มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

คืนรถให้ไฟแนนซ์ จบ & ไม่จบ ? ตอนที่ 10 : ผู้ค้ำประกันเช่าซื้อรถถูกฟ้องเป็นจำเลยด้วย

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 06-06-2023 16:06

หมวดหมู่: การเงิน การธนาคาร

ภาพประกอบข่าว

คืนรถให้ไฟแนนซ์ จบ & ไม่จบ ? ตอนที่ 10 : ผู้ค้ำประกันเช่าซื้อรถถูกฟ้องเป็นจำเลยด้วย (ตอนสุดท้ายของซีรีส์ )

ถาม : ตอนนี้ร้อนใจมาก เพราะได้หมายศาล จากการที่ไปค้ำประกันเช่าซื้อรถให้กับน้าชาย แต่แกไม่ยอมจ่ายมาเกิน 3 งวด แถม ไม่ยอมคืนรถให้ไฟแนนซ์ แต่เอาไปให้ลูกชายที่อยู่คนละจังหวัดใช้งาน เคยโทรไปหาแกแล้ว เจ้าตัว ยืนกราน ไม่ยอมไปศาล ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย เลยอยากมาสอบถามผู้รู้ คนค้ำประกันถูกฟ้อง ต้องทำอย่างไรบ้าง

ตอบ : เข้าตำราสำนวนไทยโบราณซึ่งใช้ได้ดีในสถานการณ์นี้นั่นคือ“เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกแขวนขอ” เวรกรรมของคนค้ำประกัน นี่แหละ ที่จะบอกว่าคนค้ำประกันก็ถูกฟ้องร่วม ด้วย หากผู้เช่าซื้อค้างชำระหนี้ จนถูกไฟแนนซ์ ถามว่า เจ้าหนี้จะรอฟ้องลูกหนี้ก่อน แล้วค่อยฟ้องผู้ค้ำประกันมั้ย? คำตอบคือไม่..เพราะเจ้าหนี้ จะฟ้องลูกหนี้ และ ผู้ค้ำพร้อมกันในฐานะผู้ค้ำประกัน ถ้าหาก ผู้ค้ำประกันถูกฟ้องควรทำอย่างไรบ้าง?

ก่อนอื่น ต้องมาดู พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20 ) พ.ศ. 2557 “กฎหมายค้ำประกัน” แก้ไขใหม่ ฉบับที่ 20 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 ผู้ค้ำประกัน จะได้รับการคุ้มครอง หรือมีข้อกฎหมายอะไรมาต่อสู้ เพื่อลดภาระหนี้จากไฟแนนซ์ได้ คนค้ำควรรีบปรึกษาทนายความหรือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อเตรียมทำคำให้การต่อสู้ในส่วนของคนค้ำประกัน ซึ่งข้อต้อสู้ของคนค้ำประกันจะพอสรุปได้ว่า

1 ยกข้อต่อสู้ว่า สัญญาค้ำประกันมีข้อความว่า “ให้คนค้ำรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม” ผลคือ ข้อความนั้นตกเป็นโมฆะ (ฎ8418/2563) (ใช้ได้กับถูกฟ้องทั้ง 2 กรณี) แต่ปัจจุบันนี้ ไม่ค่อยมีเพราะผู้ประกอบการได้แก้ไขแบบสัญญาค้ำฯ ให้สอดคล้องกับกฎหมายที่แก้ไขใหม่แล้ว จึงไม่ขออธิบายอะไรมาก

2 ยกข้อต่อสู้ว่า ไฟแนนซ์มีการบอกกล่าวทวงถาม(จดหมายทวงนี้) คนค้ำ เกิน 60 วัน นับจาก คนเช่าซื้อเริ่มค้างค่างวดรถ ผลจะต่างกัน คือ 2.1 ไฟแนนซ์ฟ้องเรียกค่าส่วนต่าง คนค้ำจะหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ค่าภาระติดพัน.... เอาคำง่ายๆ คือ ไฟแนนซ์ฟ้องคนเช่าซื้อมากี่แสนก็ตาม คนค้ำจะรับผิดน้อยๆ มากๆ ศาลจะพิพากษาให้คนค้ำฯ ชำระแค่หลักพันหรือหมื่นต้นๆ
2.2 ไฟแนนซ์ฟ้องเรียกรถคืน (เพราะคนเช่าซื้อยังไม่คืนรถให้ไฟแนนซ์) คนค้ำไม่หลุดจากหนี้ทั้งหมด ต้องชำระหนี้ราคารถ หากคืนรถไม่ได้ (หรือไม่มีรถคืน)แต่ในดอกส่วนดอกเบี้ย ฯ ตามข้อ 2.1 ก็ลดลง

3 ยกข้อต่อสู้ว่า ไฟแนนซ์ ยอมผ่อนเวลาชำระหนี้ให้คนเช่าซื้อ (พักหนี้) โดยที่คนค้ำไม่ได้ยินยอม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 700 ผลคือ ยกฟ้องคนค้ำไปเลย

Download พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20 ) พ.ศ. 2557 (แก้กฎหมายเรื่องค้ำประกัน) https://webportal.bangkok.go.th/upload/user/00000121/law77-131157-14%20(4).pdf

การค้ำประกันเช่าซื้อรถให้คนอื่น จึงถือว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงมาก แม้ลูกหนี้จะเป็นญาติกัน หรือเพื่อนที่สนิทสนมกันมาอย่างยาวนาน ก็ไม่สามารถไว้ใจได้ 100% แต่ถ้าจำเป็นต้องค้ำประกันให้คนอื่นจริง ๆ สิ่งแรกที่ควรทำคือศึกษากฎหมาย สิทธิ์ของผู้ค้ำประกัน และอ่านสัญญาให้ละเอียดก่อนเซ็น แล้วพิจารณาว่ามีความยุติธรรมกับคุณหรือไม่ เพราะคนค้ำไม่สามารถยกเลิกสัญญาหลังจากเซ็นไปแล้ว นอกจากนี้ ยังควรหาทางออกของคนค้ำประกันรถยนต์เอาไว้ด้วย

เป็นอันจบตอนสุดท้ายของซีรีส์ คืนรถให้ไฟแนนซ์ จบ & ไม่จบ ?

เครดิต : กิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ์ ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จากเรื่อง “🚗คืนรถให้ไฟแนนซ์ จบ & ไม่จบ ?


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม