มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

เหตุนี้....มีเรื่อง! ตอน ...บ๊วย เป็นเหตุ

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 17-10-2022 16:50

หมวดหมู่: อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ภาพประกอบข่าว ภาพประกอบข่าว

เหตุนี้....มีเรื่อง! ตอน ...บ๊วย เป็นเหตุ

ใครเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้บ้าง? ซื้อของโปรดมากินแต่กลับเจอสิ่งแปลกปลอมในอาหาร ! เกือบไปแล้วสิ เกือบกลืนเข้าไป ดีนะยั้งปากไว้ทัน...

ที่จะเล่าให้ฟังก็มีรายล่าสุด เป็นผู้บริโภคซึ่งชื่นชอบการกินบ๊วยชื่อดังยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งผลิตในเมืองไทยนี่แหละ วันเกิดเหตุ 31 สิงหาคม 2565 คุณสาลี่ (ขออนุญาตใช้นามสมมุติ ) นึกอยากกินบ๊วย ที่เคยซื้อประจำ เลยไปซื้อจากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งแถวพระราม 3

ได้มาแล้วในมือ1ถุงบ๊วยของโปรด จากนั้น จัดการแกะถุงหยิบมากิน ขณะกำลังเคี้ยวเพลินๆ เอ๊ะ! อะไรน่ะ แข็งๆ ติดอยู่ริมฝีปาก เลยหยิบออกมาดู มันคือ พลาสติก ชิ้นเล็ก ขนาดยาว 1 เซนติเมตร ( คิดในใจ ดีนะ ไม่กลืนเข้าไป! )

ไม่ได้การละต้องร้องเรียนไปที่ผู้ผลิตสินค้าซะหน่อย จึงจัดการทักไปยังเพจของบริษัท เพื่อบอกเหตุที่เกิดขึ้น พร้อมขอให้รับผิดชอบ ทางแอดมิน แจ้งว่าจะประสานงานให้

ต่อมา 8 กันยายน 2565 มีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับมา เสนอมอบกระเช้าอาหารเพื่อชดเชยพร้อมทำหนังสือขอโทษ

ไม่ใช่อย่างงี้สิ!... ไม่ได้ต้องการสิ่งของ กลัวเจอสิ่งแปลกปลอมในอาหารอีก ต้องการรับเป็นเงินเยียวยา พร้อม “คำขอโทษ” เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ว่าอีกฝ่ายไม่ยอมตาม

ในเมื่อตกลงกันไม่ได้ ทางผู้เสียหาย จึงตัดสินใจร้องเรียน กับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผ่านช่องทางออนไลน์ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565

เมื่อได้รับเรื่อง เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงโทรศัพท์ ไปหาผู้เสียหาย เพื่อซักถามเรื่องราวเพิ่มเติม เจ้าตัวก็เล่าให้ฟังเหตุตั้งแต่ต้น เมื่อถามว่า ได้ไปหาหมอหรือยัง เจ้าตัวบอกว่า ไม่ได้ไปเพราะยังไม่ได้กินเศษพลาสติกที่ติดกับเนื้อบ๊วยเข้าไป แค่.. รู้สึก มีเศษชิ้นส่วนอะไรแปลกๆ ก็เอาออกมาดู

เจ้าหน้าที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงขอเบอร์ติดต่อบริษัทที่ผลิตสินค้า จากนั้น จึงซักถามข้อมูลได้ความว่า มีเหตุผู้เสียหายมาร้องเรียนเรื่องนี้แล้ว เขาต้องการเงินชดเชย 5 พันบาท แต่ดูแล้วเรียกมากเกินไป ทางผู้ผลิตบ๊วย ก็ยังยืนกราน จะให้กระเช้ากับผู้เสียหาย ( เขาบอกว่า จะซื้อจากที่อื่นมาให้ )หรือ ถ้าไม่เอา ก็จะชดเชยให้ด้วยการคืนเงินจากราคาสินค้า 5 เท่าของบ๊วย ถุงละ 120 บาท เท่ากับ 600 บาท

12 กันยายน 2565 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ติดต่อผู้ร้องเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติม รวมถึง ความต้องการชดเชย ผู้ร้อง แจ้งว่า ต้องการให้บริษัททำหนังสือขอโทษส่งมาทางอีเมล์หรือ ทาง facebook และต้องการ เงินชดเชยเงินเยียวยา จำนวน 2,000-5,000 บาท

สุดท้ายต่อรองกันไป-มา จนจบที่จ่ายชดเชย 2 พันบาท ฝ่ายผู้ผลิตบ๊วย จึงยอมตกลง รับปากโอนเงินเข้าบัญชีผู้ร้อง ภายใน 7 วัน

เร็วกว่าคาด 15 กันยายน 2565 ผู้ร้อง แจ้งว่า ได้รับเงินชดเชย 2 พันบาทโอนผ่านบัญชี รวมถึง หนังสือขอโทษเป็นลายลักษณ์อักษร ส่งมาทางอีเมล

ต้องขอชื่นชมความน่ารักของ บริษัทผู้ผลิตบ๊วย ที่ไม่ปัดความรับผิดชอบ พูดคุยง่าย แค่โทรศัพท์ก็รู้เรื่องเพราะเขาบอกว่า ถ้าหากต้องทำหนังสือสอบถามกันไป-มา มันช้าแล้วก็ไม่ถามแบบตั้งข้อสงสัยด้วยว่า ผู้ร้อง แกล้งเอาเศษพลาสติกมาใส่หรือเปล่า เหมือนที่มีข่าวออกมาบ่อยๆ

นอกจาก ทำหนังสือขอโทษผู้ร้องเรียน ยังโทรศัพท์มาหามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อแจ้งข้อมูล พร้อมฝากขอโทษไปถึงผู้ร้องอีกรอบ ถือเป็นการจบเรื่องกันด้วยดีทั้ง 2 ฝ่าย

อีกคนที่ต้องให้เครดิตชื่นชม คือ คุณ ฟิตรีนา อาลี เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่สามารถเจรจากับทั้ง 2 ฝ่ายโดยไม่ต้องถึงขั้นฟ้องร้อง และเป็นผู้ให้ข้อมูลเรื่องนี้

ปล. นี่เป็นคำแนะนำจากฝ่ายคุ้มครองสิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หากเจอสิ่งแปลกปลอมในอาหาร ถ้าเกิดอันตราย มีสิทธิ์เรียกร้อง ค่ารักษาพยาบาล รวมถึง การเยียวยาจากผู้ผลิตสินค้า ส่วนใหญ่เคสแบบนี้แนะนำให้ไป พบแพทย์เพื่อตรวจอาการ และ ขอใบรับรองแพทย์ เพื่อลงรายละเอียด ผลกระทบ และอาการ ที่ได้รับผลกระทบจากการกินสิ่งแปลกปลอม

แต่ประเด็นที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เจอ คือ ผู้เสียหาย ในฐานะผู้บริโภค ไม่รู้ว่า ตัวเอง
มีสิทธิ สามารถเรียกร้อง อะไรได้บ้าง เช่น หากถึงขั้นได้รับอันตราย ต้องขอ ใบรับรองแพทย์ สามารถที่บริษัทจ่ายค่าชดเชย ขึ้นกับ ความสมเหตุสมผลที่ได้รับผลกระทบ
เช่น เป็น voucher หรือ ดูตามความเหมาะสม และ มีสิทธิ์เรียกร้องค่ารักษาพยาล หากมีใบรับรองแพทย์ หรือ บางรายขอรับเงินคืน จาก ค่าอาหาร ที่เสียไป
( เพราะยังไม่ได้รับอันตราย ) บางรายก็ขอให้บริษัทหาสาเหตุ จะได้ป้องกันในอนาคต

》อ่าน รายละเอียด สิทธิผู้บริโภค 5 ประการ จากลิงก์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ให้ความสำคัญของการคุ้มครองผู้บริโภค โดยบัญญัติถึงสิทธิของผู้บริโภคไว้ในมาตรา 57 ว่า "สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ"

พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ได้บัญญัติสิทธิของผู้ บริโภคที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย 5 ประการ ดังนี้

1.สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้อง และเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการ 2.สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ 3.สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ 4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา 5.สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย

**อีกหนึ่งเคสที่ผู้บริโภคเจอสิ่งแปลกปลอมในอาหาร อ่านประกอบ “หากไอศกรีมถ้วยโปรดกลายเป็นยาพิษ คุณจะทำอย่างไร?” บทความจากนิตยสารฉลาดซื้อ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม