เสียหายทางการแพทย์ สิทธิบัตรทองให้ยื่นคำร้อง-ฟ้องแพ่งได้
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 08-07-2024 16:07
หมวดหมู่: บริการสุขภาพ

เสียหายทางการแพทย์ สิทธิบัตรทองให้ยื่นคำร้อง-ฟ้องแพ่งได้
ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง หากเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ กฎหมายคุ้มครองให้ยื่นคำร้องได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น และฟ้องเอาผิดทางแพ่งได้อีกทาง
สิทธิหลักประกันสุขภาพ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ สิทธิ 30 บาท หรือ “สิทธิบัตรทอง”เป็นสิทธิ์ตามกฎหมายของคนไทยที่ใช้ในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข และการแพทย์ ทั้งแผนปัจจุบัน ,แผนไทย รวมไปถึงแพทย์ทางเลือกต่างๆ ตามกฎหมายการประกอบโรคศิลปะ เพื่อการรักษาพยาบาล การตรวจวินิจฉัย ส่งเสริมด้านสุขภาพ และการป้องกันโรค ฯลฯ
แต่ทว่าผู้ใช้สิทธิบัตรทองจำนวนมาก ไม่เคยรู้เลยว่า หากเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ กฎหมายคุ้มครองให้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หยิบเรื่องนี้มาเกริ่นนำ เพราะมีข่าวหนึ่งกำลังร้อนแรงในโลกออนไลน์เวลานี้ จากพาดหัวข่าวของช่อง7 https://news.ch7.com/detail/735504 "แม่ร้อง! หมอทำคลอดผิดพลาด ลูกสาวแขนพิการ" จากเนื้อข่าวมีรายละเอียดว่า คุณแม่วัย 46 รายนี้ มาร้องเรียนกับสื่อมวลชนและขอให้ทนายความช่วยเหลือทางคดี จากเหตุที่ว่า "หมอโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี ทำคลอดผิดพลาด จนลูกแขนพิการ เพราะเส้นประสาทขาดตั้งแต่แรกเกิด
หมอทำคลอดผิดพลาด หมายความว่ายังไง! ผู้เสียหายเล่าว่า เหตุเกิด 17 สิงหาคม 2566 วันนั้นไปคลอดลูกคนที่ 4 แต่เนื่องจากอายุมาก ไม่มีแรงเบ่งคลอด จึงขอร้องให้หมอทำการผ่าคลอด แต่หมอบอกให้เบ่งคลอดเอง จนสุดท้ายลูกคลอดออกมา กลับถูกนำเข้าห้องไอซียูทันที ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร จนเช้าวันถัดมา หมอแจ้งให้ทราบว่าเส้นประสาทที่แขนด้านขวาของลูกขาด เมื่อถามถึงสาเหตุกลับไม่ยอมบอก แจ้งแค่เพียงว่า ต้องผ่าตัดเชื่อมเส้นประสาท แต่ไม่ยืนยันสภาพแขนจะกลับมาเป็นปกติ ซึ่งการผ่าตัดหลายครั้ง ลูกก็ยังอาการแย่ นั่นเองจึงตัดสินใจเรียกค่าเสียหายจากโรงพยาบาล 10 ล้านบาท โดยโรงพยาบาลนัดไปพบทุกวันที่ 3 ของเดือนเพื่อประชุม แต่รอมาจนลูกสาวอายุ 10 เดือน ยังไม่มีอะไรดีขึ้นที่สำคัญคดีใกล้จะหมดอายุความ จึงต้องร้องขอให้สื่อมวลชนและทนายความช่วยเหลือทางคดี
แต่ดูเหมือนยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในการชดเชยเยียวยาจากโรงพยาบาล ทำให้เมื่อวันที่ 2 ก.ค.67ผู้เสียหาย ต้องไปร้องเรียนที่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งนายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ได้สั่งการให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งดูเรื่องมาตรฐานในการรักษาและการบริการ ไปลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบว่า โรงพยาบาลนั้นดำเนินการตามมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งถ้าหากพบว่าดำเนินการไม่เป็นไปมาตรฐานการรักษา และไม่เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ ก็จะส่งเรื่องให้กับแพทย์สภาในการดำเนินการต่อ ขณะเดียวกันเตรียมจะส่งตัวลูกของผู้เสียหาย ไปรักษาต่อที่สถาบันประสาทวิทยา ที่กระทรวงสาธารณสุข
อย่างไรก็ตาม จากความเดือดร้อนของผู้เสียหายรายนี้ ได้ใช้สิทธิบัตรทองเข้ารับการทำคลอด นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ จึงแนะนำให้ไปร้องเรียนต่อ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพราะตามมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ได้กำหนดให้ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องกันเงินจำนวนหนึ่งไม่เกิน 1 เปอร์เซนต์ ของเงินที่จ่ายให้กับหน่วยบริการไว้เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการในกรณีที่ได้รับความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องการพิสูจน์ถูก หรือ ผิด โดยต้องเป็นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ คณะกรรมการกำหนด ” ซึ่งแนวทางนี้สามารถช่วยเหลือผู้ใช้สิทธิ์บัตรทองทุกคน ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ตั้งแต่ วันที่1 ตุลาคม 2555 จะได้รับเกณฑ์ช่วยเหลือดังนี้
-เสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร จ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 2 แสน 4 หมื่นบาท แต่ไม่เกิน 4 แสนบาท
-พิการหรือสูญเสียอวัยวะ จ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 1 แสนบาท แต่ไม่เกิน 2 แสน 4 หมื่นบาท
-บาดเจ็บ หรือ เจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือได้ไม่เกิน 1 แสนบาท
-กรณีฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องและได้รับการดูแลตามมาตรฐานการฝากครรภ์ จนอายุครรภ์ตั้งแต่ 37 สัปดาห์ขึ้นไป และทารกเสียชีวิตในครรภ์ระหว่างการดูแลในหน่วยบริการ ให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้เท่ากรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร และ**หากมารดาได้รับความเสียหายด้วยก็ให้ได้รับเงินช่วยเหลือได้อีกตามประเภทความเสียหายนั้น
ส่วนการยื่นคำร้องกำหนดให้ผู้เสียหาย หรือ ตัวแทนคนใดคนหนึ่งในครอบครัว ยื่นคำร้องภายใน 2 ปี นับจากได้รับความเสียหาย หากอยู่ต่างจังหวัด ไปยื่นได้ที่ หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (ในจังหวัดที่เกิดเหตุ) หรือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 1-13“ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง” หรือหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตามมาตรา 50(5) ส่วนกรุงเทพฯ ไป ร้องเรียนได้ที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ หลักสี่ แต่หากไม่สะดวกเดินทาง สามารถส่งคำร้องทางไปรษณีย์ลงทะเบียน โดยคณะกรรมการ สปสช.จะถือเอา"วันที่ประทับตรา"เป็นวันที่ยื่นคำร้อง
หลังจากได้รับคำร้องและการพิจารณาเสร็จสิ้น ทางเลขานุการของคณะอนุกรรมการ สปสช.จะมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา ให้ผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายหรือทายาททราบ แต่หากไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัย สามารถยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน หลังได้รับหนังสือแจ้งผลทางไปรษณีย์ตอบรับ
อ่านรายละเอียด https://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER27/DRAWER074/GENERAL/DATA0000/00000037.PDF
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 และ ช่องทางออนไลน์ ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ ยังแนะนำผู้เสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ สามารถฟ้องเพื่อเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง หากมีข้อมูลชัดเจนว่าเกิดจากความประมาทของผู้ให้บริการ ซึ่งมีหลายกรณีที่ใช้ช่องทางนี้จนนำมาสู่การชนะคดีในชั้นศาลฎีกา ถึงแม้บางรายใช้เวลานานเกือบ 20 ปี ขอหยิบยกตัวอย่างมาให้อ่านเพื่อเป็นแนวทาง
ศาลฎีกา พิพากษาให้โรงพยาบาลสมิติเวช จ่ายเงินชดเชย 8.3 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ให้เจ้าของโรงงานแห-อวน ที่ฟ้องแพทย์และโรงพยาบาลที่ทำคลอดพลาด จนทำให้ภรรยาและลูกในครรภ์เสียชีวิต ซึ่งคดีนี้ผู้เสียหายต่อสู้มากว่า 16 ปี ข้อมูลจากข่าวไทยพีบีเอสhttps://www.thaipbs.or.th/news/content/61627
ศาลฎีกามีคำพิพากษาสั่ง "โรงพยาบาล-หมอทำคลอด" ร่วมชดใช้ 1 ล้าน ดอกเบี้ย 11 ปี ให้เมียเชฟดังหลังวินิจฉัยอาการทารกในครรภ์ก่อนคลอดไม่ครบถ้วน 14 มีนาคม 2561 สำนักข่าวอิศรา https://www.isranews.org/content-page/item/64311-posttoday-64311.html
ในส่วนนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้นำเสนอบทความ 2 ตอน
ฉบับที่ 142 คลอดบุตรตายในโรงพยาบาลของรัฐ ใครรับผิดชอบ? ตอนที่ 1 https://chaladsue.com/article/231
ฉบับที่ 143 คลอดบุตรตายในโรงพยาบาลของรัฐ ใครรับผิดชอบ? ตอนที่ 2 https://chaladsue.com/article/232