สนง.อัยการสูงสุด MOU กับ แพทยสภาขาดความเหมาะสม
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 12-05-2023 09:43
หมวดหมู่: บริการสุขภาพ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยืนยัน สนง.อัยการสูงสุด MOU กับ แพทยสภาขาดความเหมาะสม แม้มีประกาศภายในกำชับการทำหน้าที่แต่ยังคงขัดแย้งกันเอง
จากเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2565 สำนักงานอัยการสูงสุด ทำ MOU กับแพทยสภา และราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิ ช่วยเหลือทางกฎหมาย ด้วยการให้คำปรึกษาปัญหาทางกฎหมาย การไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาท การช่วยเหลือทางอรรถคดีแก่ศัลยแพทย์ ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ ตั้งแต่ในเดือน มกราคม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเรียกร้องให้ สนง.อัยการสูงสุด ยกเลิก MOU กับ แพทยสภา เพราะมุ่งให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ ชี้ ขาดความเหมาะสม กระทบต่อความเป็นอิสระและการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการ อาจทำผู้ป่วยไม่ได้รับความเป็นธรรม
ล่าสุดวันที่ 8 พ.ค. 2566 สำนักงานวิชาการ หน่วยงานในสังกัดของสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ออกเอกสารคำแนะนำในการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของสำนักงานอัยการสูงสุด ที่เหมาะสมและไม่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอิสระในการพิจารณาสั่งคดี และการปฏิบัติตามกฎหมายของพนักงานอัยการ
ไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า หากสำนักงานอัยการสูงสุดยังคงจัดกิจกรรมตาม MOU ที่ครอบคลุมถึงการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย การช่วยเหลือทางอรรถคดีแก่ศัลยแพทย์เป็นกรณีพิเศษ ย่อมจะกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการที่จะต้องมีความเป็นอิสระ เพราะอัยการมีบทบาทหน้าที่พิจารณาสั่งฟ้องคดีอาญาที่ประชาชนที่ได้รับความเสียหายร้องทุกข์ในคดีทางการแพทย์ เมื่อพนักงานอัยการเป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่ศัลยแพทย์ ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุด ทำ MOU กับแพทยสภา และราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศ ย่อมส่งผลต่อกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นอิสระ เที่ยงธรรมของพนักงานอัยการผู้สั่งคดีอย่างไม่อาจเลี่ยงได้
**“ผมมองว่าสำนักงานวิชาการอาจเริ่มมองเห็นหรือทราบดีว่าการดำเนินการ MOU ฉบับนี้อาจส่งผลต่อความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ จึงมีการกำชับด้วยการออกเป็นเอกสารกันภายในองค์กรว่า หากมีการ MOU ของสำนักงานอัยการสูงสุดอีกในอนาคต ควรมีเนื้อหาอย่างไรบ้าง ข้อสังเกตนี้เป็นเพียงข้อมูลทางวิชาการ มิได้ส่งผลต่อกิจกรรมต่าง ๆ ตาม MOU ที่ทำไปแล้วเมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2565” **
“เอกสารเผยแพร่ความรู้ของสำนักงานวิชาการซึ่งให้คำแนะนำว่า ต้องจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย โดยไม่ให้มีข้อความหรือถ้อยคำในส่วนหนึ่ง ส่วนใด มีลักษณะเป็นคำสั่งหรือเป็นข้อสั่งการให้พนักงานอัยการปฏิบัติ และไม่ให้มีข้อความหรือถ้อยคำในส่วนหนึ่ง ส่วนใดที่แสดงให้เห็นหรืออาจอนุมานเอาได้ว่าเป็นคำสั่งหรือข้อสั่งการให้พนักงานอัยการปฏิบัติ.....”
“ในประเทศที่พัฒนาแล้ว สำนักงานอัยการสูงสุดจะไม่มีการ MOU ในลักษณะนี้กับองค์กรแพทย์อย่างแพทยสภา แพทยสมาคม หรือราชวิทยาลัยต่าง ๆ เพราะเขามองว่า ไม่มีความจำเป็นและจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ขององค์กรอัยการและองค์กรแพทย์ได้ โดยเฉพาะทำให้ประชาชนเกิดความคลางแคลงใจว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมในทางคดีความ ในบางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักรมีการปฏิรูปแพทยสภา องค์กรวิชาชีพด้านสาธารณสุข และตรวจสอบการทำงานขององค์กรเหล่านี้ เพราะมีคดีความที่แพทยสภาทำงานอย่างไม่โปร่งใส เข้าข้างแพทย์ด้วยกันเอง ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม”
ไพศาล ยังตั้งข้อสังเกตว่า เคยมีกรณีผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการเข้ารับบริการทางแพทย์บางรายร้องเรียนต่อแพทยสภา ซึ่งแพทยสภายกข้อกล่าวหาที่ร้องเรียนตามความเห็นของคณะอนุกรรมการที่เห็นว่าแพทย์ไม่มีความผิด แพทย์ให้การรักษาตามมาตรฐานวิชาชีพแล้ว แต่เมื่อผู้เสียหายนำคดีไปฟ้องศาลปกครองเพื่อขอให้ตรวจสอบในเรื่องนี้ ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้เพิกถอนคำสั่งของแพทยสภา เพราะพฤติกรรมและการกระทำของแพทย์ที่ถูกร้องเรียน มีเหตุอันควรสงสัยว่าแพทย์มิได้ให้การรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานวิชาชีพ บางคดีญาติผู้เสียหายได้ฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายจากแพทย์ โรงพยาบาลจนชนะคดีความก็มี แต่ก็ใช้ระยะเวลานานหลายปี ประชาชนทั่วไปที่ไม่มีกำลังทรัพย์ ไม่มีแพทย์มาเบิกความเป็นพยานให้กับผู้เสียหายก็คงไม่ได้รับความเป็นธรรม
การทำ MOU เพื่อให้อัยการเข้ามาช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์เป็นกรณีพิเศษ จึงอาจสร้างความไม่เป็นธรรมให้แก่ประชาชนได้ และในส่วนของภาคประชาชนจะยังคงเรียกร้องผ่านสื่อมวลชนต่างๆ ให้ สำนักงานอัยการสูงสุดทบทวน หรือระงับกิจกรรมต่างๆ ที่จะดำเนินการร่วมกับแพทยสภา และราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ต่อไป อัยการควรมีบทบาทในการให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ประชาชนเป็นการทั่วไปอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ควรมีช่องทางหรือกิจกรรมพิเศษในลักษณะนี้
สำหรับ ผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิ สามารถปรึกษาและร้องเรียนได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 4/2 ซอยวัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ติดต่อร้องทุกข์(ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค) โทร 089-788-9152 หรือ complaint@consumerthai.org