ผู้เสียหายควรแจ้งเอาผิดอาญาแก๊งส่งพัสดุปลายทาง
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 13-07-2023 12:51
หมวดหมู่: สินค้าและบริการทั่วไป

ตำรวจไซเบอร์ เปิดผลสอบสวน แก๊งส่งพัสดุเก็บเงินปลายทางที่ปทุมธานี เป็นกลุ่มคนไทย แนะผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดีอาญา พร้อมเรียกค่าเสียหายตามจริงในชั้นศาล สำหรับผู้เสียหายที่ถูกนำชื่อไปใช้สามารถฟ้องเรื่อง PDPA ได้
วันนี้ ( 13 กรกฎาคม 2566 )มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะองค์กรด้านคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีประชาชนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพหลอกส่งกล่องพัสดุเก็บเงินปลายทาง ทำให้ผู้เสียหายพากันเข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ โดยจุดที่สร้างความเสียหายล่าสุด เกิดขึ้นที่จังหวัดปทุมธานี เจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงเริ่มแกะรอยสืบสวนจาก บริษัทรับส่งพัสดุ BEST EXPRESS จนได้เบาะแสของคนร้าย จึงขออนุมัติหมายค้นต่อศาลจังหวัดธัญบุรี โดยชุดสืบสวน กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือตำรวจไซเบอร์ บุกปฏิบัติการจับกุม เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ที่ผ่านมา
โดย จุดที่ 1 โกดังสินค้า ซอยบงกช 49 ตำบลคลองสอง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี นายณัทกรหรือ โต๋ เจ้าของโกดังสินค้า
จุดที่ 2 บ้านพักภายในหมู่บ้านไอยรา ตำบลคลองสอง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี พบนางสาวปัทมเนตร แสดงตัวเป็นเจ้าของบ้าน
จากการสอบปากคำ ผู้ต้องหารับสารภาพว่า กล่องพัสดุที่ติดชื่อผู้รับปลายทาง ซื้อข้อมูลมาจากคนรู้จักราคาชื่อละ 1 บาท จำนวน 3,000 รายชื่อ ส่วนกล่องเป็นสินค้าซื้อมาแบบแพ็คสำเร็จ กล่องละ 7 บาท แต่จะติดราคาแพงๆ เก็บเงินปลายทาง จากนั้นว่าจ้างให้บริษัทขนส่งเอกชนมารับพัสดุไปส่งให้เหยื่อ แล้วยังกินเงินได้อีกต่อ หากการขนส่งล่าช้า จะใช้วิธีการขอเงินค่าขนส่งและกล่องสินค้าคืนจากบริษัทขนส่ง เสร็จแล้วเอามาเวียนส่งต่อเหยื่อรายใหม่
จากคำรับสารภาพของมิจฉาชีพ ทำให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตั้งข้อสังเกตว่า เพื่อนร่วมแก๊งที่เอารายชื่อของเหยื่อมาขายต่อ เอาออกมาได้อย่างไร ในเมื่อเป็นข้อมูลส่วนตัวที่บันทึกระบบ ในหน่วยงานรัฐและเอกชนบางแห่ง อีกประเด็นคือกล่องพัสดุที่ใช้หลอกเหยื่อมีโรงงานผลิตอยู่ที่ไหน ทำไมยังดำเนินการอยู่ได้ ดังนั้น เมื่อต้องการหาคำตอบที่กระจ่าง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้สัมภาษณ์ พันตำรวจเอกปกรณ์กิตติ์ ธนวรินทร์กุล ผู้กำกับการกองกำกับการ 3 กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2 (ผกก.3 บก.สอท.2 ) เมื่อวันที่ 11 กรกฏาคม ที่ผ่านมาได้ข้อมูลการสืบสวนสอบสวน เป็นแก๊งมิจฉาชีพที่อยู่ในขบวนการเดียวกัน เป็นกลุ่มบุคคลสัญชาติไทยทั้งหมด พวกนี้จะแบ่งงานกันทำไล่ตั้งแต่ โรงงานผลิตกล่องพัสดุเก็บเงินปลายทางที่ใช้หลอกลวงเหยื่อ, การลักลอบนำรายชื่อข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียหายมาติดบนกล่องพัสดุปลายทาง ซึ่งผู้รับหน้าที่นี้ส่วนมากเคยทำงานในบริษัทต่างๆ ที่มีฐานลูกค้า แต่ลักลอบนำออกมาขายต่อในกลุ่มมิจฉาชีพด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า บริษัทขนส่งเอกชน มีช่องโหว่ที่ไม่เข้มงวดตรวจสอบบัตรประชาชนของผู้ส่งพัสดุ ทำให้แก๊งมิจฉาชีพมาใช้บริการได้อย่างง่ายดาย โดยว่าจ้าง บริษัทรับ-ส่ง ประเภท Subcontract หรือ “ผู้รับเหมาช่วง” ที่รับจ้างนำกล่องพัสดุจำนวนมาก ไปส่งให้บริษัทขนส่งเอกชนอีกทอด ซึ่งฝ่ายสืบสวนได้เริ่มเข้ามาควบคุมอย่างเข้มงวด พร้อมส่งคำเตือนให้ตรวจสอบผู้ว่าจ้าง เพราะหากเป็นมิจฉาชีพ บริษัทรับเหมาช่วงจะถูกขึ้นบัญชีดำ ( black list ) แต่ต้องขอชื่นชม Subcontract บางแห่ง ที่ได้แจ้งเบาะแสมายังพนักงานสอบสวน เพราะผิดสังเกต ที่พัสดุปลายทางทุกกล่อง ถูกตีกลับทั้งหมด
ผู้เสียหายที่ถูกก๊งมิจฉาชีพส่งกล่องพัสดุเก็บเงินปลายทาง พันตำรวจเอกปกรณ์กิตติ์ ให้คำแนะนำ หากตกเป็นเหยื่อ สามารถเข้าแจ้งความดำเนินคดีอาญา ที่ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ( บก.สอท. ), สถานีตำรวจทั่วประเทศ หรือ แจ้งความออนไลน์อาชญากรรมทางเทคโนโลยีผ่านเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com เพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิด จากนั้นพนักงานสอบสวน จะนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการสอบสวนหาข้อเท็จจริง เมื่อพบการกระทำผิดจะดำเนินการตามกฎหมาย หากสามารถจับกุมตัวได้จะส่งฟ้องในชั้นศาล ซึ่งขั้นตอนนี้ผู้เสียหาย ควรไปให้การในชั้นศาล เพื่อประโยชน์ในการเรียกเงินชดใช้ตามจำนวนที่จ่ายในการรับพัสดุปลายทาง
สำหรับ วิธีป้องกันและรับมือกับมิจฉาชีพที่ใช้ช่องทางส่งพัสดุเก็บเงินปลายทางได้ดีที่สุดนายธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำว่า หากไม่ได้สั่งสินค้าต้องปฏิเสธการรับพัสดุทันที หรือหากเผลอรับ เพราะลืม หรือ ไม่ได้แจ้งคนที่บ้านเอาไว้ ผู้บริโภคตรวจสอบกล่องพัสดุ ถูกจัดส่งมาจากที่ใดโดยโทรศัพท์ติดต่อไปตามหมายเลขโทรศัพท์ ที่มากับ ชื่อ – ที่อยู่ ผู้ส่ง เพื่อสอบถามความแน่ชัด หากติดต่อไม่ได้ให้สันนิษฐานว่าเป็นข้อมูลปลอม ที่สำคัญขอให้ถ่ายรูปกล่องพัสดุ, ที่อยู่ที่จัดส่งไว้เป็นหลักฐาน และดำเนินการแจ้งความกับตำรวจในพื้นที่ หรือแจ้งไปยังระบบรับแจ้งความออนไลน์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อที่พนักงานสอบสวน จะได้มีข้อมูลเข้าจัดการเอาผิดกับแก๊งมิจฉาชีพ ผู้บริโภคอย่าคิดแค่ว่า มูลค่าเงินเล็กน้อย แต่ต้องอย่าลืมว่า หากมีความเสียหายในวงกว้าง ความเสียหายจะมีมูลค่าจำนวนมาก เพราะแก๊งมิจฉาชีพ จะใช้วิธีหว่านส่งพัสดุปลายทางวันละพันกล่อง แต่มีผู้รับตีกลับแค่ไม่ถึงร้อยกล่อง นี่เองจึงเป็นเหตุให้คนร้ายได้ใจเพราะหาเงินได้ง่าย ผู้เสียหายไม่กล้าเอาผิด หรือ หากเอาผิดก็เป็นเรื่องยาก เพราะใช้ชื่อผู้ส่ง, ที่อยู่, เบอร์โทรศัพท์ ปลอมทั้งหมด
ถึงตรงนี้อาจจะมีคำถาม ว่า มิจฉาชีพเอา ชื่อ – ที่อยู่ และ ข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อมาจากไหน ซึ่งก็มีได้หลายสาเหตุ ได้แก่ เว็บไซต์ปลอม เช่น เปิดรับสมัครงานโดยให้ใส่ชื่อนามสกุล, เลขบัตรประชาชน, ที่อยู่, อายุ, วันเดือนปีเกิด, เบอร์โทร และเลขที่บัญชีธนาคาร เป็นต้น, ข้อมูลส่วนบุคคลจากคอมเมนต์เพจสั่งของ, มิจฉาชีพมักจะทำการดึงข้อมูลส่วนบุคคลมาจากกล่องพัสดุที่ไม่มีการเซ็นเซอร์จากร้านค้าออนไลน์โพสต์ลงในหน้าเพจเพื่อแจ้งการส่งสินค้า, กล่องพัสดุที่ถูกทิ้งโดยไม่ได้มีการนำข้อมูลชื่อและที่อยู่ออกจากกล่องพัสดุ, ข้อมูลส่วนบุคคลจากการรั่วไหลของบริษัท โดยมิจฉาชีพมักซื้อจากบริษัทที่ลักลอบขายข้อมูลส่วนบุคคล เช่น บริษัทขนส่งพัสดุ, บริษัทสมัครงาน สำหรับผู้เสียหายที่ถูกแก๊งมิจฉาชีพนำชื่อไปแปะกล่องส่งพัสดุปลายทาง สามารถฟ้องร้องตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562" หรือ "PDPA" ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565