สภาผู้บริโภค กทม. ยื่นข้อเสนอแก้ไข 3 ปัญหาสำคัญของชาว กทม. รถเมล์ ตู้น้ำดื่ม การจัดการผังเมืองต่อผู้ว่า กทม. ผู้ว่าย้ำปัญหาใหญ่ ภาคประชาชนยิ่งต้องเข้มแข็ง รวมตัวกัน
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 19-09-2022 23:10
หมวดหมู่: อื่นๆ

ปัญหารถโดยสารสาธารณะ คุณภาพของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ และการจัดการเมืองที่ยังขาดการมีส่วนร่วมส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างหนัก สภาผู้บริโภค กทม. ยื่นข้อเสนอต่อ ผู้ว่า กทม.เพื่อกระตุ้นให้เกิดนโยบายที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ชาว กทม.
วันที่ 19 กันยายน 2565 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สภาองค์กรผู้บริโภค ร่วมกันจัดเวทีเสวนา การคุ้มครองผู้บริโภค กทม. จากกรณีศึกษาปัญหาผู้บริโภค 3 เรื่อง ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ หลักสี่ กรุงเทพมหานคร
คุณกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า หลังจากสภาองค์กรผู้บริโภคก่อตั้งขึ้นในปี 2563 ได้มอบหมายให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นเลขาของสภาองค์กรผู้บริโภคประจำจังหวัด กทม. มีวัตถุประสงค์ในการทำงานคือคุ้มครองผู้บริโภค มีคุณภาพชีวิตที่ดี การจัดเวที เสวนาระดมแนวทางแก้ไขปัญหา ทำให้เครือข่ายการทำงานในพื้นที่ต่างๆ ได้ทำงานร่วมกันมากขึ้น ในครั้งนี้ ได้รวบรวม 3 ปัญหาสำคัญคือ บริการรถเมล์สาธารณะ ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ และการจัดการผังเมืองอย่างมีส่วนร่วม
“เรื่องคุณภาพบริการรถเมล์สาธารณะ เราทำงานร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และมหาวิทยาลัยนิด้า เราพบว่าปัญหาบริการรถเมล์สาธารณะ เป็นเรื่องการเข้าถึง รถน้อย ค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูง เพราะมีหลายระบบ ไม่เชื่อมต่อกัน และปัญหาคุณภาพบริการ และความปลอดภัย ส่วนสาเหตุจริงๆ มาจาก โครงสร้างการพัฒนา และโครงสร้างการบริหารจัดการ ที่ยังไม่ชัดเจน เพราะหากภาครัฐมองว่าเป็นบริการสาธารณะก็จะต้องอุดหนุน ช่วยเหลือประชาชน และยังขาดการลำดับความสำคัญที่ถูกต้อง การกำหนดบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังขาดอำนาจ และยังทำให้ ขสมก.มีหนี้สินมหาศาล รวมถึงภาครัฐยังไม่สามารถ ใช้ประโยชน์จากการเวนคืนที่ดินได้เต็มที่ ทำให้ต้องไปเวนคืนที่ดิน สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน การบริหารจัดการเส้นทาง ถนนยังขาดประสิทธิภาพ”
ในเรื่อง คุณภาพน้ำดื่มจาก ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ จากการสำรวจ วันที่ 15-31 สิงหาคม 2565 จำนวน 1,530 ตู้ ในพื้นที่ 33 เขตพบว่า มีตู้ที่ไม่ติดใบอนุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ถึง1,380 ตู้ หรือ 90 % ไม่มีการติดฉลากระบุการตรวจไส้กรอง 1,334 ตู้ หรือกว่า 87.2 % ไม่มีการแสดงรายงานการตรวจคุณภาพน้ำ 1,392 ตู้ หรือกว่า 91 %
“เราพบว่า สาเหตุที่พบคือ เจ้าของสถานที่ที่ติดตั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ไม่ทราบว่าต้องมีการขออนุญาต หรือเขาเป็นเพียงผู้ให้เช่าพื้นที่ เจ้าของสถานที่ซื้อตู้ต่อกันมาและไม่มีใบอนุญาตไม่ได้ทำความสะอาด เนื่องจากคิดว่าบริษัทที่ติดตั้งตู้จะมาทำความสะอาดเอง และสำคัญคือเจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยมาตรวจสอบ ซึ่งน้ำดื่มหยอดเหรียญ เป็นทางเลือกของผู้บริโภคในการซื้อน้ำดื่มในราคาที่ถูกกว่า หากไม่ปลอดภัยจะส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้างจึงเป็นปัญหาที่สำคัญ”
คุณปฐมพงศ์ เจียมอุดมสิน ประธานสภาองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร กล่าวถึง นอกจากเรื่อง คุณภาพบริการรถเมล์สาธารณะ คุณภาพน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญ อีกปัญหาที่สำคัญคือเรื่อง ผลกระทบจากการจัดการผังเมือง กทม. ที่ยังขาดการมีส่วนร่วม ปัจจุบันมีก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ เจ้าหน้าที่รัฐ ที่ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่ขั้นตอนการอนุญาต และการตรวจสอบปล่อยให้มีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ที่ผิดกฎหมาย จนมีผลให้เกิดการฟ้องคดีเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง ยกเลิกEIA เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสภาพแวดล้อมในมิติต่างๆมากมายที่ล้วนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนโดยรวมอย่างเห็นได้ชัด เราจึงมีข้อเสนอต่อผู้ว่า กรุงเทพมหานครคือ
- ขอให้คณะผู้ร่างผังเมืองฯ ศึกษาผลกระทบและถอดบทเรียนผังเมืองเดิมปี 2556 และปัญหาที่เกิดขึ้นจริงต่อคนเมือง เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงผังเมืองฉบับใหม่ และควรจัดทำ big data ข้อมูลเกี่ยวกับผังเมือง สิ่งแวดล้อม และการก่อสร้างอาคารว่าบริเวณไหนสามารถสร้างอาคารขนาดใหญ่ได้ ให้เป็นข้อมูลที่ทุกคนเข้าถึงได้
- ขอให้หน่วยงานรัฐ“บังคับใช้กฎหมาย” ทั้งกฎหมายผังเมืองฉบับ 2556 กฎหมายควบคุมอาคาร และกฎหมายสิ่งแวดล้อม อย่างเคร่งครัด และมีบทลงโทษที่ชัดเจนต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ประพฤติมิชอบในการทำหน้าที่
- ขอให้มีการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพก่อนการขยายเมือง
- ขอให้หน่วยงานกำหนดเกณฑ์ “การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่” ในกระบวนการจัดทำร่างผังเมือง ฉบับใหม่อย่างแท้จริง
- ขอให้ทบทวนมาตรการสร้างแรงจูงใจ ให้โบนัสเอื้อประโยชน์กับโครงการอสังหาริมทรัพย์
- ขอให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์และมาตรการรับมือน้ำท่วมและผลกระทบจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม
- ขอให้มีการกระจายการพัฒนาเมืองไปยังเขตปริมณฑล ซึ่งควรได้รับการพิจารณาควบคู่ไปด้วย
- ขอให้มีการจัดทำ Big data ผังเมืองฉบับใหม่
- ขอให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ พิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ (คชก.) ทบทวนวิธีการพิจารณาอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยให้พิจารณาจาก “ผลลัพธ์ ผลกระทบในมิติต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจริง” เพื่อให้เห็นเป็นปัญหา ผลกระทบความเดือดร้อนต่อประชาชนอย่างชัดเจนกันแล้วทั่วเมือง มิใช่พิจารณาตามข้อกฎหมายผังเมือง กฎหมายอาคาร การตีความจากทางฝ่ายโยธาฯ เป็นหลักดังที่กระทำกันต่อเนื่องมา ”
คุณนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวยื่นข้อเสนอ เรื่องคุณภาพตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญต่อผู้ว่ากรุงเทพมหานครว่า
- ขอให้เร่งดำเนินการตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน และดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ประกอบธุรกิจที่กระทำผิด ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ 2535 และฉบับแก้ไข เพื่อเป็นการจัดการปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ได้มาตรฐาน
- การออก “ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ” เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การทำธุรกิจ การติดตั้งตู้น้ำดื่ม และให้มีบทกำหนดโทษ เพื่อให้น้ำที่ผลิตมีความสะอาดและปลอดภัย
- ขอให้หน่วยงานรัฐ ร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ ขยายผลการตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เช่น การสนับสนุนผ่านกองทุนสุขภาพของแต่ละเขตพื้นที่
คุณณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวยื่นข้อเสนอ เพื่อการพัฒนาบริการรถเมล์สาธารณะว่า
- ใช้ตั๋วเพียงใบเดียวเพื่อเดินทางขนส่งสาธารณะทุกอย่าง ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า และเรือมีระบบ E-ticket โดยค่าเดินทางทุกบริการ ทุกเส้นทางรวมกันต่อวัน สำหรับระยะทางไกล ราคาเพดานขั้นสูงไม่ควรเกินร้อยละ 20 ของค่าแรงขั้นต่ำ
- มีคุณภาพขนส่งสาธารณะที่ดี ทั้งพฤติกรรมผู้ให้บริการ พฤติกรรมการขับรถ คุณภาพรถ ไม่เฉพาะรถไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว
- รถเมล์ฟรี สำหรับนักเรียน นักศึกษา ใช้บัตรนักเรียนในการยืนยันสิทธิ เหมือนกรณีผู้สูงอายุ”
คุณปฐมพงศ์ เจียมอุดมสิน ประธานสภาองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการทำงานเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคมากว่า 20 ปี ได้มองเห็นจุดอ่อน จุดแข็งในการทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค การทำงานของภาครัฐ มีการพัฒนาขึ้นทั้งการจัดตั้ง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และ มีกฎหมายพิจารณาคดีผู้บริโภค แต่การทำงานของหน่วยงานรัฐ กับภาคประชาชนยังต่างคน ต่างทำ ขาดความร่วมมือทั้งที่มีเป้าหมายการทำงานเหมือนกันคือการคุ้มครองผู้บริโภค การทำงานที่ร่วมมือกัน จึงเป็นมิติใหม่ของการทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค “ผมมองว่าน่ายินดีมาก หลายปีที่ผ่านมา มีการลุกขึ้นมาทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น ดังจะเห็นว่า การก่อตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคเกิดขึ้นมาจากกว่า 150 องค์กร และเรามีจุดหมายที่อยากเห็นความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน มีมากขึ้นต่อไป ปัจจุบัน ประชากรแฝงมีจำนวนมากขึ้น การทำงานของรัฐจะยากขึ้น หากมีความร่วมมือ ไม่ต่างคนต่างทำ สภาองค์กรผู้บริโภค กทม.มีความยินดีให้ความร่วมมืออย่างมาก”
คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เดินทางมารับข้อเสนอด้วยตนเองกล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้ง 3 เรื่องว่า “ขอบคุณที่ให้โอกาสมารับฟังปัญหา และข้อเสนอแนะต่อการพัฒนา แก้ไขปัญหาทั้ง 3 เรื่องในวันนี้ เรื่องบริการรถเมล์สาธารณะ แม้ภารกิจหลักจะเป็นอำนาจหน้าที่ของ ขสมก. แต่ กทม. อาจสามารถจัดบริการเสริมได้ในบางเส้นทาง ทุกเรื่องที่ได้มารับฟังปัญหาในวันนี้ เห็นสัญญาณที่ดี เพราะภาคประชาชนตื่นตัว ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาร่วมกัน ยืนยันว่า การทำงานของภาครัฐต้องทำเพื่อประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และการแก้ไขปัญหาต้องรวมตัวกันเช่นนี้ เพราะหากแยกกันทำย่อมไม่มีพลัง เหมือนไม้ซีก ปัญหาใหญ่จึงยิ่งต้องรวมตัวกัน”