มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

กฏหมายควบคุมรถจักรยานยนต์รับจ้าง

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 09-06-2023 10:10

หมวดหมู่: บริการขนส่งและยานพาหนะ

ภาพประกอบข่าว

กฎหมายมีไว้ต้องใช้ซะ ! หากผู้บริโภคโดนจักรยานยนต์รับจ้างบางราย โก่งราคา-ข่มขู่- ก่ออันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

ชีวิตคนกรุงเทพฯ ที่มีแต่ความเร่งรีบ การเดินทางถึงแม้จะมีตัวเลือกมากมาย ทั้งรถยนต์ส่วนตัว แท็กซี่ รถไฟฟ้า แต่ก็ใช่ว่าจะสะดวกเสมอไป เพราะบนท้องถนนเต็มไปด้วยการจราจรแออัด มอเตอร์ไซค์รับจ้างจึงเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ ในการเดินทาง

แต่ความสะดวกของผู้เดินทางกลับกลายเป็นช่องโหว่ให้คนเห็นแก่ได้ ใช้ทุกวิถีทางเอารัดเอาเปรียบ เพราะมองว่า ยังไงก็ต้องใช้บริการ แถม คนขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างบางราย ก็กลายเป็นตัวอันตรายกับผู้โดยสาร เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยจนเหมือนกลายเป็นเรื่องปกติ เป็นเพราะผู้บริโภคบางคน ไม่อยากเสียเวลาเอาเรื่อง แต่... เดี๋ยวก่อน ! ยิ่งปล่อยไว้แบบนี้ ปัญหาสังคมยิ่งหมักหมม ไม่ถูกแก้เสียที

ยังดีนะที่สังคมนี้ยังมีผู้บริโภคบางคนไม่ยอมละทิ้งสิทธิประโยชน์ ของตัวเอง “ ร้องทุกข์ 1 ครั้ง ดีกว่าบ่น 1,000 ครั้ง “ ยังใช้ได้ดีอยู่เสมอมา เฉกเช่น ผู้เสียหายรายนี้ ได้มาร้องเรียนกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อให้ช่วยเป็นปากเป็นเสียง และ ส่งเรื่องไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เธอเล่าให้ เจ้าหน้าที่พิทักษ์สิทธิฟังว่า **วันเกิดเหตุ 23 พฤษภาคม 2566 ช่วง 1 ทุ่มเศษ ได้ว่าจ้างจักรยานยนต์รับจ้าง บริเวณทางออกที่ 1 MRT แยกไฟฉาย ถนนพรานนก เพื่อเดินทางไป โรงพยาบาลศิริราช ขณะที่กำลังวิ่งมาถึงไฟแดงแยกศิริราช ต้องรอนาน 73 วินาที แต่คนขับ กลับวิ่งฝ่าออกไปเลย วินาทีนั้น ทำเอาเธอ “อกสั่นขวัญแขวน “ ถ้าเกิดมีรถอีกทางวิ่งสวนมาจะทำยังไง เธอคงไม่มีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้! **

เมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้ เธอจึง ถามคนขับ ทำไม ทำแบนี้ ! กลับได้คำตอบแค่ว่า “ผิดเอง ขอโทษ และไม่ต้องกังวลเรื่องกฎหมายจราจร อย่างมากก็แค่โดนตัดแต้ม” ขณะนั้น คนขับมีอาการพูดลิ้นแข็ง อ้อแอ้เล็กน้อย แต่ไม่ได้กลิ่นแอลกอฮอล์”แต่จากเหตุการณ์นี้ ทางผู้เสียหาย บอกว่า รู้สึกไม่ได้รับบริการที่มีคุณภาพ สาเหตุจากผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างประมาทเลินเล่อ ตั้งใจขับรถฝ่าไฟแดง ฝ่าฝืนกฎจราจร ไม่รับผิดชอบชีวิตผู้โดยสาร

หลังจากได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียน นายธนัช ธรรมมิสกุล หัวหน้าฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า ได้ทำหนังสือ ในนาม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2566 นำเรียน ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลบางกอกน้อย เพื่อพิจารณาหาแนวทางตรวจสอบ แก้ไขและชี้แจงเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคโดยรวม และให้ได้รับความเป็นธรรม ขณะนี้ยังรอหนังสือตอบกลับเพื่อแจ้งความคืบหน้าต่อผู้บริโภคที่เสียหาย

จากการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคสำรวจพฤติกรรมของรถจักรยานยนต์รับจ้างที่ถูกร้องเรียน พบต้นเหตุมีตั้งแต่ เรียกเก็บค่าโดยสารเกินอัตรา / เก็บแพงกว่าป้ายที่ระบุ ,ขับรถเร็ว หวาดเสียว เกิดอุบัติเหตุ , ใช้วาจาไม่สุภาพกับผู้โดยสาร ซึ่งปัญหาผู้บริโภคด้านการใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างเริ่มเพิ่มมากขึ้นทุกปี เกิดจากผู้บริโภคไม่รู้สิทธิ หรือ ไม่สนใจสิทธิของตนเอง รวมถึงการไม่มีเวลาที่จะจัดการเรื่องร้องเรียน จึงทำให้ปัญหาถูกละเมิดสิทธิมีเพิ่มมากขึ้น

มอเตอร์ไซค์รับจ้างเรียกเก็บค่าโดยสารแพง ผิดกฎหมายนะจ๊ะ!! เพราะรัฐบาลมีมาตรการกวดขันการให้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะอย่างจริงจัง เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจและปลอดภัยเมื่อใช้บริการ และยังได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย ซึ่งการเรียกเก็บค่าโดยสารแพงเกินเหตุนั้นมีความผิดตาม พ.ร.บ. ประมวณกฎหมายอาญาและมาตรา 5 (14) ประกอบมาตรา 66/5 แห่ง พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522

ส่วน ค่าโดยสาร "มอเตอร์ไซค์รับจ้าง" ถึงแม้จะมีกฎหมายควบคุม แต่รถจักรยานยนต์รับจ้างบางคัน ยังฉวยโอกาส เก็บเงินเกินราคามาตรฐานถือเป็นการขูดรีดเอาเปรียบ รู้หรือไม่ว่ากฎกระทรวงของกระทรวงคมนาคม ได้มีการกำหนดอัตราค่าจ้างสำหรับรถจักรยานยนต์สาธารณะ ฉบับล่าสุด 24 มีนาคม 2559 ดังนั้น ผู้โดยสารต้องรู้ไว้จะได้ไม่เสียเปรียบ

-ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก ต้องไม่เกิน 25 บาท และกิโลเมตรต่อๆ ไป แต่ไม่เกิน 5 กิโลเมตร ต้องไม่เกินกิโลเมตรละ 5 บาท

-ระยะทางเกินกว่า 5 กิโลเมตรขึ้นไป แต่ไม่เกิน 15 กิโลเมตร ตั้งแต่กิโลเมตรแรกจนสิ้นสุดการรับจ้างต้องไม่เกินกิโลเมตรละ 10 บาท

-ระยะทางเกินกว่า 15 กิโลเมตรขึ้นไป ให้เป็นไปตามที่ผู้ขับรถและคนโดยสารตกลงกัน ก่อนทําการรับจ้าง หากไม่ตกลงกันก่อนทําการรับจ้าง อัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารตั้งแต่กิโลเมตรแรก จนสิ้นสุดการรับจ้างต้องไม่เกินกิโลเมตรละ 10 บาท ทางที่ดี ถามราคาก่อนขึ้น จะได้ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

หากเจอวินมอไซค์ขูดรีดค่าโดยสารอย่ากลัว แจ้งตำรวจเอาผิดได้เลย ปรับ 5 พันบาท หากเจอข่มขู่เจอความผิดอีกกระทง จำคุก 5 ปี ซึ่งเป็นไปตาม พระราชบัญญัติ ( พ.ร.บ. ) ประมวลกฎหมายอาญาและมาตรา 5 (14) ประกอบมาตรา 66/5 แห่ง พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522** ระบุว่า ใน พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 5 ได้ระบุให้ รมว.คมนาคมมีอำนาจในการแต่งตั้งนายทะเบียนและผู้ตรวจการกับออกกฎกระทรวงกำหนดในเรื่องดังต่อไปนี้ (14) อัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารหรือค่าบริการอื่น สำหรับรถยนตร์สาธารณะและรถจักรยานยนตร์สาธารณะ ประกอบมาตรา 66/5 ผู้ใดเรียกเก็บค่าโดยสารหรือค่าบริการอื่นๆเกินกว่าอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท

นอกจากนี้หากเจอวินมอเตอร์ไซด์ข่มขู่จะเรียกเก็บเงินค่าโดยสารเกินราคาให้ได้ กรณีนี้อาจเข้าข่ายความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับอีกกระทง รู้แบบนี้แล้วอนาคตถ้าเจอวินมอเตอร์ไซด์เอาเปรียบแจ้งตำรวจจับตามข้อหาในกฎหมายนี้ได้เลย อย่าปล่อยให้ถูกคนเอารัดเอาเปรียบอีกต่อไป

หากผู้บริโภค พบปัญหาจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ สามารถร้องเรียนมายัง กรมการขนส่งทางบก โดยระบุรายละเอียดรถที่กระทำความผิด หรือบันทึกภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหว ที่เห็นหมายเลขทะเบียนรถได้ชัดเจน ซึ่งจะทำให้กระบวนการติดตามตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษเป็นไปด้วยความรวดเร็ว

ส่งข้อมูลได้ที่ ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน สายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง, แอปพลิเคชัน DLT GPS, Line ID “@1584dlt”, เว็บไซต์ http://ins.dlt.go.th/cmpweb/, E-Mail :dlt_1584complain@hotmail.com, เฟซบุ๊ก “1584 ร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะ”, ส่งจดหมาย หรือหนังสือร้องเรียนมายังกรมการขนส่งทางบก ทั้งนี้ เมื่อมีการตรวจสอบและดำเนินการเปรียบเทียบปรับหรือ คดีถึงที่สุดแล้ว ผู้แจ้งมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเงินรางวัลนำจับ ร้อยละ 50 ของเงินค่าปรับหลังจากหักเป็นเงินนำส่งรายได้แผ่นดินแล้ว เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม และสร้างวินัยการขับขี่ให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน

นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบก ยังมีมาตรการกวดขันการให้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะอย่างเข้มข้นจริงจัง เนื่องจากที่ผ่านมายังพบการฝ่าฝืนใช้รถจักรยานยนต์รับจ้างผิดกฎหมาย (ป้ายดำ) มาลักลอบให้บริการประชาชน ซึ่งทั้งรถและคนไม่ผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่มีข้อมูลในศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะของกรมการขนส่งทางบก ทำให้ยากแก่การติดตามตัวมาลงโทษ รวมถึงผู้โดยสารจะไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายกรณีเกิดเหตุไม่พึงประสงค์หรือเกิดอุบัติเหตุ กรมการขนส่งทางบกจึงขอให้ประชาชนเลือกใช้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อความปลอดภัยในการใช้บริการและได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย โดยรถจักรยานยนต์ที่สามารถนำมารับส่งผู้โดยสารได้ต้องจดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะ (ป้ายเหลือง) ต้องมีที่ตั้งวินตามที่ได้รับอนุญาต และต้องให้บริการใน เส้นทางหรือพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

ด้านผู้ขับขี่ต้องมีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ ต้องแต่งกายตามระเบียบที่ทางราชการกำหนด สวมเสื้อวินที่แสดงบัตรประจำตัวและหมายเลขประจำตัวที่ถูกต้องตรงกัน และการเรียกเก็บอัตราค่าโดยสารต้องเป็นไปตามที่ทางราชการกำหนด ต้องติดตั้งป้ายแสดงอัตราค่าโดยสารให้ประชาชนรับทราบอย่างชัดเจนในบริเวณที่ตั้งวินด้วย

อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคเจอปัญหาเหล่านี้ ยังสามารถมาร้องเรียนได้ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อให้เป็นองค์กรกลาง ในการทำเรื่องถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบและเอาผิดตามกฎหมาย สามารถมาได้ที่สำนักงาน เลขที่ 4/2 ซอยวัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพ ฯ โทรศัพท์ 02-2483737


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม