มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

ไถโทรศัพท์ช่วงลาวันหยุด ระวังถูกหลอก!

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 27-12-2024 10:06

หมวดหมู่: การเงิน การธนาคาร

ภาพประกอบข่าว

ไถโทรศัพท์ช่วงลาวันหยุด ระวังถูกหลอก!

หลอกกันจริง หลอกกันจัง พวกมิจฉาชีพ! ผีที่ผู้คนเค้ากลัวกันยังไม่น่ากลัวเท่าพวกมิจฉาชีพเลย เพราะสารพัดสรรหาเรื่องมาหลอกเหยื่อหวังดูดเงินในกระเป๋า โดยเฉพาะหลอกให้ทำงานเสริมผ่านช่องทางออนไลน์

ธนัช ธรรมมิกสกุล หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มิจฉาชีพแอบแฝงมากับประกาศรับสมัครงานพร้อมโฆษณาจูงใจ เช่น รับซื้อภาพภ่าย รับสมัครนักพากย์เสียง หรือบางงานจูงใจให้ค่าคอมมิชชันสูง ทำงานได้จากบ้าน ใช้เพียงสมาร์ทโฟน ฯลฯ

นอกจากนี้งานที่นำมาหลอกลวงมักเป็นงานออนไลน์ที่ไม่มีอยู่จริง อ้าง Platform ที่น่าเชื่อถือ เช่น TikTok, YouTube, Lazada เป็นต้น โดยหลอกลวงให้กดไลก์ (Like) กดแชร์ (Share) ดูคลิปวิดีโอจากยูทูบ (YouTube) เพื่อเพิ่มยอดวิว อีกมุกใหม่ที่แก๊งมิจฉาชีพอาละวาดหนัก นั่นคือ ออกโฆษณารับสมัครคนทดสอบการนอนให้โรงแรมดัง อ้างได้เงินเดือนดี เดือนละ 3 หมื่นบาท ที่แท้หลอกพาเข้ากรุ๊ปหน้าม้า ก่อนหลอกทำภารกิจให้โอนเงินให้คนร้าย

ทั้งหลายอาชีพที่พูดมาในช่องทางที่มิจฉาชีพใช้หลอกเหยื่อที่อยากได้งานทำเพื่อแลกกับเงินค่าจ้างแต่สุดท้ายกลับตกหลุมพรางถูกเชิดเอาเงินที่เรียกเก็บก่อนหน้าโดยอ้างว่าเป็นเงินค้ำประกันหนีไป ทั้งองค์กรผู้บริโภค ทั้งตำรวจไซเบอร์ โพสต์เตือนแล้วเตือนอีก แต่!ก็ยังมีเหยื่อหลงเชื่อ ไม่เป็นไร ... มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไม่ท้อ ขอทำหน้าที่ปกป้องย้ำเตือนผู้บริโภคต่อไป เอาละมาลองดู 3 ตัวอย่างอาชีพที่ถูกหลอกกันบ่อย เพราะมิจฉาชีพเอาเงินที่หลอกจากเหยื่อไปทุ่มงบซื้อโฆษณาบนเฟซบุ๊ก

รู้ทัน! มิจฉาชีพ หลอกรับซื้อภาพถ่าย และชักชวนให้ทำภารกิจลงทุนออนไลน์เพื่อรับรายได้เพิ่ม มิจฉาชีพสร้างเพจปลอมบน Facebook หลอกให้สมัครขายภาพถ่าย อ้างรายได้ดีวันละหลายพัน! แต่ระวังจะเสียเงินฟรี

  • เปิดเพจรับซื้อภาพภ่าย: รับซื้อภาพถ่ายทั่วไป รวมทั้งภาพจากมือถือ
  • โฆษณาเน้นได้เงินง่าย: พร้อมบอกผลตอบแทนที่เกินจริง
  • ให้แอดไลน์เพื่อส่งภาพ: และหลอกถามข้อมูลส่วนตัว
  • ชักชวนให้ทำภารกิจพิเศษ: เพื่อรับโปรโมชันและรายได้เพิ่ม -หลอกให้ลงทุนเพิ่ม ให้โอนเงินเข้าบัญชี ที่เบิกถอนได้
  • ให้โอนเงินก่อนรับรายได้: อ้างว่าเป็นการยืนยันตัวตนและบัญชี

รู้ทัน! แก๊งมิจฉาชีพออนไลน์ มาในรูปแบบสร้างเพจปลอมเพื่อรับสมัครนักพากย์เสียง ลงเสียงสารคดี สปอตโฆษณาสินค้า โดยชวนเชื่อว่าจะได้เป็นพนักงานบริษัทบ้าง หารายได้เสริมบ้าง ซึ่งเหยื่อส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง โดยอาศัยความอ่อนไหว ความอยากมีคุณค่าที่ได้ทำงานที่รักหรืองานที่ตัวเองมีความสามารถ หลอกใช้ความหวัง ความตั้งใจจริงของเหยื่อ โดยแอบอ้างบริษัทที่มีตัวตนจริงใช้ชื่อ ที่อยู่ และเอกสารของบริษัทนี้ ส่งในแชทไลน์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ (ซึ่งบริษัทนี้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด) เมื่อเหยื่อหลงเชื่อ ก็ส่งลิงก์ให้แอดเข้ากลุ่มไลน์ ขอให้ส่งข้อมูลส่วนตัวเพื่อยื่นสมัครงาน จากนั้น ทำกิจกรรมอ่าหนังสือเสียง โดยให้โอนเงินที่อ้างว่าเป็นค่ามัดจำแล้วแค่จำนวนที่แต่ละคนถูกหลอก หลังทำกิจกรรมมิจฉาชีพได้โอนเงินค่าตอบแทนกลับมา 30% ของเงินที่โอนไป แต่ทางผู้เสียหายเห็นว่าบัญชีที่โอนกลับมานั้นเป็นบัญชีบุคคล จึงรู้ว่าเป็นมิจฉาชีพ

เตือนภัยมิจฉาชีพหลอกลวงรับสมัครผู้ทดสอบการนอนโรงแรม ผ่านการโฆษณาเป็นคลิปวิดีโอสั้นใน Facebook, TikTok, Instagram อ้างเป็นงานสบาย ได้ผลตอบแทนสูงกว่า 30,000 บาทต่อเดือน หรืออ้างว่าจะได้ค่าจ้างจากการนอนหลับจริงกว่า 2,000 บาทต่อคืน รวมถึงจะได้รับสวัสดิการ ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายต่างๆ ฟรี เมื่อผู้เสียหายสนใจมิจฉาชีพจะให้ทดสอบแสดงความเห็น หรือรีวิวโรงแรมต่างๆ ก่อนที่จะได้รับงานทดสอบการนอนที่โรงแรมจริง เพื่อประเมินว่าผู้เสียหายมีความสามารถเพียงพอหรือไม่ หากผู้เสียหายแสดงความเห็นเสร็จแล้วจะได้รับเงินจริง 50 บาทต่องาน จากนั้นจะให้เข้ากลุ่มในแอปพลิเคชัน Telegram แจ้งว่ามีงานภารกิจเสริมให้ทำ หลอกลวงให้ลงทุนเทรดหุ้น อ้างว่าจะได้รับกำไรมากกว่านี้ กระทั่งผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปร่วมลงทุน โดยในครั้งแรกที่ลงทุนด้วยจำนวนที่ไม่มากจะได้รับกำไรจากการลงทุนกลับคืนมาจริง จากนั้นมิจฉาชีพก็จะหลอกให้โอนเงินมาลงทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย จนไม่สามารถถอนเงินออกมาได้อ้างเหตุผลต่างๆ ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกหลอกลวงและได้รับความเสียหาย จึงมาแจ้งความกับตำรวจไซเบอร์ ผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ให้ดำเนินคดีกับมิจฉาชีพตามกฎหมายต่อไป

ตำรวจไซเบอร์ยังเตือนอีกว่า มิจฉาชีพใช้กลวิธีหลอกลวงในลักษณะอื่นๆ ที่คล้ายกันอีก เช่น กดรับออร์เดอร์สินค้า รีวิวสินค้า พับถุงกระดาษ ร้อยลูกปัด หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ตามแต่ที่มิจฉาชีพออกอุบาย โดยการประกาศเชิญชวนโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือการส่งความสั้น (SMS) ไปยังเหยื่อโดยตรง ให้กดลิงก์เพิ่มเพื่อน แล้วเข้ากลุ่มทำงานที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมา โดยในช่วงแรกจะได้เงินคืนมาเล็กน้อย แต่หลังจากนั้นมิจฉาชีพก็จะให้ทำภารกิจพิเศษ หลอกให้เหยื่อโอนเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามระดับภารกิจ ทั้งนี้เหยื่อมักเสียดายเงินที่เคยโอนไปก่อนหน้านี้ อยากได้เงินทั้งหมดคืน ก็หลงเชื่อโอนเงินไปเพิ่มอีกหลายครั้ง มิจฉาชีพก็จะมีข้ออ้างต่างๆ เช่น อ้างว่าทำผิดขั้นตอน หรือยอดเงินในระบบไม่เพียงพอ เป็นค่าเอกสาร ค่าปิดบัญชี ค่าภาษี เป็นต้น นอกจากนี้ยังสร้างความน่าเชื่อถือโดยให้หน้าม้าในกลุ่มไลน์แสดงหลักฐานปลอมว่าตนได้รับเงินจริง กระทั่งเมื่อเหยื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกลวงก็จะปิดการติดต่อหลบหนีไป เพราะฉะนั้นการทำกิจกรรม หรือธุรกรรมใดๆ บนโลกออนไลน์ต้องรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพและมีสติอยู่เสมอ

สิ่งที่ควรทำเมื่อรู้ตัวว่าถูกหลอก รีบโทรติดต่อ สายด่วนของตำรวจไซเบอร์ ได้ที่หมายเลข 1441 หรือ 08-1866-3000 เพื่อดำเนินการอายัดบัญชีทันที รวบรวมหลักฐาน เช่น สลิปโอนเงิน ภาพแชทการสนทนา เพื่อแจ้งความดำเนินคดีที่สถานีตำรวจในพื้นที่หรือแจ้งความออนไลน์ที่ thaipoliceonline.com

ข้อสังเกตเพจปลอมหลอกสมัครงานออนไลน์ เมื่อสมัครงานแล้ว มีการแจ้งให้วางเงินมัดจำ หรือเงินลงทุน หรือสำรองเงินก่อน ให้ตั้งข้อสงสัยได้ทันทีว่ากำลังโดนมิจฉาชีพหลอกลวง อย่าโอนเงินไปเด็ดขาด แต่ผู้ที่หลงกลโอนเงินเข้าบัญชีบุคคลธรรมดา ผู้เสียหายควรนำชื่อและหมายเลขบัญชีไปตรวจสบก่อนว่าเคยมีประวัติมิจฉาชีพหรือไม่ โดยสามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ blacklistseller.com

"เงินอยู่ในกระเป๋าเรา อย่าปล่อยให้ใครเอาไป กดแชร์เพื่อไม่ให้ใครโดนหลอกอีกต่อไป" ด้วยความปรารถนาดีจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม