ชีวิตเด็กแขวนบนเส้นด้าย!บนพาหนะรถรับ-ส่งนักเรียน
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 28-06-2024 12:12
หมวดหมู่: บริการขนส่งและยานพาหนะ
ชีวิตเด็กแขวนบนเส้นด้าย!บนพาหนะรถรับ-ส่งนักเรียน
ใช่...มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จั่วหัวแบบนี้ เพราะมันคือเรื่องจริง เพราะไม่ว่าจะผ่านกาลเวลา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งมีกฏหมายออกมาหลายฉบับเพื่อการนี้ แต่เชื่อมั้ยว่า...มันใช้ไม่ได้ผล เพราะอะไร? นั่นก็เพราะว่า ยังมีเด็กนักเรียนจำนวนมากต้องบาดเจ็บ-ล้มตาย จากรถรับ-ส่งนักเรียนที่ไร้มาตรฐาน แถมยังไม่มีหน่วยงานหลักมาทำหน้าที่รับผิดชอบอย่างชัดเจนในการกำหนดกรอบแนวทางดำเนินงานด้านมาตรฐานความปลอดภัย
ณ.ปัจจุบัน ( ปี 2567) พบมากถึง400 โรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯยังมีปัญหาด้านความปลอดภัยของรถรับ-ส่งนักเรียน ทำให้ชีวิตเด็กตกอยู่ในความเสี่ยง! ตัวการที่ก่อให้เกิดปัญหามาจาก รถรับ-ส่งนักเรียน หรือ รถรับจ้างรับส่งนักเรียน ซึ่งก็คือรถที่ชาวบ้าน หรือใครก็ได้มารับจ้างรับส่งนักเรียน จากบ้าน-โรงเรียน / โรงเรียน-กลับบ้าน ซึ่งผู้ปกครองตกลงกับเจ้าของรถกันเอง (ไม่เกี่ยวกับโรงเรียน) ซึ่งก็เป็นรถทั่ว ๆ ไป ตั้งแต่รถกระบะที่มีและไม่มีหลังคา เสริมเบาะเป็นรถสองแถวบ้าง รถตู้ รถหกล้อ ตามแต่ที่เจ้าของรถนำมาใช้ แต่การที่คนขับรถขับเร็วน่าหวาดเสียว รับเด็กเกินจำนวนที่นั่งในรถ ลืมเด็กไว้ในรถ รถไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด แทบไม่น่าเชื่อว่าเหตุการณ์แบบนี้ยังเกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน
เหยื่อสะเพร่า ครูลืมเด็กไว้ในรถตู้รับ-ส่ง ของโรงเรียน ...ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเด็กตายในรถโรงเรียน ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดทำหน้าที่รับผิดชอบหลักเพื่อกำหนดเป็นนโยบายสำคัญของโรงเรียน ไม่มีการกำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาเชิงป้องกันไว้ไม่ให้เกิดซ้ำ อีกทั้งปัญหาผู้ควบคุมดูแลเด็กนักเรียนยังไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาแก้ไขอย่างจริงจัง ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐควรให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อม การสนับสนุน ส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาแก้ไขปัญหา เช่น การติดตั้งระบบสัญญาณเซ็นเซอร์เพื่อจับความเคลื่อนไหวในรถ หรือปุ่มส่งสัญญาณฉุกเฉินไว้ภายในตัวรถ เพื่อให้เด็กสามารถแจ้งขอความช่วยเหลือฉุกเฉินได้ การติดตั้งอุปกรณ์ โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สามารถส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไปยังภายนอก ทั้งเสียงและแสงจากรถโรงเรียน และการฝึกจำลองเหตุการณ์สำหรับเด็กและเยาวชนให้รู้จักวิธีการช่วยเหลือเอาตัวรอด หากตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าวและแนวทางการติดตามประเมินผลการปฏิบัติการในทุกภาคเรียนการศึกษา เมื่อพูดถึงรถโรงเรียน ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 หมายถึง รถบรรทุกคนโดยสารที่โรงเรียนใช้รับ-ส่งนักเรียน ต่อมา ในกฎกระทรวงฉบับที่ 22 (พ.ศ.2526) ยังให้รวมถึง รถที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง นําไปใช้ในการรับส่งนักเรียนเพื่อการศึกษาตามปกติมีกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่เกี่ยวข้องด้วย นั่นคือ ระเบียบกระทรวงศึกษาว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. 2536 ให้คำจำกัดความเพิ่มเติมว่า เป็นรถที่โรงเรียนให้บุคคลภายนอกมารับส่งนักเรียนเพื่อการศึกษาตามปกติ ดังนั้น รถโรงเรียน จึงครอบคลุม รถทุกประเภทที่ให้บริการรับส่งนักเรียนทั้งหมด แต่จริง ๆ แล้ว รถโรงเรียน คือ รถที่มีทางขึ้นลงด้านข้าง ตัวรถ มีสีเหลืองคาดสีดำ และโรงเรียนเป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิใช้รถ หากโรงเรียนไม่ได้เป็นเจ้าของรถ รถคันนั้นก็ต้องได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบการขนส่ง แล้วก็นำรถมารับจ้างกับทางโรงเรียน ปัญหาสำคัญอย่างยิ่งยวดนั่นก็เพราะว่า ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่รับผิดชอบที่ชัดเจนในการกำหนดกรอบ แนวทางการดำเนินงานด้านมาตรฐานความปลอดภัยของรถรับ-ส่งนักเรียน อีกทั้งโรงเรียนไม่มีส่วนร่วมในการจัดการ และในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่กำหนดหน้าที่และอำนาจให้แก่สถานศึกษา โรงเรียน ในการตรวจสอบ การสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข หรือมาตรการลงโทษแต่อย่างใด
"ผู้ปกครองนักเรียนและนักเรียนมีความต้องการรถรับ-ส่งนักเรียนที่ปลอดภัยและเป็นธรรม" จากการวิเคราะห์ข้อเสนอแนะ ในแบบสอบถามของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อประโยชน์ในการจัดการ การเดินทางไป-กลับ ระหว่างบ้าน-โรงเรียน ผู้ปกครองนักเรียนให้ข้อมูลจำนวนกว่า 7,000 ความคิดเห็น โดยความต้องการอย่างชัดเจน นั่นคือ ความปลอดภัยอย่างยิ่งยวดของชีวิตเด็กๆ โดยเสนอมีเครื่องแสกนลายนิ้วมือหรือยิงบาร์โค้ดเด็กทุกคนเมื่อ 3 ขั้นตอน ตั้งแต่ รับขึ้นรถ , เมื่อถึงโรงเรียน และ เมื่อเลิกเรียน เพื่อป้องกันความบกพร่องของมนุษย์ เช่นเดียวการรับพัสดุยังต้องมีการยิงบาร์โค้ด ป้องกันการตกหล่น บกพร่อง ที่จะนำไปสู่การสูญเสีย นอกจากนี้ ควรมีไลน์ ข้อความแจ้งเตือน เช็คสถานะ พิกัด รายงานว่านักเรียนอยู่ในขั้นไหนในการรับส่ง ตั้งแต่จุดจอดรับ การถึงโรงเรียนให้ผู้ปกครองทราบ ว่าเด็กเดินทางถึง – ออก จากโรงเรียน ควรมีการติดตั้งกล้องหน้ารถ กล้องวงจรปิดในรถ ตรวจจับความเร็วในการขับ ที่สำคัญรถทุกคันควรมี gps และแชร์ location เพื่อให้ผู้ปกครองทราบว่าอยู่ ณ จุดใดแล้ว ในเวลาที่รับ-ส่งเด็ก ส่วนคนขับต้องเป็นบุคคลที่ผ่านการคัดเลือกมาอย่างดีแล้ว มีสุขภาพแข็งแรง ไม่สูบบุหรี่หรือดื่มสุราในเวลางาน และมีประสบการณ์การทำงานอย่างน้อย 3 ปี และครูต้องเป็นคนที่รอบครอบ นับจำนวนนักเรียนทุกครั้งที่ขึ้น-ลง ทั้งขาไปและขากลับ เหล่านี้ คือสิ่งที่ผู้ปกครองเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของบุตรหลานเป็นที่สุด อยากให้คนที่ทำงานตรงนี้มีความรักและใส่ใจเด็กมากที่สุด
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยโครงการพัฒนาชุดความรู้และจัดทำข้อเสนอนโยบายเรื่องรถรับส่งนักเรียนและรถเมล์โดยสารในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในระบบบริการขนส่งสาธารณะ ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกันศึกษาวิจัยเชิงสำรวจเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ระบบบริการถรับ-ส่งนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้แก่ ทบทวนและทำความเข้าใจเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของรถโรงเรียน ให้ทุกฝ่ายเห็นถึงความสำคัญของมาตรฐานความปลอดภัยของรถโรงเรียน รวมถึงมาตรการในการคุ้มครองนักเรียน อาทิ ครูหรือผู้ช่วย ในรถรับส่งนักเรียน ระบบการตรวจสอบนักเรียน และมาตรฐานที่ออกมาต้องเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับการปฏิบัติได้จริง และมีประสิทธิผลในการคุ้มครองสวัสดิภาพของนักเรียน , จัดให้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรถรับส่งนักเรียนที่ได้รับการรับรองจากโรงเรียน โดยการอุดหนุนราคาในการตรวจสภาพรถ และ/หรืออุดหนุนราคาน้ำมันตามระยะทางที่ใช้จริง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำสินทรัพย์ (รถยนต์) มาให้บริการนักเรียน ,จัดให้มีการบริหารจัดการ จุดจอดรับส่งนักเรียน หน้าโรงเรียนที่สอดคล้องกับปริมาณการนำรถมารับส่งนักเรียนของผู้ปกครอง , จัดให้มีระบบการบริหารจัดการ การเดินทางมาโรงเรียน ด้วยรถมอเตอร์ไซค์ รถจักรยาน ,จัดให้มีทางเท้าหรือทางจักรยาน ที่สะดวก และปลอดภัย บริหารจัดการทางข้ามถนนหน้าโรงเรียน เช่น ไฟกระพริบ ทางม้าลาย ฯ เป็นต้น และ สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พัฒนาและออกแบบระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของนักเรียน อาทิ รถเมล์รับส่งนักเรียน ในเวลาไปโรงเรียน หรือกลับบ้าน ตั๋วนักเรียน ฯ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผลการวิเคราะห์ข้อมูลการเดินทางไปกลับระหว่างบ้านกับโรงเรียนของนักเรียน พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ไม่ใช้บริการรถรับส่งนักเรียน ประเด็นใหญ่เลยคือเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย ส่วนบางรายที่ทำงานหรือบ้านอยู่ใกล้โรงเรียนผู้ปกครองจึงไปรับ-ส่งเอง บางคนใช้รถขนส่งสาธารณะ หรือขี่จักรยาน/มอเตอร์ไซค์ ส่งบุตรหลาน ไปโรงเรียน
ดังนั้น เพื่อให้โครงการรถรับส่งนักเรียน ยกร่างเป็นข้อเสนอนโยบายพร้อมส่งต่อ กทม. สำนักงานเขตและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ผลักดันกันต่อไป มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้จัดเวทีประชุมกลุ่มย่อยเพื่อรับฟังความคิดเห็นรถรับส่งนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โซนกรุงเทพตะวันออก เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 ซึ่งถือเป็นก้าวแรก เพื่อสำรวจข้อมูลความต้องการให้บริการรถรับส่งนักเรียน จากนั้น นำมาศึกษา รวบรวม วิเคราะห์ และจัดทำชุดข้อมูลวิชาการ สนับสนุนการพัฒนาข้อเสนอนโยบายระบบบริการรถรับส่งนักเรียนของโรงเรียนในสังกัด กทม. และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย และความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยนำผลที่ได้มาจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อจัดการกับนโยบายรถรับส่งนักเรียน