มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

คืนรถให้ไฟแนนซ์ จบ & ไม่จบ ?ตอนที่ 2 คืนรถยังไงไม่ต้องจ่ายค่าส่วนต่าง( แม้แต่บาทเดียว )

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 11-04-2023 16:53

หมวดหมู่: การเงิน การธนาคาร

ภาพประกอบข่าว

🚗คืนรถให้ไฟแนนซ์ จบ & ไม่จบ ?

ตอนที่ 2 : คืนรถยังไงไม่ต้องจ่ายค่าส่วนต่าง( แม้แต่บาทเดียว )

ถาม : จะทำยังไงดี ! ไม่มีเงินจ่ายค่าไฟแนนซ์รถแล้ว ถ้าเราผ่อนต่อไม่ไหว จะบอกเลิกสัญญาได้ไหม ? แต่มีคนบอกว่า ถึงแม้เอารถไปคืน ก็ยังต้องจ่ายค่าส่วนต่าง หลังถูกเอาไปขายทอดตลาด

ตอบ : อย่าเพิ่งทุกข์ใจค่ะ มีวิธีนะ คืนรถแบบไม่ต้องจ่ายค่าส่วนต่างแม้แต่บาทเดียว แต่... คุณต้องไม่เคยค้างจ่ายค่างวดรถนะ เป็นลูกหนี้ดีแสนดีน่ะเอง
ยังไงน่ะเหรอ มาดูวิธีกัน จาก 3 ตัว อย่างนี้

1.เช่าซื้อรถ ราคา 2 ล้านบาท ต้องจ่ายหนี้ไฟแนนซ์ 30 งวด แต่.. จ่ายหนี้ มาได้แค่ 1 งวด เงินหมดแล้วน่ะ วิธีการคือ คืนรถให้ไฟแนนซ์ ไปเลย

2.ซื้อรถ 2 ล้านบาท ต้องผ่อนไฟแนนซ์ 30 งวด โดยผ่อนมาแล้ว 20 งวด อีก 10 งวด ที่เหลือ ไม่มีเงินจ่าย ให้เอารถไปคืนไฟแนนซ์

3.มีหนี้รถ 2 ล้านบาท จ่ายไปแล้ว 5 งวด ติดต่อกัน ที่เหลือ 25 งวด ไม่มีเงินจ่าย เอารถไปคืนไฟแนนซ์

อ้อ ขอบอกไว้ก่อนเลยนะ เวลาที่ผู้เช่าซื้อ เอารถไปคืน ทาง ไฟแนนซ์ จะมี “ ใบตรวจสภาพ “ เพื่อดูมีความ เสียหายอะไรมั้ย นอกจากนี้ ยังมี “ใบพ่วง “ ที่เนื้อความระบุว่า “ ข้าพเจ้า ( คนเช่าซื้อ ) ขอยอมรับผิดค่าส่วนต่าง หากไฟแนนซ์ นำรถไปขายทอดตลาด ( อันนี้ ถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยง ดูคำพิพากษาฎีกา ที่ 1203/2565)

จากตัวอย่างข้างต้น “ ไม่ว่า คุณจะมีหนี้ไฟแนนซ์ กี่ล้าน หรือ ผ่อนกี่งวดก็ตาม หากเป็นลูกหนี้ชั้นดี ไม่เคยผิดนัดจ่ายแม้แต่งวดเดียว หรือ ถึงแม้จ่ายมาแค่งวดเดียวก็ตาม ถ้าเอารถ ไปคืนไฟแนนซ์ ก่อนถึงดิวจ่ายงวดต่อไป ก็ไม่ต้องจ่ายค่าส่วนต่าง แม้แต่บาทเดียว หลังจากไฟแนนซ์ เอารถไปขายทอดตลาด ซึ่งเป็นไปตาม “ ประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 ที่วางหลักว่า ผู้เช่าซื้อจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ด้วยการส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง ถึงแม้ไฟแนนซ์ จะมุบมิบ หาเรื่องไปฟ้องศาลเรียกค่าส่วนต่าง จากเอกสารที่ ผู้เช่าซื้อเซ็นยอมรับผิดค่าส่วนต่างก็ตาม ศาลก็ยกฟ้องโจทก์ เพราะมีคำพิพากษาจากศาลฏีกามา ฎ 1203/2565 , ฎ 5239/2561

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5239/2561

ภายหลังจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ 2 งวด โดยยังไม่ผิดนัด จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปส่งมอบคืนให้แก่โจทก์อันเป็นเวลาก่อนถึงกำหนดชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 3 หนึ่งวัน แสดงว่าในขณะส่งคืนทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อจำเลยที่ 1 ยังหาได้ตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ กรณีไม่ใช่เรื่องที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อแล้วนำรถคันที่เช่าซื้อไปส่งมอบคืนให้แก่โจทก์ แต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิเลิกสัญญาเช่าซื้อในขณะที่ตนเองยังมิได้ตกเป็นผู้ผิดนัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 573 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้เช่าซื้อจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ด้วยการส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง อันเป็นบทบัญญัติให้สิทธิผู้เช่าซื้อเลิกสัญญาได้และส่งผลให้สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกัน เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ประพฤติผิดสัญญา แม้ในสัญญาเช่าซื้อจะมีข้อความว่า กรณีที่เจ้าของได้รถกลับคืนมาไม่ว่าจะด้วยเหตุที่เจ้าของเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาหรือผู้เช่าซื้อเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาโดยการส่งมอบพื้นที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าของ เจ้าของนำรถออกขายได้ราคาน้อยกว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดทุนตามสัญญา ผู้เช่าซื้อตกลงรับผิดส่วนที่ขาดก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาและไม่ปรากฏว่าขณะที่สัญญาเลิกกันจำเลยที่ 1 มีหนี้ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาจากจำเลยที่ 1 ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดราคาให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันย่อมไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย

คำพิพากษาฎีกาที่ 1203/2565

ขณะจำเลยนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปคืนโจทก์ และโจทก์รับคืนไม่ปรากฏว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาข้อใดหรือมีหนี้ที่ต้องชำระตามสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์ จึงไม่อาจถือว่าจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 12 ซึ่งต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดราคาตามสัญญาข้อ 13 เพราะการแสดงเจตนาคืนรถที่จะถือว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของผู้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 12 ที่ระบุว่า “ผู้เช่าซื้อจะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อในเวลาใดๆเสียก็ได้โดยผู้เช่าซื้อจะต้องคืนและส่งมอบรถยนต์...และชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลานั้นทันที...” ต้องปรากฏว่าจำเลยยังคงมีหนี้หรือเงินที่ต้องชำระตามสัญญาเช่าซื้ออยู่ในขณะที่ส่งมอบรถคืนโจทก์เมื่อจำเลยไม่มีเงินหรือหนี้ที่ต้องชำระตามสัญญาเช่าซื้อ กรณีถือว่าจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาด้วยการส่างมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นอันเลิกกันนับแต่วันที่จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ โดยจำเลยไม่ได้ประพฤติผิดสัญญาและไม่มีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามมาตรา 573 โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาเช่าซื้อตามสัญญาจากจำเลย แม้จำเลยตกลงรับผิดในบรรดาหนี้ค้างชำระที่เกิดขึ้นจากการบอกเลิกสัญญาให้แก่โจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 13 ตามหนังสือแสดงเจตนาคืนรถของจำเลยก็ตาม แต่หนังสือแสดงเจตนาคืนรถมิใช่สัญญาเช่าซื้อ เป็นเพียงหลักฐานการส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซื้อคืนและจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อรับรองต่อโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อว่า หากโจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกขายได้เงินไม่พอชำระหนี้คงค้างตามสัญญา จำเลยจะยอมรับผิดชดใช้ส่วนที่ขาดแก่โจทก์ ซึ่งหามีผลให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้ส่วนที่ขาดแก่โจทก์ ซึ่งหามีผลให้จำเลยต้องรับผิดค่าขาดราคาตามเอกสารนั้นไม่ เพราะเป็นการรับสภาพหนี้สินว่ามีอยู่ทั้งที่ไม่มีเนื่องจากโจทก์และจำเลยไม่มีมูลหนี้ค่าขาดราคาต่อกัน จึงไม่มีผลบังคับแก่กันได้

แต่ว่า ยังมีเคส ที่ผู้เช่าซื้ออาจถูกยึดรถ เพราะค้างจ่าย 3 งวดซ้อน และ ถูกเก็บค่าส่วนต่างอีกหลายแสน หากนำไปขายทอดตลาด แล้วไฟแนนซ์ขาดทุน ตอนที่ 3 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะมาเล่ามูลเหตุให้ฟัง

เครดิต : กิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ์ ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จากเรื่อง “🚗คืนรถให้ไฟแนนซ์ จบ & ไม่จบ ?


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม