มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

เงื่่อนไข"สินมั่นคงฯ" ฟื้นฟูกิจการ "ผู้เอาประกัน" มีสิทธิ์ปฏิเสธ-เสนอทำใหม่

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 20-09-2023 12:41

หมวดหมู่: สินค้าและบริการทั่วไป

ภาพประกอบข่าว

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะ ผู้เสียหายโควิด เจอจ่ายจบ ของสินมั่นคง อ่านแผนจ่ายคืนให้รอบคอบและมีสิทธิ์คัดค้าน พร้อมขอเงื่อนไขใหม่หากถูกเอาเปรียบ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะ เจ้าหนี้สินมั่นคงประกันภัย กรณี ประกันโควิด "เจอ จ่าย จบ" อย่าจำนนรับแผนจ่ายคืนที่ลูกหนี้เสนอ เพราะสามารถเรียกร้องสิทธิ์ตามข้อกฎหมายที่ให้อำนาจคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้หรือการจัดกลุ่มหนี้ และต้องใช้สิทธิ์ยื่นเงื่อนไขใหม่ที่ไม่ถูกเอาเปรียบ

จากกรณี “สินมั่นคงประกันภัย” ในฐานะลูกหนี้ เสนอแผนจ่ายเงินคืนเจ้าหนี้ที่เป็นผู้ซื้อประกันโควิด "เจอ จ่าย จบ" รวมแพ้วัคซีน คุ้มครองสูงสุดถึง 1 แสนบาท โดยขอจ่ายเป็นเงิน 15,000 บาท หรือ 15 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือ 85,000 บาท หรือ 85 เปอร์เซ็นต์ แปลงเป็นหุ้นบุริมสิทธิซึ่งแผนนี้เป็นไปตามที่ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ให้ทำแผนฟื้นฟูกิจการตามที่ลูกหนี้ยื่นคำร้อง ส่วนกรมบังคับคดีที่ดูแลแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทสินมั่นคงประกันภัย ได้ทยอยส่งรายละเอียด ให้เจ้าหนี้ ผ่านทางอีเมลโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ได้นัดประชุมทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) ในวันที่ 27 กันยายน 2566 เวลา เพื่อขอมติจากเจ้าหนี้ แต่หากรายใดไม่สะดวกสามารถลงมติล่วงหน้าภายในวันที่ 20 กันยายน นี้

จากประเด็นการต่อรองของลูกหนี้ วันนี้ ( 20 กันยายน 2566 ) นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะว่าเจ้าหนี้อย่ายอมจำนนต่อเงื่อนไข เพราะสามารถเรียกร้องสิทธิ์ตามข้อกฎหมายที่ให้อำนาจคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้หรือการจัดกลุ่มหนี้ หากมองเห็นถึงความไม่สมเหตุสมผล และตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะดูจากราคา ณ ปัจจุบัน อยู่ที่ 80 สตางค์ ต่อ หุ้น ( 0.80 ) โดยสามารถลงมติด้วยเสียงส่วนใหญ่ “ไม่รับ” เพื่อให้ลูกหนี้ไปทำแผนฟื้นฟูในเงื่อนไขใหม่ที่ไม่เอาเปรียบ หรือ เจ้าหนี้อาจยื่นเงื่อนไขอื่นๆ ที่ให้ลูกหนี้ทำแผนมาใหม่ แต่มีข้อแม้ต้องยื่นคัดค้านภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รู้ถึงการจัดกลุ่มหนี้ ส่วนประเด็นที่ สินมั่นคง ฯ ชี้แจงว่า หากจ่ายด้วยหุ้นบุริมสิทธิ์ให้กับเจ้าหนี้ 85,000 บาท หรือ 85 เปอร์เซ็นต์ จะได้สิทธิประโยชน์ เป็นเงินปันผล หากมีกำไรในอนาคตจะคืนงินเต็มจำนวน 1 แสนบาท และหากสินมั่นคงประกันภัย ชนะคดีที่กำลังฟ้องร้อง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ซึ่งเป็นการฟ้องเรื่องที่ ไม่ยอมให้สินมั่นคงยกเลิกประกัน โควิด มูลค่าฟ้องร้อง สูงถึง 43,587 ล้านบาท โดยอ้างว่า หากชนะคดีจะเอาเงินจำนวนนี้มาจ่ายเจ้าหนี้ ซึ่งประเด็นนี้นางนฤมลชี้ว่า หากคำสั่ง คปภ. ที่ห้ามสินมั่นคงฯ ยกเลิกกรมธรรม์ถูกเพิกถอน นั่นเท่ากับการชนะคดีจึงไม่มีความผิดใดๆ ดังนั้นฝ่ายได้รับผลกระทบทันที คือ เจ้าหนี้ที่ซื้อประกัน โควิด "เจอ จ่าย จบ" แล้วมั่นใจได้อย่างไร จะได้เงินคืนจากลูกหนี้ อย่างไรก็ตามต้องดูว่า แผนฟื้นฟูกิจการของสินมั่นคงฯ จะออกมาในรูปแบบใด หากไม่ผ่านมติเสียงส่วนใหญ่จากเจ้าหนี้ จะเกิดปัญหาที่ลูกหนี้ไม่มีเงินจ่าย และเข้าสู่ภาวะล้มละลาย เพราะติดหนี้จากประกันโควิด "เจอ จ่าย จบ" 37,637 ล้านบาท แต่สินทรัพย์มีมูลค่าเพียง 4,013 ล้านบาท แถมกองทุนประกันวินาศภัย ( กปว ) ที่ต้องมาช่วยจ่าย ก็ยังมีปัญหาเช่นกัน เพราะต้องมีคิวต้องจ่ายหนี้ให้ลูกหนี้ของบริษัทประกันวินาศภัย ที่ล้มละลายและถูกเพิกถอนใบอนุญาต ไปก่อนหน้า 8 บริษัทให้เสร็จก่อน จึงทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่อง แต่หากมติเจ้าหนี้เสียงส่วนใหญ่ยอมรับแผนของสินมั่นคง ฯ ศาลล้มละลายกลางจะเริ่มพิจารณาแผนการฟื้นฟูเดือนพฤศจิกายนนี้ และออกคำสั่งในเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ต้องเสร็จสิ้นภายใน 5 ปี นับจากวันที่ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งอนุมัติแผนฟื้นฟูของสินมั่นคงประกันภัยตามที่เจ้าหนี้เสียงส่วนใหญ่เห็นชอบ แต่หากภายใน 5 ปี ลูกหนี้ยังชำระหนี้ไม่เสร็จสามารถต่อเวลาได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี รวมเบ็ดเสร็จ คือ 7 ปี แต่หากพ้นกำหนดลูกหนี้ยังไม่สามารถดำเนินการตามเงื่อนไข จะถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้สินมั่นคงประกันภัยตกอยู่ในสถานะล้มละลาย ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ซึ่งหากเกิดสภาวะนี้ ผลเสียจะตกกับเจ้าหนี้ทันที เพราะทำให้ต้องรอเงินจาก “กองทุนประกันวินาศภัย หรือ กปว.” ต้องรอคิวหลายปี เพราะมีบริษัทประกันภัยที่เลิกกิจการอีกหลายแห่งรอเฉลี่ยจ่ายเงินเจ้าหนี้

ทั้งนี้ หากผู้บริโภคมีข้อสงสัย หรือต้องการปรึกษา สามารถขอคำแนะนำได้ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่อยู่: 4/2 ซ.วัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 วันเวลาทำการ: วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 09.00-17.00 น.โทรศัพท์: 02 248 3734 ถึง 37 แฟกซ์: 02 248 3733 อีเมล:complaint@consumerthai.org ร้องทุกข์ ร้องเรียน เรื่อง คุ้มครองผู้บริโภค ติดต่อศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค โทร: 02 248 3737 หรือ อีเมล: complaint@consumerthai.org


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม