เมื่อลื่นล้มบาดเจ็บในห้างฯ มีสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหาย
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 25-09-2024 23:26
หมวดหมู่: อื่นๆ

เมื่อลื่นล้มบาดเจ็บในห้างฯ มีสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหาย
มีเคสมาเล่าให้ฟัง : วันนั้น 20 ก.ค. 67 หญิงสาวเข้าห้างฯ แห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลาเพื่อไปซื้อของ แต่จู่ๆ เกิดลื่นล้มกระแทกกับพื้นอย่างแรง มีอาการบาดเจ็บสาหัส กู้ภัยรีบพาส่งโรงพยาบาล หมอทำการเอ็กซเรย์ พบว่า กระดูกขาหัก ทางห้างฯส่งเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานใหญ่ นำกระเช้าเข้ามาเยี่ยม แต่ไม่ยอมเอ่ยถึงการชดเชยเยียวยาใดๆ เมื่อเธอถามเรื่องขอไฟล์ภาพกล้องวงจรปิด ได้คำตอบว่า ให้ไม่ได้ มันผิดนโยบายของห้างฯ
เมื่ออาการดีขึ้น ผู้เสียหายจึงส่งหลักฐานการเกิดอุบัติเหตุและการรักษาของแพทย์ ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล ไปที่ อีเมลของห้างเมื่อ 5 ส.ค. 67 เพื่อถามหาความชัดเจน จะพิจารณาชดเชยความเสียหายอย่างไร รวมถึงขอไฟล์ภาพกล้องวงจรปิด แต่! อีกฝ่ายเงียบสนิท ยังสู้ไม่ถอย 4 ก.ย.67 ส่งหลักฐานไปอีกรอบที่ Line ฝ่ายบุคคลของห้างฯ เรื่องก็ยังเงียบ!
ไม่ได้การละ จะทำยังไงดี คิดไปคิดมา จึงนึกถึง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไม่รอช้ารีบส่งอีเมล์มาหา เพื่อขอความช่วยเหลือ พร้อมให้เบอร์โทรศัพท์ส่วนตัวของตัวแทนห้างฯ ที่เคยมาเยี่ยมให้ไปด้วย ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ เมื่อรับเรื่อง จึงรีบประสานงานติดต่อไปทันที และได้รับแจ้งว่า จะนำเรื่องเข้าหารือในที่ประชุมผู้บริหารและบริษัทประกัน เพื่อพิจารณาแนวทางชดเชยเยียวยา ส่วนการขอไฟล์ภาพกล้องวงจรปิด เจ้าหน้าที่สาขาของห้างที่เกิดเหตุ ได้ให้ผู้บาดเจ็บกรอกคำร้อง หากมีความคืบหน้าจะแจ้งมาที่อีเมล์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และผู้บาดเจ็บ
เอาละ! ระหว่างรอทางห้างฯ ให้คำตอบของผู้เสียหายเคสนี้ เพราะไม่แน่อาจจบลงที่การชดเชยเยียวยาเป็นที่ตกลงของทั้ง 2 ฝ่าย หรือ หากตกลงกันไม่ได้ ก็มีช่องทางการฟ้องแพ่ง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีข้อมูล ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ที่ระบุไว้ว่า "ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น"
แต่การจะเรียกร้องค่าเสียหายได้หรือไม่? ต้องมาพิเคราะห์ดูเหตุผลตามข้อกฎหมาย คือ ถ้าห้างฯ มีการจงใจ หรือประมาทเลินเล่อ ที่ไม่ใส่ใจดูแล หรือไม่มีการเตือนภัย ให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการหรือลูกค้า ซึ่งหากห้างฯ ปล่อยปะละเลย ทำให้พื้นที่ของห้างฯ ไม่ปลอดภัย จนเป็นเหตุให้ผู้บริโภคที่ใช้บริการของห้างฯ เกิดอุบัติเหตุลื่นล้มขึ้นมา ห้างฯ ก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามควร
แต่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 เป็นความรับผิดทางแพ่ง เบื้องต้นก็ต้องใช้การเจรจาเพื่อขอให้ชดใช้ค่าเสียหายตามควร ถ้าไม่ได้ผล ต้องฟ้องศาลเพื่อพิสูจน์ว่า มีการประมาทเลินเล่อหรือไม่คุณสามารถฟ้องคดีลื่นล้มและบาดเจ็บ หากคนอื่นมีส่วนทำให้เกิดเหตุการณ์นั้น พวกเขาต้องชดเชยความสูญเสียที่คุณได้รับ แล้วคุณจะรู้ได้อย่างไรว่าสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายในกรณีลื่นล้มในห้างฯ ความท้าทายอยู่ที่การพิสูจน์ความรับผิด คุณต้องพิสูจน์และมีหลักฐาน ที่เป็นตัวการทำให้คุณเกิดอุบัติเหตุ เช่นกัน ทางห้างฯ ก็ต้องไปหาหหลักฐานไปพิสูจน์ในชั้นศาลเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น ผู้บริโภคต้องปกป้องตัวเอง เก็บหลักฐานให้ครบ เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยเยียวยา หรือหากถึงกระบวนการฟ้องศาล แม้กินระยะเวลายาวนานในการเรียกร้องสิทธิ แต่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็อยากให้ทุกท่านอย่าเพิกเฉยกับความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะคำตัดสินของศาล จะกลายเป็นบรรทัดฐานให้กับผู้เสียหายรายอื่นๆ มีกำลังใจในการต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิของตัวเองและคนที่คุณรัก