มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

เหตุนี้ ! มีเรื่อง...โดนหลอกเปิดซิมเป็นหนี้หลักหมื่น!

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 27-06-2023 16:33

หมวดหมู่: สื่อและโทรคมนาคม

ภาพประกอบข่าว

เหตุนี้ ! มีเรื่อง...โดนหลอกเปิดซิมเป็นหนี้หลักหมื่น!

“เงินเดือนหลักหมื่น! เป็นลูกจ้างบูธขายมือถือในห้างฯ รับทั้งแบบประจำและฟรีแลนซ์ ต้องการจำนวนมาก อายุ 18 ปีขึ้นไป สนใจติดต่อทางข้อความ MESSENGER

นี่เป็นข้อความบนเพจเฟซบุ๊กหางาน ที่ไม่บอกตัวตนคนโพสต์ แต่กลับมีเหยื่อติดกับดักจำนวนมาก เพราะหลงกลคำว่า “ค่าจ้างรายได้ดี “ เมื่อรู้ตัวก็สายเสียแล้ว หลายคนกลายเป็นหนี้หัวโต เพราะถูกหลอกไปเปิดซิมมือถือ

ตกเป็นเหยื่อลงทะเบียนซิมมือถือ เจ้าตัวไม่ได้ใช้แต่ต้องจ่ายหนี้

เพราะอะไรน่ะเหรอ! ลองมาอ่านเคสของผู้เสียหายรายนี้ วัย 19 เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยปี 1 ที่คุณแม่ พามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ จึงเริ่มซักถามต้นสายปลายเหตุ!

“ หนูเจอโพสต์เฟซบุ๊กประกาศรับสมัครพนักงานขายโทรศัพท์ตามบูธที่เปิดสาขาในห้างสรรพสินค้า แถว ศาลายา (นครปฐม) ด้วยความอยากหารายได้พิเศษแถมอยู่ใกล้มหาวิทยาลัย ก็เลยติดต่อไปทางข้อความ ทางนั้น บอกว่า ต้องไปลงทะเบียนซิมกับค่ายมือถือเพื่อยืนยันตัวตน ถึงจะพิจารณารับเป็นพนักงาน แต่เขาต้องเป็นคนพาไปสมัครนะ ก็เลยนัดไปเจอกันที่ห้างฯ วันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ( 2566 ) แต่พอไปถึงศูนย์ฯ เขาบอกว่า ขอตัวไปเจอคุณแม่พี่ก่อน ให้น้องไปจัดการให้เสร็จทั้ง 3 ค่าย

เมื่อเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถามว่า รู้จักตัวตน-ชื่อเสียงเรียงนาม คนที่นัดเรามาหรือเปล่า ... น้องบอก ไม่ค่ะ ..ไม่ได้ถามด้วย ยอมรับว่า ตอนนั้นอาจจะคิดน้อย ไม่ได้คิดมาก ตอนยื่นบัตรประชาชน ให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ มือถือ ก็ไม่ได้อ่านรายละเอียดในเอกสาร ได้แต่เขียนว่า สำเนาถูกต้อง แล้วก็เซ็นชื่อ ตามที่พนักงานบอก แต่ไม่ได้ขีดคร่อม “ใช้เพื่อ... เท่านั้น” แล้วก็ไม่ได้เซ็นวันที่กำกับ ส่วนคนที่พามาจดทะเบียนซิมมือถือก็ตามมาสมทบทีหลังทุกครั้งเลย จนครบทั้ง 3 ค่าย

น้องเล่าต่อว่า พอเสร็จการยืนยันตัวตน “ หนูก็ไม่ได้คิดอะไรมากค่ะ เพราะตอนนั้น คิดแค่ว่า จะทำ พาร์ทไทม์ไม่เกิน 3 เดือน เลยอยากรู้แค่ จะได้งานนี้มั้ย ได้เงินเดือนเท่าไหร่ ..คนที่พามาเปิดซิม ก็บอกว่า ต้องดูก่อนว่า ไปยืนยันตัวตนกับค่ายแล้วผ่านมั้ย ถ้าผ่าน เริ่มต้นจะให้เดือนละ 9 พันบาท ถ้าผ่านฝึกงานจะให้เพิ่มเป็น 1 หมื่น 2 พันบาท เมื่อถามว่าได้ไปดูบูธขายโทรศัพท์ที่เราต้องไปทำงานไหม คำตอบคือ “ หนูก็ถามเขานะ ที่ทำงานอยู่ตรงไหนในห้างฯ คนที่พาไปเปิดซิมก็ชี้ไกลๆ บอกว่านั่นไง คือ ชี้โบ๊ ชี้เบ๊ ไปเรื่อย แต่บอกว่า จะติดต่อไปอีกรอบ เพราะมีคนมาสมัครเยอะ เขาให้ความหวัง ตอนนั้นเราก็เชื่อ พอผ่านไปนานก็คิดว่า ไม่ได้งานแล้วมั้ง ก็ปล่อยเลยตามเลย

รู้ตัวโดนหลอก เมื่อใบแจ้งหนี้ 3 ค่ายมือถือรวมกว่า 2 หมื่นบาทส่งถึงบ้าน !

ต้นเดือนมิถุนายน 2566 เป็นวันที่บิลทวงหนี้ส่งมาถึง! น้องบอกว่า ไม่เข้าใจทำไมบิลมาเก็บเอาเดือน ที่ 3 เพราะตอนทำสัญญาคือเมษายน ในบิลของ3ค่ายมือถือมียอดหนี้ไม่เท่ากัน แต่ยอดค่าใช้บริการค้างชำระ บวกกับค่าปรับรวม 2 หมื่นกว่าบาท ตอนนั้นตกใจนะ เพราะเซ็นสัญญาเปิดซิม แต่ไม่ได้เอาซิมกลับมา แต่พอนึกไปนึกมา จำได้ว่าคนที่หลอกพามาเซ็นสัญญาเปิดซิม พกโทรศัพท์มือถือมาด้วย 3 เครื่อง เท่ากับ หลอกให้หนูไปเปิดซิม แล้วเขาก็เอาไปใช้ฟรีๆ

เมื่อได้ข้อมูลทั้งหมดจากผู้ร้องเรียน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงให้คำแนะนำ ตามขั้นตอนดังนี้

  1. แจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อเอาผิดคนก่อเหตุ ( อย่าลงบันทึกประจำวันเด็ดขาด )

อ่านข้อมูล

ลงบันทึกประจำวัน คือ การลงบันทึกแล้วจบ

แจ้งไว้เป็นหลักฐาน คือ การลงบันทึกแล้วจบ

ขอให้ดำเนินคดี คือ การแจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดี

กฎหมายน่ารู้ 85 : แจ้งความคดีอาญาอย่างไร? เรื่องไม่เงียบ เฟซบุ๊ก สำนักงานกิจการยุติธรรม https://www.facebook.com/weareoja/posts/pfbid02DLPf2kMZ44iBMhcbw2E5pTZe323L1oTLpmnjjjNshrAvXwjnhBhs4WfpfvNACLbXl

  1. นำใบแจ้งความไปยื่นต่อค่ายมือถือเพื่อยืนยันถูกมิจฉาชีพหลอกให้เปิดซิมเพื่อขอทำหนังสือ ขอระงับบริการ และ ขอยกเลิกสัญญา ถึงแม้เครือข่ายจะยอมระงับบริการก็ต่อเมื่อผู้ใช้บริการ จ่ายหนี้ส่วนที่ค้างจนหมด ก็ตาม การทำวิธีนี้ มีข้อดี คือ เป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจ ที่เราถูกหลอกถึงแม้ไม่สามารถหักล้างสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหาย เพราะมีลายเซ็นบนสำเนาบัตรประชาชน ดังนั้น บริษัทจึงไม่มีส่วนต้องรับผิดชอบ ถึงแม้ผู้เสียหาย ทำเรื่องฟ้องร้อง ก็อาจถูกฟ้องกลับ ข้อหาแจ้งความเท็จ มันจะเสียหายเยอะกว่านี้

หลังจากดำเนินการตามข้อแนะนำเบื้องต้น น้องผู้เสียหาย ได้แจ้งความคืบหน้ากับฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ดังนี้

  1. คุณแม่ได้แค่ไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ ด้วยความที่ลืมคำแนะนำว่าต้องแจ้งความ
  2. เมื่อติดต่อกับ 3 ค่ายมือถือ ได้คำแนะนำ 3 วิธี อยู่ที่ว่าจะเลือกทำแบบไหน
  3. จ่ายหนี้ทั้งหมด
  4. ตอนนี้ซิมล็อกอัตโนมัติเพราะค้างจ่ายหนี้ 3 เดือน แต่สามารถเปิดเบอร์เดิมแล้วใช้เน็ตที่เหลือแล้วจ่ายเงินรายเดือนจนครบ 1 ปี ก็จะไม่มีปัญหา
  5. ไม่ต้องจ่ายหนี้ เพราะไม่ได้เป็นคนผิด แต่ในฐานะที่มีชื่อไปเปิดซิม จะติดแบล็กลิสต์ 5 ปี ทำธุรกรรมอะไรไม่ได้ จนกว่าจะมาจ่ายหนี้ทั้งหมด

น้องบอกว่า ขอเลือกแบบที่ 3 “ ในเมื่อหนู ก่อปัญหาเอง ก็ขอรับผิดชอบ ไม่อยากให้พ่อ-แม่ ต้องมาเดือดร้อนด้วย เพราะในอนาคต จบปริญญาตรี มีงานทำ หนูขอเอาเงินไปจ่ายคืนเอง แล้วก็ถือเป็นโชคดีที่ค่ายมือถือ บอกว่า กรณีของหนูจะไม่ถูกฟ้องร้อง เพราะแต่ละซิม + ค่าปรับ ยอดหนี้ไม่เพียงพอที่จะฟ้องร้อง”

ส่วนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะช่วยเหลือผู้เสียหายอีกแรง และ ยังช่วยเหลือไปถีงเหยื่อรายอื่นๆด้วย ถือเป็นการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการปัญหาตั้งแต่ต้นทาง

  1. ทำหนังสือไปค่ายมือถือ เพื่อขอยกเลิกสัญญาของน้องผู้เสียหายรายนี้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้เห็นกระบวนการได้ดำเนินการเกิดหลักฐาน โดยกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน “ การทำธุรกรรมใดๆ กับเด็กที่เป็นเยาวชน ต่ำกว่าอายุ 20 ปีลงไป ให้ถือว่า การนั้นเป็น “โมฆียะ” หากพ่อ-แม่ - ผู้ปกครอง เป็นผู้บอกเลิกสัญญา พร้อมขอให้ตรวจสอบหากมีเยาวชนอายุไม่ถึง 20 ปี มาเปิดซิม แล้วไม่มีผู้ปกครองมาด้วย ต้องมีหลักเอกสารหลักฐานอย่างชัดเจน ไม่ใช่ว่า เจอใครมาเปิด ก็ทำให้
  2. จะทำหนังสือถึง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เพราะจากเหตุลักษณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 20 ปี ที่โดนหลอก ดังนั้น จะมีมาตรการควบคุมค่ายมือถือที่รัดกุมอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก โดยเฉพาะกับเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือ การถาม มากับผู้ปกครองหรือไม่ หรือ ใคร พามา

ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตั้งข้อสังเกต ถึงเหตุที่มิจฉาชีพ หลอกเยาวชนไปเปิดซิม แล้วเอาไปใช้เอง เพราะรู้ดีว่า หากใช้ไป 3 เดือน ไม่จ่ายหนี้ ระบบจะล็อกอัตโนมัติ เท่ากับ ได้ใข้งานฟรี ๆ ไม่ต้องจ่ายหนี้ รอเวลา 3 เดือน แถมได้เหยื่อรายใหม่ไปเรื่อย ซึ่งเคสน้องวัย 19 รายนี้ ถูกหลอกเพราะอยากได้งาน ดังนั้น การป้องกันต้องเริ่มจากต้นทางให้เด็กรู้เท่าทันมิจฉาชีพ ต่อมาหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแล และเอกชนที่ให้บริการเครือข่ายมือถือต้องเข้มงวดกับการตรวจสอบเอกสารและหลักฐานก่อนทำธุรกรรมใดๆ ให้กับเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และยังสามารถป้องกันไปถึงการรับจ้างเปิดซิม

อ่านข้อกฎหมาย ตร.ไซเบอร์เตือนภัย❗️รับจ้างเปิดซิมผี-บัญชีม้า โดนโทษหนัก ทั้งโดนปรับ หรืออาจถึงขั้นติดคุก‼️ เพจ ตำรวจไซเบอร์ 2 https://www.facebook.com/cybercops2/posts/pfbid02ZPhS6oRytHQv7FoXGA8Q7Sy4ydXxuUZkg1MkLnLN26HXnmisLfYHmN2sGQDXJNdql

เครดิตเรื่อง : ฟิตรีนา อาลี เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม