คืนรถให้ไฟแนนซ์ จบ & ไม่จบ?ตอนที่ 5 : ถูกฟ้องหนี้ไฟแนนซ์ไม่ไปศาลเสร็จแน่!
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 24-04-2023 12:28
หมวดหมู่: การเงิน การธนาคาร

คืนรถให้ไฟแนนซ์ จบ & ไม่จบ ?
ตอนที่ 5 : ถูกฟ้องหนี้ไฟแนนซ์ไม่ไปศาลเสร็จแน่!
ถาม : ผมโดนไฟแนนซ์ยึดรถไปหลายเดือนแล้วครับ ตอนปล่อยยึด ยอดที่ต้องชำระอยู่ที่ 335,000 บาท หลังจากถูกยึด มีจดหมายมาแจ้งว่า รถถูกนำไปขายทอดตลาด แต่มียอดหนี้ส่วนต่างที่ต้องชำระเป็นเงินเพิ่มอีก 385,000 บาท แล้วตอนนี้ก็มีหมายศาลออกมาแล้วด้วยครับ จะทำอย่างไรดีครับ**
ตอบ : เห็นตัวเลขที่ถูกฟ้องเรียกค่าส่วนต่างจำนวนมาก ก็อย่าได้ตกใจไป! เพราะในคดีผิดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ เมื่อผู้บริโภคถูกฟ้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ , ประกอบกับพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 , กฎหมายกำหนดให้ภาระการพิสูจน์ตกเป็นของคนที่ฟ้อง หรือผู้ประกอบการ แต่หากไม่สามารถพิสูจน์ได้ ก็ไม่มีสิทธิได้เงินส่วนนั้น หรือได้ไม่เต็มจำนวน ตามที่ฟ้อง
เพราะฉะนั้น หากผู้เช่าซื้อ ถูกไฟแนนซ์ฟ้องผิดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ อย่าตกใจ สามารถสู้คดีในศาล เพื่อลดหนี้ได้ ดังนั้น เมื่อติดหนี้ไฟแนนซ์ แล้วถูกฟ้อง ต้องไปศาลนะ เพราะผู้เช่าซื้อจะได้เปรียบ หรือ เสียเปรียบ ขึ้นอยู่กับการสู้คดีในชั้นศาล ถ้าหากไม่ยอมไปละก็ ! เสร็จ “ไฟแนนซ์” แน่นอน เพราะอะไรน่ะเหรอ ? นั่นก็เพราะว่า “ โจทก์ “ จะขอ “ สืบพยานฝ่ายเดียว “ ในเมื่อ “ จำเลย ไม่ยื่นคำให้การมาโต้แย้งว่า ทำไมจำเลยถึงไม่ควรจ่ายหนี้ตามที่โจทก์ฟ้อง “ ศาลจึง ได้รับฟังเฉพาะ ข้อมูลตามคำฟ้องของโจทก์
แต่.. กฎหมาย มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ได้บัญญัติถึงหลักสุจริต ของ ผู้ประกอบธุรกิจ โดยกำหนดถึง การใช้สิทธิและการชำระหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจ นอกจาก จะต้องกระทำโดยสุจริต ยังต้องคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสม ภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม อีกด้วย ศาล สามารถหยิบยก มาตรฐานของธุรกิจประเภทนั้นๆ ขึ้นมา ประกอบการพิจารณาตัดสินคดี ก็ได้ ดังนั้น เมื่อถูกฟ้อง ผู้เช่าซื้อ ต้องทำ ”คำให้การต่อสู้ “ ในประเด็นเหตุผลที่ว่า ... ทำไม ผู้เช่าซื้อ ถึงไม่สมควรต้องจ่ายเงินส่วนต่างค่างวดรถ ตามที่ ไฟแนนซ์ ยื่นฟ้อง
ยกตัวอย่าง “คำให้การต่อสู้ “ ที่ ทนาย เขียน คำให้การ ให้กับลูกความที่เป็นฝ่ายจำเลย นำเสนอต่อศาล เพื่อประกอบการพิจารณา เช่น “รถยนต์ คันที่เช่าซื้อ โจทก์ ใช้ราคาลงทุน จำนวน 600,000 บาท เมื่อรวมกับ ผลกำไรที่โจทก์คิดคำนวนตลอดระยะเวลา 60 งวด ( 5 ปี ) เป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลย ทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทฯ จำนวน 1,000,000 บาท
อนึ่ง ก่อนผิดนัดชำระหนี้ จำเลยได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ เป็นเงินจำนวน 500,000 บาท จำเลยขอกราบเรียนต่อศาลที่เครพ ว่า ราคารถยนต์ คันสัญญาเช่าซื้อ เป็นราคาที่โจทก์รวมเอาเงินลงทุนของโจทก์ กับ ผลประโยชน์ที่โจทก์คิดคำนวณไว้ล่วงหน้า หาได้เป็นราคาแท้จริงของรถยนต์ไม่.... ที่ โจทก์ กล่าวอ้างมาในคำฟ้อง โจทก์สามารถนำรถออกหาประโยชน์ได้ และเรียก ค่าขาดประโยชน์ จำนวน ......... บาท นั้น เป็นเพียงการคาดคะเน กล่าวอ้างลอยๆ ของโจทก์เท่านั้น โจทก์มิได้มีหลักฐานใดๆ ว่าเคยได้นำรถคันเช่าซื้อออกหาประโยชน์หารายได้ ขอ ศาลได้โปรดพิจารณา เป็นต้น , ทั้งนี้ “ ศาล ก็จะนำให้การของจำเลย มาพิจารณา
ดังนั้น จำเลยที่เป็นลูกหนี้ไฟแนนซ์ อย่าละทิ้ง สิทธิของตัวเอง ในการไปยื่นคำให้การโต้แย้งคำฟ้องของโจทก์ เพื่อหวัง เรียกค่าส่วนต่างเต็มจำนวน ที่สำคัญจำเลยต้องไปศาลทุกนัด พร้อมด้วย“คำให้การต่อสู้ “ อย่าปล่อยช่องโหว่ให้เป็นข้อได้เปรียบของฝ่ายโจทก์ อย่าเสียดายเงิน ในการจ้างทนาย เขียนคำให้การต่อสู้คดี เพราะต้องอย่าลืมว่า ไฟแนนซ์ ในฐานะโจทก์ ย่อมว่าจ้างทนายฝีมือดี มาจัดการกับจำเลยแบบกัดไม่ปล่อย
**เอาละ มีคำถามปิดท้าย เคยสงสัยกันไหมว่า หากรถถูกไฟแนนซ์ยึดเอาไปขายทอดตลาด เขาเอาไปขายที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร เพื่อจะได้ตามไปว่า ขายได้ยอดเท่าไหร่ ทำไมจึงถูก เรียกเก็บหนี้ส่วนต่างอีกตั้งหลายแสน ถ้าอยากรู้ ตามกันต่อ ตอนที่ 6 : ไฟแนนซ์ขายรถทอดตลาดต้องแจ้งลูกหนี้
เครดิต : กิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ์ ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จากเรื่อง “🚗คืนรถให้ไฟแนนซ์ จบ & ไม่จบ ?