คืนรถให้ไฟแนนซ์ จบ & ไม่จบ ?ตอนที่ 9 : คืนรถตอน หนี้ดี-หนี้เสีย อย่างไหนดีกว่า?
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 29-05-2023 15:54
หมวดหมู่: การเงิน การธนาคาร

คืนรถให้ไฟแนนซ์ จบ & ไม่จบ ?ตอนที่ 9 : คืนรถตอน หนี้ดี-หนี้เสีย อย่างไหนดีกว่า?
ถาม : ผ่อนรถต่อไปไม่ไหวแล้ว! คืนรถได้ไหม? ต้องทำยังไงบ้าง ?
ตอบ : ต้องถามกลับว่า รถมีสภาพเป็นหนี้ดี หรือ หนี้เสีย (ค้างค่างวดหรือไม่/ค้างกี่งวด) เพราะ มีข้อดี - ข้อเสีย ต่างกัน เช่น หากติดหนี้ไฟแนนซ์ มาแล้ว 1 หรือ 2 งวด หรือ 3 งวด หรือก่อนเราได้รับบอกเลิกสัญญามาครบ 30 วันเราต้องรีบ ติดต่อไฟแนนซ์ เพื่อขอคืนรถ และ หากไฟแนนซ์ยอมรับรถคืน ถือว่า สัญญาเช่าซื้อระงับสิ้นสุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิขย์ มาตรา 573 ซึ่ง บัญญัติว่า "ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง"
ดังนั้น เมื่อกระบวนการคืนรถเสร็จสิ้น จะถือว่า สัญญาเช่าซื้อนั้น สิ้นสุดลง เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน หรือ ไฟแนนซ์ได้มายึดรถยนต์กลับไปเอง เมื่อไฟแนนซ์นำรถยนต์ไปขายทอดตลาด ได้เงินไม่เพียงพอกับยอดหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ ค่าเสียหายส่วนนี้ ที่เรียกว่า “ค่าขาดราคาหรือส่วนต่าง” ผู้เช่าซื้อไม่ต้องรับผิดชอบทั้งสิ้น (แต่ต้องยื่นคำให้การต่อสู้นะ), เพียงแต่ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดชอบ เฉพาะค่าเช่าซื้อ ที่ยังค้างชำระแต่ละงวด ก่อนวันที่เราจะนำรถยนต์ส่งมอบคืน ไฟแนนซ์ หรือที่ในคำพิพากษาเรียกว่า “ค่าขาดประโยชน์” และที่สำคัญ
การคืนรถ ต้องมี หลักฐานการคืน/ หลักฐานส่งมอบรถยนต์คืนไฟแนนซ์ด้วย โดยคนเช่าซื้อรถจะทำหนังสือขอบอกเลิกสัญญาไปก่อนส่งรถคืนก็ได้ ให้จำไว้เลยว่า ในขณะส่งมอบรถให้เก็บภาพตามที่แนะนำไว้ในตอนที่ 8 เพราะมันจะเป็นหลักฐานที่เราจะใช้สู้คดีอย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีกฎหมายคุ้มครอง โอกาสที่ไฟแนนซ์จะยอมรับรถคืน แล้วก็บอกเลิกสัญญา
“จบกันไป” เป็นไปได้น้อยมาก ดังนั้น ผู้เช่าซื้อ อาจต้องเตรียมตัวปรึกษาทนายหรือที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาล
เอาละ คราวนี้ มาดูกันว่า การคืนรถขณะที่เป็นหนี้เสีย จะมีผลอย่างไร ! ปมนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดค้างชำระ 3 งวดติดต่อกัน โดยที่ไฟแนนซ์ ได้ ส่งหนังสือทวงถามหนี้และบอกเลิกสัญญามาให้เราแล้ว เมื่อเราได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามฯ แล้วครบ 30 วัน ถ้าหากผู้เช่าซื้อ ไม่ชำระหนี้ สัญญาเช่าซื้อระหว่างเรากับไฟแนนซ์ก็เลิกกันได้ทันที! ถ้าหากปล่อยเหตุการณ์ให้ล่วงเลย มาถึงขนาดนี้ มีแต่เสียกับเสียลูกเดียว นะจะบอกให้ ทำไมน่ะเหรอ ? นั่นก็เพราะว่า ไม่ว่าเราจะเอารถไปคืนไฟแนนซ์เอง หรือ ปล่อยให้ไฟแนนซ์มายึด หากไฟแนนซ์นำรถไปขายทอดตลาด แล้วได้ไม่คุ้มราคา ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดชอบค่าขาดราคาทุกกรณี แต่ถ้าเราสู้คดียอดหนี้ที่ไฟแนนซ์ฟ้องมานั้นศาลจะพิพากษาด้วยความเป็นธรรมให้เราจ่ายน้อยมาก ดังนั้น ต้องจำให้ขึ้นใจ หากรู้ตัว ผ่อนหนี้ไม่ไหว ต้องรีบคืนรถไฟแนนซ์ ทันที อย่าปล่อย หากปล่อยไว้แล้วถูกฟ้อง เวลาจนผิดนัดชำระ 3 งวดและได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา เด็ดขาด
เอาละ อย่าลืมนะ บางคนซื้อรถ ก็ให้ใครต่อใคร “ ค้ำประกัน “ ให้ นี่แหละ ที่จะบอกว่า คนค้ำประกันก็ถูกฟ้องรวมมาด้วย หากผู้เช่าซื้อค้างชำระหนี้ จนถูกไฟแนนซ์ ยื่นฟ้องเป็นจำเลยที่ 1 คนค้ำประกันเป็นจำเลยที่ 2 ถ้าหาก จำเลยที่ 1 หนีใช้หนี้ หรือจำเลยที่ 1 ไม่มีไม่หนี้ไม่จ่าย เท่ากับว่า ภาระตกเป็นของจำเลยที่ 2 ที่เป็นคนค้ำประกัน ต้องใช้หนี้แทน (ส่วนใหญ่คนค้ำฯมักจะมีทรัพย์สินด้วยสิ) ถ้าหากผู้ค้ำประกันถูกฟ้อง ควรทำอย่างไรบ้าง ? มาติดตามกันในตอนที่ 10 ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของซีรีส์ คืนรถให้ไฟแนนซ์ จบ & ไม่จบ?
เครดิต : กิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ์ ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จากเรื่อง “🚗คืนรถให้ไฟแนนซ์ จบ & ไม่จบ ?