มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

ผู้ใช้ทางด่วนร้องเรียน M-Flow ไม่เป็นธรรม

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 12-10-2023 11:51

หมวดหมู่: บริการขนส่งและยานพาหนะ

ภาพประกอบข่าว

ผู้ใช้ทางด่วนร้องเรียน M-Flow “ไม่เป็นธรรม-ระบบไม่เสถียร” แรงสุดเจอค่าปรับ 10 เท่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร้องหน่วยงานรับผิดชอบเร่งแก้ไข และคืนเงินผู้บริโภคทันที

ค่าปรับ M-Flow 10 เท่า ผู้ใช้ทางด่วนร้องเรียน “ไม่เป็นธรรม-ระบบไม่เสถียร” แต่กลับโยนภาระให้ผู้ใช้ทาง อีกทั้งช่องทางติดต่อเจ้าหน้าที่แสนลำบาก ดังนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเรียกร้องคืนเงินผู้บริโภคทันที และให้เร่งแก้ไขระบบ เพราะตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่กรมทางหลวงเปิดใช้ M-Flow มีปัญหามาตลอด

วันที่ 12 ตุลาคม 2566 นายธนัช ธรรมิสกุล ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ค่าปรับ M-Flow 10 เท่า ที่ผู้บริโภคพากันร้องเรียน มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ปัญหาส่วนใหญ่ล้วนเกิดจากระบบการจัดการที่ไม่เสถียร เช่น ตรวจสอบกำหนดชำระเงินในแอปพลิเคชัน ยังไม่พบการตัดบัตรเครดิตทั้งที่ครบกำหนดต้องจ่าย แต่กลับไม่เคยได้รับข้อความ หรือ หนังสือแจ้งเตือนให้ชำระหนี้ อย่างเป็นทางการ พอไปตรวจสอบในระบบเว็บไซต์ของ M-Flow กลับแจ้งว่า มียอดค้างชำระไม่จ่ายตามกำหนด จึงต้องคิดค่าปรับ 10 เท่า บางคนเจอค่าปรับหลักหมื่นบาท โหดยิ่งกว่าหนี้นอกระบบ ที่สำคัญยังถูกหมายเรียกจากตำรวจทางหลวงอีกด้วย มีบางคนบอกว่า ทั้งที่สมัครเป็นสมาชิกโดยลงทะเบียนผ่าน Line OA พร้อมตัดบัตรเครดิตสำเร็จ แต่กลับได้รับจดหมายแจ้งให้ชำระค่าธรรมเนียมพร้อมค่าปรับ 10 เท่า โดยระบุว่า เป็นรถยนต์ที่ไม่ได้ลงทะเบียนเป็นสมาชิก โดนค่าปรับ 10 เท่า ทั้งที่เป็นความผิดของระบบ M-Flow พอโทรศัพท์ไปที่ call-center 1586 เพื่อสอบถามปัญหาที่เกิดขึ้น กลับติดต่อยากมาก ซึ่งผู้บริโภคที่ตกเป็นผู้เสียหายจำนวนมาก ร้องเรียนว่า ความผิดเกิดจากระบบ ของ M-Flow แต่กลับให้ผู้บริโภคต้องมารับผิดชอบ อย่างนี้ไม่ถูกต้อง สร้างความไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง

นายธนัช บอกว่า ท่านหนึ่งต้องจ่ายค่าปรับ 10 เท่า ของ M-Flow นี่เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งของผู้บริโภคที่มาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ท่านนี้เป็นผู้ใช้ทางซึ่งเป็นสมาชิก M-Flow ด้วย ซึ่งยังมีผู้บริโภคที่ไม่ได้เป็นสมาชิก เจอปัญหาค่าปรับ 10 เท่า แทบไม่ต่างกัน แต่แย่ยิ่งกว่าเพราะเฟซบุ๊กของ M-Flow โพสต์ข้อมูลระบุว่า “ถ้าไม่เป็นสมาชิก แต่ฝ่าฝืนใช้ทาง M-Flow เบื้องต้นถือว่ามีความผิดตามโทษฝ่าฝืนพระราชบัญญัติทางหลวง มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 5 พันบาท แต่ระบบจะอนุโลมโทษ ชำระค่าผ่านทางได้ไม่เกิน 7 วัน เท่านั้น โดยสามารถชำระได้ทางเว็บไซต์ ( https://mflowthai.com/mflow/unuserpayment ) “แต่หากมีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าผ่านทาง ระบบจะดำเนินการตามขั้นตอนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมถึงมาตรการขึ้นบัญชีดำเรียกให้ชำระค่าผ่านทางและค่าปรับในขั้นตอนชำระ ภาษีรถยนต์ประจำปี”

นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก M-Flow มาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) นายธนัชบอกว่า มีทั้งผู้ที่อยู่ต่างจังหวัด ไม่ทราบว่า ระบบ M-Flow คืออะไร เพราะไม่ได้ติดตามข่าว เมื่อขับผ่านช่องทางด่วนเห็นไม่มีคันไหนจอดจ่ายเงิน จึงเข้าใจว่าเป็นระบบเปิดทดลองใช้ใหม่ กลายเป็นว่าขึ้นทางด่วนเข้าช่องผิดชีวิตเปลี่ยน โดน M-Flow ปรับ 10 เท่า บางคนบอกว่า ปกติไม่ได้ใช้ทางด่วน เข้าใจผิดคิดว่า ช่อง Easy pass คือทางด่วน เหตุเกิด 15 กุมภาพันธ์ 2565 แต่เพิ่งได้รับใบแจ้งหนี้เดือนตุลาคม 2566 เป็นปีแล้ว บิลเพิ่งมา แต่โดนค่าปรับ 10 เท่า อย่างนี้ไม่เป็นธรรม บางรายบอกว่าชำระค่าผ่านทางเรียบร้อยแต่กลับมีหนังสือส่งมา แจ้งค่าปรับ 10 เท่า เมื่อสืบสาวราวเรื่อง พบว่าระบบรวนแจ้งยอดไม่ครบ เมื่อแจ้งไปยัง call-center 1586 เจ้าหน้าที่ปฏิเสธความรับผิดชอบ อ้างว่าส่งเรื่องไปที่กรมทางหลวง แล้ว ให้ไปทำเรื่องกับตำรวจที่ สน. ระบบมีปัญหา แต่กลับผลักภาระให้ผู้ใช้ทางต้องจ่ายค่าปรับอย่างเดียวแถมใช้ถ้อยคำในจดหมายเหมือนเราเป็นคนผิด บางรายร้องเรียนว่ามีบัตร Easy pass เห็นช่องไหนว่างก็ขับเข้าไป กลายเป็นช่อง M-Flow พอเลี้ยวเข้าไปผิดทำให้ตกใจ เพราะเจอป้ายเขียนไว้ว่า ฝ่าฝืนใช้ทาง M-Flow เบื้องต้น ถือว่า มีความผิดตามโทษฝ่าฝืนพระราชบัญญัติทางหลวง มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 5 พันบาท แต่ระบบจะอนุโลมโทษ ชำระค่าผ่านทางได้ไม่เกิน 7 วัน เท่านั้น จึงไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะย้อนออกมาไม่ได้แล้ว พอออกมาได้ เตรียมหาวิธีจ่ายเงินตามเว็บไซต์ที่ให้ไว้ แต่ระบบไม่เรียลไทม์ สุดท้ายโดนค่าปรับ 10 เท่า บางคนเจอปัญหาเปลี่ยนทะเบียนรถ มี Esay pass ไปเชื่อม M-Flow แต่ระบบไม่ตัดเงินผ่านบัญชีที่ลงทะเบียนไว้ เมื่อติดต่อ call-center 1586 กด 1 แต่ติดต่อยากมาก รอไม่ต่ำกว่า 20 นาที แต่ไม่เคยเจอคนรับสายเลย

จากการประมวลสาเหตุที่ผู้บริโภคร้องเรียน นอกจากค่าปรับ 10 เท่า ที่ไม่เป็นธรรม ยังมีปัญหาใหญ่มาจาก ระบบแอปพลิเคชัน ที่ไม่เสถียร เพราะไม่ขึ้นยอดให้ชำระ แต่มาเรียกเก็บค่าปรับ 10 เท่า นายธนัช บอกว่า ปัญหาแบบนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่กรมทางหลวง เปิดใช้ M-Flow ระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น แต่ได้สร้างความโกลาหลให้กับผู้ใช้งาน ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เคยเรียกร้องไปยังผู้บริหารของ M-Flow และกระทรวงคมนาคม รวมถึงกรมทางหลวง ให้แก้ไขปัญหา แต่นับจากวันนั้น (วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565) ถึงปัจจุบันก็ยังพบปัญหาอยู่

ดังนั้น เมื่อปัญหายังคงเกิด นายธนัช จึงบอกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมีการประชาสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจน ส่วนเรื่องค่าปรับควรเปิดให้มีการใช้และมีการแจ้งเตือนเรื่องเสียค่าปรับก่อน ยังไม่ควรเรียกเก็บค่าปรับทันทีและขยายระยะเวลาในการปรับออกไปอีก 30 วันเพื่อบรรเทาไม่ให้ถูกปรับเพราะยังมีหลายคนที่เป็นผู้ใช้รถก็ยังไม่ทราบเกี่ยวกับระบบ M-Flow อีกทั้งการลงทะเบียนก็ค่อนข้างยุ่งยาก บางคนก็ลงไม่เป็นควรเปิดจุดให้คนไปลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ได้ จะได้เป็นการช่วยประชาชนหรือผู้ใช้รถอีกทางหนึ่ง เพิ่มระบบแจ้งเตือนเป็น SMS ไปยังเลขหมายมือถือของผู้ใช้รถที่ได้แจ้งไว้อีกช่องทางหนึ่งเพื่อให้เข้าถึงได้อย่างรวดเร็วและเหมาะสม

ข้อมูลระเบียบ M-Flow https://mflowthai.com/mflow/faqs


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม