มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

เจอสิ่งแปลกปลอมในอาหารผู้บริโภคต้องเรียกร้องสิทธิ !

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 05-09-2023 15:34

หมวดหมู่: อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ภาพประกอบข่าว

เจอสิ่งแปลกปลอมในอาหารผู้บริโภคต้องเรียกร้องสิทธิ !

สารพัดสิ่งแปลกปลอมที่ปนเปื้อนมาในอาหาร ต้นเหตุจากความสะเพร่า ของ ผู้ประกอบการ ทำกันเหมือนเป็นเรื่องปกติ! ในแต่ละปี มีผู้บริโภคที่ได้รับความช่วยเหลือ จาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มากกว่า 1,000 กรณี และ กว่า 101 เรื่อง ของปี พ.ศ. 2564-2565 เป็นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับอาหาร ไม่ว่าจะเป็น สิ่งแปลกปลอม หรือ สิ่งปนเปื้อนในอาหาร , อาหารเสื่อมสภาพก่อนวันหมดอายุ , อาหารหมดอายุ , ผลิตภัณฑ์ไม่มี อย.ฯลฯ โดยเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดอันดับ 1 นั่นคือ สิ่งปนเปื้อนในอาหาร

แต่สิ่งสำคัญที่ยังทำให้เหตุการณ์แบบนี้ยังคงอยู่ เกิดจาก ผู้บริโภค นั่นแหละ ที่ไม่รักษาสิทธิตัวเอง บางคนบอก ช่างมันเหอะ ถือว่าฟาดเคราะห์ หรือ บ่นทางโซเชียล ก็พอ เพราะเมื่อเจอเหตุแบบนี้ก็มักละเลยในการเรียกร้องการชดเชยความเสียหาย ทำให้จนถึง ณ ปัจจุบัน ปี 2566 ยังมีเรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า บางคนก็ทำแค่เอามาโพสต์ลงโซเชียล ลองมาดูตัวอย่าง

  • ไม่คิดว่าจะเป็นตัวเองที่มาเจอ‼️เปิดมาปุ๊บ เอาเครื่องปรุงออก เจอเลย ไม่มีทางที่ผมของเราจะปลิวลงไปแน่นอน เพราะมันพันไปกับเส้นหมี่เลยอ้ะ 😫😫😫

  • วันนี้เจอกับตัวเองเต็มๆ ดีที่ตักขึ้นมาก็เจอตั้งแต่ช้อนแรก ดีนะที่เส้นผมยาวมาก คนทำต้องสวยแน่ๆ 😂😂

  • ซื้อไส้ทอดจากร้านก๋วยเตี๋ยวร้านหนึ่ง กินไปหลายชิ้นแล้ว ตอนที่กินไปไม่กรอบและขมด้วย แต่ก็กินเพราะความหิวบังตา กินไปหลายชิ้นอยู่กว่าจะเห็นคือ ไข่แมลงวัน ฮะ เกือบหมดแล้ว ขออย่าให้ท้องเสียก็พอ กราบร้านค้าควรดูแลเรื่องความสะอาดด้วยนะคะ ทำเหมือนกับที่ทำให้ตัวเองกินกราบบบบบเถอะขอร้อง

  • อวสานสาวกห่อหมก เห็นโพสต์คนอื่น ไม่คิดว่ามาเจอกับตัวเอง เพิ่งแกะออกจากห่อใบตอง กินไปครึ่งนึง ทานแบบเอร็ดอร่อยแล้วเหลือบมาเห็น ใช่แน่ๆ ต้องใช่แน่ๆ 🥴🥴ไข่แมลงวันขาวๆ

  • หนุ่มช็อก! ซื้อเครื่องดื่มจากตู้อัตโนมัติ ซึ่งหลังยกดื่มไปแล้ว ปรากฏว่าเจอเศษใบพัดอยู่ในแก้ว

  • กินรังนกบรรจุขวด เมื่อกลืนลงไป จู่ๆ รู้สึกเหมือนมีแก้ว บาดลำคอ เจ็บปวดรวดร้าว ด้วยความสงสัย จึงเทรังนกที่เหลือในขวด จนพบตัวการมันคือ เศษแก้วชิ้นเล็กๆ

  • ซื้อส้มตำมากินพอเห็น ขาแมลงสาบ ตกใจเรย ไม่กล้ากินต่อ 😧😨

  • สาวช็อก! เจอ เบ็ดตกปลา!! มากับผัดเผ็ดปลาดุกใบยี่หร่า กำลังจะตักเข้าปากตา มองไปเห็นตกใจมากค่ะ รีบโทรไปหาร้าน ได้คำตอบว่า ทางร้านก็ล้างดีแล้ว ไม่รู้หลงมาได้ไงเป็นคำตอบที่ไม่โอเคมากๆ ค่ะ อันตรายมากๆ ถ้ากินเข้าไป เตือนผู้บริโภคไว้เป็นอุทาหรณ์นะคะจะกินอะไร มองกันดีๆ ค่ะ"

  • ขอโพสต์นี้ไว้เป็นอุทาหรณ์ครับ ทำต้มจืดกินเอง ใส่วากาเมะ+เต้าหู้ไข่ กิน2คำเจอวัตถุแปลกปลอม ขนาดยาวประมาณ1เซ็น ลักษณะคล้ายปลายเบ็ดตกปลา แม่เหล็กดูดติดปนมากับสาหร่ายวากาเมะ ยี่ห้อหนึ่ง ไม่อยากจะคิดถ้ากลืนลงท้องไป

  • สาวโพสต์... “ แทบอ้วก เจอแผ่นคล้ายเชื้อรา ลอยฟ่องในกระป๋องน้ำอัดลม

  • ช่วงนี้เจอร้านอาหารที่มีสิ่งแปลกปลอมบ่อยมากค่ะ เช่น กระดาษในอาหาร เส้นผม เส้นขน ในอาหาร ล่าสุด รับไส้กรอกมาแบบแตกๆ แต่ไม่ได้อะไร แต่เจอแมลงวันแบบนี้รับไม่ได้จริงๆค่ะ #กินไปแล้วด้วย😪

นี่เป็นแค่ตัวอย่างของผู้บริโภค ที่เจอสิ่งแปลกปลอกปนเปื้อนมาในอาหาร… ถามว่า? จะทำยังไงกันต่อ บางคนบอกช่างมันเถอะ บางคนบอกไม่ได้สิ ต้องเรียกร้องให้ร้านค้ารับผิดชอบ ใช่ค่ะ มันต้องเรียกร้อง ค่าชดเชยค่าเสียหาย! ไม่ว่าจะเป็นเหตุจากอาหารที่รับประทานเข้าไปซึ่งเจอสิ่งปนเปื้อนทั้งมีชีวิต และไม่มีชีวิต หรืออาหารที่ซื้อมา ได้จัดการเปิดภาชนะออกจนพบมีสิ่งปนเปื้อนแต่โชคดียังไม่ได้กิน เข้าไปและ อาหารบรรจุภาชนะใสจนมองเห็นสิ่งปนเปื้อนภายในถึงแม้ยังไม่ได้เปิดฝาภาชนะก็ตาม

เมื่อผู้บริโภคไม่ละเลยสิทธิตัวเอง ย่อมได้สิทธินั้นกลับคืน...ว่าแต่จะไปร้องกับใครดีหว่า

บ่อยครั้งที่มีเหตุการณ์แบบนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการปฏิบัติ ส่วนมากมักทำแค่ กล่าวคำขอโทษ แล้วเปลี่ยน สินค้า ให้สิทธิกินฟรีอีกครั้ง แต่ในฐานะผู้บริโภค ต้องทำให้เกิดการแก้ไขเยียวยามากกว่าคำขอโทษและอาหารหนึ่งมื้อ? เพราะฉะนั้นการลุกขึ้นมาใช้สิทธิในฐานะผู้บริโภค ถือว่ายอดเยี่ยมที่สุด เพราะผู้ผลิตอาหารกระทำความผิดเข้าข่ายผิด กฎหมายพ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) เรื่องอาหารไม่บริสุทธิ์โดยมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 58 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำ ทั้งปรับ ซึ่งผู้บริโภคอย่างเราๆ สามารถนำบทลงโทษนี้มาเป็นฐานประกอบการคำนวนความเสียหายในการเรียกร้องให้ผู้ประกอบการเยียวยาได้ ที่สำคัญหากไม่สามารถตกลงกันได้ก็สามารถใช้กระบวนการฟ้องร้องต่อศาล โดยใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ในการดำเนินการฟ้องได้

หลักฐานสำคัญห้ามทิ้งเด็ดขาด ขอเตือนไว้เลยนะ “หลักฐานตัวจริงทั้งหมดให้เก็บไว้ที่ตนเอง ห้ามให้หน่วยงานหรือผู้ประกอบการโดยเด็ดขาด “เอาละเมื่อพร้อมก็จัดการได้เลย!

1. ถ่ายรูปและเก็บตัวอย่างสินค้าไว้เป็นหลักฐาน กรณีมีใบเสร็จจากร้านค้าให้เก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย

2. ไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย และขอใบรับรองแพทย์ พร้อมเก็บใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลไว้เป็นหลักฐาน

3.นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจท้องที่ เพื่อเป็นหลักฐาน

4. โทรแจ้งศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (เบอร์โทรระบุไว้ที่ภาชนะบรรจุ) ซึ่งต้องคิดให้ดีว่า เราต้องการให้บริษัทดำเนินการอย่างไร เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาพร้อมชดเชย เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น . และ 5. ทำหนังสือยื่นข้อเสนอกับบริษัท ด้วยการบรรยายสรุปปัญหาที่พบ โดยส่งถึงประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า และให้ระบุความต้องการที่ชัดเจนซึ่งเป็นความเสียหายของผู้บริโภค เช่น …..

  • ขอเปลี่ยนสินค้า

  • ขอเงินคืน

  • ชดเชยค่ารักษาพยาบาล

  • จ่ายค่าเสียเวลา ค่าขาดประโยชน์ และค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ

  • ให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น

แต่หากวิธีการข้างต้นไม่มีความคืบหน้า ผู้เสียหายสามารถร้องเรียนกับหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่เบอร์สายด่วน 1556

หรือ มาร้องเรียนได้ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฟรี!!!!! โทร : 02-248 3737 หรือ ส่ง e-mail มาที่ complaint@consumerthai.org ถ้าสะดวกก็มาได้ที่ 4/2 ซอยวัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร, เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ ประจำการให้คำปรึกษา-ช่วยเหลือ จันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 9.00-17.00 น.

.


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม