นิตยสารฉลาดซื้อ เปิดผลทดสอบประสิทธิภาพพัดลมรับหน้าร้อน
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 27-03-2024 10:02
หมวดหมู่: สินค้าและบริการทั่วไป

นิตยสารฉลาดซื้อ เปิดผลทดสอบประสิทธิภาพพัดลมรับหน้าร้อน พบมีมาตรฐานสูงสุดไปถึงต่ำสุด พร้อมเสนอผู้ผลิตมีอะไหล่ทดแทนช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายผู้บริโภค
วันนี้ ( วันที่ 27 มีนาคม 2567 )นิตยสารฉลาดซื้อ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค และโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ ร่วมกันทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของพัดลม โดยทดสอบเฉพาะกลุ่มตัวอย่างที่นิตยสารฉลาดซื้อสุ่มเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 นำมาทดสอบเท่านั้น การให้คะแนนขึ้นอยู่กับอันดับของผลการทดสอบแต่ละประเด็น โดยยึดตามคุณสมบัติเบื้องต้นที่ระบุไว้ในฉลากและคู่มือการใช้งาน
การทดสอบประสิทธิภาพของพัดลมครั้งนี้ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ได้ออกแบบและกำหนดการทดสอบ 3 ประเด็น ได้แก่ ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน , ระดับความดังเสียงของพัดลมระหว่างการทดสอบ และ ค่ามุมส่ายสูงสุด ซึ่งกำหนดขอบเขตคุณสมบัติทางด้านเทคนิคสำหรับการสุ่มซื้อสินค้าที่จะนำทดสอบดังนี้
1. สินค้าต้องมีเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก. 934-2558)
2. เป็นพัดลมที่ใช้ในครัวเรือนขนาดใบพัดไม่เกิน 16 นิ้ว
3. กำลังไฟฟ้าที่ระบุไม่เกิน 70 วัตต์
สรุปผลการทดสอบพัดลมจำนวน 15 ผลิตภัณฑ์ ใน 3 ประเด็น ได้แก่ ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน , ความดังของเสียงขณะใช้งาน , และมุมส่าย ราคาระหว่าง 469 ถึง 2,098 บาท ผลปรากฏว่า ผลิตภัณฑ์ของ (Xiaomi ) MI 2 Lite รุ่น JLLDS01XY ได้คะแนนสูงสุดรวม 39 คะแนน ตามมาด้วย MITSUMARU รุ่น AP-SF1602AT “ได้คะแนนอันดับ 2 รวม 32 คะแนน และผลิตภัณฑ์ที่ได้อันดับ 3 ซึ่งได้คะแนนรวมเท่ากันทั้งสามผลิตภัณฑ์ คือ 31 คะแนน ได้แก่ Toshiba รุ่น F-ASY50TH (W) Mitsubishi รุ่น LV16-GA SF-GY ,และ Mamaru รุ่น DFS-9136 ส่วนพัดลมที่ได้คะแนนต่ำสุดจาก 15 ผลิตภัณฑ์ตัวอย่างที่สุ่มตรวจในครั้งนี้ได้แก่ ALECTRIC รุ่น RF2 ( ดูผลทดสอบพัดลม15ตัวอย่างเพิ่มเติมจากกราฟิก)
อย่างไรก็ตาม การทดสอบครั้งนี้ยังไม่ได้มุ่งประเด็นความพร้อมด้านอะไหล่ทดแทน กรณีชิ้นส่วนสำคัญเกิดการชำรุดบกพร่อง ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค และที่ปรึกษาศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ จึงมีข้อเสนอแนะด้านนโยบายสำหรับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.สนับสนุนให้ผู้บริโภคสามารถหาอะไหล่มาทดแทนได้ง่ายเพื่อช่วยให้ใช้งานได้ยาวนานขึ้น 2. กระทรวงอุตสาหกรรมควรกำหนดให้สินค้าประเภทพัดลม อยู่ในกลุ่มความรับผิดชอบของผู้ผลิตเพิ่มเติม (Extended Producer Responsibility) เพราะปัจจุบันถูกโยนให้เป็นภาระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องรับคืน, รีไซเคิล และ กำจัดซากผลิตภัณฑ์ 3.กำหนดมาตรการลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบต่อประเด็นนี้โดยตรงคือ กรมควบคุมมลพิษ อยู่ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถอ่านผลทดสอบประสิทธิภาพของพัดลมได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/4439
ข้อแนะนำเพิ่มเติม
1 ผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์พัดลม โดยพิจารณาจากประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน
2 ความดังของพัดลมในการทดสอบครั้งนี้ จัดว่ามีระดับความดังใกล้เคียงกันคือ อยู่ที่ระดับ 50- 60 เดซิเบล
3 การดูแล ควรหมั่นทำความสะอาด อย่าให้ฝุ่นเกาะที่ใบพัด ตะแกรงครอบ และช่องระบายความร้อนของมอเตอร์ เพื่อให้พัดลมทำงานได้เต็มประสิทธิภาพอยู่เสมอ