รถเมล์ไทยความหวังของคนเมืองกรุงฯ แสนริบหรี่ ?
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 24-06-2024 15:00
หมวดหมู่: บริการขนส่งและยานพาหนะ

รถเมล์ไทยความหวังของคนเมืองกรุงฯ แสนริบหรี่ ?
รถน้อย คอยนาน ถือเป็นปัญหาสุดแสนคลาสสิคที่แก้ไม่เคยได้ แถมเจอรถเมล์บางคันขยันวิ่งออกขวา โบกไม่จอดรับทั้งที่รอมาเป็นชั่วโมง ไม่รู้มีป้ายรถเมล์ไว้ทำไม บางทีก็เจอคนขับรถไร้มารยาท กระเป๋ารถเมล์ด่าทอผู้โดยสาร เป็นปัญหาที่คนใช้บริการ ต้องเผชิญมาโดยตลอด อ้อ !ยังมีปัญหาค่าโดยสารแพงจากรถแอร์ และ รถของเอกชน นอกจากนี้ ยังเจอรถเก่า ปล่อยควันดำโขมง บางครั้งโชคร้ายก็เจอโชเฟอร์รถเมล์ตีนผี เขาไม่คิดเหรอว่า ได้ทำอาชีพที่ประชาชนฝากชีวิตไว้
“ คนขับรถเมล์ รวมถึงกระเป๋ารถเมล์มีรายได้ช่องทางเดียว เขาต้องหาผู้โดยสารให้มากที่สุดจึงเกิดการแข่งกัน นำมาสู่อุบัติเหตุบนท้องถนน นอกจากนี้ยังพฤติกรรมของคนขับรถบางคนที่ดื่มแอลกอฮอลล์ เช่น เหล้า เบียร์ หรือ เสพสารเสพติดบางชนิด เช่น ยาบ้า ยังมีอยู่ ต้องยอมรับว่านี่เป็นเรื่องจริงเพราะมีข่าวให้เห็นบ่อยครั้งยามเกิดอุบัติเหตุ
ปัญหารถเมล์” ยังเป็นที่พูดถึงมาทุกยุคสมัย ถึงแม้เวลานี้ฝั่งกระทรวงคมนาคมได้ผลักดันแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดหารถโดยสารพลังงานสะอาด (EV) แทนรถร้อนเก่า ปฏิรูปเส้นทางเดินรถ ตั้งธงยกระดับทั้งรถเมล์ไทยและยกระดับคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ แต่ก็ยังค่อยเป็นค่อยไป แต่มันก็ยังเกิดปัญหาซ้ำเดิม เวลานี้ อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านผู้ประกอบการรายเดิมเป็นรายใหม่ บางเส้นทางยังไม่เปลี่ยน บางเส้นทางไม่ได้ไปต่อต้องยุบสาย บางเส้นทางเปิดใหม่และประชาชนยังไม่ทราบ รวมถึงการให้บริการ รถต้องกลับอู่ไปชาร์จไฟหรือเติมแก๊ส รวมถึงการให้บริการของบัสโฮสเตสปะทะกับผู้ใช้บริการ เพราะหงุดหงิดระหว่างการทำงาน
“รถเมล์” เป็นระบบบริการขนส่งสาธารณะขั้นพื้นฐานที่อยู่ใกล้ตัวประชาชนในฐานะผู้บริโภคทุกคนมากที่สุด แต่ในขณะนี้กลับกลายเป็นระบบที่ขาดประสิทธิภาพ ไม่มีการเชื่อมต่อโครงข่าย ราคาค่าโดยสารแพงจากการต่อหลายทอด ประชาชนในหลายพื้นที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการ ป้ายรถเมล์ที่ใช้ไม่ได้จริง และ คนขับขาดวินัย กลายเป็นเรื่องที่กระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้บริโภคที่รายได้น้อยและไม่มีทางเลือกไปใช้บริการราคาแพงอย่างรถไฟฟ้าทั้งใต้ดิน -บนดิน รวมถึง รถแท็กซี่ . เพราะฉะนั้นสิ่งที่จั่วหัวตั้งคำถาม มันไม่เกินจริงสักนิด ดังนั้น โครงการพัฒนาชุดความรู้และจัดทำข้อเสนอนโยบายเรื่องรถรับส่งนักเรียนและรถเมล์โดยสารในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในระบบบริการขนส่งสาธารณะ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงร่วมกับ ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ทำการวิจัยเรื่อง การบริการรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานคร กรณีศึกษา กรุงเทพตะวันออก และกรุงธน โดยผลการวิจัยเชิงคุณภาพ พบว่า ปัญหาข้อร้องเรียนจากผู้ใช้บริการ คือ รถขาดระยะ มีรถเสริมไปไม่ถึงปลายทาง มีรถวิ่งบริการไม่เพียงพอเกือบทุกเส้นทาง ดังนั้น จึงขอให้จัดรถโดยสารประจำทางทั้งประเภทรถธรรมดา และรถปรับอากาศวิ่งให้บริการเพิ่ม นอกจากนี้ ยังมีปัญหารถควันดำ ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ขอให้ตรวจสอบค่าควันดำไม่เกินมาตรฐานก่อนนำรถออกให้บริการ
การปฏิรูปรถเมล์ในมุมคนใช้บริการ บอกไว้แบบนี้ 📌การขนส่งสาธารณะที่ดี ต้องมีระเบียบ ชัดเจน สะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพในการเดินทาง ตอบโจทย์ผู้โดยสารทุกเพศทุกวัย มีบริการขนส่งสาธารณะที่ทั่วถึงเพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้ และราคาไม่แรงจนเกินไป ดังนั้น หากจะแก้ปัญหาระบบรถเมล์ในกรุงเทพได้จริง ต้องสร้างการเข้าถึงทุกพื้นที่ ต้องทำระบบตั๋วใบเดียว ต้องฟื้นฟูประสิทธิภาพของพนักงานขับรถและบริการ แต่การจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ก็จำเป็นต้องแก้ที่ต้นตอของระบบที่ขาดประสิทธิภาพ นั่นคือ ระบบราชการที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย
ในเมื่อระบบขนส่งสาธารณะถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐต้องจัดสรรให้กับประชาชนที่เป็นผู้บริโภคเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ด้วยเหตุดังกล่าว โครงการฯ จึงร่วมกับ ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จึงทำการวิจัยเรื่องข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับการให้บริการรถโดยสารประจำทางอย่างเพียงพอ เพิ่มความถี่และรอบการเดินรถให้สอดคล้องกับช่วงเวลาเร่งด่วนและความต้องการของผู้ใช้บริการ เพิ่มเส้นทางการเดินรถให้ครอบคลุมพื้นที่อย่างเพียงพอ ซึ่งมีผลต่อการปรับปรุงการให้บริการรถโดยสารประจำทาง สามารถทำได้โดยการมีระบบติดตามเพื่อให้การเดินรถตรงเวลา รวมถึงให้ความสำคัญเกี่ยวกับคุณภาพที่เพิ่มความปลอดภัย และความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ โดยการเพิ่มอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร เช่น ถังดับเพลิง ค้อนทุบกระจก ประตูฉุกเฉิน เป็นต้น การตรวจสอบสภาพรถก่อนการเดินทาง และมีทางขึ้นลงสำหรับผู้พิการ เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการรถโดยสารประจำทางได้ ส่วนข้อเสนอแนะเชิงการศึกษา ควรเพิ่มการศึกษาปัจจัยในการเดินทางรูปแบบอื่น ๆ เพื่อให้ข้อมูลมีความครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น และนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงการให้บริการและการคมนาคมขนส่ง ทั้งยังสามารถนํางานวิจัยนี้ ไปเป็นแนวทางในการประยุกต์ใช้เพื่อการศึกษาวิจัยอื่น ๆ ต่อไปในอนาคตได้
“รถเมล์ไทยต้องดีกว่าเดิม” โจทย์ยากๆ นี้ และความเป็นไปได้ในการพลิกโฉมรถเมล์ไทยให้ดีขึ้น จะเป็นไปได้แค่ไหน หรือ รถเมล์ไทยที่เป็นความหวังของคนเมืองกรุงฯยังคงริบหรี่เช่นเดิม ต้องติดตามกันต่อไป