รู้ไว้ ! รถป้ายแดงก่อปัญหา ผู้ขายต้องซื้อคืนด้วยเงินเต็มจำนวน!
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 30-06-2023 15:22
หมวดหมู่: สินค้าและบริการทั่วไป

รู้ไว้ ! รถป้ายแดงก่อปัญหา ผู้ขายต้องซื้อคืนด้วยเงินเต็มจำนวน!
1.หัวจะปวด ! ซื้อรถป้ายแดงมาเป็นปี ยังไม่ได้ป้ายขาวสักที สุดช้ำใจ เอารถออกไปวิ่ง เหมือนกับต้องขับรถเถื่อน โดนตำรวจเรียกปรับอาน ไปที่ขนส่งเพื่อจะต่อภาษี แต่กลับไม่มีประวัติจดทะเบียน เลยไม่กล้าใช้ ได้แต่จอดทิ้งไว้ที่บ้าน แถม ศูนย์รถเงียบ ไล่ให้ไปฟ้องเอาเอง ... ปัญหาเยอะแบบนี้ คืนได้ไหม ?
ป้ายแดง คือ ป้ายทะเบียนชั่วคราวที่ได้มา ตอนที่ซื้อรถใหม่ สามารถใช้งานอย่างถูกกฎหมายได้เพียง 30 วันเท่านั้น และจะต้องเปลี่ยนเป็นป้ายขาวทันที แต่ทำไม ผู้บริโภคจำนวนมากซื้อรถใหม่ป้ายแดงผ่านมาปีกว่า หรือนานกว่านั้น ยังไม่ได้ป้ายขาว จากการที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ลองไล่จากข่าวหลายสื่อฯ เจอหลายตัวการที่เป็นต้นเหตุ
2.เหลือจะทนหนุ่มรีวิวประสบการณ์สุดงง** ซื้อรถค่ายดัง 1 ปี 6 เดือน ไม่ได้ป้ายทะเบียน โทรฯ ถามเซลล์ขายรถกี่ครั้ง ก็บ่ายเบี่ยงผลัดเป็นรอบที่ล้าน ตามสืบจนรู้ความจริงทำอึ้งเลย บริษัทขายรถ เอา” เล่มทะเบียนรถ “ ของลูกค้า ไปจำนำเข้าไฟแนนซ์ เพื่อเอาเงินมาหมุน เลยไม่สามารถจดทะเบียนป้ายขาว
3.ทนไม่ไหว! ลูกค้าขับรถป้ายแดง นานนับปีไม่ได้ป้ายขาว โชว์รูมรถอ้างล็อกเลขทะเบียนรถได้ กลุ่มผู้เสียหาย เปิดเผยว่า พวกตนเชื่อใจความมีมาตรฐานของบริษัทรถยนต์ รวมถึงศูนย์บริการ และตัวบุคลากร ที่อ้างว่าสามารถ “ล็อก เลขทะเบียนรถ ป้ายขาว” ได้ จึงได้ปล่อยให้โชว์รูมดำเนินการ ที่ผ่านมาพยายามสอบถามตลอดเวลาแต่ก็ถูกบ่ายเบี่ยง
4.สื่อ แฉ โชว์รูมรถ แอบเอา “ เล่มทะเบียนรถ “ ของ ลูกค้า ไปค้ำประกัน เพื่อกู้เงินจากไฟแนนซ์ เอาเงินมาหมุน หรือ บางที เอาไป ซื้อรถจากบริษัทใหญ่ เมื่อ ไฟแนนซ์ ที่ผู้ซื้อรถไปกู้ แต่ไม่ได้รับเอกสารรถจากโชว์รูม จึงไม่สามารถนำรถ ป้ายแดงไปจดทะเบียนเป็นรถป้ายขาวให้ลูกค้า
5.ผู้บริโภคแฉความลับ โชว์รูมรถอยากได้เงิน (บังคับ) ค่าจดทะเบียน แต่ขี้เกียจไปจัดการให้จบ ลูกค้าจะไปจดเองก็ไม่ยอม เพราะ อยากได้เงิน ค่าจดทะเบียน แล้วก็ชอบอ้างว่าเป็น นโยบาย บลาๆๆ ซื้อผ่อนก็ต้องแบบนี้ ทั้งที่ ตามกฏหมายก็ไม่มีรองรับเรื่อง "ค่าจดทะเบียน"
6.มีผู้บริโภคร้องเรียน ออกรถมาปีกว่า ยังไม่ได้ป้ายขาว เพราะ เซลล์ลาออก ติดต่อศูนย์บริการที่ออกรถ ก็ปัดความรับผิดชอบ บอกให้ไปฟ้องได้เลย ทุกวันนี้ ใช้รถก็กลัวโดนจับ เพราะต่อภาษีไม่ได้เลย ช่วยผมหน่อยครับ
7.ลูกค้ารถยนต์ซื้อรถยนต์มาใช้งาน ได้รับป้ายจากทางโชว์รูมและเล่มทะเบียน จนกระทั่ง มาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบ เป็นป้ายทะเบียนป้ายแดงปลอม ถูกตำรวจดำเนินคดี เป็นคดีอาญาต่อด้วยโทษปรับสูงสุด 1 แสนบาท จำคุก 5 ปี เหตุป้ายทะเบียนไม่มีลายน้ำตราเครื่องหมายราชการกรมขนส่งทางบก และไม่มีเลขคุมมุมเลขปั้ม ตัวเลข 9 หลักและเจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่าเป็นเอกสารปลอม
8.จดทะเบียนรถใหม่ ใช้เวลาดำเนินการ ไม่เกิน 2 ชั่วโมง ป้ายขาวมีไว้อยู่แล้ว เหตุที่ช้าเพราะ โชว์รูม หรือ ไฟแนนซ์ ไม่ยอมไป ขนส่ง รอรวมไปทีละ 50-60 คัน ส่งทีเป็นตั้งๆ แล้วทำไมผู้ซื้อบางราย ไปทำเอง 2 -3ชั่วโมง ก็เสร็จแล้ว ถ้าไม่เลือกเลข หรือ รอเลข
9.ผมก็ งง ไม่ว่าศูนย์รถไหนๆ ก็บอกต้องรอป้ายขาว 45-60 วัน แต่ กรมการขนส่งทางบก ให้จดภายใน 30 วัน ผมว่า พวกคุณไปเคลียร์กันก่อนดีไหม
อ้อ! ยังมีเคสรถไฟฟ้านำเข้าจากจีน ที่เป็นข่าวโด่งดังช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2566 ลูกค้าซื้อด้วยความเชื่อใจ เพราะได้ไปออกงาน MOTOR SHOW เสียด้วย แต่... เมื่อซื้อไปแล้ว รอนานเป็นปี แต่ไม่ได้ป้ายขาวเสียที ติดต่อบริษัทให้แก้ไขปัญหา แต่กลับถูกบ่ายเบี่ยงมาตลอด จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับการจำหน่ายนรถ EV ซึ่งผู้บริโภคทุกคนคิดว่าการที่บริษัทรถนั้นนำรถมาจัดแสดง ต้องสามารถจดทะเบียนมีเล่มและมีป้ายขาวแบบรถที่ขายทั่วไปตามโชว์รูมต่างๆ ที่สำคัญสามารถจัดไฟแนนซ์ได้ด้วย ซึ่งจากการสอบถามพบว่ารถที่ตนซื้อ เป็นรุ่นแรกมีผู้ซื้อประมาณ 100 คัน เบื้องต้น เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ติดต่อมาสอบถามปัญหา และขอให้ส่งเอกสารหลักฐานให้ สคบ.ผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อนำไปตรวจสอบเอาผิดกับผู้จำหน่ายรถยี่ห้อดังกล่าวต่อไป
หลังจาก ผู้เสียหาย มาร้องเรียนกับสื่อมวลชน และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พอเป็นข่าวกระแสดังกระหึ่ม คราวนี้ได้ผล ! บริษัทตัวแทนจำหน่ายรถ ประกาศผ่าน เฟซบุ๊ก ออกมาแค่ 2 ฉบับ วันที่ 1 และ 5 มิถุนายน 2566 โดยระบุว่า ลูกค้าที่ซื้อรถและเกิดปัญหาเรื่องการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าล่าช้า ทางบริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยประสานงานกับหน่วยงานของรัฐเพื่อให้รถสามารถจดทะเบียนได้เร็วที่สุด เพื่อแสดงถึงความจริงใจและความตั้งใจในการแก้ปัญหา หากลูกค้าไม่สบายใจและไม่ประสงค์รอการจดทะเบียน บริษัทยินดีซื้อคืนรถยนต์ไฟฟ้าเต็มราคา เเละยินดีที่จะแสดงความรับผิดชอบ
เชื่อไหมว่า.... หลังหนังสือฉบับนี้ออกมา ไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เสียหายเลย เพราะมีการตำหนิติติง และชี้ให้เห็นถึงความไม่ปกติที่แสดงถึงความไม่จริงใจของผู้นำเข้ารถ แถม ประกาศ ไม่มีลายเซ็นของผู้มีอำนาจ และนี่คือตัวอย่างของลูกค้าที่เห็นประกาศ
หนังสือชี้แจงนี่ทำแบบไม่มีความเป็นมืออาชีพมา 2 ฉบับละ ดูกันยาวๆ คืนเงินมีเงื่อนไขอะไรหรือไม่ ต้องติดตามกันดีๆ #ข้อ 2 เราว่า คงแอบเขียนตัวเล็กๆ อยู่ด้านหลัง “บริษัทขอสงวนสิทธิ์การชำระเงินสำหรับการซื้อคืน” 🤣#ข้อ2 ติดไว้ที่บริษัทฯมั้ง เช่น หักค่าเสื่อมตามใจบริษัท คืนรถวันนี้ ได้เงินดิจิตอล #ไม่บอกให้ครบล่ะครับ ว่าจ่ายเงินภายในกี่วัน เป็นเงินสดหรือเช็ค จ่ายเต็มหรือแบ่งจ่าย #ไม่เชื่อว่ากล้าซื้อคืนโดยไม่มีเงื่อนไข #ทุกอย่างมีเงื่อนไข แค่เราไม่รู้ #รอชมคำว่าเต็มราคา
จากการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สอบถามไปยังผู้รับประสานงานจากทางบริษัทได้รับคำตอบแค่ว่าอยู่ระหว่าง การเจรจากับลูกค้าที่เป็นข่าวออกสื่อ รวมถึง ลูกค้ารายอื่นๆที่ต้องการคืนรถ เมื่อต้องการถามข้อมูลเชิงลึกถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ได้คำบอกกล่าวแค่ว่า จะประสานผู้บริหารมาให้สัมภาษณ์ แต่...ไม่ได้รับการตอบกลับ
มีเรื่องที่สื่อฯ ตั้งข้อสงสัยรถไฟฟ้านำเข้าจากจีนรายนี้ ทำไม ถึงไม่สามารถจดทะเบียนป้ายแดง เป็น ป้ายขาว ให้กับลูกค้าในที่สุด ก็ได้คำตอบจาก คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย บอกว่า การจำหน่ายรถยนต์ทุกประเภท สิ่งที่บริษัทผู้ผลิตหรือผู้นำเข้ารถยนต์จะต้องมี นั่นคือ การขอ "ใบรับรองแบบวิศวกรรม" กับ กรมการขนส่งทางบก เพื่อตรวจเช็กอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องกับตัวรถ, อุปกรณ์ความปลอดภัย, ระบบขับเคลื่อนและส่งกำลัง ต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง และสามารถใช้งานได้จริง ตามการสำแดงในผลิตหรือการนำเข้าที่แจ้งขออนุญาตต่อกรมขนส่งทางบก ในปัจจุบัน พบว่ามีแบรนด์ใหม่เข้าสู่ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก อาจเกิดความคลาดเคลื่อนต่อความเข้าใจในขั้นตอนทางกฎหมาย ด้วยการนำเอาเอกสารที่ได้รับรองจากต่างประเทศมาแสดง ต่อ กรมการขนส่งทางบก
สำหรับ กรณีที่มีลูกค้ารถยนต์ไฟฟ้าบางแบรนด์ออกมาร้องเรียนผ่านโซเชียลมีเดียและต่อสื่อมวลชน สมาคมฯ ได้ประสานงานไปยัง กรมการขนส่งทางบก โดยได้รับข้อมูลว่า ได้รับการประสานจากแบรนด์รถนำเข้าที่มีปัญหา ยังไม่ส่งเอกสารชี้แจงเรื่องตัวรถตามมาตรฐานของประเทศไทย ซึ่งการขอใบรับรองแบบวิศวกรรมของรถยนต์ จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนจัดจำหน่าย หรือ การให้รถยนต์นั้น ๆ วิ่งบนถนน อาทิ พิกัดน้ำหนักตัวรถ, อุปกรณ์ของตัวรถ, โครงสร้างตัวถัง และระบบความปลอดภัย เป็นต้น นอกจากนี้ ในฐานะนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ยังได้มีการตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถยนต์รุ่นดังกล่าวที่ผ่านมาประกอบธุรกิจรถยนต์นำเข้าอิสระมาโดยตลอด ซึ่งน่าจะรับทราบถึงขั้นตอนด้านกฎหมายในประเทศไทยและการจัดจำหน่ายแต่ทำไมถึงเกิดปัญหาได้ กรณีดังกล่าวถือเป็นกรณีแรกในวงการรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ที่สำคัญ ยังสร้างภาระให้ผู้บริโภค เพราะไม่สามารถรู้ได้เลยว่า รถยนต์ที่ซื้อมาผ่านการรับรองแล้วหรือยัง และจะมีปัญหาในการจดทะเบียนตามมาหรือไม่ จึงได้สอบถาม ไปยัง กรมการขนส่งทางบก ถึงการป้องกันปัญหาและการตรวจสอบข้อมูลสำหรับผู้บริโภค ได้รับการชี้แจงว่า หากผู้บริโภคมีข้อสงสัยถึงรถยนต์ที่ท่านจะซื้อว่าได้รับใบรับรองแบบวิศวกรรม หรือยังสามารถติดต่อได้ที่ กรมการขนส่งทางบก สายด่วน 1584 หรือ ช่องทาง Line @dltnews
นี่เป็นแค่ตัวอย่างความเดือดร้อนของผู้ที่ซื้อรถป้ายแดง แต่ เจอปัญหาไม่ได้ป้ายขาวเสียที ทุกสาเหตุตัวการเบื้องต้น ล้วนมาจากโชว์รูมขายรถและเซลล์ของบางแห่ง ใช้กลโกงเล่นแร่แปรธาตุ แล้วผู้บริโภค จะทำอย่างไรดี หากเกิดความเสียหายแบบนี้! ... ไม่ต้องตกใจไป มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไปหาคำตอบและช่องทางรู้เท่าทันมาบอก….
รู้ไว้! รถป้ายแดงก่อปัญหา ผู้ขายต้องซื้อคืนด้วยเงินเต็มจำนวน!
“ โฆษณาในมุมการคุ้มครองผู้บริโภค ถือเป็น ส่วนหนึ่งในสัญญา เมื่อผู้ขายออกประกาศโฆษณา เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคซื้อสินค้า จนเกิดการทำสัญญา แต่หาdทำไม่ได้ตามสัญญา มันคือ “ การผิดสัญญา **“ผู้บริโภค จึงมีสิทธิ์ทำหนังสือ “บอกล้าง“ ให้ “สัญญาเป็นโมฆะ“ เพื่อเรียกค่าเสียหาย โดยผู้ขายต้องซื้อคืนด้วยเงินเต็มจำนวน!
นี่เป็นการชี้เป้าจาก คุณโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ให้สัมภาษณ์กับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยอธิบายว่า ค่าเสียหายส่วนนี้ ผู้บริโภค สามารถเรียกร้องเอากับทางผู้ขายได้ เพราะปัญหาป้ายแดง ที่เกิดขึ้นซ้ำซากเวลานี้ เป็นเพราะผู้ขาย กล่าวอ้างถ้อยคำโฆษณา จึงเป็นเหตุให้ผู้บริโภค ตกหลุมพราง เมื่อมองในภาษากฎหมาย จะเห็น “กลฉ้อฉล “หลอกให้ ผู้บริโภคหลงเชื่อ จึงยอมเซ็นสัญญา แต่ในเมื่อผู้ขายไม่สามารถทำตามสัญญา ผู้บริโภคจึงมีสิทธิ์ทำหนังสือแจ้งเลิกสัญญา ไปที่ผู้ประกอบการ “ เพื่อให้ “สัญญาเป็นโมฆะ “ เท่ากับกลับสู่สถานะเดิม เสมือนผู้ซื้อและผู้ขาย ไม่เคยทำสัญญาใดๆ มาก่อน จากนั้น จึงเข้าสู่กระบวนการ คืนรถ และ ผู้ประกอบการต้องรับซื้อคืนด้วยจ่ายเงินเต็มจำนวนให้ลูกค้าตามมูลค่าของรถคันนั้นๆ ซึ่งผู้ขายไม่มีสิทธิ์ใช้ข้ออ้างเรื่องเงื่อนเวลาที่ผู้...บริโภคนำรถไปใช้ เพราะผู้ประกอบการเป็นฝ่ายผิดสัญญา แถมยังใช้วิธีการโฆษณาที่เป็นไปตามกรกอบของกฎหมาย ซึ่งมองถึงเจตนาตั้งต้นที่หวังหลอกลวงผู้บริโภค
ผู้บริโภคสามารถทำได้ โดยการแจ้งมายัง สภาองค์กรของผู้บริโภค หรือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือแม้แต่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ( สคบ. ) พร้อมช่วยทำหนังสือ “ บอกล้างให้สัญญาเป็นโมฆะ “ ส่งไปถึงผู้ประกอบการให้รับรู้ว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญา ดังนั้น สัญญาจึงไม่มีผล และ ต้องคืนเงินมาทั้งหมด แต่หากบริษัทบ่ายเบี่ยง ไม่ยอมทำตามหนังสือ “บอกล้าง “ เพื่อให้ “สัญญาเป็นโมฆะ “ ฝ่ายผู้บริโภคที่เสียหาย สามารถใช้กระบวนการฟ้องร้องในชั้นศาล โดย สภาองค์กรของผู้บริโภค, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภค ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และส่วนกลางที่สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารถนนรัชดาภิเษก พร้อมจัดหาทนายเพื่อให้ ความช่วยเหลือทางคดี ซึ่งมีข้อแนะนำควรฟ้องเป็นแบบกลุ่ม โดยรวมรวมผู้เสียหายในลักษณะเดียวกัน ซึ่งวิธีนี้ถือเป็นการสร้างพลังผู้บริโภคให้เข้มแข็ง และสร้างอำนาจต่อรองกับผู้ประกอบการ
แต่โจทย์สำคัญ อยู่ที่ กรมการขนส่งทางบก คุณโสภณ บอกว่า ขอส่งเสียงเรียกร้อง อย่าให้ภาระต้องตกอยู่กับผู้บริโภค เพราะฉะนั้น ในฐานะหน่วยงานรัฐ ที่กำกับดูแลเรื่องนี้ ต้องเข้ามาตรวจสอบ -ควบคุม-ดูแล ปัญหานี้อย่างเข้มงวด พร้อมกันนี้ควรเปิดช่องทางให้ผู้บริโภค สามารถตรวจสอบเลขทะเบียนรถของโชว์รูมที่ขายรถยี่ห้อต่างๆ โดยต้องได้คำตอบที่ชัดเจน หากไม่สามารถเปลี่ยนจากป้ายแดง เป็นป้ายขาว ผู้บริโภคจะได้ตัดสินใจ ไม่เซ็นสัญญา หรือยุติการซื้อ เหล่านี้ถือเป็นโจทย์สำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค
อ้อ! ขอบอกดักคอไว้ก่อนนะ การทำหนังสือ “บอกล้าง” ให้ “สัญญาเป็นโมฆะ” เพื่อเรียกค่าเสียหาย โดยผู้ขายต้องซื้อคืนด้วยเงินเต็มจำนวน! ใช้ได้กับผู้เสียหายจากป้ายแดง ที่ถูกสร้างปัญหาจากผู้ขายเท่านั้น ... แต่บางคนที่สมัครใจใช้ป้ายแดง ไม่ยอมเปลี่ยนเป็นป้ายขาว หรือ เรียกว่า “ลากป้าย” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการคิดว่าเท่ ได้อวดว่ารถใหม่ตลอดเวลา หรือไม่ยอมจดเป็นป้ายขาวเพราะเวลาขายต่อ ปีรถจะได้ใหม่ขึ้นตามปีที่จดทะเบียนทำให้ได้ราคาดี แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ลากป้ายกันเป็นปีๆ หรือหลายๆ ปี เพื่อเลี่ยงภาษี ทำให้รัฐสูญเสียเงินที่จะต้องนำไปใช้สร้างหรือซ่อมบำรุงถนน ไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตาม คนกลุ่มนี้ไม่มีสิทธิ์ “บอกล้าง” ให้ “สัญญาเป็นโมฆะ” ที่สำคัญ การลากป้ายนั้นถือว่าผิดกฎหมาย พระราชบัญญัติจราจร การใช้ป้ายแดงเกินกำหนดมีโทษปรับถึง 10,000 บาท มีคนถามว่า #รถป้ายแดงลากจดทะเบียนได้กี่เดือนครับ (ผ่อนกับไฟแนนซ์) #ได้เรื่อยๆ ครับ เพื่อนผมไม่ใช้ป้ายขาวเลย ลากแดงจนเปลี่ยนรถประมาณ 4-5 ปี โดนเรียกก็อัดฉีดเงินสู้ครับ #กฎหมายไทยมีไว้เหมือนแค่ไม้ประดับจริงๆ