เรื่องเล่าจากเคสฟิตเนสทำปวดใจ!ต้องจัดการสัญญาทาส
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 07-10-2024 16:17
หมวดหมู่: สินค้าและบริการทั่วไป

เรื่องเล่าจากเคสฟิตเนสทำปวดใจ!ต้องจัดการสัญญาทาส
จะไม่ปวดใจได้ไงอ้ะ ไอ้เรามันคนรักสุขภาพ ติดการออกกำลังกาย พอดีแถวบ้าน มีสาขาของฟิตเนสชื่อดังเปิดให้บริการ เราก็อุตสาห์จ่ายเงินเกือบ 2 หมื่นบาท สมัครเป็นสมาชิก แต่! เข้าไปใช้บริการได้ไม่ถึง 3 เดือน ไอ้สาขาที่อยู่ใกล้บ้านเรา ดันประกาศปิดซ่อม 3 เดือน ที่สำคัญเรามารู้ข่าวจากเพจเฟซบุ๊กของฟิตเนส คือ...ไม่แจ้งทางโทรศัพท์ไปยังลูกค้าอ้ะ มีคนไม่รู้อีกเยอะเลย แถมให้ลูกค้าสาขานี้ย้ายไปเล่นอีกสาขา แต่สำหรับเรามันไม่ OK ค่ะ มันไกล จึงไม่สะดวกถ่อไปถึงที่นั่น ที่นี้ เราต้องการเอาเงินคืน ทางฟิตเนส รับปากจะผ่อนคืน 2 งวด งวดแรก 10 สิงหาคม 67 แต่รอจนแล้วจนรอด ก็ไม่ได้เงินคืน ตัดสินใจตามไปทวงถึงฟิตเนส เจอแค่พนักงาน บอกจะไปแจ้งผู้จัดการ ให้รอการแจ้งกลับ แต่เรื่องก็ยังเงียบ สุดท้ายมารู้ข่าวอีกที ฟิตเนส ที่อ้างว่า ปิดซ่อม 3 เดือน แต่ไม่ถึงเดือนกลับประกาศปิดบริการแบบถาวร นับตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาที่ผ่านมา คือ ปิดแบบไม่แจ้งลูกค้าตามเบอร์โทรฯ ที่ให้ไว้ แต่แจ้งผ่านเฟซบุ๊ก สุดท้ายตัดสินใจมาร้องเรียนที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือ
เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ เมื่อได้ฟังเรื่องราวที่จากเคสนี้ จึงเป็นคนกลางติดต่อไปยังพนักงานของฟิตเนส ได้รับการแจ้งว่า จะคืนเงินงวดที่ 1 ในวันที่ 10 ก.ย. 67 แต่เอากับเค้าสิ ฟิตเนสเล่นแง่อีกละ เงียบหาย!ต้องกระตุ้นกันอีกรอบ นั่นละ จึงยอมคืนเงิน แต่มาเป็นต่อนๆ นะ โดยทางผู้ร้องแจ้งว่า เพิ่งได้รับโอนเงินคืนงวดแรก 4 พันบาท เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 67 ยังเหลืออีกประมาณ 1.4 หมื่นบาท ทางฟิตเนสจะทยอยชำระคืนจนกว่าจะครบ
แต่เอิ่ม ... จ่ายคืนงวดละ 4 พันบาทเองเหรอ แล้วจะคืนจนครบเมื่อไหร่ หลักฐานสัญญาก็ไม่มี ถ้าเบี้ยวล่ะ !เนี่ยๆ มันเป็นข้อสงสัยของผู้เขียนอ้ะ ...เชื่อว่า ผู้ร้อง ก็คงใช้ตุ๊มๆ ต่อมๆ เราก็เลยถาม เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ ได้คำตอบว่า #มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค #จะช่วยทำหนังสือติดตาม จนกว่าจะชำระให้ครบถ้าเกิดการเบี้ยวกันขึ้น ผู้ร้องสามารถแจ้งเรื่องมาได้ เพื่อให้เป็นคนกลางไกล่เกลี่ย
เมื่อผู้เขียนถามผู้ร้องว่าถ้าฟิตเนสเบี้ยวจะฟ้องแพ่งมั้ย?
ตอบ ยังไม่ได้คิดว่าจะดำเนินการไปถึงขั้นนั้น เพราะคิดแค่ว่าจะขอคืนเงินจากฟิตเนสก่อนเป็นเบื้องต้น เพราะฟิตเนส รับปากคืนเงินให้สมาชิกไปทีละรายจนครบทุกคน แต่หากมีปัญหาฟิตเนส คืนเงินให้เราไม่ครบ ก็อาจใช้วิธีการทางกฏหมาย ที่สำคัญต้องขอบคุณมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ดำเนินการช่วยเหลือ และจากเหตุการณ์ที่ประสบมาเกี่ยวกับฟิตเนสที่เจอครั้งนี้ อยากฝากไปถึงผู้บริโภครายอื่นๆ ให้พิทักษ์สิทธิ์ของตัวเอง หลักฐานสำคัญ นั่นคือ ใบเสร็จรับเงินการชำระเงินค่าสมาชิก เผื่อมีปัญหาจะได้ใช้หลักฐานตรงนี้เพื่อขอคืนเงินกับฟิตเนส และอาจเป็นหลักฐานในกระบวนการฟ้องร้อง เพราะบางคนอาจจ่ายรายปีเป็นแสน ถ้าเกิดคนไหนประสบปัญหาในลักษณะนี้ และไม่ทราบว่าจะดำเนินการอย่างไร ขอให้ติดต่อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือ
เอาละ นี่เป็นแค่ เรื่องเล่าจากเคส "ฟิตเนส"ทำปวดใจ" เรื่องจะจบลงด้วยดี ได้เงินคืนครบหรือไม่ ? ต้องติดตามกันต่อไป
กันไว้ดีกว่า สุภาษิตนี้ยังใช้ได้ดีตลอดกาล ในเมื่อ "ฟิตเนส ทำปวดใจ" เพราะฉะนั้น เรามา "รู้เท่าทันสัญญาฟิตเนส" กันเถอะ เพราะอาจจะเป็นสัญญาทาส
เวลาคุณไปสมัครสมาชิกฟิตเนส เขาจะเอาสัญญามาให้เราเซ็น มีใครเคยอ่านอย่างละเอียดบ้าง ยกมือขึ้น! หุหุ บอกเลยว่าไม่มี แต่ ... คุณรู้หรือไม่ว่า อักษรตัวเล็กๆ ที่พิมพ์ติดกันเป็นพรืดเต็มหน้ากระดาษ ระบุสารพัดเงื่อนไขผูกรัดมัดตัว หากไม่อ่านดีๆ ไม่อ่านให้ถี่ถ้วน เผลอตัวลงลายมือชื่อทำสัญญาไปเรียบร้อยแล้วละก็ เสร็จเลย! ยังไงน่ะเหรอ? เพราะกว่าจะรู้ว่า "หลวมตัว" ไปแล้ว ก็ตอนที่ไปใช้บริการจริง เอาละมาดูตัวอย่างกัน ( ย้ำว่า ฟิตเนสบางแห่งนะ)
ค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้บอกในตอนแรกกลับผุดขึ้นมาให้สะอึก เพราะจากที่บอกว่าฟรี กลายเป็นแค่ส่วนลด, จะใช้บางบริการต้องเสียเงินเพิ่ม, เครื่องมือออกกำลังกายไม่เพียงพอทำให้ผู้ใช้บริการต้องแย่งกัน, เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งห้องน้ำ ล็อกเกอร์ ในสถานบริการไม่สะอาดเท่าที่ควร, ไม่มีระบบรักษาความปลอดภัย เมื่อมีของหายสถานบริการจะไม่รับผิดชอบ, เทรนเนอร์บางคนไม่ได้ถูกฝึกมาให้กับสมาชิกทุกคนและบางคนไม่มีความรู้ที่ดีพอ, ที่สำคัญตอนจะบอกเลิกเป็นสมาชิกกลับไม่ง่ายเหมือนตอนสมัคร เพราะถูกบังคับด้วยเงื่อนเวลาการใช้บริการตั้งแต่ 6 เดือน ไปจนถึง 2 ปี !! และส่วนใหญ่จะกำหนดให้ลูกค้าต้องมากรอกแบบฟอร์มการยกเลิก พร้อมเอกสารหลักฐานต่างๆ ถึงที่บริษัทฯ จากนั้นยังต้องมาลุ้นระทึกรอผลการพิจารณาอีกต่างหาก
เหล่านี้เป็นแค่ตัวอย่างสารพันปัญหามีมากมายทั้งจากข้อสัญญาและข้อมูลจากการใช้บริการจริง ที่ผู้บริโภคถูกผู้ประกอบการเอาเปรียบในหลายๆ เรื่อง มันเข้าข่าย "ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม" และมันผิดกฎหมาย ซึ่งถูกกำหนดไว้ใน "พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540" โดยมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับสัญญาการใช้บริการฟิตเนส นั่นคือข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูประหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ ที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปได้เปรียบ คู่สัญญาอีกฝ่ายเกินสมควร (มาตรา 4 วรรค 1)
สำหรับผู้ที่กำลังมีปัญหาต้องการที่จะยกเลิกการใช้บริการฟิตเนส มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีข้อแนะนำ จัดการสัญญาทาส
1. ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาการขอใช้บริการไปยังบริษัทฟิตเนสพร้อมส่งบัตรสมาชิกคืนไปด้วย โดยไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับอาจชี้แจงเหตุในการเลิกสัญญา เช่น มีปัญหาด้านสุขภาพ หรือไม่ได้รับความสะดวก สบายในเรื่องของสถานที่ ฟิตเนตมีจำนวนสมาชิกเยอะเกินไปทำให้ไม่สามารถใช้อุปกรณ์ได้ หรือ อุปกรณ์ มีการชำรุด เสียหายบ่อย
เมื่อเลิกสัญญาแล้วต่างฝ่ายต่างต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม เหมือนก่อนที่จะมาทำสัญญากัน เงินที่ต้องจ่ายตามระยะเวลาที่คงเหลืออยู่ตามสัญญา ก็ไม่ควรต้องจ่ายเพราะเราไม่ได้เข้าไปใช้บริการ ส่วนเงินที่จ่ายไปแล้ว หากเป็นกรณีที่เราไม่ได้ไปใช้บริการเลย บริษัทฯ ควรต้องคืนให้เรา แต่หากว่าเราเคยไปใช้บริการบ้าง ก็คิดหักกันไปตามส่วน และหากบริษัทฯ เห็นว่ามีความเสียหายก็ให้เรียกร้องค่าเสียหายมา
2. ทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัทบัตรเครดิตให้ระงับการหักบัญชีพร้อมแนบสำเนาหนังสือตามข้อ 1. ไปด้วย โดยส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ
3. หากยังถูกหักเงินจากบัญชีอีก ให้นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน พร้อมกับร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)หากเจ้าหน้าที่พบว่ามีการทำผิดสัญญา ทำให้คู่สัญญาไม่ได้รับความเป็นธรรม จะดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจฟิตเนสตามกฎหมายได้ทันที โดยผู้บริโภคสามารถฟ้องคดีผู้บริโภคได้ด้วยตัวเอง ณ ศาลที่มีเขตอำนาจ (ภูมิลำเนาของบริษัท หรือ สถานที่ทำสัญญา) ไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยจะมี “เจ้าพนักงานคดีประจำศาล” เป็นผู้แนะนำ จัดเตรียมเอกสารและร่างฟ้องให้
ทั้งนี้ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีประกาศเรื่องให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา บังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2554 เพื่อให้ธุรกิจให้บริการออกกำลังกายทั้งธุรกิจฟิตเนส โรงยิม สถานบริการออกกำลังกายรูปแบบอื่นๆ ที่ให้บริการใช้สถานที่และอุปกรณ์ออกกำลังกายเพื่อประโยชน์ในทางการค้า ให้เป็นธุรกิจที่ถูกควบคุมสัญญา เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค
เรื่องราวของฟิตเนส ที่ฉ้อโกงผู้บริโภค ยังมีใครจำกันได้บ้างกับ "แคลิฟอร์เนีย ว้าว "ค่าสมาชิกอย่างโหด... แต่หนีปิดกิจการ อ้างกิจการเจ๊ง แต่ไม่ได้เจ๊งจริงอย่างที่ได้ออกมาแถลงไว้ ปปง.ตรวจสอบพบหลักฐานโอนเงินออกไปต่างประเทศกว่า 1.6 พันล้านบาท ทั้งที่มีสถานะล้มละลายอยู่ และแจ้งผลประกอบการขาดทุนมาตลอด เหตุการณ์ครั้งนั้น ผู้เสียหายนับร้อย มาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จนถึงขั้นดำเนินการฟ้องร้องในชั้นศาล กลายเป็นมหากาพย์ กว่า 10 ปี แต่เรื่องก็ยังไม่จบ
“แคลิฟอร์เนียฟิตเนส” เจ้าของคือ บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียน จำกัด (มหาชน) มีนายแอริค มาร์ค เลอวีน เป็นกรรมการบริษัท ได้เปิดกิจการสถานประกอบการออกกำลังกายตั้งแต่ปี 2543 – 2556 ไม่นานก็ทยอยปิดสาขา ทำให้สมาชิกรายปีและ สมาชิกตลอดชีพที่ชำระเงินล่วงหน้าไม่ทันตั้งตัวต้องสูญเงินจำนวนมาก เหตุเกิดเมี่อปี พ.ศ. 2556 มีผู้เสียหายหลายร้อยคน เข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงดำเนินการเป็นตัวแทนฟ้องร้อง “คดีฉ้อโกงประชาชน” พร้อมขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงิน อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดมูลฐานให้ผู้เสียหาย “ยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิจากการกระทำความผิดมูลฐาน” โดยรวบรวมรายชื่อยื่นต่อศาล เพื่อร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งนำทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดคืนให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน ซึ่งจากข้อมูล ปปง. พบว่าตั้งแต่ปี 2543 ถึง 2554 นายแอริคทำธุรกรรม โอนเงินไปให้บุคคลอื่นทั้งในและนอกประเทศกว่า 1.6 พันล้านบาท ซึ่งเป็นอัตราส่วนถึงร้อยละ 99 ของธุรกรรมทั้งหมด ถึงแม้อยู่ในช่วงกิจการประสบภาวะขาดทุนก็ตาม
กว่า 10 ปี แห่งการต่อสู้ของผู้เสียหาย จาก “แคลิฟอร์เนีย ว้าว “ปิดกิจการหนี ศาลอุทธรณ์พิพากษา ให้ ทรัพย์สิน ที่ ปปง. ยึดได้จากจำเลย เฉลี่ยใช้คืนกับผู้ยื่นคุ้มครองสิทธิ์ ยังไม่จบ คดีแพ่งต้องลุ้นต่อถึงศาลฎีกา แต่คดีอาญาหมดอายุความ
เรื่องราวยาวนานมาก จนผู้คนลืมเลือน กระทั่งรุ่นต่อมารู้ไม่ทันกลโกงของฟิตเนส (บางแห่ง) จึงไม่ระวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงขอนำเรื่องนี้มาให้อ่านเพื่อย้ำเตือนกันอีกครั้ง กับเรื่อง มหากาพย์ คดี “แคลิฟอร์เนีย ไม่ว้าว “ เจ้าของปิดกิจการหนี 10 ปี ยังไม่จบ คดีแพ่งต้องลุ้นต่อถึงศาลฎีกา แต่คดีอาญาหมดอายุความ https://www.facebook.com/share/p/YBqfNmz4RrAEk91L/?mibextid=oFDknk