ปกส.ยืนยัน จ่ายเงินชราภาพ อายุครบ 55 ปี
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 03-01-2023 14:18
หมวดหมู่: อื่นๆ






สิทธิประกันสังคม กรณี “ ชราภาพ “ รับเงินบำเหน็จ-บำนาญ สำนักงานประกันสังคม ยืนยัน ผู้ประกันตน อายุ 55 ปี บริบูรณ์ ยังจ่ายตามเดิม
จากที่มีกระแสข่าว การจ่ายเงินชราภาพ จะยืดไปถึงอายุ 60 ปี ทำให้ผู้ประกันตน ที่อายุครบ 55 ปี บริบูรณ์รู้สึกเป็นกังวล เพราะรอเงินนี้มานาน เพื่อใช้จ่ายในช่วงบั้นปลายของชีวิต
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้สอบถามไปที่ สำนักงานประกันสังคม เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 ได้รับการยืนยัน ยังจ่ายให้ผู้ประกันตน ที่อายุครบ55 ปีบริบูรณ์ ตามเดิม ส่วนประเด็นที่ว่า จะเลื่อนไปจ่ายเมื่ออายุครบ60ปี เป็นแค่ข่าวลือ เพราะการเปลี่ยนแปลงข้อกฎกำหนด ทางกฎหมาย ต้องประกาศใน “ราชกิจจานุเบกษา” เท่านั้น
สำหรับ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการได้รับสิทธิ “ชราภาพ “ กรณี “ บำเหน็จ “ โดยผู้ประกันตนต้องมีอายุครบ 55 ปี บริบูรณ์ หรือ เป็นผู้ทุพพลภาพ หรือ ถึงแก่ความตาย , ต้องไม่เป็นผู้ประกันตน ทั้ง มาตรา 33 (ทำงานกับนายจ้าง) และ มาตรา 39 (ประกันตนเอง) , และ จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน
ส่วนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขประโยชน์ทดแทนกรณีบำนาญชราภาพ จะได้รับการจ่ายเป็นรายเดือนทุกเดือน จนเสียชีวิต** โดยผู้ประกันตน ต้องมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ , ไม่เป็นผู้ประกันตน ทั้ง มาตรา 33 (ทำงานกับนายจ้าง) และ มาตรา 39 (ประกันตนเอง) , กรณีจ่ายเงินสมทบมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 180 เดือน มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนใน อัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง , ส่วน กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน ให้ปรับเพิ่มอัตราบำนาญชราภาพตามข้อ 1 ขึ้นอีกในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อ ระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก 12 เดือน สำหรับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบเกินกว่า 180 เดือน
ทั้งนี้ กฎกระทรวงเพิ่มเงินบำนาญชราภาพ กรณี ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย ภายใน 60 เดือนให้กับทายาท มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 โดย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ลงนามในประกาศกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลาและอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2565 ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันและเป็นการช่วยเหลือทายาทของผู้รับบำนาญชราภาพในการดำรงชีวิตภายหลังผู้รับบำนาญชราภาพ ซึ่งเป็นผู้ประกันตนถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน โดยมีสาระสำคัญของกฎกระทรวง เพิ่มใน 3 ประเด็น ดังนี้
1.กำหนดให้ผู้รับบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือนนับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ จากเดิม 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับคราวสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย ปรับเป็นให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเป็นจำนวนเท่ากับจำนวนเงินบำนาญ ชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย คูณด้วยจำนวนเดือนที่เหลือหลังจากผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายจนครบ 60 เดือน เช่น กรณีที่ผู้ประกันตนได้รับบำนาญชราภาพเดือนละ 5,250 บาท และได้รับเงินบำนาญชราภาพมาแล้ว 20 เดือนก่อนถึงแก่ความตาย เมื่อกฎกระทรวงนี้ประกาศใช้ ทายาทจะได้รับเงินบำนาญชราภาพที่เหลืออีก 40 เดือน (5,250 X 40 = 210,000 ) เป็นต้น
2. ผู้ที่เคยได้รับเงินบำนาญชราภาพแล้วถูกงดจ่าย เนื่องจากกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนและต่อมาถึงแก่ความตาย หากบุคคลนั้นได้รับเงินบำนาญชราภาพมาแล้วไม่เกิน 60 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ จากเดิม 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนคราวสุดท้ายก่อนกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน ปรับเป็นให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเป็นจำนวนเท่ากับจำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนคูณด้วยจำนวนเดือนที่เหลือหลังจากผู้รับบำนาญชราภาพกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนจนครบ 60 เดือน เช่นกัน
3.กำหนดบทเฉพาะกาลให้ผู้รับบำนาญชราภาพอยู่ก่อนกฎกระทรวงฉบับนี้ใช้บังคับและรับบำนาญชราภาพมาแล้วยังไม่ครบ 60 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพจนครบ 60 เดือน และในกรณีรับเงินบำนาญชราภาพมาแล้วและจำนวนเดือนเหลือน้อยกว่า 10 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเป็นจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย
ส่วน บำเหน็จชราภาพ มีเงื่อนไข เป็น ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน , ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง , มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ,หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ, หรือถึงแก่ความตาย
ทั้งนี้ ผู้ประกันตน ที่มีสิทธิรับเงินสมทบ “ ชราภาพ “ บำเหน็จ หรือ บำนาญ เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ สำนักงานประกันสังคม จะส่งเอกสารแจ้งไปยังที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน ให้เร่งมาดำเนินการตามสิทธิที่พึงมีทันที หรือ หากช้ากว่านั้น ต้องไม่เกิน ภายใน 2 ปี สามารถไปแจ้งความจำนงในพื้นที่ไหนก็ได้ตามที่ผู้ประกันตนสะดวก
โดย ขั้นตอนการขอรับประโยชน์ทดแทน มีหลักเกณฑ์ที่จะทำให้มีสิทธิ นั่นคือ ผู้ประกันตน , ทายาทผู้มีสิทธิ ต้องกรอกแบบ สปส. 2-01 พร้อมลงลายมือชื่อ และนำมายื่นที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัด ,สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ , หรือยื่นขอรับทางไปรษณีย์ โดยมีหลักฐานครบถ้วน จากนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจหลักฐานและพิจารณา เสร็จสิ้น สำนักงานประกันสังคม จะมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาซึ่งการพิจารณาสั่งจ่าย จะเป็น เงินสด หรือ เช็ค ซึ่งผู้ประกันตน หรือ ผู้มีสิทธิมารับด้วยตนเองหรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมารับแทน , นอกจากนี้ อาจส่งธนาณัติให้ผู้ประกันตน โอนเข้าบัญชีธนาคารตามบัญชีของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน
สำนักงานประกันสังคม ยังมีข้อแนะนำ หากให้โอนผ่านบัญชีธนาคาร จะต้องเสียค่าโอนครั้งละ 5 บาท ทุกเดือน ดังนั้น จึงเพิ่มช่องทางการให้บริการจ่ายเงินประโยชน์ทดแทน กรณีบำนาญชราภาพ ผ่านบริการพร้อมเพย์ ด้วยเลขบัตรประชาชนกับธนาคารที่ผู้ประกันตนเปิดบัญชีไว้ ทำให้ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการรับเงินผ่านธนาคารกรณีรับเงินบำนาญชราภาพครั้งละไม่เกิน 10,000 บาทและ ไม่ต้องยื่นสำเนาหน้าบัญชีเงินฝากธนาคารกับสำนักงานประกันสังคมในการขอรับประโยชน์ทดแทน