มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

เจอขนมในซองขึ้นราทั้งที่ยังไม่หมดอายุต้องจัดการ !

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 13-09-2023 15:51

หมวดหมู่: สินค้าและบริการทั่วไป

ภาพประกอบข่าว

เจอขนมในซองขึ้นราทั้งที่ยังไม่หมดอายุต้องจัดการ !

“เราซื้อขนมเค้กเจ้าดังมาซองหนึ่งค่ะ นี่ก็ดูดีแล้วนะ หน้าซอง บอกวันหมดอายุอีกตั้งหลายเดือน แต่พอ เปิดซองจะบิขนมเข้าปาก เท่านั้นละ เหลือบไปเห็นอะไรดำใต้ขนม "รา" นี่นา ดีนะ ที่ยังไม่กินเข้าไป ถ้างั้นก็แสดงว่าเวลาที่ระบุหน้าซองขนมนี่เชื่อไม่ได้สินะคะ”

“ ส่วนเราสิ โคตรซวยเลย วันนั้นไปซื้อขนมเค้กเจ้าดังมาซองหนึ่ง เพราะเจ้าลูกชาย อายุ 8 ขวบ บ่นหิว หลังจากแกะห่อขนมก็เอาขนมเข้าปากทันที ไม่ทันคิดว่าตรวจสอบอะไรหรอก เจ้าลูกชาย พอเคี้ยวไปคำแรก ก็บอกว่า ทำไมขมจังเลย พ่อก็เลยขอขนมในมือมาดูซิ มันมีอะไร สิ่งที่เจอ คือ ขนมขึ้นราทั้งชิ้น ลูกชายรีบวิ่งเข้าไปอ้วกในห้องน้ำ แทบไม่ทัน เราก็คิดว่าขนมอาจหมดอายุ แต่เปล่าเลย ขนมยังไม่หมดอายุ แต่จากสภาพขนมแล้วคือมันไม่ใช่ แล้วเพิ่งซื้อมาอีก 2 กล่อง ยังจะกล้ากินมันอีกไหม หลังจากเห็นสภาพขนมชิ้นแรกที่แกะออกมา ก็เจอแจ็คพอตเลย แบบนี้ใครจะรับผิดชอบ ตอนนี้รู้สึกหยีกับขนมยี่ห้อนี้ไปเลย ผู้เกี่ยวข้องรบกวนชี้แจงเหตุด้วย

หากผู้บริโภคเจอเหตุการณ์แบบนี้ ต้องลุกขึ้นมาใช้สิทธิในฐานะผู้บริโภค ถือว่า ยอดเยี่ยมที่สุด!! แล้วต้องทำอย่างไรบ้าง? เรื่องนี้ นายธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำต้องใช้แผน 5 ขั้นตอน

1. ถ่ายรูปและเก็บตัวอย่างสินค้าไว้เป็นหลักฐาน กรณีมีใบเสร็จจากร้านค้าให้เก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย

2. ไปพบแพทย์ เพื่อตรวจร่างกาย และขอใบรับรองแพทย์ พร้อมเก็บใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลไว้เป็นหลักฐาน

3. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจท้องที่ เพื่อเป็นหลักฐาน ได้ประโยชน์ทั้งการยืนยันไม่ได้กลั่นแกล้ง และใช้เป็นหลักฐานนำไปยื่นร้องที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หากถึงที่สุด อาจต้องฟ้องร้องไปฟ้องที่ศาลแพ่ง แผนกคดีผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็พร้อมช่วยเหลือทางด้านเอกสารหรือทางคดี

4. โทรแจ้งศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (เบอร์โทรระบุไว้ที่ภาชนะบรรจุ) ซึ่งต้องคิดให้ดีว่า เราต้องการให้บริษัทดำเนินการอย่างไร เพื่อขอให้แก้ไขปัญหา พร้อมชดเชย เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น

5. ทำหนังสือยื่นข้อเสนอกับบริษัท ด้วยการบรรยายสรุปปัญหาที่พบ โดยส่งถึงประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า และให้ระบุความต้องการที่ชัดเจนซึ่งเป็นความเสียหายของผู้บริโภค เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืน ชดเชยค่ารักษาพยาบาล จ่ายค่าเสียเวลา ค่าขาดประโยชน์ และค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ ให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น

อ้อ ... ขอเตือนไว้เลยนะ หลักฐานตัวจริงทั้งหมดต้องเก็บไว้ที่ตนเอง ห้ามให้หน่วยงานหรือผู้ประกอบการโดยเด็ดขาด !

นายธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค บอกว่า ผู้บริโภค มีสิทธิ์เต็มที่จะปกป้องสุขภาพร่างกายของเรา นั่นเพราะ บริษัทผู้ผลิตอาหารกระทำความผิดเข้าข่ายผิดกฎหมาย พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) เรื่องอาหารไม่บริสุทธ์ โดยมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 58 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผู้บริโภคอย่างเรา ๆ สามารถนำบทลงโทษนี้มาเป็นฐานประกอบการคำนวนความเสียหายในการเรียกร้องให้ผู้ประกอบการเยียวยาได้ ที่สำคัญหากไม่สามารถตกลงกันได้ก็สามารถใช้กระบวนการฟ้องร้องต่อศาล โดยใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ในการดำเนินการฟ้องได้

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สัมภาษณ์ เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ( อย. ) ถึงเรื่องอาหารไม่ปลอดภัย อาหารปนเปื้อน ได้รับคำแนะนำ ว่า หากเจออาหารอันตรายต่อสุขภาพ สามารถ ส่งมาให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย. ) ทันที โดยกรุงเทพฯ สามารถเดินทางมาส่งมอบได้ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ชั้น 1 อาคาร 5 เจ้าหน้าที่จะดำเนินการบันทึกคำให้การ พร้อมนำตัวอย่างสินค้าที่มีปัญหาไปส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่กรุงเทพฯ หรือศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้ง 12 ศูนย์ทั่วประเทศ ได้ทันที ( วิธีนี้ถือเป็นกระบวนการดีที่สุด ) หรือแจ้งเรื่องผ่านช่องทางโทรศัพท์ - โซเชียลมีเดีย มาก่อนจากนั้น ค่อยส่งสินค้าที่มีปัญหามาทางดิลิเวอรี ตามหลังมา หากผู้เสียหายอยู่ต่างจังหวัดให้นำสินค้าที่มีปัญหามาแจ้งที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ การนำส่งพยาน-หลักฐานที่สมบูรณ์จะช่วยให้ อย. ทำงานได้ง่ายขึ้น

**อ้อ ! มีคำถาม จากผู้บริโภคที่กังวลใจ หากเราเผลอกินอาหารที่มีเชื้อราโดยเรามองไม่เห็น ไม่รู้ตัว จะเกิดอันตรายอะไรแก่ร่างกายมั้ย ! **

เรื่องนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้สืบค้นข้อมูลทางการแพทย์ มีข้อแนะนำ ว่า หากเผลอกิน "เชื้อรา" เข้าไป พอรู้ตัว ให้หยุดทานทันที และเก็บอาหารใส่ถุงทิ้ง ทั่วไป มักจะแยกชนิดเชื้อราไม่ได้ด้วยตาเปล่า ไม่รู้ว่าราที่เผลอทานเข้าไปมีพิษหรือไม่ สังเกตอาการ หากมีอาการผิดปกติ เช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ปวดท้อง ต้องทำให้อาเจียนเพื่อขับสารพิษออก และรีบไปพบแพทย์โดยด่วน


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม