มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

ระวังให้ดี!กฎหมาย ”จำนำทองคำ

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 26-09-2024 22:38

หมวดหมู่: สินค้าและบริการทั่วไป

ภาพประกอบข่าว

ระวังให้ดี!กฎหมาย ”จำนำทองคำ”

"ทองคำ" ถึงแม้เป็นของรักของหวง แต่เมื่อเกิดวิกฤตเงินขาดมือ มักมีอาการตามมา นั่นก็คือ ร้อนเงิน จนถึงขั้น ร้อนใจ ทางเลือกทางรอดผ่อนลมหายใจ ก็ต้องเอาไปจำนำ แต่ต้องระวังไว้เลย เมื่อใดก็ตามที่คุณปล่อยให้หลุดจ่ายดอกเบี้ย จะมาเรียกร้องขอต่อดอกเบี้ยเพื่อเอาของคืนมันยากละทีนี้ !

แล้วอาการมันเป็นยังไง มันก็คืออาการ หมดอายุ ความหมายคือ หมดสัญญาจำนำ ฉะนั้น กรรมสิทธิ์จะตกเป็นของโรงรับจำนำ หรือ ร้านทอง ทันที ตามกติกาและกฏหมาย เขามีสิทธิยึด แต่ ! มันน่าเสียดายไหมล่ะ ? บางคนเอาทองคำหนัก 1 บาท ไปจำนำ ทางร้านจ่ายแค่ 5 พันบาท ราคาปัจจุบัน (2567 ) ก็ปาเข้าไป4 หมื่นกว่าบาท ถ้าบางคนได้ราคาจำนำมากกว่านั้นก็ยังไม่เกินครึ่งหนึ่งของราคาทอง ณ ปัจจุบัน บางคนบอกว่า ไปขอต่อดอก ร้านรับจำนำ อ้างว่า เอาไปหลอมซะแล้ว คือทองของเราจะถูกเอาไปหลอม หลอมแล้ว จริงหรือไม่ อันนี้คนที่รู้ดีที่สุดคือผู้ที่รับจำนำ มีหลายคนก็แนะว่า ถ้ายอมซื้อกลับในราคาทองปัจจุบัน เขาอาจจะเอาเส้นเดิมมาคืนให้เราก็ได้

ที่เกริ่นมาซะยาว เพราะมีเรื่องมาเล่าจากสาวรายหนึ่ง ซึ่งเธอร้อนเงิน จึงคิดหาทางจะทำไงดี ! นึกได้ว่า ยังมีสร้อยทองหนัก 1 บาท งั้นเอาไปจำนำดีกว่า มีร้านทองแถวบ้านเค้ารับจำนำด้วย แต่ได้มาแค่ 5 พันบาทเองอ้ะ ....ไม่เป็นไร ต้องรีบหาเงินมาใช้ " สร้อยทองที่รักจ๋า รอก่อนนะ ชั้นจะรีบหาเงินมาผ่อนดอกเบี้ย เอาเธอออกมาให้ได้ " สาวเจ้ารำพึงรำพันกับตัวเอง

แต่แล้ว ... ก็ลืมส่งดอก ซึ่งมานึกขึ้นได้ในวันสุดท้าย จึงรีบไปที่ร้าน แต่ถูกไล่ให้กลับบ้าน แล้วไปติดต่อทางไลน์ของร้านแทน และได้รับแจ้งทางไลน์ว่ายังอยู่ในระยะเวลา 5 วัน หลังจากครบกำหนด ยังสามารถต่อดอกได้ทัน จึงขอเลขบัญชีธนาคารเพื่อโอนต่อดอก แต่ร้านก็ไม่ส่งเลขบัญชีมาให้ จนครบกำหนดไปแล้ว จึงได้รับการติดต่อจากร้าน แจ้งว่าที่ไม่ส่งเลขบัญชีมาให้เพราะเข้าใจผิด เห็นว่า มีเลขบัญชีที่ส่งออมทองอยู่แล้ว จึงไม่ได้ส่งเลขบัญชีที่จะต้องโอนต่อดอกให้ ทำให้ไม่ได้ส่งต่อดอกตามที่กำหนด และไม่สามารถเอาทองกลับคืนมาได้แล้ว แต่เนื่องจากเป็นลูกค้าออมทอง จึงขอช่วยเหลือโดยซื้อตั๋วจำนำ แล้วคิดเป็นส่วนต่างให้แทน

แต่การส่งทองไปหลอม ควรส่งทองไปหลังจากที่ทองหลุดจำนำแล้วหรือไม่ และวันที่ผู้ร้องขอจ่ายเงินต่อดอกก็เป็นวันสุดท้ายที่ทางร้านให้ระยะเวลาเพิ่มเติมให้ต่อดอกได้ ทองดังกล่าวก็ยังไม่ควรที่จะถูกนำไปหลอม เธอร้อนใจเพราะสร้อยทองเส้นนั้น เป็นสิ่งที่มีค่าทางจิตใจ ยากที่จะทำใจ หากต้องปล่อยให้หลุดมือ จึงขอต่อรองว่า หากทองยังไม่ถูกนำไปหลอม ขอให้ทางร้านช่วยติดตามกลับมาด้วย สุดท้ายเรื่องก็เงียบ แล้วความคิดแว่บหนึ่งก็พุ่งวาบขึ้นมา ใช่สิ ต้องไปร้องเรียนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อมาถึง เธอได้เล่าเรื่องราว ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ ฟัง

แต่! ไม่สิ ต้องฟังความ 2 ฝ่าย ทางเจ้าหน้าที่จึงโทรศัพท์ไปคุยกับ เจ้าของร้านทอง จึงได้รับการชี้แจงประเด็นที่เกิดขึ้น โดยบอกว่าได้แจ้งกฎระเบียบการจำนำทอง และ การต่อดอกเบี้ย ให้ทราบตั้งแต่ต้น พอใกล้หลุดจำนำ ทางร้านได้โทรศัพท์บอกให้ส่งดอกเบี้ยเพื่อต่อเวลาไม่ให้หลุดจำนำ แต่ก็นิ่งเฉย ทว่ากลับนำเรื่องไปร้องเรียน ที่ สมาคมค้าทองคำ ทางร้านได้รับการซักถามเรื่องนี้ จึงได้ชี้แจงข้อเท็จจริง และได้พยายามติดต่อผู้จำนำ ทางเบอร์โทรศัพท์ที่ให้ไว้ แต่ก็ยังเงียบเฉย แถม สร้อยคอทองคำหนัก 1 บาทที่นำมาจำนำก็มีสภาพที่เก่ามาก เมื่อหลุดจำนำ ก็ต้องถูกนำไปหลอมตามระเบียบ แต่หากต้องการมาต่อดอกเบี้ย ทางร้านจะหาทองรูปพรรณที่คล้ายกับของเดิมมาให้แทน กระทั่ง ได้รับการประสานจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อมาเจรจาไกล่เกลี่ย เมื่อวันที่ 26 กรกฏาคม 67 ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ เป็นคนกลาง

โชคดีที่บทสรุปตกลงกันได้ เซ็นรับทราบกันทั้ง 2 ฝ่าย

1.ร้านทองขอเวลา 24 วัน ทำสร้อยทองให้ใหม่ 1 เส้น โดยมีขนาดและน้ำหนักแบบเดียวกับที่นำมาจำนำ

2.ผู้จำนำทอง ยินยอมชำระเงิน 6,350 บาท แบ่งเป็นเป็นค่างวดตามสัญญาเดิม 5,000 บาท ,ค่าแรงทำทองเส้นใหม่ 1,200 บาท และ ค่าเบี้ยปรับ 150 บาท

มีคนถามว่า เจ้าของสร้อยหลุดจ่ายดอกเกินสัญญาเองไม่ใช่เหรอ ตามกฎหมายร้านทองยึดก็ถูกแล้ว ทำไมต้องชดเชยให้ล่ะ!คืองี้ จะบอกให้ว่า ต้องยกย่องกับน้ำใจของร้านทอง และถือว่าเคสรายนี้โชคดี ที่มาขอให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ช่วยเหลือ แต่ ...ไม่ใช่จะได้ทุกคน เพราะไม่ใช่ว่าร้านทองทุกแห่งจะใจดีกับทุกคน ถ้าคุณผิดสัญญาก่อน ก็ต้องยอมรับในข้อสัญญานะ

มีประเด็นที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอเตือนไว้ จำนำทอง ที่ร้านทอง ต้องดูดีให้ดี เป็น "ตั๋วจำนำ" หรือ "ตั๋วขายฝาก" เพราะมีผลต่อ"กรรมสิทธิ์

ต้องรู้ไว้ก่อนเลยว่า ... ร้านทองไม่มี “ใบอนุญาตการขายของเก่า” ( แต่โรงรับจำนำมี ) ดังนั้นเวลาเอาทองไปจำนำที่ร้านทองต้องดูให้ดีว่าเป็น "ตั๋วจำนำ" หรือ "ตั๋วขายฝาก" ซึ่งมี "ข้อแตกต่าง ของ "กรรมสิทธิ์" นั่นคือ หากเป็นการ "จำนำ" เรื่องของ "กรรมสิทธิ์"ยังเป็นของผู้จำนำ จนกว่าจะผิดเงื่อนไขในการส่งดอกเบี้ย และสิ้นสุดระยะเวลา 4 เดือน 30 วัน หลังจากนั้น ร้านถึงจะได้กรรมสิทธิ์ยึดทรัพย์มาขายหลุดจำนำได้ และ แม้ว่าจะผิดนัดชำระจ่ายดอกเบี้ย แต่ของยังอยู่จนกว่าครบกำหนด แต่ "การขายฝาก" เรื่องของ "กรรมสิทธิ์ "ตกเป็นของร้านทองทันที โดยมีเงื่อนไขให้เจ้าของเดิม ไถ่คืนได้ในระยะเวลาที่ตกลงกัน ส่วนใหญ่ 3 เดือน ดังนั้นหากเลยกำหนดเวลาในการไถ่คืน ทรัพย์นั้นจึงตกเป็นของผู้รับซื้อฝากอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ผู้ขายฝากจึงไม่มีสิทธิขอไถ่สิ่งของหรือทรัพย์สินที่ขายฝากไว้คืนได้นั่นเอง อีกทั้งหากผู้ขายฝากผิดนัดชำระร้านทองมีสิทธิ์นำออกมาจำหน่ายเลย โดยปกติร้านทองอาจยืดเวลาให้อีก 3-7 วันแล้วแต่รายละเอียดของแต่ละร้าน อย่าลืมตรวจสอบกันก่อนตัดสินใจ ดังนั้น ต้องตรวจสอบให้ชัด การจำนำทองที่ร้านทอง อาจเป็นการขายฝาก ขายฝากถ้าหลุดแล้ว ทองตกเป็นของร้านทันที ให้ดูเอกสารว่าเป็น จำนำ หรือ ขายฝาก ซึ่งจะดูแค่ชื่อเอกสารไม่ได้ แต่ต้องดูเนื้อหาของสัญญาด้วยว่า มีการกำหนดกรรมสิทธิ์ไว้อย่างไร แต่ร้านทองส่วนใหญ่เป็น ขายฝาก เพราะจะได้ยึดทองได้เลย ไม่ต้องไปรอขายทอดตลาด เจ้าของถ้าอยากได้คืน อาจต้องซื้อคืนในราคาที่สูง

เพราะฉะนั้น ต้องจำไว้ให้ขึ้นใจ เอาทองไปแลกเงินชั่วคราวที่ร้านทอง ต้องดูว่า เป็น "ตั๋วจำนำ " หรือ "ตั๋วขายฝาก" อีกทั้ง ต้องตรวจสอบ ดอกเบี้ย และ มูลค่าทอง ให้ชัดเจน หากร้าน ทำทองสูญหาย ต้องรับผิดชอบตามมูลค่าทองที่ผู้จำนำฝากไว้ โดยสามารถเรียกค่าเสียหายเป็นเงินสด กำหนดวันชดใช้ค่าเสียหายให้ชัดเจน ไม่ต้องรอให้ทำทองมาทดแทน เดี๋ยวร้านทองจะดึงเกม ต้องตรวจสอบให้ละเอียด ในใบจำนำหรือใบขายฝาก ตรวจดูกำหนดไถ่ให้ชัดเจนถ้าไปไถ่แล้วร้านไม่คืน รีบปรึกษา สำนักงานวางทรัพย์ ที่สำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ หรือสถานีตำรวจ หรือผู้รู้กฎหมายโดยด่วน อย่าปล่อยให้เลยกำหนด เพราะอาจถูกยึดทองได้

ดังนั้น เวลาไปไถ่ทองคำ หากร้านทองมีข้ออ้างสารพัดฯลฯ เพื่อยื้อเวลา ถือเป็นความผิดของร้าน หากเกิดความเสียหาย ร้านต้องรับผิดชอบ ซึ่งผู้ไถ่สามารถไปติดต่อ สำนักงานวางทรัพย์ กรมบังคับคดี เพื่อวางเงินค่าไถ่ได้ ถือว่าได้ไถ่แล้ว ถ้าอยู่ในกำหนดก็จะไม่เกิดความเสียหาย

พูดถึงเรื่องจำนำทอง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีข้อกฎหมายสำคัญ อยากให้อ่านกัน นั่นคือ "พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505" ได้กำหนดขั้นตอนของทรัพย์สินที่จะหลุดเป็นของผู้รับจำนำ " โดย มาตรา 25 ให้ผู้รับจำนำ ทำบัญชีทรัพย์จำนำที่ผู้จำนำขาดส่งดอกเบี้ยเป็นเวลากว่า 4 เดือน ยื่นต่อเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต และปิดประกาศบัญชีนั้นไว้ ณ ที่เปิดเผย ที่โรงรับจำนำนั้นตามแบบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งถ้าผู้รับจำนำได้ปฏิบัติการถูกต้องครบถ้วนตามข้างต้นแล้ว ทรัพย์จำนำจะหลุดเป็นสิทธิของผู้รับจำนำก็ต่อเมื่อ 1. ทรัพย์นั้นอยู่ในประกาศของโรงรับจำนำ 2. ทรัพย์นั้นเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตมิได้สั่งอายัดไว้ และ 3. ผู้จำนำมิได้ขอไถ่ภายในกำหนดเวลา 30 วันนับแต่วันประกาศ ดังนั้น หากผู้จำนำไม่ได้ไปไถ่ถอนภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ทรัพย์นั้นย่อมหลุดเป็นของผู้รับจำนำ ซึ่งมีสิทธินำไปขายต่อได้

ร้อนเงิน แต่มีทองคำ ควรเอาไปจำนำที่ไหนดี ? ระหว่าง "โรงจำนำ"ทั้งของรัฐฯ-เอกชน กับ "ร้านทอง"

โรงรับจำนำของรัฐ : มีความน่าเชื่อถือเป็นอย่างมาก มาพร้อมอัตราค่าดอกเบี้ยที่ต่ำ แต่จะให้ราคาที่น้อยกว่าโรงรับจำนำเอกชน

โรงรับจำนำเอกชน :ให้ราคาที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับโรงรับจำนำของรัฐบาล และมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า ที่สำคัญก่อนที่จะใช้บริการ ต้องตรวจสอบความน่าเชื่อถือทุกครั้ง

ร้านทอง : ดอกเบี้ยแพงกว่าโรงรับจำนำมาก ที่สำคัญก่อนที่จะใช้บริการ อย่าลืมตรวจสอบความน่าเชื่อถือให้ละเอียดทุกครั้ง เพราะนอกจากจะเสี่ยงโดนตีราคาอย่างไม่เป็นธรรมแล้ว ทองคำก็อาจเสียหาย หรือ โดนขโมยได้ หรือเจ้าของร้านอาจบอกปัดไปเรื่อยๆ จนทำให้ตั๋วหมดอายุ ทำให้เสียกรรมสิทธิ์ในทองคำไป

ดังนั้น จำนำทอง ทั้งทีก็ต้องเลือกที่ไว้ใจและมั่นใจ อันนี้สำคัญนะ เพราะมีข้อกฎหมายที่ต่างกัน ที่สำคัญให้ตัดสินใจจากความสำคัญทางจิตใจ โดยให้ถามตัวเองว่าของชิ้นนั้นมีความสำคัญกับเรามากแค่ไหน ถ้าหากเป็นมรดกที่คุณจะไม่สามารถเสียไปได้ให้เลือก "โรงรับจำนำ " อย่างไม่ต้องคิด เพราะมี“ใบอนุญาตการขายของเก่า” แถมสุดท้ายของยังอยู่ คุณสามารถไถ่ถอนคืนมาได้ตลอดเวลา หรือถ้ายังไม่พร้อมไถ่ของคืน ก็สามารถไปต่อเวลาชำระดอกเบี้ยได้ โดยการไปต่อตั๋วจำนำภายในระยะเวลา 4 เดือน 30 วัน ของการจำนำ ที่สำคัญ การจำนำทอง ที่โรงรับจำนำ จะเป็นการจำนำ ถ้าหลุดจำนำ จะเอาไปวางขายทอดตลาด เจ้าของยังมีโอกาสไถ่คืน**


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม