เสี่ยงติดคุก ! เผลอรับพัสดุสอดไส้ของผิดกฎหมาย!
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 27-07-2023 12:10
หมวดหมู่: บริการขนส่งและยานพาหนะ

เสี่ยงติดคุก ! เผลอรับพัสดุสอดไส้ของผิดกฎหมาย!
เคยสังเกตกันบ้างหรือเปล่า? ผิดสังเกตกันบ้างก็ดีนะ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพ เพราะเคยมีเหตุการณ์ บานปลายใหญ่โตเกิดขึ้นในสังคม ทั้งยาเสพติด , ทั้งระเบิด-อาวุธสงคราม, และ สิ่งผิดกฎหมายหลายชนิด ถูกจับยัดใส่กล่องพัสดุส่งปลายทาง ถึงแม้ "ผู้รับ" ยืนกราน ไม่มีส่วนรู้เห็น โดยเฉพาะยาเสพติด แต่คนรับต้องถูกดำเนินคดี ในเมื่อของต้องห้ามอยู่ในมือเรา ที่สำคัญ การลอบส่งยาเสพติด หรือสิ่งผิดกฎหมาย เป็นสิ่งของที่ต้องห้ามฝากส่ง ตาม พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ.2477 พ่วงด้วย พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ และ อาวุธสงคราม
ยกตัวอย่างพัสดุยัดยาเสพติด เคยเป็นข่าวเกรียวกราว เมื่อ 19 มิถุนายน 2562 เมื่อนักศึกษาสาว วัย 22 ปี เรียน ปวช.ปีสุดท้าย ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครอง หลังจากรับพัสดุไปรษณีย์ที่มีผู้ส่งไปยังบ้านเช่า ที่ อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ภายในกล่อง มี ไอซ์ 10.30 กรัม และ มียากินให้ผิวขาวอีก 3 เม็ด ตอนถูกจับกุม เจ้าหน้าที่นำตัวไปตรวจปัสสาวะ ไม่พบสารเสพติดในร่างกาย ถึงแม้เจ้าตัวยืนกรานเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่เคยจำได้ว่า มีคนรู้จัก ขอใช้ ชื่อ-นามสกุล และ ที่อยู่ เพื่อขอให้ช่วยรับของที่ส่งมาให้ ซึ่งน่าจะเป็นเพราะเหตุนี้ แต่พนักงานสอบสวน ยังไม่เชื่อคำให้การ พร้อมคัดค้านการประกันตัว ถึงแม้ ทนายยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราว แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว จึงจับกุมคุมขังอยู่ในเรือนจำจังหวัดร้อยเอ็ด แต่ที่สำคัญทางบ้านมีฐานะยากจนแม่จึงไม่มีเงิน 8 แสนบาท ไปประกันตัวลูก อยากให้หน่วยงานต่างๆ ช่วยเหลือลูกสาวออกมาด้วย เพราะหลานสาวอายุ 6 ขวบ ก็ร้องไห้หาแม่ทุกวัน
เรื่องนี้กลายเป็นข่าวโด่งดัง เพราะพี่สาวที่เป็นฝาแฝดของผู้ถูกจับกุม โพสต์เฟซบุ๊ก ร้องขอความเป็นธรรมให้น้องได้รับอิสรภาพออกมา และขอให้ชาวโซเชียลช่วยเหลือแจ้งเบาะแส โดยเล่าว่า วันที่น้องรับพัสดุปลายทาง นั่งอยู่ด้วยกันพร้อมกับเพื่อนๆ อีกหลายคนเป็นพยานได้ ตอนที่ไปรษณีย์มาส่งของ ถามหาชื่อผู้รับคือน้องสาว แต่เจ้าตัวยืนยันไม่ได้สั่งของ พอเห็นว่าไม่ต้องจ่ายเงิน นึกว่าเป็นของฟรี มีคนส่งให้จึงเซ็นรับ แต่ไม่ถึง 2 นาที ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกจับทันที และเมื่อตรวจค้นพบว่าในกล่องไปรษณีย์มียาเสพติดอยู่
“ทั้งๆ ที่ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดเลย สารเสพติดก็ไม่มี ทั้งกราบทั้งไหว้ ขอความช่วยเหลือทุกอย่าง แต่ไม่ช่วย น้องหนูก็เรียนอยู่ ลูกก็มี ครอบครัวก็มี หนูและน้องหนูเป็นเสาหลักของครอบครัวไปทำงานพิเศษเป็นพนักงานเสิร์ฟได้ค่าแรงวันละ 100 บาท และค่าทิปจากการเสิร์ฟ ก็จ่ายเป็นค่าเทอม ค่าเช่าบ้าน และส่งให้แม่เลี้ยงลูกด้วย แต่พอเจอเรื่องแบบนี้ไม่มีใครรับได้หรอก ครอบครัวต้องขาดใครคนใดคนนึ่ง อนาคตคนๆหนึ่งกำลังจะไปได้สวยแต่ต้องมาจบอนาคตที่ไม่ใช่ของตัวเองเลยสักนิด หลักทรัพย์ตั้ง8แสนพวกหนูไม่ได้รวยขนาดนั้น คนบริสุทธิ์ต้องเข้าไปในเรือนจำแบบนี้ แล้วคนชั่วล่ะ! ลอยนวล ...ใจร้ายเกินไป จึงขอความเป็นธรรมให้กับน้องหนูด้วยนะคะ #ขอคนละแชร์ช่วยพวกหนูด้วย ช่วยกันแชร์เยอะๆ นะครับขอความเป็นธรรม ขอบคุณค่ะ”*
พี่สาวยังบอกถึงสาเหตุที่น้องถูกจับกุม เพราะก่อนหน้านี้มีการเล่นเฟซบุ๊ก แล้วเพื่อนแนะนำให้รู้จักกับผู้หญิงคนหนึ่ง อายุมากกว่า มีบ้านพักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่งในตัวอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ต่อมา หญิงคนดังกล่าวได้โทรศัพท์ทางวิดีโอคอลมาบอกน้องว่า ได้สั่งซื้อเสื้อเป็นคู่เพื่อเอามาเซอร์ไพรส์แฟนในวันคล้ายวันเกิด แต่ช่วงนั้นไม่ได้อยู่บ้าน ขอให้น้องสาวช่วยรับไว้ด้วย โดยขอชื่อ-ที่อยู่ของน้องสาวจนกระทั่งมีไปรษณีย์มาส่งพัสดุ น้องจึงถูกจับ ส่วนผู้หญิงคนดังกล่าวก็หลบหนีไปทันที
ในความโชคร้าย ยังมีโชคดี เพราะมีผู้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือจำนวนมาก ทั้งการหาหลักทรัพย์ประกันตัวทั้งเรื่องของการประสานกองทุนยุติธรรม ขณะนั้น นายธวัชชัย ไทยเขียว ที่ยังดำรงตำแหน่ง รองปลัดและโฆษกกระทรวงยุติธรรม เคยให้ความเห็นว่า หากพนักงานสอบสวนเชื่อว่านักศึกษาสาวไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด ก็ควรเร่งมีคำสั่งไม่ฟ้อง พร้อมร้องขอต่อศาลขอปล่อยตัวจากการถูกควบคุมระหว่างสอบสวนตาม ป.วิอาญา มาตรา 142 อย่างไรก็ตามการที่นักศึกษาสาวถูกคุมขัง อาจจะมีปัญหาในการขอรับเงินทดแทน เนื่องจากยังไม่ได้ตกเป็นจำเลยและศาลยังไม่มีคำพิพากษายกฟ้องว่าไม่ได้กระทำผิด จึงไม่มีสิทธิรับเงินค่าทดแทนค่าถูกคุมขังในระหว่างพิจารณาคดีและค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แต่อีกช่องทางที่สามารถดำเนินการได้ คือการยื่นขอเงินการช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากกองทุนยุติธรรมตามมาตรา 9 (3) ซึ่งก็จะต้องไปพิจารณาอีกว่า พนักงานสอบสวนดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ถ้าปฏิบัติชอบด้วยกฎหมายก็จะไม่ได้ประโยชน์จากกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน
และอีก 1 โชคดี เมื่อ 7 กรกฏาคม 2562 ตำรวจ สามารถจับ 2 ตัวการ เป็นเยาวชนชาย อายุ 17 ปี “ผู้ส่ง “ พัสดุยัดยาเสพติด มาจาก ปณ.จระเข้บัว กรุงเทพฯ ผู้ต้องหายอมรับว่า “ได้ใช้ ชื่อ- ที่อยู่ ปลอม” อุปโลกน์ เป็นคนส่งพัสดุ โดยมีหญิงสาวอายุ 23 ปี ชาวจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งรู้จักกันมาประมาณ 1 ปี เป็นผู้จ้างวานเคยนำยาเสพติดมาส่งให้หลายครั้ง ด้วยการขึ้นรถโดยสารจาก กทม. มาส่งให้ที่ บขส.สุวรรณภูมิ บางครั้งก็ไปส่งให้ถึงบ้านเช่าของผู้ว่าจ้าง ส่วนที่รับทำงานนี้เพราะจะรับเป็นนายหน้าซื้อยาเสพติด กรัมละ 200 บาท เพื่อนำขายต่อให้ผู้ที่ว่าจ้างที่รับซื้อกรัมละ 400 บาท เมื่อได้เบาะแสสำคัญ ตำรวจไม่รอช้า ตามแกะรอยจนจับกุมผู้ว่าจ้างส่งยาเสพติด โดยมีหลักฐานมัดตัวจนดิ้นไม่หลุด เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงควบคุมตัวทั้ง 2 คน ไปขออำนาจศาลฝากขังและขยายผลผู้ร่วมขบวนการ
ครอบครัวของ นักศึกษาสาว วัย 22 ปี ที่ตกเป็นแพะรับบาป หลังรู้ข่าวผู้ต้องหาตัวจริงถูกจับ บอกว่า ดีใจมาก ลูกสาวพ้นมลทินเสียที ได้อิสรภาพกลับมา ส่วนผู้ก่อเหตุบอกเลยว่า ไม่ให้อภัยเด็ดขาด เพราะมาใส่ร้ายคนบริสุทธิ์ อยากให้ถูกขังนานๆ จะไม่ได้ออกมาแกล้งคนอื่นอีก
จากตัวอย่างเหตุการณ์นี้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะบอกให้ว่ามันคือ “ภัยใกล้ตัว” ในยุคที่การขนส่งพัสดุกำลังได้รับความนิยม นักค้ายาเสพติดหรือสิ่งผิดกฎหมาย จึงใช้วิธีอาศัยเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะ ON LINE เป็นช่องทางทำมาหากิน
หาก “ถึงคราวเคราะห์"! ตกเป็นเหยื่อเซ็นรับพัสดุเจอยาเสพติดหรือของผิดกฎหมาย เท่ากับโดนคดีไม่รู้ตัว ! อาจมีคำถามว่า ไม่ได้เป็นคนสั่งของผิดกฎหมายซะหน่อย! ไม่ได้ร่วมแก๊งมิจฉาชีพ ทำไมต้องถูกดำเนินคดีด้วยล่ะ?
ช่องว่างกฎหมาย อาจติดคุก ฟรี แม้ไม่ผิด!
เพราะเรื่องนี้ มีเหตุและผลของมัน! กิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ์ ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า ต้องเข้าใจการดำเนินคดีอาญาของประเทศไทย เป็น “ระบบการกล่าวหา” ซึ่งยึดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 8 พ.ศ.2564) ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า “ มียาเสพติดไว้ในครอบครอง” ถึงแม้ของผิดกฎหมายอยู่กับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ แต่มันถือเป็นพยานหลักฐานที่ชัดแจ้ง จึงยากที่จะปฎิเสธ ดังนั้น ตำรวจจึงต้องแจ้งข้อหาเพื่อดำเนินคดี แล้วไปหาทางพิสูจน์ความบริสุทธิ์กันตามกระบวนการข้อกฎหมาย ทั้งในชั้น พนักงานสอบสวน, อัยการ หรือ สุดท้ายอาจต้องไปจบที่ชั้นศาล แต่ในปัจจุบันหลังมีการแก้ไขกฎหมาย หากได้รับกล่องพัสดุปริศนาที่มีสิ่งผิดกฎหมายส่งมาถึง แม้จะมีการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเราเป็นผู้ครอบครอง แต่เราก็ต้องแสดงความบริสุทธิ์ตั้งแต่ต้นทันที เพื่อที่พนักงานสอบสวนจะได้สอบสวนเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง,ความเกี่ยวโยงกับต้นทางการส่ง หากพบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องจริง พนักงานสอบสวนอาจจะสั่งไม่ฟ้อง เพื่อกันไว้เป็นพยานก็ได้
เมื่อตกผู้ถูกกล่าวหา โดนตำรวจจับกุมดำเนินคดี จะต้องทำอย่างไร?
หากเป็นผู้บริสุทธิ์อย่างแท้จริง ก็ไม่ต้องกลัวอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเราเป็นผู้แจ้งความ แสดงความบริสุทธิ์ สุจริตใจ ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ส่วนมากตำรวจจะปล่อยตัวชั่วคราว โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน ถึงแม้ กระบวนการในชั้นพนักงานสอบสวน ยังดำเนินต่อไป ทั้งการเก็บพยานหลักฐาน, เชิญตัวไปสอบปากคำ, จนถึงออกหมายเรียกเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง เพื่อสรุปสำนวนส่งอัยการ ซึ่งหากถูกกลั่นแกล้ง ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดจริง ก็พิสูจน์ได้ไม่ยาก ระหว่างพิจารณาคดี ต้องนำพยาน-หลักฐาน เข้าแก้ข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวนและชั้นศาล
“ยาเสพติด” ที่ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญ จะเป็นหลักฐานให้อัยการ กำหนดโทษ เพื่อ “สั่งฟ้อง” หรือไม่?
มีหลักการพิจารณาจาก จำนวนที่ยึดได้ อธิบายให้ง่ายๆ เลย เช่น ถ้าเป็นยาม้าถูกยึดได้ ตำรวจจะนับเม็ดก่อน แล้วจึงส่งให้ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ( สพฐ.ตร. )หา“สารเสพติดบริสุทธิ์ “ ที่สกัดออกมาจากยาเสพติด มีปริมาณเป็น “กรัม “ เพราะมีผลต่อการสั่งฟ้อง และกำหนดโทษ ต้องแยกในฐานะผู้เสพ หรือ ผู้ค้า เพื่อทำสำนวนส่งอัยการ พนักงานอัยการจะเป็นผู้พิจารณาอีกชั้นหนึ่งว่า จะสั่งฟ้อง หรือไม่ฟ้อง เช่น ถ้ายาบ้า 1 เม็ด สกัดสารบริสุทธิ์ได้แค่ 0.1 กรัม เจอข้อหา “ครอบครองยาเสพติดไว้เพื่อเสพ” ต้องถูกนำตัวไปบำบัด ถึงแม้ว่าเราไม่ได้เป็นผู้เสพด้วยซ้ำ” ดังนั้น เหตุแบบนี้ อาจเกิดขึ้นได้ หากมีใครคิดแกล้งเราด้วยการส่งยาเสพติดมาให้ 1 เม็ด เพราะฉะนั้น หากเผลอรับพัสดุปลายทาง แล้วเจอแบบนี้ เราในฐานะผู้บริสุทธิ์ต่อเจ้าหน้าที่ทันที ต้องแย้งไปว่าฉันไม่ได้เสพ แต่มีของส่งมาหาฉัน ก็เป็นชื่อของฉันถึงได้เปิดไง ไม่งั้นฉันไม่แจ้งตำรวจหรอก นี่แหละ เมื่ออัยการ เห็นว่า มียาบ้าแค่เม็ดเดียว และผู้ถูกกล่าวหา มีเจตนาบริสุทธิ์ จึงมีความเห็นไม่สั่งฟ้อง ก็ไม่ต้องถึงชั้นศาล โดยอัยการจะดูจากเจตนา จำนวนของสิ่งเสพติด และปริมาณของ “สารบริสุทธิ์ “ ที่สกัดออกมาจากยาเสพติด ยึดปริมาณเป็น “กรัม” แต่ถ้ายาเสพติดมีปริมาณมาก เช่น 2 กิโลกรัม ก็ต้องพิสูจน์กันให้ชัดว่า ส่งผิดคนจริงหรือเปล่า?
อย่างไรก็ตาม อยากให้เข้าใจการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจและอัยการ เพราะต้องทำตามหน้าที่ เพื่อไม่ให้โดนข้อหา “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157” อีกทั้งเคยมีเหตุการณ์ที่ผู้ค้า/ผู้เสพ แสร้งทำตัวเป็นผู้บริสุทธิ์ก็มีมาแล้ว (เพราะรู้ว่าตำรวจติดตามขยายผลพัสดุมาจากผู้ค้ารายใหญ่) ที่บัญญัติ ว่า "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใด หรือ ปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 2 พันบาท ถึง 2 หมื่นบาท หรือ ทั้งจำ ทั้งปรับ
ทำไม? บริษัทขนส่งพัสดุเอกชนจึงกลายเป็นสวรรค์ของแก๊งมิจฉาชีพ!
เพราะช่องโหว่ในการกระบวนการตรวจสอบที่ไม่เข้มงวดนั่นไง! มีหลายอย่างที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เคยทดลองส่งพัสดุ ได้ผลแบบนี้
1.ทดลองใช้บัตรประชาชนที่เคยแจ้งหาย(เพิ่งมาพบภายหลัง หลังแจ้งหายไปแล้ว) ส่งให้พนักงานรับส่งพัสดุเอกชนดู ใช้ได้แฮะ! เขาดูรูปที่ตรงกับคนส่ง
2.บริษัทขนส่งเอกชนมีเครื่องเสียบตรวจสอบบัตรประชาชนนะ แต่ใช้งานไม่ได้จริง เพราะใช้บัตรที่เคยแจ้งหายก็ได้ เห็นข้อมูลเดิม เช่น ชื่อ - นามสกุล ที่อยู่ แต่รูปถ่ายไม่ใช่ของที่เราไปทำมาใหม่ที่อำเภอ โดยเฉพาะเลขรหัสด้านหลังบัตร รวมถึงข้อมูลวันที่ทำบัตรใหม่ และวันหมดอายุ
3.เครื่องเสียบตรวจสอบบัตรประชาขน ของบริษัทขนส่งเอกชน ไม่เชื่อมต่อข้อมูลของระบบราชการไง! ก็เลยไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า คนที่มาส่งพัสดุ มีประวัติอาชญากรหรือเปล่า!
4.ขนส่งพัสดุเอกชนบางแห่ง ขอแค่เบอร์มือถือ ถ้ามีขึ้นในระบบเคยส่งพัสดุ ก็ผ่านฉลุย
5.บริษัทขนส่งเอกชน ว่าจ้าง บริษัทรับ-ส่ง ประเภท Subcontract หรือ “ผู้รับเหมาช่วง” ที่รับจ้างนำกล่องพัสดุจำนวนมากไปส่งให้บริษัทขนส่งเอกชนอีกทอด จึงขาดการตรวจสอบ
6.บริษัทขนส่งเอกชนไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลโดยตรง
(ส่วนบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงมีมาตรการตรวจสอบการส่งพัสดุเข้มงวด แถมมีระบบเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐ มิจฉาชีพจึงไม่กล้าใช้บริการ)
หากตกเป็นเหยื่อเซ็นรับพัสดุยัดยาเสพติด-ของผิดกฏหมายต้องทำอย่างไร ?
มีข้อแนะนำสำคัญที่สุดอย่างแรก ของไม่ได้สั่งห้ามเซ็นรับเด็ดขาด ให้พนักงานส่งของเอากลับไปเลย แต่หากเผลอเซ็นรับมาแล้ว ห้ามเปิดกล่องพัสดุเด็ดขาดเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ จากนั้นต้องรีบไปแจ้งความตำรวจในท้องที่ให้มาช่วยตรวจสอบ เพราะหากขืนเปิดกล่องพัสดุ แล้วพบภายในเป็นยาเสพติด ต้องถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเชิญตัวไปสอบปากคำ รวมถึงตรวจสอบพยานหลักฐานให้แน่ชัด เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาหากเข้าสู่กระบวนการต่อสู้
ดังนั้น หากไม่อยากตกเป็นเหยื่อ ทางที่ดีที่สุดคือ ถ้าไม่ได้สั่งของ ไม่ต้องรับ ไม่ต้องเปิด และอย่าให้ใครสวมอ้างนำชื่อตัวเองไปสั่งของเด็ดขาด เพราะอาจเจอเรื่องไม่คาดฝันได้ หากเลี่ยงไม่ได้และไม่ทราบที่มาของพัสดุ ให้เปิดต่อหน้าผู้ขนส่งหรือเจ้าหน้าที่
เตือนไว้เลย
ระวังรับพัสดุสอดไส้ # "ยาเสพติด" - ของผิดกฎหมาย #“เสี่ยงติดคุก ต้องเช็กให้ดี ไม่แกะ ไม่เปิด "ไม่ได้สั่งของ ไม่ต้องรับ ไม่ต้องเปิด"ให้รีบแจ้งตำรวจมาตรวจสอบ ที่สำคัญอย่ายอมให้ใครใช้ชื่อเรา เป็นผู้ส่งพัสดุ
เครดิต : กิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ์ ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค”