เหตุนี้ ! ... มีเรี่อง “ของส่งไม่ถึงลูกค้าคนขายไม่ผิด แล้วใครผิด! ”
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 25-04-2023 11:46
หมวดหมู่: สินค้าและบริการทั่วไป

เหตุนี้ ! ... มีเรี่อง “ของส่งไม่ถึงลูกค้าคนขายไม่ผิด แล้วใครผิด! ”
นี่มันเรื่องอะไรกัน? มีหลายคนตั้งคำถาม “ของส่งไม่ถึงลูกค้าคนขายไม่ผิด ! ” จะเป็นไปได้ยังไง ขอบอกว่า ..ป็นเรื่องจริง เพราะมีคำพิพากษาจากศาล ( ชั้นต้น )มาแล้วน่ะสิ
เรื่องราวเป็นมายังไง ถึงได้เกิดเหตุแบบนี้ ! มาๆ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะเล่าให้ฟัง
เรื่องมีอยู่ว่า คุณเดชเป็นผู้ชื่นชอบ “พระเครื่อง” เป็นอย่างยิ่ง วันหนึ่ง .. รู้ว่าจะมีการให้เช่า “หลวงพ่อรวย” วัดตะโก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งหล่อจากทองคำแท้ทั้งองค์แต่ที พิเศษไปกว่านั้น คือ หลวงพ่อรวยรุ่นนี้จัดทำแบบจำกัดจำนวนโดยมี CODE กำกับไว้ทุกองค์ ผู้คนที่มีความชื่นชอบและจิตศรัทธา และผู้ที่ต้องการเช่าบูชาพระหลวงพ่อรวยรุ่นนี้ จึงตั้งกลุ่มในเฟซบุ๊ก มีทีมแอดมินที่มีความรู้คอยกำกับดูแล เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีมิจฉาชีพแฝงเข้ามาโดยแอดมินกลุ่มจะให้ผู้ที่มีพระเครื่องวัดตะโก ที่สนใจจะขายต้องส่งสำเนาบัตรประชาชน มาให้แอดมินกลุ่มบันทึกประวัติ แล้วแอดมินจะออกบัตรการันตีให้เป็นหลักประกัน สร้างความเชื่อใจให้กับ “ ผู้ซื้อ “ สามารถตรวจสอบได้และมั่นใจว่าคนปล่อยเช่าบูชาคนนี้มีพระหลวงพ่อรวยแท้
และแล้ว คุณเดช ก็พูดคุยถูกใจกับผู้ขายรายหนึ่ง ชื่อ คุณสันติ ที่ประกาศให้เช่า “ หลวงพ่อรวย ” “ เลข CODE 288 “ ให้เช่าที่ราคา 68,000 บาทจึง แอด (@) คุยกันส่วนตัวในช่องแชทพร้อมตรวจสอบความถูกต้องและขอดูบัตรผู้ขายที่แอดมินออกให้จนวางใจ...คุยกันไป คุยกันมา...ต่อรองราคากันไป-มาจนมาได้ข้อสรุปราคาที่ 64,500 บาท แต่ต้องโอนเงินมัดจำล่วงหน้า 4,500 บาท แล้วส่งที่อยู่คนซื้อมาจะจัดส่งให้
ในวันไปส่งสินค้า ผู้ขายได้ใช้บริการของบริษัทขนส่งแห่งหนึ่ง ( สีแสบตา) โดยถ่ายคลิปการแพ็คสินค้าลงกล่องพัสดุส่งให้ผู้ซื้อดูตามด้วยใบเสร็จค่าจ้างบริษัทขนส่งอีกรอบพร้อมเลขแทรคกิ้ง ( TRACKING ) หรือ รหัสพัสดุ เพื่อติดตามสถานะของพัสดุจากนั้นจึงขอให้ผู้ซื้อโอนเงินส่วนที่เหลืออีก 60,000 บาทกระบวนการนี้ จึงเบ็ดเสร็จ ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย
แต่ไคลแมกซ์อยู่ตรงนี้ ! มันเกิดขึ้น ณ วันที่ผู้ซื้อได้รับโทรศัพท์จากพนักงานส่งสินค้าแจ้งว่ามีกล่องพัสดุจะมาส่ง ด้วยความที่ผู้รับอยู่นอกสถานที่ จึงบอกให้พนักงานส่งของฝากไว้ที่ร้านค้าที่อยู่ใต้คอนโดฯ ซึ่งสนิทกัน ช่วยเซ็นชื่อรับไว้ เพราะปกติก็ทำแบบนี้ประจำอยู่แล้ว ทว่า เจ้ากรรม ! วันนั้นร้านค้าดันปิด...พนักงานส่งของแทนที่จะโทรศัพท์ไปแจ้งเจ้าของพัสดุ แต่กลับทำเฉย คนซื้อก็คิดว่าของมาส่งแล้ว จึงวางใจ
เมื่อเลิกงานกลับมาถึงคอนโดฯ ที่พัก...เห็นร้านค้าปิดนั่นแหละ แต่ก็โทรไปถามเจ้าของร้าน “ พี่ครับ ... ได้เซ็นรับกล่องพัสดุของผมไว้หรือเปล่า, เปล่านะ วันนี้ พี่ปิดร้าน
ไม่ได้การแล้ว ผู้สั่งซื้อรู้สึกแปลกๆ จึงตรวจสอบเลขแทรคกิ้งปรากฏว่ามีคนเซ็นต์รับไปแล้ว ( ใครน่ะ ) เห็นแต่ “ ลายเซ็น “ เป็นขีดๆคลายตัว z “ เอาวะ โทรถามคนส่งดีกว่าพอโทรไปหาตามเบอร์ที่คุยกับพนักงานส่งของ ปรากฏว่าติดต่อไม่ได้จ้า ทั้งที่ตอนเช้ายังคุยกันอยู่เลย
อ้าวเฮ้ย ! มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ใจคอชักไม่ดี เงินกว่าครึ่งแสนจ่ายไปแล้ว เพราะอยากได้ “หลวงพ่อรวย เนื้อทองคำแท้ ” แต่ของกลับล่องหน ! ใครเป็นคนเซ็นรับกล่องพัสดุ, ใครเป็นคนเอาไป พอโทรศัพท์ไปถาม บริษัทขนส่งเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กลับได้คำตอบที่แสนปวดใจก็ไปติดต่อผู้ขายเอาเองสิครับ
อ้าวยังไงล่ะนี่ไม่มีใครรับผิดชอบเลย คนขายก็บอกส่งของให้บริษัทขนส่งไปแล้ว ...ส่วนบริษัทขนส่ง ก็ไม่รับผิดชอบความผิดพลาดของพนักงานบริษัทตัวเอง ในเมื่อไม่เจอผู้รับตามที่เจ้าของพัสดุระบุไว้ ก็ควรแจ้งลูกค้าเพื่อนัดหมายวัน อื่นมาส่งอีกครั้ง แต่นี่อะไร มีคนเซ็นแทน ซึ่งไม่รู้เป็นใคร
เอาละที่นี้ คงต้องตามที่คนขายพระ ... ผู้เสียหายจึงแจ้งเรื่องที่ยังไม่ได้รับสินค้า แต่คำตอบก็คือ ส่งสินค้าไปแล้ว มีเลขแทร็คกิ้งให้ตรวจสอบแล้ว
เมื่อรู้ว่า ไม่ได้ของคืนแน่ๆ ผู้เสียหายจึงตัดสินใจฟ้องเป็นคดีต่อศาลเพื่อเรียกเอาเงิน 64,500บาท กลับคืนมาโดยผู้ซื้อพระในฐานะโจกท์ได้ยื่นฟ้อง ผู้ขายพระในฐานะจำเลยนัดวันไกล่เกลี่ย จำเลยขอยื่นให้การต่อสู้
กระบวนการในชั้นศาล ใช้เวลากว่า 1 ปี จึงมีคำพิพากษาจากศาลชั้นต้น เมื่อต้นเดือน เมษายน 2566
“ คำพิพากษา จากศาล( ชั้นต้น ) สรุปความว่า ... “การซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่งกรรมสิทธิ์ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่มีการตกลงซื้อแล้ว ผู้ขายมีหน้าที่ส่งมอบทรัพย์ให้แก่ผู้ซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 461,462” เมื่อคนขายได้ส่งสินค้าให้บริษัทขนส่งแล้ว ประกอบกับคนขายได้ส่งคลิปการบรรจุสินค้าพร้อมใบเสร็จค่าฝากส่งให้ผู้ซื้อเป็นหลักฐาน แล้วเป็นหลักฐานที่มีน้ำหนักจึงถือว่า ผู้ขายทำหน้าที่ส่งมอบสินค้าให้กับผู้ซื้อเสร็จสิ้นแล้ว “แม้สินค้านั้น จะไม่ถึงคนรับ ผู้ขายไม่ต้องรับผิด, ตาม “ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 463 “
ด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฝ่ายโจทก์ไม่เห็นพ้องด้วย จึงเตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อไป
เอาละมีประเด็นที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตั้งข้อสังเกตช่องโหว่คล้ายกับเหตุการณ์ลักษณะนี้
-
หากมีเคสที่ผู้ขายสินค้า ซึ่งอาจเป็นมิจฉาชีพ รับโอนเงินของผู้ซื้อ จากนั้น ไปส่งสินค้ากับบริษัทรับส่งสินค้าเท่ากับไม่มีความผิดใดๆหากมีการฟ้องร้อง แต่...ใครจะรู้ว่าของนั้นๆ ถูกส่งมาจริงหรือไม่ หรือแม้ส่งจริง ของในกล่องเป็นสินค้าที่ผู้ซื้อจ่ายเงินเพื่อให้ได้มาหรือไม่ ถามว่าผู้ซื้อจ่ายเงิน แต่กลับไม่ได้ของเท่ากับเสียหาย ทั้งขึ้น ทั้งล่องแต่กฎหมายไม่เปิดช่องคุ้มครองเลย
-
บริษัทขนส่งทำไมไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ในเมื่อพนักงานในสังกัด เอาของลูกค้าไปทำสูญหายระหว่างทาง หรือส่งผิดบ้าน
-
จากเคสพัสดุที่มีพระทองคำไม่ถูกส่งถึงมือผู้รับหากจะฟ้องเอาผิดต้องให้ “คนขาย” ดำเนินการยื่นฟ้องเท่านั้น อ้าว ! ก็ในเมื่อเขาลอยตัวไม่ผิดไปแล้ว จะหาเรื่องใส่ตัวทำไม
-
ผู้ซื้อสินค้าที่รอรับของ แต่ไม่ได้รับสินค้า ไม่สามารถเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องบริษัทส่งสินค้าเพราะตาม กฎหมายถือว่า “ไม่มีนิติสัมพันธ์กันโดยตรง“
จากประเด็นข้างต้นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคสอบถามเกี่ยวกับ มาตรฐานการส่งพัสดุ จากบริษัทส่งพัสดุเอกชนแห่งหนึ่ง (ถามพนง.เคอรี่ที่มาส่งของให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค) ทราบข้อมูลว่า ส่งพนง.ผู้ส่งจะโทรแจ้งผู้รับตามเบอร์ที่ระบุไว้ว่าจะมีพัสดุนำส่ง หากมาถึงแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีคนรับหรือคนรับไว้แทน จะวางพัสดุนั้นไว้ที่เห็นได้ชัดและใกล้กับเลขที่บ้าน แล้วถ่ายรูป ยืนยันการส่งพัสดุนั้นๆ ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เห็นว่ามาตรฐานดังกล่าวยังไม่คุ้มครองผู้บริโภคอย่างเหมาะสม หากสินค้าหายในภายหลัง โดยที่ผู้รับไม่ได้ยินยอมให้วางสินค้าไว้ หากไม่เจอผู้รับ เมื่อเทียบมาตรฐานการส่งพัสดุของไปรษณีย์ไทยจะรัดกุมกว่า คือ เมื่อมีการนำพัสดุส่งตามเลขที่ปลายทาง ถ้าไม่พบผู้รับหรือไม่มีใครเซ็นรับไว้ตามที่ ระบุไว้ พนง.ไปรษณีย์จะไม่วางพัสดุไว้เด็ดขาด! พนง.จะออกใบแจ้งว่ามีจม.หรือพัสดุมาส่งครั้งหน้าวันที่....หรือออกใบแจ้งให้ไปรับที่ สาขาใกล้บ้าน มูลนิธิฯจึงขอเรียกร้องหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อให้มีการกำหนดมาตรฐานการส่งพัสดุให้กับผู้บริโภค เพราะปัจจุบันมีการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์จำนวนมาก หากการส่งพัสดุไม่มีมาตรฐานแบบนี้ ผู้บริโภคย่อมมีความเสี่ยงภัยทุกครั้งที่มีการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภค ทำไม ผู้ซื้อถึงกล้าจ่ายเงินสินค้าราคาหลักหมื่น หลักแสน ผ่านออนไลน์ ทั้งที่ควรนัดหมาย ผู้ขายมารับมอบกันต่อหน้า นี่เป็นสิ่งที่อยากเตือนภัยให้ผู้บริโภคต้องคุ้มครอง ปกป้องผลประโยชน์ตัวเองก่อนที่รอให้มีหน่วยงานมาคุ้มครอง
เครดิตเรื่อง : กิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ์ ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค