มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

ภาคประชาชนเรียกร้องรัฐบาลกำหนด”เจตจำนงทางการเมือง”ด้านขนส่งสาธารณะอย่างถึงแก่น

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 08-02-2024 17:25

หมวดหมู่: บริการขนส่งและยานพาหนะ

ภาพประกอบข่าว

ภาคประชาชนเรียกร้องรัฐบาลกำหนด”เจตจำนงทางการเมือง”ด้านขนส่งสาธารณะอย่างถึงแก่น แนะ ต้องกระจายอำนาจลงท้องถิ่นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการเดินทาง

ระบบขนส่งสาธารณะ ( PUBLIC TRANSPORT ) เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเปิดทางให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงอย่างสะดวก-รวดเร็ว-ราคาถูกและเป็นธรรม สามารถขึ้นได้ทุกวัน' แต่ปัญหาเวลานี้สวนทางกับความเป็นจริง นั่นเพราะ ผู้กำกับดูแลด้านคมนาคม ไม่สามารถทำให้ระบบขนส่งเชื่อมโยงถึงกัน ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อวันสูงเกินค่าครองชีพ กลายเป็นประชาชนต้องเป็นฝ่ายแบกรับต้นทุนที่มองไม่เห็นหลายด้าน แต่ปัญหายังถูกแก้แค่ปลายเหตุ เพราะขาดแกนในที่แข็งแกร่ง นั่นคือ “เจตจำนงทางการเมือง “ หรือ POLITICAL WILL ที่รัฐบาลยังเข้าใจไม่ถูกต้อง ทำให้ไม่สามารถบูรณาการแก้ปัญหาที่มีอยู่ในเวลานี้

นี่เป็นประเด็นหลักใหญ่ที่ถูกหยิบยกมาพูดคุย วิเคราะห์เจาะลึก “บทเรียนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะทุกคนขึ้นได้ของไทยและต่างประเทศ และ 'ทิศทางการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะทุกคนขึ้นได้ทุกวัน' ซึ่งจัดโดย สภาองค์กรของผู้บริโภค เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีฝ่ายรัฐบาลจากกระทรวงคมนาคม นักวิชาการ ภาคประชาชน รวมถึง นายอาจิต โจห์ล รองเลขาธิการสหพันธ์สมาคมผู้บริโภคและประธานสมาคมผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งรายนี้ได้หยิบยกประเด็น“เจตจำนงทางการเมือง “ของรัฐบาลมาเลเซีย ที่จริงใจและให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดด้านขนส่งมวลชนสาธารณะ ที่มุ่งเน้นความสะดวกสบายของประชาชนทุกคนเป็นหลักใหญ่ จนผลักดันเป็นผลสำเร็จ ก่อให้เกิดความเท่าเทียมของประชาชนทั้งประเทศ สามารถเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะอย่างสะดวกด้วยราคาที่เป็นธรรม ส่วนผู้ประกอบการ แม้รัฐบาลจัดสรรให้ได้กำไรพอประมาณ แต่ก็ไม่ลืมที่จัดจะหารายได้ทางอื่นมาช่วยพยุงให้อยู่ได้

มีประเด็นที่ผู้ร่วมเวทีวิเคราะห์ข้อมูล ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เจตจำนงทางการเมือง “ ของรัฐบาลไทยด้านขนส่งสาธารณะ ยังไม่ปรากฏการแก้ปัญหาอย่างถึงแก่น แต่ทำแค่เปลือกนอก อีกทั้ง ยังมีข้อจำกัดด้านกฏหมาย เห็นได้ชัดเจนจากการที่ปล่อยให้ประชาชนต้องแบกรับต้นทุนหลายอย่างแทนผู้ประกอบการ เพราะต้องจ่ายค่าบริการที่แพง นั่นเพราะ ระบบรถไฟฟ้า ทั้ง BTS , MRT , รถไฟฟ้าชานเมือง ต่างแบ่งสัมปทานกันระหว่าง เอกชน , การรถไฟแห่งประเทศไทย , กรุงเทพมหานคร ทำให้ราคาต่างกันสิ้นเชิง โดยเฉพาะราคาแพงที่เกินค่าครองชีพของประชาชน เพราะมีการคิดค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน และกำหนดอัตราค่าโดยสารอย่างไม่เหมาะสม ซ้ำยังเอางบประมาณจากภูมิภาคเข้ามาสนับสนุนส่วนกลาง แต่ผู้คนตามภูมิภาคต่างๆกลับไม่ได้ใช้ ซึ่งรัฐบาลคุมไม่ได้ ขณะที่ การรถไฟฯ มีศักยภาพที่สุดเพราะมีที่ดินเป็นของตัวเอง แต่กลับทำแค่ขนส่งชานเมือง ลดราคา 20 บาท ตลอดสาย ก็ทำได้แค่ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน สีแดงเข้ม กับ MRT สายสีม่วง แต่ก็ทำได้แค่ชั่วคราว อีกทั้ง ยังเกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะทำให้คนบางกลุ่มไม่มีกำลังทรัพย์จ่าย ส่วนคนต่างจังหวัดเข้าไม่ถึงระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งที่รัฐบาลเอางบประมาณจากท้องถิ่นมาสนับสนุนส่วนกลาง

อย่างไรก็ดี ระบบขนส่งสาธารณะไทย ยังพอมีความหวัง เมื่อ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่เข้าร่วมเวทีนี้ บอกว่า เตรียมออกกฏกระทรวงคมนาคม กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ทำระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อช่วยให้คนต่างจังหวัดได้ใช้บริการอย่างทั่วถึง พร้อมกันนี้ ยังเร่งผลักดัน “ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม” เพื่อเป็นมาตรฐานการเดินทางในระบบขนส่งมวลชน โดยนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ รวมถึง ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง เข้าสภา ฯ มีนาคมปีนื้ เพื่อให้เร่งจัดการให้ระบบขนส่งสาธารณะให้ประชาชนใช้บริการอย่างทั่วถึง คาดว่า ปี พ.ศ. 2572 ทุกบูรณาการ จะเสร็จสมบูรณ์

ประเด็นการเตรียมออกกฏกระทรวงคมนาคม เพี่อให้ท้องถิ่นทั่วประเทศลุกขึ้นมาเป็นแม่งาน กระจายความเจริญด้านขนส่งสาธารณะ ผู้ร่วมเสวนาพากันเห็นด้วย เพราะถือเป็นการพัฒนารถไฟฟ้าเมืองออกสู่ต่างจังหวัด ( URBAN DEVELOPMENT ) แต่มีข้อเสนอแนะควรเอาภาษีมาสนับสนุนจะช่วยให้การขนส่งสาธารณะ( PUBLIC TRANSPORT ) ดีขึ้น เพราะหาก “รากฝอย” สำเร็จ “รากแก้ว” ก็จะแข็งแรงตามไปด้วย

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาผู้บริโภค บอกว่า ฝ่ายการเมือง ต้องเข้มแข็งต่อการสนับสนุน PUBLIC TRANSPORT เมื่อมีขนส่งสาธารณะที่ดี จะช่วยให้คนเดินทางมากขึ้น ทุกหน่วยงานต้องร่วมกันทำงานอย่างบูรณาการ ไม่ใช่เพียงแค่กระทรวงคมนาคมอย่างเดียวทำเรื่องนี้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจาก กระทรวงพาณิชย์ และ อุตสาหกรรม โดยเฉพาะการพัฒนากลไกการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรถไฟฟ้าให้มีต้นทุนต่ำ เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ ต้องทำให้ระบบการเชื่อมต่อ “ รถ- เรือ -ราง” สะดวกสบาย เพราะตราบใดที่การเดินทางยังยากลำบาก ต้องจ่ายเงินหลายรอบหลายระบบ เท่ากับ ผลักภาระให้ประชาชน มั่นใจว่า นโยบายรถไฟฟ้าทุกสายตลอดสาย 20 บาท สามารถทำได้จริง เพราะระบบขนส่งมวลชนที่ดี ต้องไม่ผลักภาระมาที่ประชาชน 100 เปอร์เซนต์ แต่ควรเก็บไม่เกิน 10 เปอร์เซนต์ของรายได้ขั้นต่ำ ดังนั้น รัฐบาล สามารถหาหารายได้จากแหล่งอื่นมาอุดหนุนผู้ประกอบการ อีกทั้งเอกชน หรือ รัฐ ที่ทำสัมปทาน ขนส่งสาธารณะยังมีรายได้จากหลายช่องทาง เช่น การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือ ค่าโฆษณา ยกตัวอย่าง BTS สายสีเขียว มีค่าโฆษณามากถึง 9 พันล้านบาท ส่วนรถไฟฟ้าสายและสีอื่นๆ ก็มีค่าโฆษณา มากมายมหาศาล ที่ไม่ยอมเปิดเผย นอกจากนี้ ยังมีภาษีน้ำมัน ภาษีป้ายทะเบียนรถ ที่สามารถนำมาอุดหนุนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะราคาถูก

**บทสรุป : การทำให้ระบบขนส่งสาธารณะเดินหน้าอย่างยั่งยืน ต้องแก้ปัญหาไปถึงแก่นของเนื้อใน จึงเป็นโจทย์ ที่ต้องการคำตอบ “เจตจำนงทางการเมือง “ ของรัฐบาล ทำอย่างไร ? จึงสามารถเปิดทางให้ประชาชนทุกคน ต้องขึ้นได้ทุกระบบ และ ทุกวัน ด้วยค่าบริการที่ถูกและสะดวกสบาย เพราะนั่นคือเจตจำนงทางการเมือง ที่จริงจัง และ จริงใจ เพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกคน ! **


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม