไปอีกนานแสนนาน *และนึ่คือความในใจจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ต้องยกย่องคุณผู้หญิงที่เสียหายจากภัยสังคมซึ่งไม่เพิกเฉยอีกทุกขึ้นมาทวงสิทธิ์อันชอบธรรม ร้องทุกข์ 1 ครั้ง ดีกว่าบ่นพันครั้ง ใช้ได้ดีเสมอ ใครที่เจอปัญหาอันไม่ชอบธรรมใดๆ ก็ตาม คุณมีสิทธิ์ลุกขึ้นสู้ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมให้ปรึกษาช่วยเหลือ บางรายอาจถึงขั้นสู้กันชั้นศาลก็ไม่เป็นปัญหา

ขอย้ำเตือนไว้ว่า สิทธิของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะที่จะได้รับความคุ้มครองจากผู้ให้บริการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเป็นแนวทางในการร้องเรียนต่อสู้ ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เครือข่ายลดอุบัติเหตุ ภาคีต่างๆ ได้ร่วมกันยกร่างสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะขึ้น 10 ประการ คือ

1.สิทธิ ที่จะได้รับข้อมูลข่าวสาร รวม ทั้งคำพรรณาคุณภาพเกี่ยวกับบริการรถโดยสาร รวมทั้งความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ถูกต้องเป็นจริง ครบถ้วน

2. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในด้านสัญญา และราคาค่าบริการ

3. สิทธิในการเลือกใช้บริการรถโดยสารด้วยความสมัครใจ และปราศจากการชักจูงอันไม่เป็นธรรม

4. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยในทุกๆด้านจากการใช้บริการรถโดยสาร

5. สิทธิที่จะได้รับการบริการจากรถโดยสารและผู้ให้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน

6.สิทธิ ในการร้องเรียน หรือฟ้องร้องเพื่อให้ผู้ให้บริการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไข ปัญหา เยียวยา หรือชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น

7. สิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายทั้งทางร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอื่นๆที่ถูกละเมิด

8. สิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายจากการประกันภัยโดยไม่มีการประวิงเวลา หรือบังคับให้ประนีประนอมยอมความความ

9. สิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายด้วยหลักแห่งพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด

10. สิทธิที่จะรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของตนและผู้อื่น


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม