ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอันตราย พบไม่ปลอดภัย 90 %
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 29-06-2023 12:45
หมวดหมู่: สินค้าและบริการทั่วไป


องค์กรผู้บริโภค ประกาศเปิดศึก ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอันตราย พบไม่ปลอดภัย 90 %
จากปฏิบัติการติดตามปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอันตราย ที่ผนึกกำลังจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในฐานะหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งทำงานร่วมกับ ศูนย์สิทธิผู้บริโภค ทั้ง 33 เขต ระดมกำลังแกนนำชุมชน ลงพื้นที่สำรวจสถานที่ตั้ง ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ จำนวน 1,530 ตู้ ตั้งแต่กลางปี 2565 จนถึง ปัจจุบัน ปรากฏว่าตลอด 1 ปี ยังพบปัญหาเดิม ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภค มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ โดยยังพบปัญหาน้ำดื่มไม่ปลอดภัย มีสิ่งปนเปื้อน อีกทั้งยังพบเรื่องน่าตกใจเมื่อรู้ว่าตู้กดน้ำหยอดเหรียญทั่วกรุงเทพ ฯ จาก 1,530 ตู้ ที่สำรวจ ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพียง 150 ตู้ เท่านั้น หรือเทียบเท่ากับร้อยละ10 ส่วนที่เหลือกลายเป็นตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเถื่อนมากถึงร้อยละ 90 ที่ถูกติดตั้งและกำลังจ่ายน้ำให้ประชาชนได้บริโภคอยู่ในขณะนี้ ซึ่งถือว่า ไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพราะเป็นกิจการที่ไม่ปลอดภัย นอกจากนี้ ยังเจอปัญหาไม่มีฉลากที่ระบุเรื่องการควบคุมคุณภาพการเปลี่ยนไส้กรองน้ำ จำนวน 1,334 ตู้ คิดเป็นร้อยละ 87.2 และไม่มีการแสดงรายงานการตรวจคุณภาพน้ำจำนวน 1,392 ตู้ คิดเป็นร้อยละ 91
วันนี้ ( 29 มิถุนายน 2566 ) นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า ผลสำรวจข้างต้น ถือเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ของปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค สาเหตุส่วนใหญ่ เป็นเพราะเจ้าของสถานที่ซึ่งติดตั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ไม่ทราบว่าต้องมีการขออนุญาต หรือบางแห่งก็เป็นเพียงผู้ให้เช่าพื้นที่เท่านั้น รวมถึงบางกรณีเจ้าของสถานที่ซื้อตู้ต่อกันมาอีกทีและไม่มีทั้งใบอนุญาตและการทำความสะอาด โดยเข้าใจว่าบริษัทที่ติดตั้งตู้จะมาทำความสะอาดให้ แต่ที่สำคัญ ผู้ประกอบการ ได้ส่วนลดค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการตู้หยอดเหรียญ เหลือแค่ 500 บาท ต่อตู้ จากเดิมสูงถึง 2,000 บาท ต่อตู้ ในเมื่อภาครัฐฯ ลดหย่อนราคาให้แล้ว แต่ทำไมผู้ประกอบการ ยังทำพฤติกรรมเหมือนเดิม และอีกประเด็นที่สำคัญ นั่นคือเจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยมาทำการตรวจสอบ ทั้งที่ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเป็นทางเลือกของผู้บริโภคในการซื้อน้ำดื่มในราคาที่ถูก ซึ่งหากไม่ปลอดภัยจะส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง ดังนั้นระยะเวลา 1 ปี กับการติดตามตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอันตราย! จึงถือโอกาสนี้ประกาศเปิดศึกกับธุรกิจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอันตรายเพื่อเดินหน้ามาตรการปกป้องสุขภาพของผู้บริโภค กำหนดเริ่มเปิดแผนปฏิบัติการอีกครั้ง ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฏาคม 2566 โดยเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค วางแผนปฏิบัติการสำรวจซ้ำจุดติดตั้งตู้น้ำดื่มที่เดิม รวมถึงติดตามความคืบหน้าที่ นางสาวกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เข้าพบนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อขอให้เร่งแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งรับทราบว่าได้สั่งการไปยัง 50 เขต ลงพื้นที่ไปสำรวจตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ แต่เหตุใดยังมีปัญหาเช่นเดิม
นางนฤมล บอกด้วยว่า โครงการสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่ปลอดภัย ช่วงกลางปี 2565 เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการปกป้องคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค เพราะมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเริ่มทำโครงการวิจัยตั้งแต่ปี 2559 แต่จนถึง ปี 2566 รวม 7 ปี แต่ก็ยังพบความไม่ปลอดภัยเหมือนเดิม ทั้งที่ การใช้บริการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ถือเป็นทางเลือกของผู้บริโภคในการซื้อน้ำดื่มในราคาที่ถูกกว่า น้ำบรรจุขวดปิดสนิทที่มีการควบคุมคุณภาพในการผลิต อีกทั้งตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่ออกตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ 2535 และฉบับแก้ไข จึงต้องขออนุญาตตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและเรื่อง ค่าธรรมเนียมสำหรับการดำเนินกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2561 และต้องติดฉลากตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก พ.ศ. 2553 เรื่อง ให้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ดังนั้นเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีการผลิตตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ได้มาตรฐานและติดตั้งอย่างถูกสุขลักษณะจะทำให้ผู้บริโภคซื้อน้ำที่สะอาด เป็นการป้องกันผลกระทบที่อาจทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร จึงมีขอเสนอแนะต่อหน่วยงาน เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยขอให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกมาตรการควบคุมธุรกิจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญเป็นการเฉพาะ ได้แก่
-
การเร่งดำเนินการตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน และดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ประกอบธุรกิจที่กระทำผิด ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ 2535 และฉบับแก้ไข เพื่อเป็นการจัดการปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ได้มาตรฐาน
-
การออก “ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ” เป็นการเฉพาะเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การทำธุรกิจการติดตั้งตู้น้ำดื่มและให้มีบทกำหนดโทษ เพื่อให้น้ำที่ผลิตมีความสะอาดและปลอดภัย
-
ขอเสนอให้หน่วยงานรัฐ ร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ ขยายผลการตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ดังเช่น การสนับสนุนผ่านกองทุนสุขภาพของแต่ละเขตพื้นที่
ทั้งนี้ น้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นแหล่งน้ำดื่มราคาไม่แพง หากเทียบกับน้ำดื่มบรรจุขวด แต่น้ำจากแหล่งทั้งสองมีการควบคุมกำกับที่ต่างกัน น้ำดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิทควบคุมกำกับด้วย พ.ร.บ. อาหารมี อย.ทำหน้าที่กำกับดูแล แต่น้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญ แม้เป็นกิจการที่กฎหมายให้อำนาจการควบคุมให้เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ประเภทที่ 3) ตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2558 กล่าวคือบังคับให้ต้องมีการขออนุญาตดำเนินกิจการ โดยต้องขอใบอนุญาตจากราชการส่วนท้องถิ่นที่ตู้น้ำดื่มวางไว้เพื่อบริการประชาชน แต่เมื่อลงพื้นที่จริงกลับพบว่า กิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญส่วนใหญ่ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการถูกต้อง เรียกว่าคนทำถูกต้องตามกฎหมายมีเพียงหยิบมือ แต่ “ตู้เถื่อน” เกลื่อนเมือง
ถึงแม้ พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ที่กำกับดูแลและคุ้มครองในเรื่องการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มอัตโนมัติอย่างเข้มงวด หากพบว่ายังมีผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืน ไม่ยื่นขอใบอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ แต่ดูเหมือนจะไม่ทำให้ผู้ประกอบการเกรงกลัว อีกทั้ง การเติบโตของกิจการตู้น้ำดื่มยังขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ เพราะทำง่ายลงทุนไม่มาก และการควบคุม-กำกับดูแลจากภาครัฐไม่เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและศูนย์สิทธิผู้บริโภคเขตต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร จึงประกาศทำหน้าที่เฝ้าระวังติดตามจนกว่ากิจการนี้จะได้รับการกำกับดูแลให้ครอบคลุมร้อยเปอร์เซ็นต์เสียที