มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขยายผลงานศึกษารถนักเรียนปลอดภัยสู่การจัดการตามพื้นที่ให้นักเรียนในกรุงเทพเดินทางปลอดภัยได้จริง

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 05-12-2024 10:08

หมวดหมู่: บริการขนส่งและยานพาหนะ

ภาพประกอบข่าว

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขยายผลงานศึกษารถนักเรียนปลอดภัยสู่การจัดการตามพื้นที่ให้นักเรียนในกรุงเทพเดินทางปลอดภัยได้จริง

อุบัติเหตุบนท้องถนนเป็น 1 ใน 3 สาเหตุหลักของการเสียชีวิตของคนไทยก่อนวัยอันควร โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าอย่างมากของประเทศ ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้ทำงานเพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดรถนักเรียนและรถโดยสารสาธารณะที่ปลอดภัย

ในปี 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังทำงานต่อเนื่องด้วยการดำเนินโครงการพัฒนาชุดความรู้และจัดทำข้อเสนอนโยบายเรื่องรถรับส่งนักเรียนและรถเมล์โดยสารในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในระบบบริการขนส่งสาธารณะ โดยที่ผ่านมาได้จัดสำรวจรับฟังความคิดเห็นถึงการให้บริการรถรับส่งนักเรียนในโซนกรุงเทพตะวันออก และกรุงธนใต้โดยความร่วมมือกับโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร กว่า 431 แห่ง>

อังคารที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมศิรินาม ชั้น 3 สำนักการศึกษา คลองสาน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงจัดเวทีพูดคุยร่วมกับสำนักการศึกษาคลองสาน กรุงเทพมหานครเพื่อนำเสนอสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยในการเดินทางไปกลับระหว่างบ้าน-โรงเรียน ของนักเรียนโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร รวมถึงต้องการรถรับส่งนักเรียน รวมถึงข้อมูลปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการรถรับส่งนักเรียนของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร และจัดทำเป็นขอเสนอนโยบายต่อการจัดบริการเดินทางไปกลับระหว่างบ้านกับโรงเรียน สำหรับนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีเครือข่ายผู้บริโภคจากเขตพื้นที่จากเขตธนบุรี คลองสาน บางขุนเทียน คลองสามวาและเจ้าหน้าที่จากสำนักงานยุทธศาสตร์การศึกษา กองเสริมสร้างสมรรถนะนักเรียน ฝ่ายบริหารงานทั่วไปสำนักการศึกษา คลองสาน เข้าร่วม

ฐาณิษา สุขเกษม นักวิจัยในโครงการพัฒนาชุดความรู้ฯ กล่าวว่าจากการสำรวจปัญหาระบบบริการรถรับส่งนักเรียนซึ่งกรุงเทพมหานครมีโรงเรียนในสังกัดมากกว่า 400 โรงเรียน กรุงเทพมหานคร ยังไม่มีการจัดระบบบริการรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย แต่ละโรงเรียนมีบริบทที่แตกต่างกันมาก เส้นทางมีความหลากหลาย นักเรียนเดินทางมาโรงเรียนหลากหลายกว่าโรงเรียนในต่างจังหวัดมาก ทั้งรถรับส่งนักเรียน เดินเท้า เรือโดยสาร รถรับจ้างเอกชน และจำนวนนักเรียนของแต่โรงเรียนยังมีความหลากหลายมากน้อยแตกต่างกันมาก โดยผลสำรวจพบว่าผู้ปกครองกว่า 80.97% ไม่ใช้รถรับส่งนักเรียนและผู้ปกครอง 19.03% ใช้รถรับส่งนักเรียน อย่างไรก็ตามผู้ปกครองมีความต้องการรถรับส่งนักเรียนถึง 27.89% โรงเรียนในกรุงเทพมหานครจึงมีความยากต่อการบริหารจัดการมาก อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีโรงเรียนที่พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัยทั่วประเทศแล้วกว่า 20 แห่งจึงอยากมองให้เป็นความท้าทายที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ในกรุงเทพได้เช่นเดียวกัน

“ผลการสำรวจของเราพบความแตกต่างที่สำคัญคือ ฝั่งกรุงเทพตะวันออก จะต้องส่งเสริมให้เกิดรถรับส่งนักเรียนที่ขึ้นทะเบียนและมีมาตรฐาน ด้วยการประสานงานระหว่างภาคีเครือข่าย เช่นผู้ประกอบการรถ หน่วยงานการศึกษา ผู้ปกครอง จัดทำชมรมรถรับส่งนักเรียนในแต่ละโรงเรียน และการขึ้นทะเบียนรถรับส่งนักเรียนให้มีมาตรฐาน ส่วนพื้นที่กรุงธนเหนือและกรุงธนใต้ต้องเพิ่มการจัดการ จราจรบริเวณหน้าโรงเรียน กวดขันการสวมหมวกนิรภัย”

นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “วันนี้เราทราบว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ละเลยปัญหานี้ เรามีหน้าที่ที่แตกต่างกันแต่จากการลงพื้นที่ รับฟังความคิดเห็นในเวทีแสดงคิดเห็นในเขตพื้นที่ธนบุรี, คลองสาน, บางขุนเทียน และหนองจอก เราเห็นว่าเราจะต้องมามีความร่วมมือกัน เพราะสุดท้ายมันคือความร่วมมือ บริบทของพื้นที่มีเรื่องชุมชน วัด โรงเรียน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสำคัญที่สุดคือผู้ปกครอง การจัดการเพื่อให้เด็กนักเรียนเดินทางมาโรงเรียนได้อย่างปลอดภัยสุดท้ายอาจมีการจัดการด้วยรูปแบบที่หลากหลายมาก สิ่งเหล่านี้โรงเรียนสามารถพูดคุย สร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองได้ในการประชุมผู้ปกครอง ในชั่วโมงโฮมรูม”

“เรื่องนี้สุดท้ายเราก็ต้องมาร่วมกันทำอย่างมีส่วนร่วม การจัดการบนฐานข้อมูลของสถานการณ์จริงจึงดีที่สุด ในวันนี้จึงต้องมีการเริ่มงานสำรวจเก็บข้อมูลอย่างจริงจังเพื่อให้เห็นว่านักเรียนของท่านมีการเดินทางอย่างไร ความไม่ปลอดภัยที่เป็นอยู่เป็นอย่างไร การมาพูดคุยกันในวันนี้ทำให้เราเกิดความเข้าใจกันมากขึ้นว่าปัญหาคืออะไร เราจะต้องกลับไปดำเนินการส่วนไหนต่อไปเรารู้ว่าส่วนไหนยังขาดข้อมูลอะไรอยู่”

โดยข้อเสนอนโยบายต่อการจัดบริการเดินทางไปกลับระหว่างบ้านกับโรงเรียน สำหรับนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ยื่นต่อผู้แทนสำนักการศึกษา คลองสาน มีดังนี้

1.เสนอให้มีการทำ “ประชาคม” ซึ่งประกอบด้วย ผู้ปกครองนักเรียน โรงเรียน ผู้ประกอบการ ชุมชนโดยรอบ และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างความร่วมมือและทำข้อตกลงร่วมกัน เพื่อบริหารจัดการบริเวณหน้าโรงเรียน ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย

2. เสนอให้มีทุกโรงเรียนมีมาตรการจัดการให้นักเรียนสวมหมวกนิรภัย กรณีนักเรียนเดินทางไ ป-กลับด้วยรถมอเตอร์ไซค์ ควรให้ความสำคัญกับการขับขี่อย่างปลอดภัย กวดขันการใช้หมวกนิรภัย สร้างวินัยการจราจรให้เด็ก ผู้ปกครอง และผู้ประกอบการที่รับส่งเด็กด้วยมอเตอร์ไซค์อย่างสม่ำเสมอ

3.เสนอให้มีการกำหนดมาตรการเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของรถโรงเรียน ในกรณีโรงเรียนมีรถรับส่งนักเรียน ดังนี้

3.1 รวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการรถรับส่งนักเรียนที่มาขึ้นทะเบียน

3.2 ผู้ประกอบการรถรับส่งนักเรียนที่ได้รับการรับรองจากโรงเรียนแล้ว ต้องนำรถเข้ารับการตรวจสอบสภาพรถให้เป็นไปมาตรฐานความปลอดภัยของรถโรงเรียน ตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด

3.3 มีช่องทางในการบริหารจัดการ เช่น การใช้แอปพลิเคชันหรือกลุ่มไลน์ในการสื่อสาร

3.4 ในกรณีที่โรงเรียนประสบปัญหาขาดผู้ประกอบการให้บริการรถรับส่งนักเรียน กรุงเทพมหานคร ควรจัดให้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรถรับส่งนักเรียนที่ได้รับการรับรองจากโรงเรียน

4. เสนอให้มีการทำความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการรถสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มการเดินรถในช่วงเวลาเร่งด่วน กำหนดเส้นทางเดินรถที่ผ่านโรงเรียนเป็นการเฉพาะสำหรับพื้นที่ที่ไม่มีรถโดยสารสาธารณะ

5. เสนอให้กรุงเทพมหานครในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรให้การสนับสนุนด้านงบประมาณในพื้นที่ขาดแคลนรถรับส่งนักเรียน หรือขาดแคลนรถสาธารณะ ตลอดจนการสนับสนุนอื่น ๆ เช่น การจัดทำฐานข้อมูลกลางของผู้ประกอบการรถรับส่งนักเรียนในกรุงเทพมหานคร เพื่อการติดตามและควบคุมคุณภาพ

โดยนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และผู้ประสานงานโครงการพัฒนาชุดความรู้และจัดทำข้อเสนอนโยบายเรื่องรถรับส่งนักเรียนและรถเมล์โดยสารในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในระบบบริการขนส่งสาธารณะ กล่าวว่า โครงการฯ จะจัดเวทีสาธารณะ ฟังเสียงประชาชนคนใช้รถโดยสารสาธารณะขึ้น ในวันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม 2567 เวลา 14.00 - 19.00 น. ณ พื้นที่เกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร รายละเอียดสามารถติดตามได้จากเพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม