45 ปีวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย ปี'67
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 30-04-2024 17:20
หมวดหมู่: สินค้าและบริการทั่วไป

45 ปี วันคุ้มครองผู้บริโภคไทย ปี'67 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเตือน! ถูกหลอกซื้อของออนไลน์ยืนหนึ่ง
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเตือนภัยกลลวงสินค้าและบริการระวังตกเป็นเหยื่อ ชี้เหตุซื้อของออนไลน์มีผู้เสียหายมากเป็นอันดับหนึ่ง
วันที่ 30 เมษายนของทุกปีถือเป็น “วันคุ้มครองผู้บริโภคไทย” เมื่อนับจากปี 2522 ที่ตราเป็นพระราชบัญญัติ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ผ่านกาลเวลามาถึงปี 2567 นับได้ 45 ปี แต่นับวันกลับรุนแรงยิ่งขึ้น มิจฉาชีพใช้กลอุบายฉ้อฉลหลอกล่อให้ผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อ นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการบางรายไม่ซื่อสัตย์ และใช้การโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ทำให้ผู้บริโภค ตกเป็นเหยื่อ ถูกเอาเปรียบได้รับความเดือนร้อน ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดหรือโปรโมชัน จากเหตุเหล่านี้ได้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล*
วันนี้ ( 30 เมษายน 2567 ) นายธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “จากข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ได้รับการร้องเรียนจากผู้เสียหายตลอดปี 2566 มีมากถึง 1,600 เรื่องครอบคลุมบริการสุขภาพ, อาหาร ยา เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพ, สื่อและโทรคมนาคม ,สินค้าและบริการทั่วไป, อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย, การเงิน การธนาคาร, บริการขนส่งและยานพาหนะและเรื่องพลังงานกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งในจำนวนเหล่านี้ เรื่องที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด นั่นคือ หมวดสินค้าและบริการทั่วไป มีมากถึง 630 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 39 จากทุกข์ของผู้บริโภคทั้งหมดที่ร้องเรียนเข้ามา”
ดังนั้น เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยตลอดปี 2567 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงขอย้ำเรื่องสำคัญ 5 เรื่องที่ประชาชนควรระวังตัวก่อนตกเป็นเหยื่อสูญเงินทรัพย์สิน ได้แก่ มิจฉาชีพหลอกจากการซื้อของออนไลน์ เช่น โอนเงินไปแล้วแต่ไม่ได้สินค้า หรือ บางรายได้สินค้าไม่ตรงตามที่สั่ง หรือ ไม่มีคุณภาพเพียงพอให้ใช้งาน เช่น โทรศัพท์มือ เสื้อผ้า อาหาร และบริการหลายประเภท เช่น ที่พักโรงแรม รีสอร์ทต่างๆ
เรื่องต่อมาที่ต้องเตือนภัย นั่นคือ สินค้าและบริการที่ซื้อขายล่วงหน้า กลุ่มนี้เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามามากที่สุดทั้งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและที่สภาองค์กรของผู้บริโภคที่มีเครือข่ายทั่วประเทศ สินค้าและบริการที่ซื้อขายล่วงหน้าครอบคลุมหลายเรื่อง เช่น การเข้าใช้บริการคลินิกเสริมความงาม การซื้อบัตรคอนเสิร์ต การสมัครใช้บริการฟิตเนส บริการท่องเที่ยว รวมถึงการทำสัญญาประกันภัยประเภทต่างๆ เพราะถึงแม้สินค้าและบริการ มี‘ข้อสัญญา’ แต่ไม่มีกฎระเบียบที่ชัดเจน ทำให้ประชาชนเดือดร้อน สูญเสียทรัพย์สินหลายลักษณะอย่างมาก บางกรณีแม้ความเสียหายอาจเป็นจำนวนไม่มาก แต่เมื่อประชาชนจำนวนมากหลงเชื่อก็ทำให้มิจฉาชีพได้เงินไปจำนวนมาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังได้รับเรื่องร้องเรียนสินค้าและบริการประเภทประกันภัยมากขึ้นเช่นกัน ทั้งการจ่ายเบี้ยประกันภัยไปแล้วหลายปีแต่เมื่อเจ็บป่วยกลับไม่ได้รับการคุ้มครองตามสัญญาประกัน และบางกรณีได้ครบกำหนดสัญญาประกันแต่ไม่ได้รับผลตอบแทนครบตามที่สัญญาประกันได้โฆษณาไว้
อีกเรื่องที่ประชาชนควรระวังตัวก่อนตกเป็นเหยื่อ นั่นคือ ความปลอดภัยของ แอปพลิเคชัน การเงิน การลงทุนต่างๆ ถึงแม้ผู้ร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังไม่มากนัก แต่ปัจจุบันและในอนาคตคนรุ่นใหม่ๆ จะสนใจการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ในสกุลเงินที่หลากหลายมากขึ้น ประชาชนจึงต้องศึกษาปัญหาความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอยู่สม่ำเสมอติดตามปัญหาว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้วผู้เสียหายได้รับการเยียวยาชดเชยหรือไม่และจะต้องดำเนินการอย่างไร ยกตัวอย่างกรณีมีผู้ร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คือผู้เสียหายได้ซื้อขายคริปโต (สกุลเงินดิจิทัล) ผ่านแพลตฟอร์มสีเขียว มาเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปีแล้วก็ไม่มีปัญหาใดๆ แต่ต่อมาในเดือน ธันวาคม 2565 กลับได้รับข้อความแจ้งเตือนว่า "เหรียญของท่านได้รับการถอนเรียบร้อยแล้ว" โดยพบว่าเหรียญถูกสั่งถอนจนไม่มีเหรียญเหลืออยู่ในบัญชีเลย แม้ผู้เสียหายจะแจ้งตำรวจให้ดำเนินคดี และทางแพลตฟอร์มสีเขียวได้ดำเนินการส่งข้อมูลรายละเอียดให้ตำรวจเพื่อประกอบสำนวนคดีแล้ว แต่ผู้เสียหายก็ยังไม่ได้รับเงินคืนยังต้องต่อสู้ในชั้นศาลเพื่อป้องสิทธิของตัวเอง
มาถึงประเด็นผลกระทบด้านสื่อและโทรคมนาคม เหตุนี้เกิดขึ้นหลังบริษัท ทรู และดีแทคได้ควบรวมจนเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 และ กสทช. ได้กำหนดเงื่อนไข / มาตรการเฉพาะเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและพัฒนากิจการโทรคมนาคม แต่จากการสำรวจโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ สภาองค์กรของผู้บริโภคที่สำรวจประชาชนกว่า 2,924 รายพบว่า 80% ของผู้ใช้บริการพบปัญหาการใช้งาน โดยเครือข่ายที่พบปัญหามากที่สุด คือ ทรู 47% ดีแทค 34% เอไอเอส 18% และ อื่น ๆ 1% โดย 5 ปัญหาที่พบมากที่สุด คือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า (29%) สัญญาณหลุดบ่อย (19%) ต้องใช้โปรโมชันใหม่ที่แพงขึ้น เมื่อโปร ฯ เดิมหมด (14%) ค่าแพ็คเกจเท่ากันหมด ไม่มีตัวเลือก (12%) คอลเซ็นเตอร์โทรติดยาก (10%) ปัจจุบันนอกจากปัญหาสำคัญ 5 เรื่องดังกล่าวแล้ว ประชาชนยังคงร้องเรียนปัญหาอื่นๆ เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับบริษัทผู้ให้บริการค่ายสัญญาณมือถือ เช่น การถูกหลอกให้เปิดเบอร์โทรศัพท์ กรณีไม่เคยเปิดใช้งานเบอร์ดังกล่าว แต่ถูกเรียบเก็บค่าบริการซึ่งมีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประชาชนได้น้อยในหลายพื้นที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจาก การย้ายเสาสัญญาณจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเสาสัญญาณภายหลังการควบรวมธุรกิจดังกล่าวด้วย
ส่วนเรื่องการซื้อ - เช่าอสังหาริมทรัพย์ คอนโด ที่อยู่อาศัย ปัญหากลุ่มนี้มีหลายลักษณะ เริ่มตั้งแต่การจองคอนโด ที่อยู่อาศัย ที่สุดท้ายคอนโดก็สร้างไม่เสร็จตามกำหนดสัญญา หรือแม้แต่เมื่อเข้าอยู่อาศัย เป็นเวลาไม่นานก็อาจเสี่ยงที่จะไม่ได้รับความรับผิดชอบจากบริษัทเจ้าของโครงการได้ มีกรณีถูกเรียกเก็บค่าส่วนกลางมากขึ้น หรือไม่ได้ใช้พื้นที่ส่วนกลางตามสัญญาเพราะมีไม่เพียงพอ หรือกรณีที่อยู่ไปยาวนานแล้วก็อาจเป็นคอนโดที่ผิดกฎหมายได้ ดังที่เราได้เห็นจากกรณีแอชตัน อโศก มาแล้ว
นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค บอกว่า ภัยออนไลน์ทุกรูปแบบ ผู้บริโภคต้องลุกขึ้นมาปกป้องตนเองไม่ให้ตกเหยื่อมิจฉาชีพในทุกช่องทาง เพราะภาครัฐยังไม่สามารถจัดการปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ส่วน กสทช. รวมถึง กระทรวงดิจิทัล และ ผู้ประกอบการ ควรบูรณาการงานปกป้องผู้บริโภค ทั้ง มาตรการตรวจสอบกำกับดูแลโซเชียลทุกแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบธุรกิจต้องสามารถยืนยันตัวตนได้ รวมถึงควรออกข้อกำหนดหรือประกาศ เรื่องการซื้อขายสินค้าหรือสัญญาเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถคืนสินค้าโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม สำคัญอย่างยิ่ง คือ แฟร์เทรด ( FAIR TRADE ) หรือ ขบวนการส่งเสริมการพัฒนาระบบการค้าที่เป็นธรรมอย่างยั่งยืน จึงขอเรียกร้องให้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. กำกับดูแลอย่างเข้มงวด