มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แจ้งสิทธิ์ แม้เป็น"ลูกหนี้"แต่ "เจ้าหนี้" ไม่มีสิทธิ์ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 05-06-2024 10:54

หมวดหมู่: การเงิน การธนาคาร

ภาพประกอบข่าว

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แจ้งสิทธิ์ แม้เป็น"ลูกหนี้"แต่ "เจ้าหนี้" ไม่มีสิทธิ์ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

จากคลิปเหตุการณ์ "เจ๊ฟ้า" เจ้าแม่เงินกู้นอกระบบในจังหวัดราชบุรี พาสามีกับพวกบุกมาทำร้ายร่างกายครูผู้ช่วยหญิงที่เป็นลูกหนี้เงินกู้ แถมยังถ่ายคลิปไปโพสต์ในโซเชียลเพื่อประจานให้ได้อาย เพราะจุดลงมืออยู่หน้าโรงเรียนที่ครูผู้ช่วยรายนี้สอนอยู่ เหตุเกิด 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

หลังเกิดเหตุผู้เสียหายได้ไปขอความช่วยเหลือจากเพจสายไหมต้องรอด เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากการถูกทำร้ายและถ่ายคลิปประจาน โดยเล่าว่า เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้กู้เงินกับเจ๊ฟ้า 10,000 บาท ต้องคืนทั้งต้นและดอกจำนวน 16,800 บาท คิดเป็นร้อยละ 30 ต่อเดือน ต้องส่งรายวันละ 280 บาทต่อวัน ที่ผ่านมาก็ส่งเงินได้ดีมาตลอด แต่ต่อมาเกิดปัญหาเงินหมุนไม่พอ จึงไปขอกู้เป็นทองสองสลึงจากเจ๊ฟ้า เป็นเงิน 25,800 บาท และต้องชดใช้อาทิตย์ละ 2,150 บาท ซึ่งผ่อนจ่ายไปแล้ว 4 อาทิตย์ ยังคงเหลือยอดหนี้ทองอีก 8,700 บาท ก่อนหน้านี้ยังเคยมีหนี้สินที่เคยไปกู้กับ น.ส.นุก ผู้ที่ปรากฏในคลิปผมทอง ที่มาร่วมกับเจ๊ฟ้าทำร้ายร่างกายด้วย โดยกู้มา 6,000 บาท ต้องส่งดอกเบี้ยวันละ 1,200 บาท เนื่องจากเป็นเงินฉุกเฉิน จะต้องส่งไปจนกว่าจะมีเงินต้น 6,000 บาทไปคืน ก่อนหน้านี้ได้ผ่อนหลายเดือนแล้วมีเงินเกินยอดหนี้ไปแล้ว แต่ระยะหลังไม่สามารถหาเงินจ่ายหนี้ได้

ต่อมา 1 มิถุนายน ตำรวจได้นำกำลังพร้อมหมายค้นเข้าตรวจสอบบ้าน “เจ๊ฟ้า” กับแฟนหนุ่ม ทั้งคู่ยอมรับว่าบุกไปทวงถามหนี้จากผู้เสียหาย ซึ่งได้กู้ยืมด้วยวิธีผ่อนสร้อยข้อมือทองคำหนัก 2 สลึง ผ่อนทุก 7 วัน งวดละ 2,150 บาท ส่งไปได้ 4 งวด ขาดส่ง 8 งวด จึงได้ไปติดตาม เมื่อไปถึง ได้มีปากเสียงและดึงผู้เสียหายมารุมทำร้ายโดยการตบตี จากนั้นจึงได้นำคลิปภาพขณะเกิดเหตุไปลงใน สตอรี่เฟซบุ๊ก ซึ่งทางตำรวจได้สอบสวนเพื่อดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับให้กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น และจะขยายผลเกี่ยวกับความความผิดฐานอื่น อาทิ การฟอกเงิน หากพบความเชื่อมโยง

มีประเด็นน่าสนใจ เมื่อทีมข่าวช่อง 8 ได้สอบถามไปยัง เจ๊ฟ้า เจ้าตัวอ้างว่า มีหลักฐานแชตในไลน์ที่ลูกหนี้รายนี้ ยินยอมให้ทำร้ายร่างกายได้หากไม่สามารถส่งเงินภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 ส่วนประเด็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียล ก็อยากจะปกป้องตัวเอง ขอให้ทุกคนเข้าใจในส่วนของเจ้าหนี้ด้วย เวลาที่เดือดร้อนมาขอยืมเงิน ก็ช่วยไป แต่เมื่อถึงเวลาคืน ก็ขอให้คืนตามกำหนด หรือถ้าไม่มีจริง ๆ ก็แค่บอก ตกลงกันไม่ใช่หลบหนี หรือมาท้าทายแบบนี้ เพราะถ้าลูกหนี้ไม่ท้าก็ไม่ทำร้ายหรอก นี่เป็นครั้งแรกที่ทำแบบนี้

วันนี้ ( 5 มิถุนายน 2567 )นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค กล่าวว่า จากเหตุการณ์นี้ ขอแยกประเด็นให้เห็น 2 ส่วน โดยส่วนแรก นั่นคือ "ลูกหนี้" ที่ไปกู้ยืมเงิน ต้องมีหน้าที่ชำระหนี้ หากผิดนัดชำระ เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องร้องเรียกหนี้สินคืน อย่างไรก็ตาม ลูกหนี้ก็มีสิทธิได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย เพราะการเป็นลูกหนี้ไม่ได้หมายความว่าจะถูกเจ้าหนี้กระทำอะไร ยังไงก็ได้

ส่วนที่สอง คือ "เจ้าหนี้" ถึงแม้มีสิทธิ์ทวงหนี้ แต่ต้องยึดตาม "พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 " ที่กำหนดขอบเขตการติดตามทวงถามหนี้ไว้อย่างชัดเจน หากละเมิดได้เจอทั้งโทษทางปกครอง และโทษคดีอาญา

เพราะฉะนั้นมาดูกันว่า อะไรบ้างที่เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิ์ละเมิดสิทธิของลูกหนี้

  1. ห้ามทวงหนี้ตอนดึกๆ พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 กำหนดว่า เจ้าหนี้มีสิทธิทวงหนี้ได้ในวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 9.00-20.00 น. และในวันหยุด เวลา 9.00-18.00 น. เท่านั้น

  2. ห้ามทวงหนี้ผ่านไลน์-เฟซบุ๊ก ใช่ว่าจะมาแท็ก หรือเข้าไปคอมเมนต์ทวงเงินในเฟซบุ๊ก ไอจี หรือส่งไลน์มาทวงเงินกับลูกหนี้เพราะตามกฎหมาย เจ้าหนี้ มีสิทธิ์ทวงหนี้ตัวต่อตัวกับลูกหนี้ตามสถานที่ซึ่งลูกหนี้ระบุไว้ตามเอกสารกู้ยืมเท่านั้น

  3. ประจานมา ฟ้องกลับได้ ถ้าเกิดเจ้าหนี้ตั้งสเตตัสด่า ประจาน ไปคอมเมนต์เรื่องหนี้ให้ลูกหนี้เสียๆ หายๆ ทำให้อับอาย หรือทำร้ายร่างกาย ข่มขู่ ลูกหนี้แจ้งความได้เลย โทษปรับ 5 แสนบาท จำคุก 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

  4. ต้องทวงหนี้กับลูกหนี้เท่านั้น เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิไปทวงหนี้กับพ่อแม่ คู่สมรส ญาติพี่น้อง หรือเจ้านาย ของลูกหนี้ โดยยึดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้เจ้าหนี้ต้องทวงหนี้กับลูกหนี้เท่านั้น

  5. ลูกหนี้ต้องรู้รายละเอียดหนี้ นอกจากต้องมีสัญญาเงินกู้แล้ว เจ้าหนี้จะต้องแจ้งให้ลูกหนี้ทราบจำนวนหนี้ ดอกเบี้ย ค่างวดผ่อนชำระ และค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ธนาคารเรียกเก็บด้วย แต่ถ้าลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับเงินต้น ดอกเบี้ย พร้อมค่าปรับ และอาจถูกฟ้องคดีต่อศาลได้

ถ้าเจ้าหนี้กระทำการละเมิดพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ ต้องได้รับโทษทางปกครอง และ อาญา ซึ่ง นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อธิบายว่า โทษทางปกครอง นั่นคือ คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดมีอำนาจสั่งให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนดหากผู้ทวงถามหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง คณะกรรมการฯมีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งแสนบาท ส่วนโทษอาญา กำหนดไว้ดังนี้

• บุคคลใดใช้วาจาดูหมิ่น เปิดเผยหนี้ ติดต่อกับลูกหนี้ด้วยจดหมายเปิดผนึก ไปรษณียบัตร โทรสาร หรือใช้สัญลักษณ์หรือชื่อทางธุรกิจบนซองจดหมาย ที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

• การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้เป็นการกระทำโดยทนายความ สำนักงานทนายความ หรือสำนักงานกฎหมายหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี หรือจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน หรือการแสดงตนให้เชื่อว่าผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิตหรือรับจ้างบริษัทข้อมูลเครดิต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

• บุคคลใดทำการข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น หรือ การแสดงหรือการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

• เจ้าหน้าที่ของรัฐประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ทวงถามหนี้หรือสนับสนุนการทวงถามหนี้ซึ่งมิใช่ของตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

• บุคคลใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการ มาให้ข้อเท็จจริง หรือส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้มาเพื่อประกอบการพิจารณา หรือมาให้ถ้อยคำ แสดงข้อมูลหรือส่งสมุดบัญชี เอกสาร ดวงตราหรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับกิจการ สินทรัพย์ และหนี้สินของผู้ทวงถามหนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

• ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษอาญาตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือไม่สั่งการ หรือการกระทำการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการแทนนิติบุคคลนั้น บุคคลดังกล่าวต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย

• เมื่อคณะกรรมการเปรียบเทียบได้ทำการเปรียบเทียบกรณีใด และผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีนั้นเป็นอันเลิกกัน

อย่างไรก็ตาม นางนฤมล ย้ำชัดเจนว่า พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ มีเจตนาเพื่อควบคุมพฤติกรรมของผู้ทวงถามหนี้ เท่านั้น มิได้ครอบคลุมเรื่องการชำระหนี้ ดังนั้น เมื่อลูกหนี้ไปกู้ยืมเงิน ต้องมีหน้าที่ชำระหนี้ตามปกติ หากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้มิสิทธิที่จะดำเนินการฟ้องร้อง เรียกหนี้สินคืนได้ แต่กฎหมายไม่ได้ให้สิทธิเจ้าหนี้ทำร้ายร่างกาย

"การทวงหนี้ อย่าละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" นี่เป็นความเห็นจาก นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) โดยชี้ประเด็นของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 4 ที่ระบุว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง” กล่าวคือ บทบัญญัติเรื่องหลักความเสมอภาคของประชาชนชาวไทย การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ต้องได้รับการคุ้มครอง ตามกฎหมาย ดังนั้น การที่เจ้าหนี้ทวงเงินลูกหนี้ ทั้ง เช้า กลางวัน เย็น ไม่สามารถทำได้ เพราะกฎหมายให้ทวงหนี้ได้แค่วันละ 1 ครั้งเท่านั้น อีทั้งการติดตามทวงหนี้ ซึ่งมีลักษณะการพูดจาข่มขู่ การใช้ความรุนแรงทำให้ทรัพย์สินของลูกหนี้ได้รับความเสียหาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และกฎหมายห้ามเจ้าหนี้ทำร้ายลูกหนี้ ห้ามข่มขู่คุกคาม ห้ามยึดทรัพย์สินลูกหนี้ตามอำเภอใจ เพราะเจ้าหนี้ต้องฟ้องศาลเท่านั้น แม้ลูกหนี้เป็นหนี้ก็ต้องใช้ แต่ดอกเบี้ยเงินกู้ที่เจ้าหนี้คิดกับลูกหนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี หากเกินจากนี้ให้ถือเป็นโมฆะ “บ้านเมืองมีกฎหมาย จะกู้ยืม คิดดอกเบี้ย ทวงหนี้ ต้องถูกกฎหมาย " ขอบอกว่า 122 สาขาของอัยการคุ้มครองสิทธิประชาชนทั่วประเทศ จะช่วยดูแล และคุ้มครองประชาชนด้วยกฎหมายที่ถูกต้อง สายด่วน อัยการ 1157 ปรึกษากฎหมายฟรี จะไม่เกิดปัญหาภายหลัง”

ร้องเรียน หรืออ่านคำแนะนำเรื่องต่างๆ เพื่อพิทักษ์สิทธิ์ได้ด้วยตนเองที่ https://ffcthailand.org/


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม