มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

ดอนเมืองโทลล์เวย์" ต้องหยุดสัมปทานสร้างความเดือดร้อนให้ผู้บริโภค

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 05-07-2024 23:44

หมวดหมู่: บริการขนส่งและยานพาหนะ

ภาพประกอบข่าว

"ดอนเมืองโทลล์เวย์" ต้องหยุดสัมปทานสร้างความเดือดร้อนให้ผู้บริโภค

ทำไมค่าทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ถึงแพงจัง ?? ทำไมถึงกล้าขึ้นราคาค่าผ่านทางแบบสุดโต่ง ไม่สนโลกขนาดนี้?ใครรู้ช่วยตอบที ...นี่เป็นคำถามจากผู้ใช้บริการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะตอบให้ " ตัวการใหญ่ มันมาจาก"สัญญาสัมปทาน " ที่รัฐบาล ลงนาม ให้ดอนเมืองโทลล์เวย์ ปรับขึ้นราคาทุกๆ 5 ปี " นั่นไงล่ะ !

.และแล้วข่าวร้ายก็มาเยือน เพราะเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2567 : ดอนเมืองโทลล์เวย์ ประกาศขึ้นค่าผ่านทาง 5-10 บาท จ่ายสูงสุด 170 บาท ถูกสุด 40 บาท เริ่ม 22 ธ.ค.67 ถึง 21 ธ.ค. 72 ยึดตามคู่สัญญาสัมปทานกำหนดตามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวง ฉบับที่ 3/2550 ลงวันที่ 12 ก.ย. 50 สำหรับรอบระยะเวลา 5 ปี โดยช่วงดินแดง - ดอนเมือง จะมีการเปลี่ยนแปลง 10 บาท (ค่าเฉลี่ย 2 บาทต่อปี) และช่วงดอนเมือง - อนุสรณ์สถาน จะมีการเปลี่ยนแปลง 5 บาท (ค่าเฉลี่ย 1 บาทต่อปี) จากอัตราค่าผ่านทางในปัจจุบัน ส่งผลให้อัตราค่าผ่านทางจะเริ่มต้นสำหรับรถ 4 ล้อประเภทที่ 1 อยู่ที่ 40 บาท และสูงสุด 130 บาท ส่วนรถมากกว่า 4 ล้อ ประเภทที่ 2 จะเริ่มต้น 50 บาท และสูงสุด 170 บาท

หลังข่าวขึ้นค่าทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์รอบใหม่ สุ้มเสียงประชาชนก็ดังกระหึ่ม เพราะตอนนี้อัตราค่าผ่านทางของทางด่วนโทล์ลเวย์ ก็มีราคาสูงสุดถึง 110 บาทแล้ว นี่เป็นตัวอย่างสุ้มเสียงของผู้บริโภค : โหดมาก! ระยะทางแค่ 20 กว่ากิโลคิดราคาใหม่ตั้ง 170 บาท ลองเทียบกับวิ่งไปพัทยาเป็นระยะทางร้อยกิโลแค่ 80 กว่าบาท,ปกติราคาก็โคตรขูดรีดอยู่แล้วนะ, ต้นทุนอะไรที่มันเพิ่มถึงต้องขึ้นราคาน่ะได้พัฒนาอะไรเหรอ ถนนก็ไม่ได้ดี ไม่ได้มีอะไรปรับปรุง ยังจะขึ้นราคาได้อีกเหรอ? สวนทางกับคุณภาพถนนและระยะทางมัดมือชกอย่างเดียว🙄, ทำไมต้องขึ้นน่าจะรอให้เศรษฐกิจดีขึ้นก่อน, ขึ้นราคาประชาชนลำบากเเต่เอกชนกำไรล้วนๆ ,โทลล์เวย์สร้างโดยภาษีประชาชน สร้างแล้วเสร็จผ่านมาประมาณ 35 ปีแล้ว ยังไม่หมดหนี้อีกเหรอ มันควรกลับมาเป็นของรัฐได้แล้ว

สำหรับสัญญาสัมปทานดอนเมืองโทลล์เวย์ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด ได้รับสัมปทานจากกรมทางหลวง ในปี 2532 โดยเอกชนเป็นผู้ดำเนินการจัดหาแหล่งเงินทุนและกู้เงินมาลงทุนทั้งหมด เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณภาครัฐที่มีอยู่อย่างจำกัด ณ ขณะนั้น โดยเอกชนได้รับสิทธิเก็บค่าผ่านทางตามสัญญา ต่อมาได้มีการแก้ไขสัญญาทั้งหมด 3 ครั้ง ซึ่งเป็นที่มาของค่าผ่านทางที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จากการแก้ไขสัญญาครั้งสุดท้ายจะมีการปรับขึ้นค่าผ่านทางอีก 2 ครั้ง คือ เดือนธันวาคม 2567 และธันวาคม 2572 ก่อนที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2577

ดังนั้น หากไม่มีการเจรจาชะลอปรับลดค่าผ่านทาง และปล่อยให้สัญญาสัมปทานหมด ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าผ่านทางที่จะปรับขึ้นตามสัญญาสัมปทาน ก่อนที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2577 ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขกำหนดการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าผ่านทางทุก 5 ปี อีกทั้งยังมีหลายฝ่ายต้องการให้ภาครัฐ โดยกระทรวงคมนาคมนำโครงการดังกล่าวกลับมาบริหารเอง เนื่องจากสัญญาสัมปทานปัจจุบันจะสิ้นสุดในปี 2577 และเชื่อว่าหากภาครัฐเข้ามาบริหารโครงการ จะทำให้อัตราค่าผ่านทางปรับลดลง

แต่ก็นะเหมือนจะมีข่าวดี แต่ไม่รู้จะดีหรือเปล่า เพราะหลังจาก ดอนเมืองโทลล์เวย์ ประกาศขึ้นค่าผ่านทาง 5-10 บาท จ่ายสูงสุด 170 บาท เริ่ม 22 ธ.ค.67 ถึง 21 ธ.ค. 72 ทำให้ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ต่อสายตรงคุย "สมบัติ พานิชชีวะ" ประธานดอนเมืองโทล์ลเวย์ เมื่อ 21 มิ.ย. 67 โดยขอให้ลดราคาเพื่อแลกกับการขยายเวลาสัมปทาน โดยสั่ง กรมทางหลวง ไปศึกษาตัวเลขที่เหมาะสม ภายใต้ "พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 คาด เสร็จภายใน2-3เดือนนี้ หรือ ก่อนธ.ค. 67

ในวันเดียวกัน (21 มิ.ย. 67) นายสมบัติ บอกกับสื่อฯ ว่า หากกระทรวงคมนาคมจะให้ชะลอการขึ้นค่าผ่านทางที่เริ่มตั้งแต่22 ธันวาคม 2567 ก็พร้อมให้ความร่วมมือ และขอความเป็นธรรมด้วย ควรต้องมีการหารือร่วมกัน หากบริษัทดำเนินการแล้วจะชดเชยอะไรให้บริษัทบ้าง เพราะทุกอย่างเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาสัมปทานทำไว้กับ กรมทางหลวง (ทล.) ที่ปรับราคาได้ทุก 5 ปี ตลอดอายุสัญญา ครั้งละ 5-10 บาท ปัจจุบันบริษัทยังเหลือสัมปทาน 10 ปี ยังเหลือการปรับราคาอีก 2 ครั้ง คือ รอบวันที่ 22 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 21 ธันวาคม 2572 และครั้งสุดท้ายวันที่ 22 ธันวาคม 2572 ถึงสิ้นสุดสัญญาวันที่ 12 กันยายน 2577 ดังนั้น ในเมื่อ“สัญญายังไม่หมด คงทำอะไรไม่ได้ ถ้ากระทรวงคมนาคมหรือรัฐต้องการให้เราชะลอขึ้นค่าผ่านทาง ก็ต้องมาคุยกัน จะมีเงื่อนไขอะไรบ้าง อย่าผลักภาระมาให้เราฝ่ายเดียว รัฐต้องช่วยเอกชนด้วย แนวทางที่ง่ายสุด คือ ขยายอายุสัมปทาน เพราะรัฐไม่ต้องชดเชยรายได้ให้ หรือให้เราลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท ก่อสร้างส่วนต่อขยายจากรังสิต-บางปะอินให้และรับสัมปทานตลอดโครงการตั้งแต่ดินแดง-บางปะอินก็ได้ ทุกอย่างอยู่ที่การเจรจา อย่างไรก็ตามโทลล์เวย์เป็นทางเลือกในการเดินทาง ไม่ใช่ทางที่ผูกขาด ประชาชนสามารถเลือกได้ว่าจะใช้บริการหรือไม่ใช้ก็ได้

ปัญหาการขึ้นค่าผ่านทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คัดค้านมาโดยตลอด เพราะนอกจากทำให้ประชาชนเดือดร้อนต้องจ่ายค่าบริการที่แพงเกินเหตุ ยังมีสาเหตุสำคัญที่ พบถึง"ความไม่ปกติในสัญญาสัมปทาน"

เหตุผลที่ 1 รัฐบาล มีมติ ครม.เอื้อเอกชน (มติ ครม. วันที่ 11 เมษายน 2549 และวันที่ 10 เมษายน 2550)

*1.1 ขยายอายุสัมปทาน ไปอีกถึงปี 2577 จากเดิมสิ้นสุด 20 สิงหาคม 2557

1.2 ทำให้บริษัทกำหนดค่าผ่านทางได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากรัฐ 1.3 ครม.ทำตัวเลขผลประกอบการขาดทุนสูงเกินจริง มาอ้างเป็นเหตุขอปรับแก้ไขสัญญาจน

เหตุผลที่ 2 การปรับราคาค่าผ่านทาง อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเพิกถอนมติ ครม. ที่อนุญาตให้บริษัทปรับค่าผ่านทางได้โดยไม่ต้องขออนุญาต อีกทั้ง หาก กรมทางหลวง อนุญาตให้ปรับได้อีก จะเกิดความเสียหายต่อประชาชนและภาครัฐ จนยากเกินเยียวยา

เหตุผลที่ 3 การแก้ไขสัญญา อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่เป็นไปตาม รธน.ปี 40 มาตรา 59 และ รธน.ปี 50 มาตรา 57 ที่รับรองสิทธิประชาชนในการได้รับข้อมูลและเหตุผลจากรัฐ ก่อนอนุญาตโครงการที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชน

เหตุผลที่ 4 อัตราค่าผ่านทางสูงเกินจริงเพราะใช้วิธีประกาศล่วงหน้า ไม่ได้คำนวณโดยใช้ดัชนีผู้บริโภค ไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐ พบว่าค่าผ่านทางดอนเมืองโทลล์เวย์ สูงกว่า ค่าผ่านทางของการทางพิเศษ (กทพ.) 2 - 3 บาทต่อกิโลเมตร

จากเหตุเหล่านี้ ทำให้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ใช้กระบวนการทางศาลเพื่อยับยั้ง เรามาย้อนดูไทม์ไลน์ ตั้งแต่ปี 2553 – 2566

ปี 2553 : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และประชาชนที่ได้รับความเสียหาย ฟ้องร้องต่อศาล เกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งขอให้ศาล มีคำสั่งยกเลิกเพิกถอนมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2549 และ มติ ครม. วันที่ 10 เมษายน 2550 ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสัมปทานทางยกระดับด้วย

ปี 2557 : บริษัทฯ ประกาศขึ้นอัตราค่าบริการรถสี่ล้อจาก 85 บาท เป็น 100 บาท และรถ 6 ล้อขึ้นไป จาก 125 บาท เป็น 140 บาท (คิดระยะทางจากดินแดง - อนุสรณ์สถาน)

ปี 2558 : ศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่า ให้เพิกถอนมติ ครม. กรณีขึ้นค่าบริการใช้ทางยกระดับ และขยายอายุสัมปทาน เนื่องจากเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนเกินสมควร /และในปีเดียวกันผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

20 ธ.ค. 62 : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองขอให้ไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งระงับการปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทางยกระดับอุตราภิมุข หรือ ดอนเมือง -โทลล์เวย์ วันที่ 22 ธ.ค.62 มองเป็นการซ้ำเติมประชาชน ชี้คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด จึงขอให้กำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนคำพิพากษาจะถึงที่สุด

27 ธ.ค.62 : ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งไม่รับร้องของ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอให้ระงับขึ้นค่าผ่านทางดอนเมืองโทลล์เวย์ เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา ชี้เหตุยังมีทางเลือกอื่นที่ไม่ต้องชำระค่าบริการผ่านทางได้ เช่นใช้เส้นทางปกติรวมถึงจะยังมีระบบขนส่งมวลชนพื้นที่ใกล้เคียงที่จะเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นในอนาคต

กระทั่ง 27 ก.พ.66 : ศาลปกครองสูงสุด’ ชี้การปรับขึ้นค่าทางด่วน ‘ดอนเมืองโทลล์เวย์’ ในช่วงปี 52-57 ไม่สร้างภาระให้แก่ประชาชนเกินสมควร ระบุการแก้สัญญาทางด่วนฯ ฉบับที่ 3/2550 ดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมาย

อ่านรายละเอียดคำพิพากษาจาก เว็บไซต์ศาลปกครองสูงสุด https://admincourt.go.th/admincourt/site/08doc_detail.php?ids=24037

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้พยายามอย่างเต็มที่เพื่อยับยั้งความเดือดร้อนของผู้บริโภค ที่ใช้บริการทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ แต่ในเมื่อสัญญาสัมปทานที่รัฐบาลเปิดทางให้เอกชนจึงต้องยอมรับคำสั่งของศาล อย่างไรก็ตาม นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค บอกว่า การปรับขึ้นราคาจะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้บริการ ที่ใช้ทางด่วนโดยตรง และผู้โดยสารที่ใช้บริการรถโดยสารที่ขึ้นทางด่วน ผู้ประกอบการรถโดยสารอาจจะปรับราคาค่าโดยสาร เพราะอัตราค่าผ่านทางที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ใช้บริกาส่วนใหญ่ที่เป็นนักศึกษาได้รับผลกระทบจากค่าโดยสารที่แพงขึ้น ปัจจุบันทางด่วนโทลเวย์ ไม่ใช่ทางเลือก เพราะประชาชนจำเป็นต้องขึ้นเนื่องจากการจราจรในกรุงเทพมหานครติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วน จึงเสนอขอให้ยุติการต่อสัญญาสัมปทานที่ สร้างภาระให้กับประชาชน


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม