เหตุนี้มีเรื่อง ! ตอน ..สินค้าหมดอายุ แต่ ฉลาก ไม่หมดอายุ ( เอ๊ะ ยังไง ? )
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 13-02-2023 10:04
หมวดหมู่: อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ

เหตุนี้มีเรื่อง ! ตอน ..สินค้าหมดอายุ แต่ ฉลาก ไม่หมดอายุ ( เอ๊ะ ยังไง ? )
เคยมั้ย ??? ซื้อสินค้าบางอย่าง ไอ้เราฐานะผู้บริโภค ก็ดูแล้ว ดูอีก ข้างกล่องน่ะ สินค้าหมดอายุหรือยัง อ้อ! ก็ยังนะ แต่... ไหงเอากลับมาบ้านจัดการกินทันที
ทว่า เพิ่งสังเกตเห็นอะไรน่ะแปลกๆ นึกในใจ ฉันจะตายมั้ยนี่ ! จะทำยังไงดี ?
เหตุแบบนี้ เกิดขึ้นกับผู้บริโภคท่านหนึ่ง ได้ซื้ออาหารเสริมมากิน เมื่อต้นเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ตรวจสอบข้างกล่องอย่างดีแล้วนะ ยังไม่หมดอายุ เอาละมั่นใจได้ ปลอดภัยแน่นอน ด้วยความวางใจ จึงกินต่อเนื่องวันละเม็ด รวม 4 วัน เท่ากับ 4 เม็ด คือแกะจากแผง ก็เอาเข้าปากกลืนลงคอเลย ทว่า วันที่ 4 เกิดนึกขึ้นได้ ลองตรวจสอบสภาพสิ่งของที่กินเข้าไปซักหน่อยดีกว่า จึงหยิบมาดู1แคปซูล เอ๊ะ เห็นอะไรขาวๆ ติดอยู่บนอาหารเสริมที่เป็นสีเทา รู้สึกวิตกจริต มันเป็น “ เชื้อรา “ หรือเปล่า
พอแกะเปลือกแคปซูล ปรากฏว่า ผงขาวๆข้างในมันแข็งตัวเป็นแท่ง 10 แคปซูล ใน 1 แผง มีสภาพเหมือนกันหมด แจ็คพ็อตแตกสิงานนี้ อ้าว! แล้วไอ้ที่กินไปก่อนหน้าล่ะ
จะเป็นอันตรายไหม ? จะตายหรือเปล่า ! ปัญหา คือ ไม่ได้ซื้อมาถึง 3 กล่อง พอแกะดูทั้งหมด มีสภาพ ไม่ต่างกัน ทำยังไงดีล่ะ ต้องคืนสินค้านะ ต้องเรียกร้อง
ค่าชดเชยความเสียหาย แต่ไม่รู้จะทำยังไงดีนี่สิ เผอิญนึกถึง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไปขอคำปรึกษาดีกว่า เพราะเห็นผลงานการช่วยเหลือผู้บริโภค มานาน
เมื่อ “ผู้บริโภค มาถึง ณ ที่ทำการ ซอยราชวิถี 7 กรุงเทพฯ วันที่6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน เป็นผู้มา พูดคุย ให้คำปรึกษา ซักถามไป-มา ได้ความว่า ... ซื้ออาหารเสริมมาจาก บริษัทขายตรงแห่งหนึ่ง เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา แรกๆ ก็ไม่เอะใจ เพราะมั่นใจข้างกล่องระบุชัดเจน สินค้ายังไม่หมดอายุ แต่...ทำไม สินค้ากลับมีสภาพเหมือนหมดอายุล่ะ
พอเจ้าหน้าที่ฯ ถามว่า ไปหาหมอ หรือยัง ! ผู้บริโภค ตอบว่า “ยัง “ อ้าว ... ไม่หาหมอก๊อนนน !!! ** กินอะไรแปลกๆ อย่าปล่อยทิ้งไว้ ไอ้ที่ตกค้างในร่างกายเราน่ะ
ถ้าไม่เป็นอันตรายก็ดีไป ถ้าเป็นอันตรายล่ะ ไม่ทันการณ์ละนะ อ้อ ! ที่สำคัญ ต้องได้ใบรับรองแพทย์มาเป็นหลักฐาน หากคิดจะเรียกร้อง หรือ ฟ้องร้อง อะไรน่ะ ,
จากนั้น ต้องไป แจ้งความตำรวจ เพื่อลงบันทึกประจำ** ถือเป็นอีกหลักฐานสำคัญ บ่งบอกความบริสุทธิ์ใจ ว่า เราไม่คิดกลั่นแกล้งใส่ร้ายบริษัทให้เสียหาย และ ไม่ได้แจ้งความเท็จ
ส่วนสินค้าที่มีปัญหา ต้องเอาไปให้ อย. เพื่อส่ง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เข้าแล็ป ตรวจสอบ อาจใช้เวลา 2-3 เดือน กว่าจะรู้ผล และที่ต้องจำไว้ให้ขึ้นใจ
สินค้าที่ซื้อมาทุกอย่าง ต้องถ่ายรูปเก็บไว้ ทั้งใบเสร็จ ทั้งกล่อง ทั้งสินค้า ถ่ายมันให้หมด ทุกซอกทุกมุม เพื่อเป็นหลักฐานที่บริษัทเถียงไม่ขึ้น
หากสินค้าไร้มาตรฐานความปลอดภัยจริง ต้องจ่ายชดเชยความเสียหาย
คราวนี้ละ เมื่อหลักฐานพร้อมก็ถึงเวลาไกล่เกลี่ยกับบริษัท โดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมเป็นคนกลาง ทำหนังสือ ไปถึงผู้ประกอบการ เพื่อให้คู่กรณีมาเจรจาค่าเสียหาย หากยังตกลงกันไม่ได้อีก หนนี้ก็จำเป็นฟ้องแพ่งกันถึง “ ศาลแผนกคดีผู้บริโภค “ ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ โดยต้องฟ้องตามภูมิลำเนาของจำเลย หรือ ฟ้องตามสถานที่เกิด
แต่หลักฐานทุกอย่างต้องได้มาครบแล้วนะ เพราะกรณีนี้ เข้าข่าย “อาหารที่เสื่อมสภาพก่อนหมดอายุ “
เจ้าหน้าที่ฯ บอกว่า **การฟ้องที่ศาลนี้ ไม่มีเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น แถมมีเจ้าหน้าที่นิติกรให้คำแนะนำ พร้อมเขียนคำฟ้องให้เสร็จสรรพ และ ยื่นฟ้อง มีทนายให้ด้วย แถม ไม่เสียค่าธรรมเนียมศาล 2 เปอร์เซ็นต์ จากการเรียกร้องค่าเสียหาย แต่กระบวนการกว่าจะสิ้นสุดคดี ใช้เวลา 1-2 ปี โดยศาลนี้ สิ้นสุดที่ชั้น “ ศาลอุทธรณ์” เท่านั้น ดังนั้น ผู้บริโภค ที่ยื่นฟ้องผู้ประกอบการ จะชนะ หรือ แพ้ ก็ขึ้น อยู่กับ พยาน-หลักฐาน แน่นหนา ที่เรามีอยู่ในมือ และ ดุลพินิจของศาล แต่หากจะไปถึงฏีกา ก็ต้องมีฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง มีหลักฐานใหม่ ยื่นมาเท่านั้น และ ศาลแผนกคดีผู้บริโภค ชั้นอุทธรณ์ จะพิจารณาหลักฐานที่ยื่นมาใหม่ จะรับฟ้อง เพื่อส่งศาฏีกา หรือ ให้คำร้องใหม่ตกไป
จากเคสข้างต้น ที่เจอปัญหา “อาหารที่เสื่อมสภาพก่อนหมดอายุ “ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ต้องการเตือนผู้บริโภค ให้ใส่ใจตรวจสอบสินค้า , ใส่ใจต่อสิทธิอันพึงมีพึงได้ ,
ต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ เมื่อมีเหตุเสียหายจากผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าต้องรับผิดชอบ อย่าปล่อยให้คนทำผิดได้ใจ เพราะคิดว่า ผู้บริโภค ไม่กล้าฟ้องร้อง
เพราะต้องเสียค่าทนาย และ ค่าดำเนินการอีกหลายอย่างที่ต้องใช้เงินทั้งนั้น
ที่สำคัญ ผู้ประกอบการ รู้ดีว่า ผู้บริโภค ไม่มีเวลา จึงมองว่า เป็นข้อได้เปรียบ เพื่อเอาเปรียบ อย่าลืมว่า เมืองไทย มีกฎหมายควบคุมผู้ประกอบการ 3 ฉบับ
ได้แก่ วิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ศ.2551 และ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค 2522 , และ พระราชบัญญัติอาหาร 2522 ที่ล้วนมีข้อกำหนด ให้ต้องผลิตสินค้า
ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอประกาศ ว่า “ พร้อมอยู่เคียงข้างผู้บริโภคที่เดือดร้อนอย่างเต็มที่ ถึงแม้ตอน อยู่ในกระบวนการไกล่เกลี่ยที่ศาล อย่าปล่อยให้ทนายคู่กรณี มาบอกเราว่า กลับบ้านได้เลย เพราะอาจมีการตุกติกเกิดขึ้นจากอีกฝ่าย สามารถโทรศัพท์ มาปรึกษาข้อกฎหมาย ได้ตลอดเวลาทำการ 09.00-17.00 น. ทุกวันจันทร์-ศุกร์ **(อ้อ ขอเวลา พักเที่ยงกินข้าวด้วยนะ )
ติดต่อได้ที่ 4/2 ซอยวัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร, ติดต่อร้องทุกข์ (ศูนย์พิทักษ์สิทธิ) โทร 089-788-9152 , +66 2 248 3737 , และ complaint@consumerthai.org**