มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

ขึ้นทะเบียนเจ้าหนี้ พร้อมติดตามแผนฟื้นฟูกิจการของสินมั่นคงประกันภัย

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 27-10-2022 11:29

หมวดหมู่: การเงิน การธนาคาร

ภาพประกอบข่าว

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชวนผู้บริโภคขึ้นทะเบียนเจ้าหนี้ พร้อมติดตามแผนฟื้นฟูกิจการของสินมั่นคงประกันภัยเพื่อพิทักษ์สิทธิของตนเอง

ย้อนกลับไป ตั้งแต่ช่วงเดือน กรกฎาคม ปี 2564 บริษัท สินมั่นคงประกันภัย ได้ออกประกาศแจ้งยกเลิกกรมธรรม์ประกันโควิด แบบเจอจ่ายจบ หรือ 2 in 1 โดยให้เหตุผลว่าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)ในฐานะนายทะเบียนได้ออกคำสั่งนายทะเบียน ที่ 38 /2564 เรื่อง ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัทในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัยนั้น

ล่าสุดวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ศาลล้มละลายกลาง ได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัท ‘สินมั่นคงประกันภัย’ จำกัด (มหาชน) ฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากไต่สวนได้ความจริงว่า สินมั่นคงมีหนี้สินล้นพ้นตัวและเป็นหนี้เจ้าหนี้หลายคนรวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท กิจการยังมีรายได้ ยังมีช่องทางและมีเหตุอันสมควร และลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยสุจริต ทั้งไม่ปรากฏว่าขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้ทำแผน เพราะเป็นองค์กรที่มีประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจประกันภัยเป็นเวลานาน
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจัดเฟซบุ๊กไลฟ์เพื่อรายงานสถานการณ์ให้ผู้บริโภคทุกคนได้ทราบ

คุณนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภคกล่าวว่า ศาลล้มละลายกลางให้บริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ฟื้นฟูกิจการได้ และตั้งบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ทำแผนตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หลักการทางกฎหมาย คนที่ขอรับการชำระหนี้จากสินมั่นคงได้จะต้องเป็นเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นผู้บริโภคที่ต้องเคลมประกัน ต่อจากนี้สิ่งสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องกับบริษัทสินมั่นคงจะต้องดำเนินการจึงเป็นการการเข้าไปมีส่วนร่วมกับการฟื้นฟูกิจการเพื่อพิทักษ์สิทธิของตนเอง “ เจ้าหนี้ของสินมั่นคงที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ สามารถยื่นขอรับการชำระหนี้ ได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 20 มกราคม 2566 โดยยื่นได้ที่ 1.ยื่นคำขอรับชำระหนี้ออนไลน์ทางเว็บไซต์กรมบังคับคดี wwww.led.go.th 2.ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กองฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กรมบังคับคดี หรือสำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ 3.ยื่นคำขอรับชำระหนี้ผ่านบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ หรือสำนักงานสาขาทั่วประเทศ ทั้งนี้ ขอให้ติดตามความคืบหน้าของคดีและรายละเอียดอื่น ๆ เพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์กรมบังคับคดี www.led go.th ต่อไป ”

หลังจากรวบรวมเจ้าหนี้ในขั้นตอนนี้แล้วจะนำไปสู่ขั้นตอนการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวจะต้องจัดทำขึ้นโดยความยินยอมของเจ้าหนี้ และผู้ทำแผนในฐานะผู้แทนของลูกหนี้ โดยมีหลักประกันว่า “เจ้าหนี้จะไม่ได้รับความเสียหายเพิ่มเติมจากเดิม” แต่หากทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ลูกหนี้ย่อมไม่สามารถจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการให้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการโดยปราศจากความร่วมมือจากเจ้าหนี้ได้ โดยเฉพาะความร่วมมือจากเจ้าหนี้ค่าเสียหายทดแทนกรมธรรม์ประกันภัยโควิดได้ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กลุ่มใหญ่ที่มีสัดส่วนสูงกว่าเจ้าหนี้อื่น ๆ จำนวน 350,000 ราย

ณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวเพิ่มเติมว่า “หากยื่นขอรับการชำระหนี้ไม่ทันในระยะเวลาที่กำหนด ยังสามารถไปยื่นคำขอได้ที่ศาลล้มละลายกลางได้ แต่ต้องอยู่ที่ศาลว่าจะอนุญาตหรือไม่ หากศาลไม่อนุญาต จะไม่มีสิทธิได้รับการชำระหนี้เลย เว้นแต่ในแผนฟื้นฟู จะระบุครอบคลุมว่าจะชำระหนี้ทุกคนรวมถึงคนที่ไม่ได้ยื่น ส่วนค่าธรรมเนียมในการยื่นขอชำระหนี้ หากมูลหนี้ไม่เกิน 50,000 บาท ไม่เสียค่าธรรมเนียม แต่หากเกิน 50,000 บาทเสียค่าธรรมเนียม 200 ให้กับกรมบังคับคดี”

คุณนฤมล กล่าวว่ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะเกาะติดการฟื้นฟูกิจการของบริษัทสินมั่นคงอย่างใกล้ชิดและจะรายงานให้ผู้บริโภคทราบอย่างต่อเนื่อง โดยมูลนิธิฯ ยินดีให้คำปรึกษาทุกเรื่อง มีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาเรื่องเรียนทุกวันทำการ (จันทร์- ศุกร์) โดยสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ทาง โทรศัพท์ : 084-6524607, 089-7889152 E-mail : complaint@consumerthai.org , ทางLine Official @cousumerthai หรือช่องทาง inbox เพจ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ ร้องเรียนออนไลน์เว็บไซต์ https://ffcthailand.org/

สำหรับเอกสารที่ต้องจัดเตรียมเพื่อยื่นขอรับการชำระหนี้ และคำถามสำคัญ ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่

https://www.led.go.th/brd/efiling/smk/file/3-ques.pdf


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม