มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

ปัญหา SAMSUNG NOTE 20 ต้องหยุดโยนภาระให้ผู้บริโภค !

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 17-05-2024 10:21

หมวดหมู่: สินค้าและบริการทั่วไป

ภาพประกอบข่าว

ปัญหา SAMSUNG NOTE 20 ต้องหยุดโยนภาระให้ผู้บริโภค !

1.ตอนซื้อมาใช้อย่างถนอมมาก ก็แหมราคาต่อเครื่องหลักหลายหมื่นบาท แต่พอเครื่องอัพเดทระบบอัตโนมัติ เจอปัญหาทันที เพราะหน้าจอโทรศัพท์ขึ้นเส้นสีเขียว เมื่อติดต่อบริษัทซัมซุง เจ้าหน้าที่ก็แจ้งว่าให้นำเครื่องไปตรวจสอบ สุดท้ายก็บอกว่าจอเสีย ผู้บริโภคต้องเสียค่าซ่อมเองในราคา 6,000-8,000 บาท

2หน้าจอดับแถมหมดประกันต้องเสียเงินซ่อมเองกว่า 8 พันบาท ถามหาความช่วยเหลือจากศูนย์ซ่อม ได้คำตอบให้ส่วนลดได้แค่ 15% ถ้าอยากได้เงื่อนไขอื่น ให้ติดต่อ Samsung เอง

3.เข้าใจนะ เรื่องหมดประกันแล้วต้องเสียเงินเอง แต่อยากถาม Samsung หน่อยเถอะ มือถือราคาเกือบ 4 หมื่นบาท อายุการใช้งานสั้นขนาดนี้เลยหรอ แล้วปัญหาที่เกิดโดนกับทุกคนที่ใช้รุ่นนี้ ขึ้นอยู่กับดวง จะเจอหรือไม่ หรือเจอตอนไหน ?? ต่อให้ใช้ถนอมแค่ไหน ก็ใช่ว่าจะป้องกันได้ ทางผู้ผลิตน่าจะรู้ปัญหาดีอยู่แล้วว่ามันเป็นอาการของโรคประจำตัวของมือถือรุ่นนี้ แต่กลับผลักภาระมาให้ผู้บริโภค อยากใช้ก็ต้องรับตามสภาพอย่างนั้นเหรอ?

4.เจอปัญหาเดียวกันเลย note20 ใช้มาปีเดียว ฝาหลังเปิด หน้าจอติดๆ ดับๆ เอาเครื่องเข้าศูนย์ ช่างฯบอกว่า แบตบวม เมนบอร์ดเสีย ค่าซ่อมรวมๆ หมื่นกว่าบาท รับประกันแค่ 90 วัน เสียใจมาก ซื้อมาเกือบห้าหมื่นบาท ไม่ควรจะได้คุณภาพมาแค่นี้ ปัญหาไม่ได้เป็นเพราะผู้ใช้ แต่เป็นเพราะเครื่องไม่มีคุณภาพตั้งแต่ตอนซื้อแล้ว ต่อไปจะไม่ขอใช้ยี่ห้อนี้อีก ใครที่คิดจะซื้อ ขอให้มีคนมาอ่านเจอปัญหาเหล่านี้ด้วยค่ะ จะได้เอาไปประกอบการตัดสินใจ ไม่อยากให้มีคนมาเจอแบบเรา

5.เจอปัญหาจอดับเหมือนกัน เจ้าหน้าที่ศูนย์ บอกรับผิดชอบแค่ 1 ปี หมดประกันไม่รับผิดชอบ พอแจ้งว่านี่คือ “ข้อบกพร่อง” (Defect ) ของสินค้า มีคนเจอปัญหาแบบนี้เยอะมาก ส่วนตัวเราเจ้าหน้าที่ศูนย์ บอก จะลดให้ 30% เราเสียงแข็งบอกไม่ได้ ทางศูนย์จึงยอมลดให้ 50% แต่เราก็ยืนยันไม่ยอม อุตส่าห์ยกตัวอย่างให้ฟังว่า ข้อบกพร่อง” ของสินค้า เป็นความผิดพลาดของผู้ผลิต ดังนั้น ต่อให้สินค้าหมดประกันแล้วก็ตาม แต่ถ้ามันเกิดข้อบกพร่อง จะต้องเรียกคืน( recall ) สินค้ากลับไปแก้ไขโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าสินค้ายี่ห้อนี้ ไม่รับผิดชอบต่อสังคมเลย เอาแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง (ตรงนี้ความคิดและความเห็นส่วนตัวนะ แต่เป็นเรื่องจริงที่เจอมาเอง) เจ้าหน้าที่เลยบอกจะนัดเจรจาใหม่ แต่กลับนัดเงียบสนิท

6.ถ้าคุณหรือคนที่ได้อ่านเมนท์ผม ถ้าคุณประสบปัญหา note20 ultra จอขึ้นเส้น ผมได้สร้างกลุ่มไลน์รวมคนที่เจอปัญหานี้มารวมตัวกัน IDไลน์ note20ultra_ @มาเข้ากลุ่มครับกำลังรวมคน รวมได้เยอะมูลค่าความเสียหายก็เยอะ ผมหมั่นไส้มาก ห่วยแตกความรับผิดชอบไม่มี คนที่เจอปัญหาจอภาพทั้งหมดในประเทศไทย ในโทรศัพมือถือของซัมซุง คนที่จอปัญหาจอขึ้นเส้นหลากสี จอดับ ที่ผิดพลาดที่ระบบของโทรศัพท์เอง ไม่ใช่ความผิดของผู้ใช้งาน คนเจอปัญหานี้เยอะมาก จากหลายๆแพลตฟอร์ม คนโพสต์ปัญหาในเพจNote เพจซัมซุง หรือ เพจจอพับได้ และ ตั้งกะทู้พันทิป หรือหลายๆที่ คือ เยอะมากๆ ทั่วประเทศผมว่าเป็นหมื่นเครื่องที่เกิดจอขึ้นเส้นจอดับ ถ้าคนรู้จักกลุ่มเราเยอะกว่านี้หรือมีกระบอกเสียงที่มีผู้ติดตามเยอะๆ คนคงมารวมกันเยอะ เมื่อเรารู้แบบนี้แล้ว บริษัทซังซุงก็รับรู้เหมือนเรานี่แหละว่าคนเจอปัญหาเยอะ แต่ไม่ออกมาชี้แจงกับลูกค้าหรือออกมาแสดงความรับผิดชอบ เน้นโฆษณาดูดีเอาการตลาดอย่างเดียว การกระทำแบบนี้เรียกว่าทิ้งลูกค้า

7.ผมใช้ได้จนหมดประกันได้ 2-3 เดือน โทรศัพท์ไม่เคยตก อยู่ดีๆ จอขึ้นเส้น พอติดต่อไปทางซัมซุง ผมบอกว่า จอโทรศัพท์ มีปัญหาจอขึ้นเส้น พนักงานบอก ต้องเปลี่ยนจอราคา 8 พันกว่าบาท แต่ลดราคาให้เหลือ 3 พันกว่าบาท ผมไม่ยอม!!! ผมบอกว่า ...คุณมีความรับผิดชอบ ในการเคลมจอให้ลูกค้าแบบฟรีๆ หรือเปล่า ถึงมันจะหมดประกันแล้ว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นลูกค้าไม่ได้ผิด จอมันเสียจากระบบของคุณ คุณต้องมีสปิริตรับผิดชอบลูกค้า พนักงานตอบว่า มันเป็นการเสื่อมสภาพของสมาร์ทโฟนค่ะลูกค้า ผมตอบกลับว่า คุณกำลังจะบอกผมว่า โทรศัพท์เรือธงของซัมซุงราคาเกือบครึ่งแสน มีคุณภาพใช้งานได้ปีเดียวเหรอ มันกรากขนาดนี้เลยเหรอ พนักงานเงียบ ! ซัมซุงจะต้องเปลี่ยนจอให้เราฟรีๆครับ ไม่งั้นผมเอาเรื่อง มันไม่ได้พังเพราะลูกค้า แต่มันเกิดจากความผิดพลาดจากระบบของสินค้า ดังนั้น ลูกค้าจะไม่ต้องเสียเงินเลย

นี่เป็นแค่บางส่วนของผู้เสียหาย จาก Samsung Galaxy Note 20 Ultra 5g ทั้งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค นับตั้งแต่เกิดเหตุปี 2564 ปัญหาที่เจอเกิดหลังจากติดตั้งอัพเดตซอฟต์แวร์ โดยมีเส้นสีเขียว หรือสีชมพู ปรากฏขึ้น ลักษณะแนวตั้งบนหน้าจอ เมื่อติดต่อสอบถามไปทางศูนย์บริการ กลับได้รับคำตอบว่า เกิดจากปัญหาหน้าจอเสื่อมประสิทธิภาพ ต้องส่งซ่อม โดยผู้บริโภคต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด นั่นทำให้ผู้บริโภคไม่พอใจ เพราะปัญหาเกิดจากการอัพเดตซอฟต์แวร์บนสมาร์ทโฟน โดยที่ก่อนหน้าการอัพเดตไม่พบอาการผิดปกติใดๆ อีกทั้งได้มีการหาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่ามีผู้บริโภคที่พบปัญหาเดียวกันจำนวนมาก เบื้องต้นทางสภาผู้บริโภคได้ติดต่อไปยังศูนย์บริการของมือถือสมาร์ทโฟน Samsung เพื่อสอบถามถึงปัญหาดังกล่าวรวมถึงแนวทางในการแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภค โดยทางผู้ให้บริการแจ้งว่าจะดำเนินการชี้แจงมายังสภาผู้บริโภคอีกครั้งในภายหลัง สภาผู้บริโภคจึงขอเตือนภัยผู้บริโภคให้ระมัดระวังในการอัพเดตและซื้อมือถือสมาร์ทโฟนรุ่นดังกล่าว

ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคจำนวนมาก จึงทำหนังสือลงวันที่ 9 มกราคม 2567 ส่งถึงประธานกรรมการ บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด พร้อแนบหลักฐาน รายการคำสั่งซื้อ , ภาพถ่ายโทรศัพท์ที่มีปัญหารวมถึงรายชื่อผู้เสียหาย นายธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค บอกว่า หนังสือฉบับนี้ได้ขอให้ผู้ผลิตตรวจสอบและแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้บริโภค ที่ซื้อ Samsung Galaxy Note 20 Ultra 5g เพราะขณะใช้งานหน้าจอโทรศัพท์มีลักษณะเป็นเส้นเขียวๆ เกิดขึ้นบนจอ ทั้งที่โทรศัพท์เพิ่งใช้งานไม่ถึง 3 ปี เมื่อติดต่อที่ศูนย์บริการ SAMSUNG กลับได้คำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่า จะต้องรับผิดชอบค่าซ่อมแซมเอง ซึ่งทำให้รู้สึกไม่เป็นธรรม เพราะลักษณะความเสียหาย เกิดจากกระบวนการผลิตของบริษัทฯที่ไม่ได้มาตรฐานดังนั้น จึงขอให้บริษัทดำเนินการตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริง พร้อมพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทซัมซุง ยังเพิกเฉยต่อหนังสือฉบับนี้ ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงทำหนังสือฉบับที่ 2 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 สุดท้าย”ซัมซุง”จึงยอมทำหนังสือตอบกลับมาทางอีเมล์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน2567 แจ้งว่า “บริษัทฯจะให้ส่วนลดเพื่อเยียวยาค่าเสียหาย แต่จะต้องนำโทรศัพท์มาให้บริษัทตรวจสอบเสียก่อน จึงจะสามารถประเมินมูลค่าการให้ส่วนลด เนื่องจาก SAMSUNG NOTE 20 ผลิตขึ้นช่วงต้นปี2563 ซึ่งระยะเวลาที่ผู้เสียหายร้องรียนเกินจากกำหนดที่บริษัทรับประกันภายใน 12 เดือน นับจากวันที่ซื้อ ดังนั้น ในเมื่อซัมซุงตอบกลับแบบนี้ ทำให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงส่งเคสผู้เสียหายให้สภาองค์กรของผู้บริโภคยื่นฟ้องคดี

ขณะเดียวกัน สภาผู้บริโภค หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค ได้ติดต่อสอบถามไปทางศูนย์บริการ กลับได้รับคำตอบว่าเกิดจากปัญหาหน้าจอเสื่อมสมรรถภาพและต้องทำการส่งซ่อม โดยผู้บริโภคต้องรับผิดชอบเสียค่าใช้จ่าย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมีต้นตอมาจากการอัพเดตซอฟต์แวร์บนสมาร์ทโฟน จึงถือเป็นความผิดพลาดจากบริษัทแต่เหตุใดจึงโยนภาระมาให้ผู้บริโภค ทำให้เวลานี้ มีผู้เสียหายรวมตัวในปรุ๊ปไลน์ ( IDไลน์ note20ultra_ @ ) เกือบ 400 คน ได้ทำเรื่องให้สภาผู้บริโภคเป็นตัวแทนยื่นฟ้องทางแพ่ง** โดยทางแอดมิน แจ้งว่า สภาผู้บริโภคกำลังรวบรวมหลักฐานของผู้ที่กรอกข้อมูลร้องทุกข์ในระบบเว็บไซต์ https://crm.tcc.or.th/?entryPoint=Portal&action=complain#noopener%20noreferrer หลักฐานสำคัญคือภาพหน้าจอที่เกิดเส้น หน้าจอที่มีเลขเครื่อง หลักฐานการซื้อ(ถ้ามี) ให้ส่งแนบ เมื่อกรอกข้อมูลร้องทุกข์กับสภาผู้บริโภคแล้วจะได้เลขที่แจ้งร้องทุกข์ ( ย้ำว่าต้องแจ้งร้องทุกข์ตามข้อ 1 ก่อนค่อยมาทำข้อ 2 ไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีรายชื่อ หากได้รับการชดเชยจากบริษัทซัมซุง ) เสร็จแล้วให้กรอกข้อมูลไฟล์ excel เป็นไฟล์รวมข้อมูลชุดที่ 2

ล่าสุด 17 พฤษภาคม 2567 มีผู้เสียหาย เกือบ 300 คน ลงชื่อให้สภาผู้บริโภค ยื่นฟ้องแพ่ง "พวกเราผู้เสียหายจากสินค้าต้องการดูว่ากระบวนยุติธรรมบ้านเรายังพอเป็นที่พึ่งให้ผู้บริโภคได้ไหม เห็นรณรงค์ให้ผู้บริโภคลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ์ จะดูว่าพร้อมแค่ไหนกฎหมายออกมาสิบกว่าปีแล้ว มีสักกี่คนที่ได้ประโยชน์"

จากปัญหาเรื่องนี้ อาจมีผู้บริโภคสงสัยว่า เมื่อสินค้าเกิดความบกพร่องจากกระบวนการผลิต ใคร? จะต้องรับผิดชอบ! ดังนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงตรวจสอบข้อกฏหมาย พบว่า เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 คณะรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้อนุมัติหลักการ “ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. .... “ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดความรับผิดของผู้ประกอบการธุรกิจในความชำรุดบกพร่องของสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล รวมถึงสินค้าอื่นที่อาจกำหนดตามพระราชกฤษฎีกา โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันส่งมอบสินค้า ไม่ว่าผู้ประกอบธุรกิจจะรู้ถึงความชำรุดบกพร่องของสินค้าหรือไม่ก็ตาม โดยในกรณีที่สินค้าชำรุดบกพร่องภายใน 1 ปี นับแต่วันส่งมอบสินค้า ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าสินค้านั้นชำรุดบกพร่องในเวลาส่งมอบสินค้า

นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจยังต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้ติดตั้งหรือประกอบสินค้านั้น หรือในกรณีที่ผู้บริโภคประกอบสินค้าหรือติดตั้งตามคู่มือที่ผู้ประกอบธุรกิจจัดให้ แต่คู่มือนั้นกำหนดวิธีติดตั้งหรือประกอบสินค้าโดยไม่ถูกต้องหรือครบถ้วน ซึ่งได้กำหนดสิทธิของผู้บริโภคต่อผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องไว้ดังนี้คือผู้บริโภคสามารถเรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจซ่อมแซมสินค้า, เรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนสินค้า, ขอลดราคาสินค้า หรือเลิกสัญญา โดยการใช้สิทธิดังกล่าวไม่กระทบต่อสิทธิในการเรียกค่าเสียหายอื่นจากผู้ประกอบธุรกิจ และกรณีที่มีการทำข้อตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าซึ่งแตกต่างจากที่ พ.ร.บ.นี้กำหนด และเป็นผลเสียต่อผู้บริโภคให้ถือว่าเป็นโมฆะ . อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดข้อยกเว้นให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องในกรณีดังต่อไปนี้คือผู้บริโภคได้รู้อยู่แล้วในเวลาซื้อขายว่าสินค้านั้นมีความชำรุดบกพร่อง, ผู้บริโภคได้ดัดแปลงสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ประกอบธุรกิจจนเป็นเหตุให้เกิดความชำรุดบกพร่อง, ผู้บริโภคไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่จำเป็นและสมควรเพื่อการบำรุงรักษาสินค้าที่ระบุในคู่มือการใช้งาน . ร่างกฎหมายฉบับนี้จะเพิ่มการคุ้มครองสิทธิของประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าซึ่งซื้อขายกันทั่วไปเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และวิธีพิจารณาความแพ่งที่เป็นไปตามหลักผู้ใดกล่าวอ้างผู้นั้นต้องพิสูจน์ ซึ่งมีความเหมาะสมกับสินค้าที่ไม่มีความซับซ้อน แต่ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการกระบวนการผลิตสินค้าหลายชนิด ซึ่งทำให้สินค้ามีลักษณะหรือกลไกที่ซับซ้อน ผู้บริโภคไม่อาจพบเห็นความชำรุดบกพร่องของสินค้าได้ในเวลาซื้อขายหรือส่งมอบ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม จะมีสัญญาที่ไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าฯ ได้แก่ สัญญาที่เกิดขึ้นก่อนที่กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับ สัญญาการขายหรือเช่าซื้อสินค้าใช้แล้ว การขายหรือเช่าซื้อสินค้าตามสภาพ และการขยายทอดตลาด . ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.prd.go.th/th/page/item/index/id/1 หรือโทร. 02 618 2323**

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าพ.ศ. .... จาก เว็บไซต์วุฒิสภา https://www.senate.go.th/assets/portals/93/fileups/272/files/S%E0%B9%88ub_Jun/5interest/interest104.pdf


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม