มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

ภัยการเงินอันดับ1ปี67มพบ.แถลงผลงาน

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 07-01-2025 09:41

หมวดหมู่: อื่นๆ

ภาพประกอบข่าว ภาพประกอบข่าว

“ภัยการเงิน” ยืนหนึ่ง เรื่องร้องเรียน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผยเสียหายเกือบร้อยล้าน เร่งรัฐควบคุมเด็ดขาด

ภัยการเงินสร้างความเสียหายมากเป็นอันดับ 1 เกือบร้อยล้านบาท ครึ่งหนึ่งจากเคสร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในปี 2567 ทั้งหมด จำนวน 1,361 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท ชี้เหตุ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ สร้างกลลวงให้เหยื่อติดกับดัก สวนทางกับมาตรการภาครัฐที่ไล่ตามไม่ทัน เร่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

วันนี้ ( 7 มกราคม 2568 ) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคปี 2567 ได้รับเรื่องร้องเรียนและให้คำปรึกษา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2567 จำนวน 1,361 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท

โดยหากคิดตามมูลค่าความเสียหายแล้ว ภัยการเงิน ถือเป็นต้นเหตุที่สร้างความเสียหายต่อผู้บริโภค มากเป็นอันดับ 1 ของปี 2567 มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 70 ล้านบาท นี่เป็นข้อมูลจากฐานระบบของฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งบันทึกสถิติการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหาย

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องร้องเรียนอีก 4 อันดับ ที่มีมูลค่าความเสียหายหลักหลายสิบล้านบาท โดย อันดับ 2 คือ อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย เสียหายกว่า 66 ล้านบาท , อันดับ 3 สินค้าและบริการทั่วไป เสียหายกว่า 57 ล้านบาท , อันดับ 4 สื่อโทรคมนาคม เสียหายกว่า 20 ล้านบาท

ส่วน บริการขนส่งและยานพาหนะ , อาหาร ยา เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ , บริการสุขภาพ ,พลังงานและสิ่งแวดล้อม , และเคสร้องเรียนเรื่องอื่นๆ มีมูลความเสียหายจากหลักหมื่นถึงหลักแสนบาทลดหลั่นกันไป ทั้งนี้ จากเคสร้องเรียน จำนวน 1,361 เรื่อง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สามารถช่วยเหลือผู้เสียหายได้สำเร็จ 1,012 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 74 ซึ่งมีทั้งการให้คำปรึกษา , การเจรจาไกล่เกลี่ย , รวมถึงการฟ้องร้องชั้นศาล

แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ภัยการเงินที่ฆ่าไม่ตาย ทำผู้เสียหายหมดตัว

ในยุคที่ภัยการเงินออนไลน์ สร้างความเสียหายเป็นอันดับ1 ของปี 2567 ด้วยฝีมือของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพราะใช้กลยุทธ์ใหม่ๆ มาล่อลวง-ขู่กรรโชก ทำให้เหยื่อตกใจและติดกับดักจนดูดเงินจากบัญชีได้อย่างง่ายดาย เช่น ปลอมเป็นตำรวจวิดีโอคอลโดยใช้เทคโนโลยี Deepfake ให้ภาพขยับแค่ปาก เพื่อหลอกเหยื่อว่าส่งของผิดกฎหมาย ที่ล้ำหน้ายิ่งกว่านั้น คือ การตั้งโปรแกรมควบคุมเครื่องระยะไกลโดยส่งลิงก์ให้เหยื่อกดเพื่อดูดเงินจากบัญชีธนาคาร นอกจากนี้ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ยังสร้างเว็บไซต์ปลอมแอบอ้างเป็นตำรวจไซเบอร์ ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ แต่สุดท้ายต้องสูญเงินซ้ำซ้อน

นายธนัช ธรรมมิกสกุล หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า มีผู้เสียหายจำนวนมากที่เจอกับดักเพจของตำรวจปลอม โดยใช้ชื่อ รูปภาพ และเนื้อหาที่ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดว่าเป็นเพจอย่างเป็นทางการของหน่วยงานตำรวจ ผู้ร้องแสดงความกังวลว่าเพจดังกล่าวอาจถูกใช้เพื่อการหลอกลวงหรือการกระทำที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้าง และขอให้มูลนิธิฯ ช่วยตรวจสอบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ถือเป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่สำคัญในยุคดิจิทัล ซึ่งผู้บริโภคมักตกเป็นเป้าหมายของการหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ การแจ้งเตือนและการดำเนินการอย่างทันท่วงทีของผู้ร้อง ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการปกป้องสิทธิของตนเองและป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นตกเป็นเหยื่อเพิ่มเติม

“ภัยร้าย” จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มีผู้เสียหายมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จำนวนมาก ทั้งที่เป็นเรื่องราวเดิมๆ ทั้งที่มีข่าวเตือนภัยตลอดเวลา แต่ทำไม ยังระบาดหนัก ความรุนแรงมากขึ้นไม่หยุดหย่อนที่สร้างผลกระทบและเป็นภัยต่อผู้บริโภค นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า *ได้นำเสนอข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง จากหลายเวทีระดมความคิดเห็น ขอให้ผนึกกำลังทำงานเชิงรุก เพื่อป้องกันและปกป้องประชาชนจากการตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพ ไม่ต้องรอให้เกิดความเสียหาย โดยเสนอข้อร้องเรียนทั้งต่อ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม , ธนาคารแห่งประเทศไทย , ตำรวจไซเบอร์ เร่งบูรณาการรวมศูนย์ทำงาน แก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วนเพื่อจัดการกับอาชญากรรมสมัยใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่มาตรการกวาดล้างโจรออนไลน์ให้สิ้นซาก อย่าปล่อยให้ประชาชนต้องช่วยเหลือตัวเองเหมือนในเวลานี้

ล่าสุด มีสัญญาณตอบรับที่ดี เมื่อรัฐบาลประกาศเร่งแก้กฏหมาย ปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยเตรียมออก " พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์ และธนาคาร ต้องร่วมรับผิดชอบหากมีส่วนปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายกับประชาชน ตามที่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) บอกกับสื่อฯเมื่อวันที่19 ธันวาคม 2567 ซึ่งขั้นตอนอยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่าง หากไม่ขัดต่อกฎหมายอื่นๆ ก็จะส่งกลับมาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ และบังคับใช้โดยเร็วที่สุด เพื่อให้การแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์มีประสิทธิภาพมากขึ้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงหวังว่ากฏหมายปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะออกมาบังคับใช้ให้ทันกับสถานการณ์ เพราะเวลานี้ หลายประเทศได้ออกกฏหมายมาจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์และให้แบงก์กับค่ายมือถือต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบก่อนหน้าไทย ได้แก่ สิงค์โปร์ ,จีน, อินเดีย , สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ เป็นต้น ประเทศเหล่านี้ได้ใช้มาตรการเพื่อปกป้องประชาชนและระบบเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นประเทศไทยก็ต้องเร่งดำเนินการ ที่สำคัญยังมีช่องโหว่ที่เป็นปัญหาใหญ่มาจากค่ายมือถือไม่สามารถจัดการลงทะเบียนซิมการ์ด ให้ถูกต้อง กลายเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพกว้านซื้อซิมการ์ดมาใช้หลักหลายแสนซิม สะท้อนว่ามาตรการ ของ กสทช.ที่ขู่ปรับค่ายมือถือวันละ1ล้านบาท หากไม่สามารถจัดการลงทะเบียนซิมการ์ด ให้ถูกต้องใน 30 วัน นับจากเริ่มเข้าสู่กระบวนการที่จะดำเนินการทางปกครอง คำสั่ง กสทช.ประเด็นนี้มีขึ้น ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2565 แต่จากการที่ กสทช.ลงพื้นที่ตรวจสอบการลงทะเบียนซิมการ์ดผ่านตัวแทนจำหน่าย (ลูกตู้) หลายครั้ง ปัจจุบันยังพบผู้ใช้บริการ 1 รายสามารถลงทะเบียนเปิดใช้ซิมการ์ดกับตัวแทนจำหน่ายได้มากกว่า 5 เลขหมายเป็นจำนวนสูงมาก สะท้อนถึงว่าหน่วยงานรัฐที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหายังวิ่งไล่ตามปัญหา ยังไม่สามารถยับยั้ง ป้องกันความเสียหายกับประชาชนได้ตั้งแต่ต้น

อสังหาริมทรัพย์ "ไม่เป็นไปตามโฆษณา" สร้างความเสียหายต่อผู้บริโภค

จากเคสร้องเรียนด้าน "อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย" เสียหายกว่า 57 ล้านบาท อยู่ในอันดับ 2 ของเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค ปี 2567 เช่น ความเสียหายจากการถูกผู้ประกอบการเอารัดเอาเปรียบขายสินค้า" ไม่เป็นไปตามโฆษณา" ยกตัวอย่าง คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง โฆษณาชี้ชวนขายห้องชุด 25 ชั้น จำนวน 685 ยูนิต ตามเอกสารโฆษณาประกอบสัญญาระบุว่า พื้นที่จอดรถของอาคารมีจำนวน 46 เปอร์เซนต์ ของจำนวนยูนิต คิดเป็นที่จอดรถทั้งสิ้นจำนวน 315 คัน แต่สุดท้ายจอดรถได้เพียง 217 คัน เหตุนี้มีการร้องเรียนไปยังบริษัทตั้งแต่ปี 2563 ให้แก้ปัญหาพื้นที่จอดรถ รวมทั้งพื้นที่ส่วนกลางให้เป็นไปตามมาตรฐาน ทว่าได้รับการเพิกเฉย ถึงแม้ต่อมามีนิติบุคคลชุดใหม่จากบุคคลภายนอก ได้ทำเรื่องไปยังบริษัทอีกครั้ง แต่กลับยังไม่ได้รับการแก้ไขใดๆ ดังนั้น ผู้เสียหายจึงรวมตัวกันมาร้องที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือนัดหมายมาเจรจาไกล่เกลี่ยขอค่าชดเชยความเสียหาย จนกระทั่งฝ่ายผู้ประกอบการ รับปากจะแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2568 พร้อมนัดหมายเจรจาอีกครั้งเดือนกุมภาพันธ์นี้

"ลองคิดว่าถ้าคุณซื้อคอนโด คุณเอารถเข้าไปจอด เพื่อที่จะขึ้นข้างบนแต่มันไม่มี ทั้งที่สัญญาว่าจะมีที่จอดรถให้แต่เราต้องเอาไปจอดซอยข้างๆ ไปจอดที่ไหนก็ไม่รู้ เรื่องนี้ถ้าเราทำเองคงเป็นไปไม่ได้ แต่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเข้ามาช่วย ส่งหนังสือถึงบริษัท ติดต่อประสาน ทำให้วันนี้การไกล่เกลี่ยมีแนวโน้มที่ดี" ทัศนัย ขันตยาภรณ์ ผู้ซื้อคอนโด

“กะปุก ด๊อกเฮาส์” บ้านน็อคดาวน์ สวนทางคำโฆษณา

บ้านน็อคดาวน์สำหรับหมา-แมว ราคาหลักแสนต้นๆ ต่อหลัง จนถึงหลักครึ่งล้านต่อหลัง โดยบริษัท"กะปุกด๊อกเฮาส์ แอนด์ เฮาส์" ( Kapook Doghouse) บริการออกแบบและสร้างบ้านที่สวย หรูหรา ทำความสะอาดง่าย ติดแอร์และพัดลม ใช้วัสดุทนแดดทนฝน เกรดเดียวกับบ้านคน ตอบทุกโจทย์ที่คุณต้องการ" นี่เป็นคำโฆษณาบนเว็บไซต์ ( https://www.kapookdoghouse.com/) ที่ประกาศสรรพคุณ แต่ในความเป็นจริงสวนทางกับคำกล่าวอ้าง เพราะเจอสารพัดปัญหา ไล่ตั้งแต่ผิดสัญญาก่อสร้าง วัสดุที่ใช้ไม่ได้มาตรฐานไม่ตรงตามสเปค เจอปัญหาแทบทุกจุดของบ้าน รับเงินเต็มจำนวนจากผู้ว่าจ้างแต่ผู้รับเหมากลับทิ้งงาน บางรายได้รับสัญญาเพียงวาจาไม่มีลายลักษณ์อักษร ผู้เสียหายพยายามติดต่อบริษัทแต่กลับบ่ายเบี่ยง เหตุการณ์ลักษณะนี้ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่สร้างความเสียหายมานานหลายปี แต่ที่ยังมีผู้บริโภคมาติดกับดัก เจอน็อคเข้าเต็มเปา เพราะความไว้ใจ เนื่องจากเข้าไปดูในเพจน่าเชื่อถือ มีดาราหลายคนเป็นพรีเซ็นเตอร์ จากเคสนี้ทำให้มีผู้เสียหายจำนวนมาก มาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยต้องการบอกเลิกสัญญา แล้วทวงเงินกลับคืนมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์จึงให้การช่วยเหลือเบื้องต้น โดยเจรจาไกล่เกลี่ยและทำสัญญาประนีประนอมยอมความนอกศาล ให้บริษัทคืนเงินเป็นรายกรณีตามความเสียหาย หรือบางรายมีการเจรจาข้อเสนอให้บริษัทเข้าไปดำเนินการแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แล้วเสร็จ โดยฝ่ายผู้ประกอบการ ได้ทำบันทึกข้อตกลงจะคืนเงินให้กับผู้เสียหายภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยแบ่งเป็นงวดๆ แต่สุดท้ายทางบริษัทไม่ยอมจ่ายคืนหนี้แม้แต่รายเดียว รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 4 ล้านบาท ถึงแม้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ยื่นโนติส พร้อมแนบสัญญาประนีประนอมยอมความนอกศาล ส่งถึงประธานกรรมการ บริษัท กะปุกด็อกเฮาส์ แอนด์เฮาส์ ขอให้ชำระหนี้ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ มิฉะนั้นผู้เสียหายจะขอใช้สิทธิทางกฎหมายดำเนินคดี อีกฝ่ายกลับเพิกเฉย กระทั่ง 23 สิงหาคม 2567 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงทำหนังสือบอกกล่าวทวงถาม ขอให้คืนเงินแก่ผู้บริโภคผู้ร้องอีกครั้ง แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับการติดต่อกลับ จึงต้องดำเนินการทางกฎหมายเพื่อพิจารณาฟ้องคดีต่อไป

นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า หากบริษัทกะปุก ด๊อกเฮาส์ ผิดนัดชำระหนี้ “เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิจะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 194” แต่หากลูกหนี้ ยังไม่ยอมชำระหนี้ ก็จะต้องฟ้องเรียกให้ชำระหนี้ต่อไป ซึ่งผู้ร้องในฐานะผู้เสียหาย สามารถยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค ที่ศาลแพ่ง แผนกคดีผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคดำเนินการฟ้องคดีแล้ว ในกระบวนการทางศาลอาจเกิดกระบวนการไกล่เกลี่ยอีกครั้งโดยการฟ้องร้องกรณีนี้สามารถฟ้องได้ทั้งทางแพ่งและอาญา

นางสาวณัฐวดี กล่าวว่า ตลอดทั้งปี 2567 การช่วยเหลือผู้บริโภคในการฟ้องคดีทางแพ่งพบปัญหาสำคัญคือ “ขั้นตอนการบังคับคดี” เพื่อเรียกร้องเงินชดเชยความเสียหาย แต่เนื่องจากผู้ประกอบการถูกฟ้องคดีล้มละลาย อีกทั้ง จำนองทรัพย์สินหลายแห่ง ทำให้เป็นอุปสรรคในการติดตามทรัพย์เพื่อชำระหนี้ ทำให้ภาระตกเป็นของผู้บริโภคในการติดตามหาทรัพย์ของผู้ประกอบการ เพื่อนำเงินมาแบ่งชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมี “คดีปกครอง” ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคดำเนินการช่วยเหลือ คือ กรณีซอยร่วมฤดี และ อยู่ในขั้นตอนการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่พิพากษาตั้งแต่ 2557 แต่จนถึงปัจจุบัน สำนักงานเขตปทุมวัน ยังไม่สามารถเข้าไปดำเนินการรื้อถอนอาคาร ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดได้

กรมการขนส่งทางบก ปฎิรูปรถเมล์ ไม่ฟังเสียงประชาชนสร้างความเดือดร้อนหนัก

นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า สถานการณ์ปัญหารถโดยสารสาธารณะ ในปี 2567 กรมการขนส่งทางบก ปฎิรูปรถเมล์ แต่ไม่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทำให้เกิดความเดือดร้อน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงทำโพลสำรวจความพึงพอใจของผู้โดยสาร จากการเก็บข้อมูลระหว่าง วันที่ 11 - 31 ตุลาคม 2567 มีผู้ตอบแบบสอบถาม 667 ราย พบปัญหาใหญ่อันดับ 1 ยังเป็นเหตุซ้ำเดิม นั่นคือ รถน้อยคอยนาน มากถึง ร้อยละ 75.6 ที่สำคัญแผนปฏิรูปรถมล์ ยังสร้างผลกระทบให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากขึ้น มีผู้ร้องเรียน ร้อยละ 66 และ อันดับ 3 สับสนกับเลขสายรถที่ปรับใหม่ มีผู้ร้องเรียนมากถึงร้อยละ 60.7

วันที่ 20 ธันวาคม 2567 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้จัดเวทีสาธารณะเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการขนส่งทางบก , ขสมก. มารับฟังปัญหาความเดือดร้อน ซึ่งมีประชาชนทั่วกรุงเทพฯ มาร่วมสะท้อนปัญหาและหน่วยงานรับปากจะไปแก้ปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว

จะเห็นได้ว่า ปัญหาของผู้บริโภคที่เกิดขึ้นในปี 2567 ยังคงเป็นปัญหาในลักษณะเดิม โดยเฉพาะภัยออนไลน์ ที่มีกระบวนการขั้นตอน จนทำให้ล่าช้า จึงขอเสนอให้หน่วยงานรัฐบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว และมีมาตรการเชิงป้องกัน เช่น เสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้ธนาคารมีการชะลออนุมัติจ่ายเงินปลายทาง เพื่อป้องกันมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงิน และขอให้เร่งออกกฎหมาย พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์ และธนาคาร ต้องร่วมรับผิดชอบหากมีส่วนปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายกับประชาชน


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม