“เหยื่อ” ตาย-เจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน ช่วยหยุดมันที!
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 30-11-2023 10:36
หมวดหมู่: บริการขนส่งและยานพาหนะ

“เหยื่อ” ตาย-เจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน ช่วยหยุดมันที!
ปีใหม่ กับ สงกรานต์ เนี่ย มันคือ festival of death จริงๆนะ โดยเฉพาะช่วง “7 วันอันตราย” เจ็บ-ตายกันเป็นใบไม้ร่วง เราไม่ได้พูดเกินจริง เพราะตัวเลขภาครัฐประกาศมันบอกอย่างชัดเจน สาเหตุหลัก 1.เมา 2.ซิ่ง ส่วนสถานที่เกิดเหตุบ่อยๆ คือ ถนนสายรอง ถ้างั้นมาทบทวนสถิติย้อนหลังกันสักนิด
ทำไม ปีใหม่ กับ สงกรานต์ ผู้คนต้องตายจากอุบัติเหตุมากทุกปี
ยอดตาย 317 ราย นี่แค่ 7 วันอันตรายช่วงปีใหม่ 29 ธันวาคม 2565 – 4 มกราคม 2566 บาดเจ็บรวม 2,437 คน , เกิดอุบัติเหตุรวม 2,440 ครั้ง
ช่วงสงกรานต์ 7 วันอันตราย 11 – 17 เมษายน 2566 ยอดตาย 264 ราย ,บาดเจ็บ 2,208 คน เกิดอุบัติเหตุรวม 2,203 ครั้ง
จำนวนคนตายจากอุบัติเหตุยานพาหนะในแต่ละช่วงเทศกาลเป็นที่สนใจของผู้คน แต่เมื่อเวลาผ่านไปและวนกลับมาก็พูดถึงกันเรื่องตัวเลขว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลง โดยมิได้วิเคราะห์ปรากฏการณ์กันจริงจังเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาในช่วงเวลาต่อไป
ทำไม ? ช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ หรือทุกๆวัน มีการเตือนเรื่องเมาแล้วอย่าขับ แล้วทำไมคนไม่เชื่อ! เห็นเตือนกันทุกวัน ทุกเทศกาล แล้วทำไมคนยังทำกันอยู่อีก ทั้งๆ ที่ก็มีตัวอย่างให้เห็นว่ามีคนตายจากการเมาแล้วขับทุกๆ ปี ทุกๆ วัน ที่สำคัญยังทำให้คนอื่นพาลเดือดร้อนโดนลูกหลงไปด้วย
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไปเก็บความคิดเห็นจากบรรดาชาวเน็ต เขาให้ความเห็นที่น่าสนใจ ลองอ่านกันดู
-เพราะคนเมาขาดสติ ทำให้ไม่มีปัญญาคิดว่ามันอันตราย
-ไอ้ที่ประมาทแล้วตัวเองเจ็บไม่เป็นไร แต่ประมาทแล้วมาทำให้คนอื่นเจ็บพวกนี้แหละ
-น่าจะเพราะบทกำหนดโทษ หรือการบังคับใช้กฏหมายมันเบาไป จึงไม่ค่อยมีคนเกรงกลัวและฝ่าฝืนบ่อยๆ ถ้าแก้กฏหมายให้ลงโทษหนักขึ้น เช่นจำคุกตั้งแต่สิบปีขึ้นไปไม่เกินยี่สิบปี และปรับสองแสนบาท แบบนี้ น่าจะทำให้เกิดความเกรงกลัวกฎหมายกันเพิ่มมากขึ้น
-พื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคมมันไม่มี เราไม่ได้สอนจริงจังแต่เด็กๆ โตมาเลยเป็นแบบนี้
-ที่ญี่ปุ่นการเมาแล้วขับไม่ใช่มีบทลงโทษแค่ทางกฎหมายแต่มีผลถึงบริษัทที่คุณทำงานอยู่ เขาสามารถไล่คุณออกได้หาก "ดื่มแล้วขับ" ดังนั้นบทลงโทษรุนแรงกว่า คนจึงกลัวความผิดมาก ที่สำคัญเขารณรงค์ "ดื่ม--- ไม่ขับ" มากกว่า คือแค่ดื่ม 1 แก้วก็ห้ามขับรถเด็ดขาด แต่เมืองไทยกลับรณรงค์ "เมาไม่ขับ" แล้วบางคนมันก็ไม่ยอมรับว่ามันเมา มันก็ขับไปทำชาวบ้านตาย เดือดร้อนอีก
-ความปลอดภัยทางถนนอีกอย่างหนึ่งของไทย คือ การบังคับใช้กฎหมาย “ปัญหาหลักเรื่องนี้ของไทยเรา มี 2 ด้าน ทั้งผู้บังคับใช้กฎหมายใช่ช่องโหว่ของกฎหมายทำทุจริตหรือแสวงหาประโยชน์ และผู้ใช้รถใช้ถนน ก็ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเช่นกัน
ส่วนใหญ่ เรามักจะโฟกัสกันเฉพาะช่วงเทศกาล แต่จริงๆ แล้ว จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในบ้านเรานั้น ค่อนข้างสูงทุกวัน ความหมายมันชัดเจนในตัวอยู่แล้ว คำถาม เป็นเพราะรัฐพยายามไม่มากพอ หรือติดกับดักอะไร?
ที่ตั้งคำถามนี้ขึ้นมาเพราะประจวบเหมาะกับ # "วันเหยื่อโลก" หรือ The World Day of Remembrance for Road Traffic Victims (WDR) องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็น “ #วันโลกรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน” ซึ่งปี 2566 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน เป็นวันที่คนทั้งโลกร่วมกันรำลึกถึงผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน เพื่อเป็นโอกาสให้ผู้คนทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสูญเสียและความสำคัญของการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน
จากข้อมูล ของ สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ที่ร่วมกับ มูลนิธิเมาไม่ขับ , สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) , ภาคีเครือข่ายรณรงค์ลดอุบัติเหตุภาครัฐ และ ภาคเอกชนจัดกิจกรรมวันโลกรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งจัดกิจกรรมเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2566 ได้เปิดข้อมูล การบูรณาการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐาน ปี 2554-2566 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนแล้วกว่า 250,000 ราย ในจำนวนนี้มากกว่า 70% เป็นวัยเด็กและวัยทำงาน ซึ่งเป็นกำลังหลักของครอบครัว ยังไม่รวมผู้บาดเจ็บนับล้านคน ที่ต้องเน้นย้ำคือหลังเกิดอุบัติเหตุ ในกรณีที่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต แต่สถิติบอกว่าราว 4.6% ของผู้บาดเจ็บจะเป็นผู้พิการ หมายความว่าการใช้ชีวิตของคนเหล่านี้ จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
นางก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์’ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส.บอกว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติทางถนน วันละเกือบ 50 คน มีผู้บาดเจ็บ และผู้พิการจำนวนมาก ยังไม่นับรวมสภาพจิตใจครอบครัวผู้สูญเสีย หรือการดูแลผู้ที่ต้องพิการเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ ซึ่งการสร้างความปลอดภัยทางถนนของไทย จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือ และการบูรณาการการทำงานจากหลายภาคส่วน ที่ผ่านมา สสส. ได้ขับเคลื่อนรณรงค์สร้างความปลอดภัยทางถนน ร่วมกับภาคีเครือข่ายให้ประชาชนตระหนักถึงความสูญเสีย ผ่านเรื่องเล่าจากประสบการณ์ตรงของผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อให้เห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงผลักดันมาตรการทางนโยบายและกฎหมาย ให้บรรลุเป้าหมายลดตาย เหลือ 12 คนต่อประชากรแสนคน ภายในปี 2570
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เดินหน้าผลักดันโครงการรถโดยสารปลอดภัย วอนรัฐฯ ตรวจจับรถผิดกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันปัญหาและลดอุบัติเหตุ
ในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่นี้ ที่จะมีผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะเดินทางกลับต่างจังหวัด ที่อาจอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนนจนเกิดอันตรายทั้งผู้โดยสาร และ รถที่อยู่บนท้องถนน ซึ่งเป็นปัญหาที่ร้ายแรง เพราะสร้างผลกระทบไม่ใช่แค่ผู้ประสบเหตุ แต่กระทบไปถึงครอบครัวที่ต้องสูญเสียบุคคลสำคัญ
ทำไม ? ช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ หรือทุกๆวัน มีการเตือนเรื่องเมาแล้วอย่าขับ แล้วทำไมคนไม่เชื่อ เห็นเตือนกันทุกวัน ทุกเทศกาล แล้วทำไมคนยังทำกันอยู่อีก ทั้งๆ ที่ก็มีตัวอย่างให้เห็นว่ามีคนตายจากการเมาแล้วขับทุกๆ ปี ทุกๆ วัน ที่สำคัญยังทำให้คนอื่นพาลเดือดร้อนโดนลูกหลงไปด้วย สำหรับช่วงเทศกาลปีใหม่ ประจำปี 2567 ใกล้เข้ามาทุกที ภาครัฐ ได้กำหนด 7 วันอันตราย ระหว่าง วันที่ 28 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2567
นางนฤมล เมฆบริสุทธ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ กล่าวว่า “เนื่องจากมีผู้ที่ต้องการเดินทางจำนวนมากในช่วงปีใหม่ ทำให้เกิดการเอาเปรียบได้ง่าย ทางมูลนิธิฯ พบปัญหาเกี่ยวกับรถโดยสารในช่วงเทศกาลหลายเรื่องที่ควรระวัง อย่างปัญหาการขายตั๋วเกินราคา หรือมีคนซื้อตั๋วมาแล้วนำไปขายต่อราคาแพงขึ้นในช่วงเทศกาล ที่เรียกว่า ตั๋วผี ซึ่งเป็นปัญหาที่เจอบ่อย มีลักษณะคือ มักจะขายนอกจุดที่ซื้อตั๋วตามสถานีขนส่ง คนรีบกลับบ้านก็ยอมซื้อ จึงควรระวังตั๋วผีด้วย และยังพบปัญหาบริษัทรถทัวร์ไม่ให้ตั๋วโดยสาร อย่างรถตู้ก็จะให้แต่หมายเลขบัตรคิว พอขึ้นรถก็จะเก็บบัตรคิวนั้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุบริษัทรถทัวร์อ้างว่าผู้บริโภคไม่ได้นั่งรถของบริษัท เพราะไม่มีหลักฐานการซื้อตั๋ว ปัญหานี้เป็นการรณรงค์ให้รถโดยสารต้องมีตั๋วโดยสารที่เป็นสัญญาให้ผู้บริโภค สิ่งที่ดีที่สุดคือการมีหลักฐานในการขึ้นรถโดยสารสาธารณะเก็บเอาไว้ เช่น ผู้บริโภคต้องเก็บตั๋วโดยสาร ต้องมีหลักฐานการซื้อ ปัจจุบันการซื้อตั๋วรถโดยสารต้องใช้บัตรประชาชนซื้อ เพื่อยืนยันตัวตนและจะยืนยันตัวตนผู้โดยสารเมื่อขึ้นรถด้วย ปัญหานำรถเสริมที่ไม่ได้รับอนุญาตมาวิ่งในเส้นทางนั้น ซึ่งตามระเบียบกรมการขนส่งแล้วต้องขออนุญาตว่าจะนำรถ เลขทะเบียนอะไรบ้าง ที่จะมาวิ่งในเส้นทางนี้ จะง่ายในการจัดการเวลาที่เกิดปัญหาหรือเกิดอุบัติเหตุ แต่เมื่อเอารถมาวิ่งโดยไม่ขออนุญาต หากเกิดอุบัติเหตุก็อ้างว่าไม่ใช่รถของบริษัทตัวเอง เนื่องจากไม่มีหลักฐาน และบางครั้งจะพบปัญหารถทัวร์ขายตั๋วเก้าอี้เสริมให้ผู้โดยสารในราคาเท่ากับคนอื่นที่นั่งเก้าอี้ปกติ แล้วเก้าอี้เสริมนั้นไม่มีอุปกรณ์ความปลอดภัย จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตรการการลงโทษกับผู้ประกอบการเพื่อมิให้เกิดการกระทำซ้ำ และในช่วงเทศกาลหรือวันหยุดยาว อาจมีการฉวยโอกาสกระทำแบบเดิม เพราะเป็นช่วงที่ผู้บริโภคมีความต้องการใช้บริการรถโดยสารในการเดินทาง รวมถึง กรณี รถผี รถเถื่อน หรือรถที่ไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการขนส่ง นำมาใช้ในการให้บริการกับผู้บริโภค เพราะมันคือ “สิทธิของผู้โดยสาร”
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เครือข่ายลดอุบัติเหตุ ภาคีต่างๆ จึงได้ร่วมกันยกร่างสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะขึ้น 10 ประการ ได้แก่
- สิทธิ ที่จะได้รับข้อมูลข่าวสาร รวม ทั้งคำพรรณาคุณภาพเกี่ยวกับบริการรถโดยสาร รวมทั้งความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ถูกต้องเป็นจริง ครบถ้วน
- สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในด้านสัญญา และราคาค่าบริการ
- สิทธิในการเลือกใช้บริการรถโดยสารด้วยความสมัครใจ และปราศจากการชักจูงอันไม่เป็นธรรม
- สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยในทุกๆด้านจากการใช้บริการรถโดยสาร
- สิทธิที่จะได้รับการบริการจากรถโดยสารและผู้ให้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน
- สิทธิ ในการร้องเรียน หรือฟ้องร้องเพื่อให้ผู้ให้บริการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไข ปัญหา เยียวยา หรือชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น
- สิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายทั้งทางร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอื่นๆที่ถูกละเมิด
- สิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายจากการประกันภัยโดยไม่มีการประวิงเวลา หรือบังคับให้ประนีประนอมยอมความ
- สิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายด้วยหลักแห่งพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
- สิทธิที่จะรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของตนและผู้อื่น
ทางด้านผู้บริโภคมีสิทธิในการที่จะเลือกใช้บริการรถโดยสารที่มีคุณภาพ เพื่อความปลอดภัยและเป็นธรรมตามสิทธิของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ 10 ข้อ ในส่วนของการเยียวยาความเสียหายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ จะมีการคุ้มครองตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ 2535
ผู้โดยสารมีสิทธิร้องเรียนหรือฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการประกันภัยและผู้ประกอบธุรกิจรถโดยสารโดยไม่มีการประวิงเวลาหรือบังคับให้ประนีประนอมยอมความ ซึ่งใช้สิทธิ์ได้ 3 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 การเรียกค่าสินไหม ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งปรับวงเงินในการคุ้มครอง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 -ค่ารักษาพยาบาล จ่ายตามจริง ให้โรงพยาบาล ไม่เกิน 80,000 บาท -ค่าสินไหมทดแทนกรณีเสียชีวิต 500,000 บาท/คน -สูญเสียอวัยวะ/ทุพพลภาพถาวร ไม่เกิน 200,000 - 500,000บาท/คน ค่าชดเชยรายวัน จ่ายให้ผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลวันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน
ส่วนที่ 2 การเรียกค่าเสียหายกับประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประกันภัยชั้น 1,2,3) -ค่ารักษาพยาบาล ส่วนที่เกินวงเงินของ พ.ร.บ.รถฯ -ค่าทนทุกข์ทรมาน จากการบาดเจ็บ -ทรัพย์สินที่เสียหาย หรือสูญหายในขณะเกิดอุบัติเหตุ -ค่าเสียหายอื่นๆ เช่น ค่าขาดโอกาสในการทำงาน ค่าขาดไร้อุปการะ -ค่าขาดรายได้ เป็นต้น
ส่วนที่ 3 ฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภคได้ เมื่อเจ้าของรถหรือประกันภัยไม่ยอมจ่ายค่าสินไหมให้ตามสิทธิ์ที่ผู้เสียหายพึงจะได้รับ ผู้โดยสาร สามารถฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภค เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการประกันภัยและผู้ประกอบธุรกิจรถโดยสารได้ ซึ่งเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ โดยไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียม สามารถยื่นฟ้องได้ด้วยตนเอง
หากผู้บริโภคพบปัญหาการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ร้องเรียนได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน สายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากเกิดอุบัติเหตุ ต้องการความช่วยเหลือในการเรียกร้องค่าเสียหาย สามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือ ปรึกษา ร้องเรียน สอบถามเพิ่มเติม วันเวลาทำการ: วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 09.00-17.00 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 4/2 ซ.วัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400, โทรศัพท์ 02 248 3734 ถึง 37, แฟกซ์ 02 248 3733