มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

ป้ายแดงรัฐโยนภาระให้ผู้บริโภคต้องแบก !

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 11-11-2022 15:39

หมวดหมู่: อื่นๆ

ภาพประกอบข่าว

ป้ายแดงรัฐโยนภาระให้ผู้บริโภคต้องแบก !

“ซื้อรถป้ายแดงใหม่หมาดจากโชว์รูมที่มีชื่อเสียง แต่พอขับออกมาวิ่งบนท้องถนนโดนตำรวจจับทันควันข้อหา “ใช้ป้ายทะเบียนปลอม “ อ้าวแล้วไหง เป็นอย่างงั้นล่ะ

ใช้ป้ายแดงปลอม แล้วโดนตำรวจจับ ป้ายแดงเซลล์ของศูนย์ ให้มาอีกที.....เซลล์ บอก ตำรวจ ยุ ให้จับลูกค้าไปเลย ตำรวจก็เลย จับจริงๆสุดท้ายเซลล์ต้องหอบเงินแสน ( ตามข่าว )ไปประกันตัวลูกค้าที่โรงพัก

หากยังจำกันได้เหตุการณ์นี้ เป็นข่าวไปทุกสำนักข่าวและโซเชียลช่วงผู้เสียหายซื้อรถยนต์กระบะป้ายแดงจากศูนย์โชว์รูมย่านตลิ่งชัน แล้วถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมบริเวณทางด่วนบางนาบูรพาวิถี ส่งพนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว จ.สมุทรปราการ เพื่อดำเนินคดีอาญา

โดยผู้เสียหายได้ซื้อกระบะป้ายแดง แบบผ่อนชำระค่างวด จากโชว์รูมขนาดใหญ่ ย่านตลิ่งชัน เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2565 หลังจากนั้นก็ใช้งานปกติ จนมาถึงวันที่ 6 กันยายน ปีเดียวกัน ถูกตำรวจเรียกตรวจ หลังจากตรวจเสร็จ ตำรวจได้ตั้งข้อกล่าวหาว่า มีและใช้ป้ายทะเบียนป้ายแดงปลอม ผู้เสียหายได้โทรหาเซลล์ที่ขายรถให้ เพื่อให้คุยกับตำรวจ แต่ระหว่างที่เซลล์กับตำรวจสนทนากัน ได้มีการท้าทายให้ดำเนินคดี ทำให้ผู้เสียหายถูกควบคุมตัวมายัง สภ.บางแก้ว และถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า มีและใช้เอกสารทางราชการปลอม ต้องใช้เงินประกันตัว 1แสนบาท แต่ไม่มีเงินประกันตัว จึงขอร้องให้เซลล์จากโชว์รูมมาประกันตัวให้ โดยต้องรออยู่ในห้องขังถึง 5 ชั่วโมง ก่อนที่เซลล์จำนำเงินมาประกันตัว

กระทั่ง นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) เเละในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งร่วมเป็นตัวกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างผู้เสียหายและคู่กรณี เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยมีการเจรจาค่าเสียหายที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก ระหว่าง ผู้เสียหาย และ บริษัทขายรถยนต์ ระหว่างนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาร่วมกัน แต่มีแนวโน้มว่าน่าจะตกลงกันได้ ทั้งนี้ทางบริษัทผู้ขายขอคุยกับทางฝ่ายบริหารก่อนว่าจะยอมรับข้อเสนอของทางผู้เสียหายได้หรือไม่ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้นัดไกล่เกลี่ยอีกครั้งใน วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ส่วนรถยนต์ที่ทางผู้เสียหายที่ซื้อรถยังคงใช้ต่อเพราะปัญหาไม่ใช่ตัวรถแต่เป็นเรื่องป้ายแดงปลอม อย่างไรก็ตาม คดีอาญายอมความไม่ได้ต้องสู้กันในชั้นศาล

รถใหม่ป้ายแดง’ คือ รถที่เพิ่งซื้อมาใหม่ เพิ่งออกมาจากโชว์รูม เป็นป้ายทะเบียนที่ กรมการขนส่งทางบก ออกให้บริษัทตัวแทนจำหน่ายรถที่ได้รับใบอนุญาต เพื่อนำไปติดรถและส่งมอบรถให้ลูกค้า ซึ่งการใช้ป้ายแดงไปก่อน เพื่อรอคอยป้ายสีขาว แต่… ต้องห้ามใช้ป้ายแดงเกิน 30 วัน นับจากวันที่รับรถมาตามที่กฎหมายกำหนด โดยระหว่างนี้เจ้าของรถก็ต้องรีบไปจดทะเบียนรถให้เสร็จสิ้นก่อน30วัน

นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และโฆษกกรมการขนส่งทางบก ได้เตือนว่า ป้ายแดงถือเป็นเอกสารของทางราชการ ดังนั้น ผู้ที่ปลอมป้ายทะเบียน หรือผู้ที่นำป้ายแดงปลอมไปติดรถ ถือว่ามีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ หรือใช้เอกสารราชการปลอม มีโทษถึงขั้นจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี ปรับตั้งแต่ 1 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาท หรือ ทั้งจำ ทั้งปรับ พร้อมแนะนำหลักการ สังเกตป้ายแดง โดยระบุว่า ป้ายแดงที่ออกจากกรมการขนส่งทางบก ต้องมีตัวย่อ ขส ซึ่งเป็นตัวนูนที่มุมด้านล่างขวา มีลายน้ำตราเครื่องหมายราชการกรมการขนส่งทางบก ปรากฏในแผ่นป้ายทะเบียนรถ ซึ่งกรมการขนส่งทางบกออกให้แก่บริษัทตัวแทนจำหน่ายรถ สำหรับใช้ติดรถ เพื่อนำรถไปส่งให้ลูกค้า หรือนำรถไปซ่อมแซมเท่านั้น เมื่อบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถให้ป้ายมาต้องสังเกตตัวอักษร ขส ด้านล่างขวา และต้องมีลายน้ำ ซึ่งจะต้องใช้คู่กับสมุดคู่มือประจำรถและใบอนุญาตให้ใช้รถ

แต่.. ประเด็นเรื่องป้ายแดง ถูกตั้งคำถาม จากสังคม อย่างมาก

ปัญเรื่องรถใหม่ไม่มีป้าย หรือรถใหม่ป้ายแดง สร้างปัญหาต่อ ก่อปัญหาใหม่มานมนาน ทำไม ? กรมการขนส่งทางบก ไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ! ทำไมไม่บังคับให้ผู้ขายหรือผู้ผลิตต้องขายรถพร้อมโอนพร้อมป้าย ทำไมจึงให้ผู้บริโภคต้องรอการโอนจากผู้ผลิตต้องตัดการโอน ซึ่งบางคันต้องรอ 1-2 เดือน ระหว่างนี้ผู้ใดใช้รถก็ต้องตกเป็นเหยื่อถูกจับกุม

เมื่อไม่ยอมแก้ปัญหา ประชาชนซื้อรถป้ายแดงงมาแล้วก็ต้องใช้หาเงินจะจอดรอทะเบียนไม่ได้ เพราะดอกเบี้ยมันเดินของมันไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพราะอะไรน่ะเหรอ .... เพราะรถป้ายแดงห้ามใช้ตอนกลางคืน เพราะถูกกำหนดให้ใช้ตั้งแต่ 06.00 – 18.00 น. ซึ่งในปัจจุบันขยายระยะเวลา อนุโลมไปจนถึง 20.00 น. แต่อย่างไรก็ตามหากกรณีฉุกเฉินมีความจำเป็นต้องใช้รถป้ายแดงหลังเวลาที่กำหนดก็จะต้องขออนุญาตจากนายทะเบียน

การที่ตำรวจก็ดี หรือ เจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบก ไปตรวจจับรถใหม่ป้ายแดง ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะต้นเหตุที่แท้จริงนั่นคือ ผู้ขาย หรือ ผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบรถที่พร้อมขาย- พร้อมโอน นี่ต่างหากที่รัฐไม่ยอมแก้!

ความล่าช้าของการจดทะเบียนรถใหม่ ไม่ได้อยู่ มี หรือ ไม่มี เงิน นำมาจ่าย เพราะบางราย จ่ายเงินสดๆไปแล้ว แต่ต้องรอการตัดโอนรถ จากผู้ขาย เร็วสุดไม่ถึงเดือน แต่ช้าสุดๆโน่น 2-3 เดือน เมื่อนำรถป้ายแดง ออกมาวิ่ง ก็ถูกจับ !

กรมการขนส่งทางบก ไม่ผลิตแผ่นบ้ายทะเบียนไว้รองรับให้เพียงพอกับผู้บริโภค ทั้งที่ก็รู้ว่า ต่อเดือน-ต่อปี มีรถเข้าใช้บริการเท่าไหร่

รถยนต์ควรเป็นสินค้าภาคบังคับพร้อมโอน พร้อมทะเบียน พร้อมใช้ ไม่ใช่ซื้อมาจอดรอทะเบียนขับออกไปถูกจับ เสร็จแล้วก็ขึ้นราคาค่าปรับให้มันสูงๆ

ปัญหานี้ อัยการควรยุติเรื่อง โดยสั่งไม่ฟ้องผู้บริโภค แต่ควรสั่งฟ้องตัวแทนผู้ขาย ฐานปลอมและนำออกใช้ซึ่งเอกสารราชการปลอมผิดที่ใคร ผู้บริโภค หรือ หน่วยงานรัฐ?

ไม่น่าจะนำมาเป็นปัญหาเมื่อโรงงานผู้ผลิตมีความสามารถผลิตรถได้ 5นาที/ต่อคัน หมายเลขรถ หมายเลขรคัสซีอะไรนั้นก็สามารถบันทึกด้วยระบบคอมพิวเตอร์สามารถทราบรายละเอียดได้ชั่วพริบตา มีปัญญาผลิตรถได้ 5นาที/คัน แต่ไม่มีความสามารถจัดทำเอกสารให้แก่ผู้บริโภค แต่ก่อนกำลังการผลิตน้อยๆก็ไม่เคยทำเอกสารทัน ถึงแม้มันจะเป็นปัญหามันก็เป็นปัญหาของผู้ผลิตรถไม่ใช่ปัญหาของผู้บริโภคแต่กลับโยนปัญหาเหล่านั้นมาเป็นของผู้บริโภค มันต้องมีอะไรในกอไผ่แน่นอน

ทำไม ? และ ทำไม ? นี่เป็นคำถาม ที่ผู้บริโภค ต้องการคำตอบ !

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ หากกรมการขนส่งทางบก ไม่สามารถผลิตป้ายแดงได้ทันเวลาที่กฏหมายกำหนดก็เท่ากับว่าเป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภคหรือไม่ ? ประเด็นเหล่านี้ มีความเห็นจาก นาย ธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ว่า สิ่งสำคัญที่สุด กรมการขนส่งทางบก ต้องเร่งจดทะเบียน และ มอบป้ายทะเบียน ตามกำหนด 30 วัน เพื่อไม่ให้ผู้ซื้อรถป้ายแดงต้องเดือดร้อน ส่วนผู้ประกอบการขายรถ ทั้ง สาขา หรือ ดีลเลอร์ ควรมีทะเบียนป้ายแดงที่ถูกต้อง ให้เพียงพอต่อการจำหน่ายรถของแต่ละ วัน หรือ เดือน แต่หากให้ทะเบียนป้ายแดง (ปลอม) กับผู้ซื้อจะต้องรับผิดชอบ และ ชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม