“พาราควอต” พิษร้ายยาฆ่าหญ้ากับการต่อสู้ของชาวหนองบัวลำภู
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 24-10-2023 10:27
หมวดหมู่: สินค้าและบริการทั่วไป

“พาราควอต” พิษร้ายยาฆ่าหญ้ากับการต่อสู้ของชาวหนองบัวลำภู
ป่วยโรคเนื้อเน่าจนต้องตัดขากลายเป็นคนพิการ ร้ายแรงสุดบางคนถึงแก่ชีวิต ... นี่หรือ คือ ชีวิตของชาวจังหวัดหนองบัวลำภู จาก 3 อำเภอ ได้แก่ โนนสัง,นากลาง และสุวรรณคูหา เป็นกลุ่มคนจำนวนมากที่ต้องทนทุกข์ทรมาน เผชิญพิษร้ายจากยาฆ่าหญ้า “พาราควอต” ซึ่งกัดกินเรื้อรังมาจนถึงปัจจุบัน นี่เป็นคำบอกเล่าที่แสนสะเทือนใจของตัวแทนชาวบ้าน ตอนนั้น ทุกคนเคว้งคว้างไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร ให้บังเอิญมีแกนนำชาวบ้าน เห็นข่าว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รณรงค์ไม่ให้ใช้ 3 สารพิษฆ่าหญ้า “พาราควอต - คลอร์ไพริฟอส – ไกลโฟเซต” จึงพากันมาขอความช่วยเหลือ เพื่อหาทนายมาช่วยฟ้องคดี
ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2561 เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ และ ทนายความของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง หลังจากได้พบเจอกับชาวบ้าน พบว่า ต่างล้วนได้รับบาดแผลจาก ตอข้าว คมจากใบอ้อย และ หนามจากไม้ยางพารา เกิดเป็นบาดแผลเน่า บริเวณ มือ ข้อมือ ลำแข้ง ถึง เท้า อ่านข้อมูลเพิ่มเติมจากบทความ “แผ่นดินอาบยาพิษ เรื่องจริงของ “พาราควอต” จากหนองบัวลำภู” https://chaladsue.com/article/2988
จากนั้น กระบวนการทางกฎหมายได้เริ่มเดินหน้า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นตัวแทนเกษตรกรผู้เสียหาย 16 ราย ยื่นฟ้อง บริษัท เจียไต๋ จำกัด บริษัทผู้นำเข้าและจำหน่ายสารเคมีเกษตรรายใหญ่ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งนำเข้าและจำหน่ายยาฆ่าหญ้า ยี่ห้อ “ก๊อกโซน” เบื้องต้น เรียกค่าเสียหาย รวม 11 ล้านบาท ถือได้ว่าเป็นคดีฟ้องกลุ่มในคดีแรกของประเทศไทยที่มีการเรียกร้องความเสียหายจากบริษัทนำเข้าสารเคมี
นี่ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ ที่ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 ระหว่างทาง ศาลนัดคู่ความมาไกล่เกลี่ย แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ศาลจังหวัดหนองบัวลำภู ( ศาลชั้นต้น ) จึงนัดไต่สวนคดีแบบกลุ่ม ระหว่างวันที่ 4-7 มีนาคม 2563 … การต่อสู้เรียกร้องมานานกว่า 2 ปี แต่สุดท้าย ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ไม่รับฟ้องเป็นคดีกลุ่ม
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงยื่นอุทธรณ์ กระทั่งวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 “ศาลอุทธรณ์ภาค 4” มีคำสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่ม นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค และทนายความ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า การที่ศาลอุทธรณ์รับฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่ม โดยมีเหตุผลเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ที่ว่าหากฟ้องคดีแยกกัน การนำสืบที่แตกต่างกัน ทำให้ผลการตัดสินอาจไม่เหมือนกันได้ และผู้ที่ได้รับความเสียหายบางส่วนจะไม่ได้รับการเยียวยา และศาลยังเห็นว่า การที่ประชาชนได้รับการเยียวยาจากผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจที่ก่อให้เกิดความเสียหาย จะทำให้เกิดการลงโทษเชิงทรัพย์สินกับผู้ประกอบธุรกิจ และจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจตระหนักได้ว่าหากไม่แก้ไขปรับปรุงในการประกอบธุรกิจ ก็อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยวิธีการดำเนินคดีแบบกลุ่มอีก และอาจมีค่าใช้จ่ายมากกว่ากาปรับปรุงการประกอบธุรกิจ นอกจากนี้ ศาลมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการปฏิบัติตามคำพิพากษาในคำพิพากษาหรือในคำสั่งภายหลังก็ได้ ส่วนการเรียกค่าเสียหายของสมาชิกกลุ่ม 16 คน เรียกค่าเสียหายรวมประมาณ 11.32 ล้านบาท เป็นค่ารักษาพยาบาลตามจริง ค่ารักษาพยาบาลในอนาคต 300,000 บาท ค่าขาดรายได้วันละ 1,500 บาท ค่าทำให้เสียโฉมติดตัว 200,000 บาท ค่าความเสียหายที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ปกติสุขทางด้านร่างกายและจิตใจ 200,000 บาท ค่าเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ และเสียชีวิตรายละ 2,000,000 บาท ซึ่งการเรียกค่าเสียหายของสมาชิก แต่ละคนอาจแตกต่างกันไปตามความเสียหายที่เกิดขึ้น
ซึ่งวันที่ 25 ตุลาคม 2566 ศาลอุทธรณ์ ได้นัดฟังคำพิพากษา หากศาลตัดสินให้ผู้ฟ้องทั้ง 16 คนได้รับการชดเชย จะส่งผลดีไปถึงผู้ได้รับความเสียหายจากสารเคมีเกษตรตกค้างรายอื่นๆ ได้รับประโยชน์จากคำตัดสินคดีด้วย ถึงแม้ไม่ได้เป็นผู้ร่วมฟ้องตั้งแต่ต้น นี่เป็นผลดีที่คดีสินค้าไม่ปลอดภัยจากยาฆ่าหญ้ายื่นขออนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เพราะมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก ทั้งคนอื่นๆ ในจังหวัดและคนในพื้นที่อื่นทั่วทั้งประเทศ ที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากสินค้าดังกล่าว
ติดตามข่าว คำพิพากษา “ คดีพาราควอต “ ได้ที่เพจและเว็ปไซต์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค วันที่ 25 ตุลาคม 2566