มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

คืนรถให้ไฟแนนซ์ จบ & ไม่จบ ? ตอนที่ 8 : คืนรถให้ไฟแนนซ์ไม่เสียค่าส่วนต่าง (จริงหรือ?)

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 23-05-2023 16:50

หมวดหมู่: การเงิน การธนาคาร

ภาพประกอบข่าว

คืนรถให้ไฟแนนซ์ จบ & ไม่จบ ? ตอนที่ 8 : คืนรถให้ไฟแนนซ์ไม่เสียค่าส่วนต่าง (จริงหรือ?)

ถาม : ผ่อนรถไม่ไหว เงินขาดมือ จะปล่อยให้ไฟแนนซ์ยึดรถก็ยังทำใจไม่ได้ แถม ยังต้องจ่ายหนี้ส่วนต่างหลังขายทอดตลาดอีก เป็นไปได้มั้ยที่ผมต้องการคืนรถให้ไฟแนนซ์โดยที่ไม่ต้องจ่ายส่วนต่างครับ แม้ว่าในสัญญาระบุว่าผู้เช่าซื้อต้องจ่ายส่วนที่ขาด ซึ่งเงื่อนไขตอนนี้ ผมยังไม่ผิดนัดชำระค่างวดครับ คำถามคือ 1.ถ้าผมคืนรถไปแล้ว ผมยังจะต้องเสียค่าส่วนต่างอยู่หรือไม่ครับ 2.ถ้าถูกฟ้อง ผมจะต้องเตรียมตัว เตรียมเอกสารยังไงให้ชนะคดี เพื่อไม่ต้องจ่ายส่วนต่างครับ ขอคำปรึกษาด้วยนะครับ กังวลใจมากๆครับ😞

การคืนรถให้ไฟแนนซ์ โดยไม่เสียส่วนต่าง อาจเป็นเพียงนโยบายของบางบริษัทเท่านั้น หากเราต้องการคืนรถให้ไฟแนนซ์เพื่อตัดปัญหาหนี้ที่ยังค้างชำระอยู่และไม่อยากมีหนี้ก้อนใหญ่ในอนาคต แต่ส่วนใหญ่ที่คืนรถแล้วและเมื่อไฟแนนซ์เอารถไปขายได้เงินครบจำนวนหนี้ เขาก็กลับมาฟ้องเรียกค่าส่วนต่างอยู่แน่นอน มาดูข้อดูกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องคืนรถ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 573 บอกว่า ผู้เช่าซื้อจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ด้วยการส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง นั้นหมายความว่าคนเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อมีสิทธิเลิกสัญญาได้ด้วยการส่งรถที่เช่าซื้อคืนไฟแนนซหรือตัวแทนของไฟแนนซ์ เมื่อไฟแนนซ์รับรถไว้จะส่งผลให้สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกัน และถึงแม้นว่า ตอนคืนรถเขาจะเอาเอกสารที่มีข้อความระบุทำนองว่า “หากขายทุนเราจะขอรับผิดชอบส่วนต่างที่เกิดขึ้น” ก็ตาม เราต้องยื่นคำให้การต่อสู้ ควรต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง เพื่อที่เมื่อบริษัทไฟแนนซ์นำรถของเราไปขายทอดตลาดแล้วจะได้ไม่มีปัญหาตามมาทีหลัง เพราะมีหลายรายที่คืนรถให้ไฟแนนซ์กลับมีค่าส่วนต่างเพิ่มซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร ก่อนคืนก็ควรทำรถให้สะอาดสวยงาม ถ่ายภาพเก็บเอาไว้ รวมถึงเลขไมล์รถ เพื่อจะเก็บไว้เป็นหลักฐานว่าเราได้คืนรถสภาพที่สวยงามใช้งานได้ดี และรวมววมใบเสร็จค่างวดที่เราเคยชำระมาโดยเฉพาะ 2 งวดล่าสุดก่อนคืนรถ เมื่อไฟแนนซ์ฟ้องมาเราต้องยื่นคำให้การต่อสู้ โดยใช้เอกสารหลักฐานที่บอกไว้มาสู้ เราก็จะไม่เสียค่าส่วนต่างแม้นแต่บาทเดียว (คำพิพากษาฎีกาที่1203/20565 “ขณะจำเลยนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปคืนโจทก์ และโจทก์รับคืนไม่ปรากฏว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาข้อใดหรือมีหนี้ที่ต้องชำระตามสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์ จึงไม่อาจถือว่าจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 12 ซึ่งต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดราคาตามสัญญาข้อ 13 เพราะการแสดงเจตนาคืนรถที่จะถือว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของผู้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 12 ที่ระบุว่า “ผู้เช่าซื้อจะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อในเวลาใดๆเสียก็ได้โดยผู้เช่าซื้อจะต้องคืนและส่งมอบรถยนต์...และชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลานั้นทันที...” ต้องปรากฏว่าจำเลยยังคงมีหนี้หรือเงินที่ต้องชำระตามสัญญาเช่าซื้ออยู่ในขณะที่ส่งมอบรถคืนโจทก์เมื่อจำเลยไม่มีเงินหรือหนี้ที่ต้องชำระตามสัญญาเช่าซื้อ กรณีถือว่าจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาด้วยการส่างมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นอันเลิกกันนับแต่วันที่จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ โดยจำเลยไม่ได้ประพฤติผิดสัญญาและไม่มีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามมาตรา 573 โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาเช่าซื้อตามสัญญาจากจำเลย

แม้จำเลยตกลงรับผิดในบรรดาหนี้ค้างชำระที่เกิดขึ้นจากการบอกเลิกสัญญาให้แก่โจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 13 ตามหนังสือแสดงเจตนาคืนรถของจำเลยก็ตาม แต่หนังสือแสดงเจตนาคืนรถมิใช่สัญญาเช่าซื้อ เป็นเพียงหลักฐานการส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซื้อคืนและจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อรับรองต่อโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อว่า หากโจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกขายได้เงินไม่พอชำระหนี้คงค้างตามสัญญา จำเลยจะยอมรับผิดชดใช้ส่วนที่ขาดแก่โจทก์ ซึ่งหามีผลให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้ส่วนที่ขาดแก่โจทก์ ซึ่งหามีผลให้จำเลยต้องรับผิดค่าขาดราคาตามเอกสารนั้นไม่ เพราะเป็นการรับสภาพหนี้สินว่ามีอยู่ทั้งที่ไม่มีเนื่องจากโจทก์และจำเลยไม่มีมูลหนี้ค่าขาดราคาต่อกัน จึงไม่มีผลบังคับแก่กันได้” อย่างไรก็ตาม เราควรศึกษาข้อมูลกฎหมายเพิ่มเติมทางออนไลน์หรือกับผู้รู้ หรือที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อีกทั้งต้องอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับตัวอย่างหนังสือขอคืนรถให้ครบถ้วนก่อนเซ็นสัญญา

เอ๊ะ แล้วการ คืนรถขณะที่เป็นหนี้ดี กับ คืนรถขณะที่เป็นหนี้เสีย ผลดี-ผลเสีย ต่างกัน อย่างไร ? มาติดตามกันต่อในตอนที่ 9

เครดิต : กิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ์ ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จากเรื่อง “🚗คืนรถให้ไฟแนนซ์ จบ & ไม่จบ ?


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม